ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา(3)

pencilอัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
11 มีนาคม 2552

ทักษะที่จำเป็นสำหรับการนิเทศการศึกษา

การนิเทศการศึกษา เป็นสิ่งที่จำเป็นและมีประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพและประสิทธิภาพยิ่ง ๆ ขึ้น “การเรียนการสอนจะประสบผลดีหากได้รับการแนะนำที่ดี และถูกต้องจากผู้ที่ทำการนิเทศ” งานนิเทศไม่ใช่เป็นงานสอนโดยตรง หรือไม่ใช่งานบริหาร แต่เป็นงานที่มีความสัมพันธ์ทั้งงานสอนและงานบริหาร ศึกษานิเทศก์ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่ผู้มีอำนาจที่จะสั่งให้ครูปฏิบัติตามได้ งานศึกษานิเทศจะต้องเป็นงานที่ใช้ความพยายาม ให้ผู้ได้รับการนิเทศเกิดศรัทธาและยินดีที่จะปฏิบัติตาม ดังนั้นบทบาทของศึกษานิเทศก์จึงยากต่อการปฏิบัติให้เกิดมีประสิทธิภาพได้โดยง่ายจำเป็นต้องใช้ทักษะและความรู้ในด้านต่าง ๆ ที่จะทำให้ได้รับความเชื่อ และศรัทธาต่องานในหน้าที่ได้ทักษะเหล่านั้นได้แก่ทักษะการเป็นผู้นำ ความมีมนุษยสัมพันธ์ การทำงานเป็นหมู่คณะ การสื่อความหมาย และการบำรุงขวัญในการทำงาน ฯลฯ เป็นต้น ซึ่งจะได้กล่าวในรายละเอียดต่อไปนี้

1. การเป็นผู้นำ
              
ลักษณะสำคัญอีกประการหนึ่งที่ผู้นิเทศการศึกษาจำเป็นจะต้องมีก็คือ ความสามารถในการเป็นผู้นำ นักการศึกษาบางคนถึงกับสรุปว่า การนิเทศการศึกษา คือการเป็นผู้นำทางวิชาการนั่นเอง    คำว่า การเป็นผู้นำนั้น หมายถึงศิลปะของการที่จะนำคนแต่ละคนโดยที่คนเหล่านั้นมีความเชื่อถืออย่างเต็มใจ มีความมั่นใจในตัวผู้นำ มีความเคารพนับถือและให้ความร่วมมือกับผู้นำอย่างจริงใจ
               ส่วนอีกความหมายหนึ่งคือ การเป็นผู้นำ คือวิธีการสำหรับจูงใจบุคคลแต่ละคนทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ร่วมกัน

              อดัม และดิคกี (Adam and Dickey) ได้กล่าวถึงการเป็นผู้นำในการนิเทศการศึกษาหรือการที่ศึกษานิเทศก์ใช้ความสามารถของเขาช่วยให้กลุ่มได้พัฒนาเต็มความสามารถ
             กีแอมแมททีโอส์ (Giammatteo) ได้กล่าวถึงการเป็นผู้นำ ว่าเป็นความสามารถที่จะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ความเฉลียวฉลาดของคนอื่นให้เกิดประโยชน์ การเป็นผู้นำสมัยใหม่จะต้องเปลี่ยนจากการบัญชางานและการควบคุมเป็นการเกี่ยวพันและการกระตุ้น

               จากความหมายข้างต้น พอสรุปได้ว่า การเป็นผู้นำในการนิเทศการศึกษา คือความสามารถและความพร้อมที่จะกระตุ้น เสนอแนะแนวทางการศึกษาให้แก่ครู เพื่อให้ครูสามารถดำเนินกิจการการเรียนการสอนให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี
                การที่จะเป็นผู้นำที่ดีได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะถ้าหากผู้นำขาดความรู้ ทักษะและประสบการณ์ในการนำแล้ว ผลของงานก็จะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย นอกจากนี้คุณสมบัติด้านอื่น ๆ ในการปฏิบัติตนก็เป็นส่วนประกอบการเป็นผู้นำด้วย เช่น ความซื่อตรง ความกล้าหาญ ความคิดริเริ่มเป็นต้น

