อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศเชี่ยวชาญ
29 กุมภาพันธ์ 2551
บทนำ
พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในและระบบประกันคุณภาพภายนอก โดยหน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษาจะต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพภายใน โดยให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเพื่อพร้อมรับการประกันคุณภาพภายนอก
ความหมาย
การประกันคุณภาพภายใน หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรม ตามปกติของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการทางการศึกษา ว่าการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษามีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพหรือมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด
วัตถุประสงค์/เป้าหมาย
เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษาได้คุณภาพมาตรฐาน ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ ความสามารถ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรที่กำหนดและสังคมต้องการ
องค์ประกอบของการประกันคุณภาพภายใน
หลักการของการประกันคุณภาพภายใน
- 1) จุดมุ่งหมายของการประกันคุณภาพภายใน คือ การที่สถานศึกษาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
- 2) การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการ และการทำงานของบุคคลทุกคนในสถานศึกษา และเป็นการดำเนินงานตามปกติของสถานศึกษา โดยสถานศึกษาจะต้องวางแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายชัดเจน ปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนดไว้ มีการตรวจสอบประเมินผล และพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ มีความโปร่งใส และมีจิตสำนึกในการพัฒนาคุณภาพการทำงาน
- 3) การประกันคุณภาพภายใน เป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรอื่น ๆ ในสถานศึกษา โดยการดำเนินงานจะต้องให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เรียน ชุมชน เครือข่าย หรือหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ติดตาม ประเมินผล พัฒนาปรับปรุง ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สถานศึกษามีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ
ระบบประกันคุณภาพภายใน
การประกันคุณภาพภายใน มีแนวคิดอยู่บนพื้นฐานของการไม่ให้เกิดการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลถึงผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการดำเนินการประกันคุณภาพ จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับระบบการทำงานซึ่งมีความสัมพันธ์ และต่อเนื่องกันดังนี้
- 1) การควบคุมคุณภาพ เป็นการกำหนดมาตรฐานคุณภาพและการพัฒนาสถานศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐาน การวางแผน และการดำเนินงานตามแผน โดยมีการจัดระบบบริหารและสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาสถานศึกษาเข้าสู่มาตรฐาน
- 2) การตรวจสอบ และทบทวนคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เหมาะสม อาทิ เช่น การสังเกตพฤติกรรมและกระบวนการทำงาน กระบวนการจัดการเรียนรู้ การสอบถาม การสัมภาษณ์ การพิจารณาหลักฐาน ร่องรอยการปฏิบัติงาน ตัวอย่างผลงาน และแฟ้มสะสมงาน ตลอดจนการใช้แบบสำรวจ แบบสอบถาม แบบทดสอบ และแบบวัดมาตรฐาน เป็นต้น
การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา
- 3) การประเมินคุณภาพ เป็นการรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อประเมินคุณภาพของสถานศึกษา จัดทำรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี
วิธีการประกันคุณภาพภายใน
- 1) การประกันคุณภาพภายในให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา และเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ที่ต้องดำเนินการอย่างมีระบบและต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปรัชญา หลักการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจ ของสถานศึกษาที่กำหนดไว้
- 2) จัดให้มีกลุ่ม ฝ่ายหรือคณะกรรมการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและผู้รับบริการ เพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
- 3) พัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเพิ่มในส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับท้องถิ่น
- 4) จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพและแผนปฏิบัติการของสถานศึกษาและดำเนินงานตามแผนดังกล่าว
- 5) ดำเนินการตรวจสอบ ติดตามเพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เป็นไปตามเป้าหมายและมาตรฐานการศึกษา
- 6) จัดทำรายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเสนอหน่วยงานต้นสังกัด ภาคีเครือข่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
- 7) รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาต่อคณะกรรมการสถานศึกษา และมีการกำหนดมาตรการร่วมกันในการพัฒนาสถานศึกษาไปสู่มาตรฐานการศึกษาที่กำหนด
***************************