          สาย ภาณุรัตน์ ได้กล่าวถึงลักษณะผู้นำที่ดีทางการนิเทศการศึกษาควรมีลักษณะดังนี้

  • 1) เป็นผู้มีความรู้ ผู้ที่รู้ตนย่อมสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง คนที่ขาดความรู้นั้นไม่สามารถจะลวงคนอื่นได้นาน ไม่จำกัดความรู้ในวิชาหน้าที่ แต่ควรมีความรอบรู้ในข่าวและเหตุการณ์ทั่ว ๆ ไป ซึ่งการทำให้เป็นผู้มีความรู้ อาจกระทำได้โดยการอ่านนิตยสารการศึกษา คู่มือปฏิบัติราชการ สนทนาในเรื่องที่เป็นข่าวสังเกตการปฏิบัติของผู้นำอื่น ๆ ที่ดีอยู่อย่างใกล้ชิด
  • 2) มีความซื่อตรง ซึ่งอาทำได้โดยการฝึกฝนความซื่อสัตย์ พูดความจริงยืนหยัดต่อสู้ในสิ่งที่เชื่อว่าถูกต้อง ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และหน้าที่เหนือสิ่งอื่นใด
  • 3) มีความกล้า ศึกษานิเทศก์ควรจะมีความกล้า มีขวัญดีในเมื่อตนเองทำถูกต้องแล้ว อาจจะปฏิบัติโดยการทำตามความโน้มเอียงของตนเองก่อน พูดจาด้วยสำเนียงปกติ ยืนหยัดแต่สิ่งที่ถูกต้อง แม้ว่าจะเผชิญกับสิ่งที่ไม่ชอบอย่างโยนความผิดของตนให้กับผู้อื่น
  • 4) การตัดสินใจเด็ดขาด เป็นเรื่องของการปฏิบัติและความชำนาญ อาจปฏิบัติโดยปรับปรุงจิตใจให้สุขุมมั่นใจในตนเองด้วยการเพิ่มพูนความรู้ ฝึกการตัดสินใจเด็ดขาดด้วยตนเอง ศึกษาและปรับปรุงงานจากความคิดของตนเองและของผู้อื่น สำรวจการตัดสินใจในสิ่งที่ทำและพูดไปแล้ว
  • 5) ความเป็นที่เชื่อถือได้ ฝึกในเรื่องความซื่อตรง ทำงานที่ได้รับมอบหมายให้ถูกต้อง เข้าใจในความจงรักภักดี และทำให้ตนเองมีความจงรักภักดี ออกคำสั่งเป็นลายลักษณ์อักษร
  • 6) ความคิดริเริ่ม ผู้นำจะต้องสร้างบรรยากาศให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีความคิดริเริ่มโดยการมอบงานและให้ดำเนินไปจนสำเร็จ สำรวจตัวเองว่ามีความเกียจคร้านทางร่างกายและทางจิตใจหรือไม่ ฝึกตนให้ว่องไวทั้งกายและใจ พิจารณาว่าจะต้องทำอะไรต่อไป และทำโดยไม่ต้องสั่ง คิดก่อนทำ
  • 7) มีกาลเทศะ ผู้นำจะต้องรู้กาลเทศะในการช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาทั้งเรื่องส่วนตัว หรือเรื่องยุ่งยากอื่น ๆ เอาใจใส่ผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยความยิ้มแย้มแจ่มใส ศึกษาวิธีปฏิบัติงานของผู้นำที่ดี และมีความสามารถในการปกครอง สำรวจตัวเองว่ามีความเห็นขัดแย้งกับผู้อื่นหรือไม่และพยายามแก้ไขข้อบกพร่องนั้นปฏิบัติงานเป็นทีม
  • 8) มีความยุติธรรม การเลือกที่รักมักที่ชัง มีอคติ เป็นสิ่งที่ทำลายขวัญของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชามากที่สุด สำรวจตัวเองว่ามีอคติหรือไม่ และหาทางแก้ไขจิตใจให้พ้นจากความมีอคติ พิจารณาว่าผู้ใต้บังคับบัญชาคนใดควรได้รับการชมเชยหรือตำหนิ พยายามค้นหาความจริงทุก ๆ เรื่องและจงซื่อสัตย์ต่อตนเอง
  • 9) ความกระตือรือร้น การแสดงความสนใจอย่างมากในงานที่ได้รับมอบหมายทำด้วยความเต็มใจ รู้จักเชื่อมั่นในงานที่ตนทำอยู่ ทำงานด้วยความพอใจและมองโลกในแง่ดี นำเอาผลงานที่ทำสำเร็จแล้วยั่วยุให้กระตือรือร้นที่จะทำงานต่อไป ไม่ควรหมกมุ่นอยู่แต่งาน ควรมีเวลาเป็นของตัวเองชั่วระยะเวลาหนึ่งจะทำให้การงานดีขึ้น
  • 10) การวางตัว ท่าทางความประพฤติ อากัปกิริยาภาษาอยู่ในสภาพที่ได้รับการควบคุม ทำตนให้สงบมั่นคง หลีกเลี่ยงความประพฤติที่ไม่ดี ควบคุมการฝึกการใช้เสียง การแสดงท่าทางอย่าตำหนิคนจนออกนอกหน้า และต่อหน้าคนหมู่มาก ทำตนให้มีมาตรฐานดีเป็นตัวอย่างแก่ผู้ใต้บังคับบัญชา
  • 11) ความอดทน มีความอดทน เมื่อประสบกับความเหนื่อย ความยากลำบาก ความปวดร้าวทางกายและใจ ทำงานทุกอย่างให้สำเร็จโดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคใด ๆ หมั่นออกกำลังกาย ซึ่งจะทำให้ร่างกายแข็งแรงขึ้น หลีกเลี่ยงต่อสิ่งที่จะทำให้เกิดความท้อถอยทางกายและใจ บังคับตนเอง เมื่อเกิดความเหนื่อยอ่อนและเกียจคร้าน
  • 12) ความไม่เห็นแก่ตัว ผู้นำที่ดีจะไม่เห็นแก่ตัวเอาเปรียบลูกน้องหาผลประโยชน์ใส่ตนเอาใจใส่ผู้ใต้อยู่ใต้บังคับบัญชา เข้าใจในปัญหาของงานในหน้าที่ ความสนใจความสะดวกสบาย ความพอใจของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา เมื่อได้มอบหมายงานไปแล้ว

              นอกจากคุณสมบัติดังกล่าวที่ผู้นิเทศพึงมีในการเป็นผู้นำ ศึกษานิเทศก์ ยังต้องมีวิธีการในการนำครูในการปรับปรุงการเรียนการสอนให้ดียิ่งขึ้น สิ่งที่ศึกษานิเทศก์ควรจะได้กระทำในฐานะผู้นำมีดังนี้

  • 1) ต้องรู้และมองเห็นลักษณะเด่นสำคัญของครูแต่ละคน ศึกษานิเทศก์ต้องค้นให้พบความสามารถ (Ability) ขีดความสามารถ (Capacity) และความสนใจ (Interest) ของครูแต่ละคนเรื่องนี้ในบางกรณีอาจต้องใช้เวลานาน การพบกันครั้งสองครั้งอาจยังมองไม่เห็น ดังนั้นผู้นิเทศจะต้องพยายามมองและสังเกตอยู่เสมอ
  • 2) ต้องสนับสนุน ส่งเสริมความสามารถ ขีดความสามารถและความสนใจของครูแต่ละคนให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้น ทั้งนี้เพื่อประโยชน์แก่ตัวครูและแก่การนิเทศอีกด้วย ผู้นิเทศต้องไม่ลืมว่าความมุ่งหมายสำคัญของการนิเทศ คือ ความงอกงามทางวิชาชีพ การจัดการศึกษาให้แก่ครูประจำการ
  • 3) จะต้องมีความสามารถในการแนะแนวทางและประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมต่าง ๆ ของครูได้อย่างฉลาด การทำงานของครูแต่ละคนบางครั้งมีปัญหาต้องการความช่วยเหลือจากผู้นิเทศ ผู้นิเทศจะต้องสร้างบรรยากาศแห่งความร่วมมือร่วมใจและการพบปะสังสรรค์อย่างบริสุทธิ์ใจ ซึ่งบรรยากาศดังกล่าวนี้ย่อมจะช่วยเร้าใจให้บุคคลมีความพยายามที่จะยกระดับการทำงานให้ดีขึ้น
  • 4) มีความสามารถในการนำกลุ่ม โดยการส่งเสริมให้ครูรู้จักคิดร่วมกัน ทำงานร่วมกันให้ทุกคนยอมรับนับถือ ทำตนให้เป็นเสมือนสมาชิกคนหนึ่งของหมู่คณะ และเมื่อคณะยังนำตนเองไม่ได้อย่าทำให้สมาชิกเสียขวัญ
  • 5) หาวิธีให้ครูรู้สึกกว่าการมาของศึกษานิเทศก์นั้น มุ่งมาร่วมงานกับทุกฝ่ายเพื่อครูจะได้ให้ความร่วมมือ
  • 6) ส่งเสริมให้คณะครูเคารพต่องานในหน้าที่ความรับผิดชอบต่อคุณธรรมอันดี
  • 7) รู้จักใช้ทรัพยากรให้เป็นประโยชน์ เช่น การใช้ครูเก่าที่มีความรู้ และประสบการณ์เป็นวิทยากรแก่ส่วนรวม

2. ความมีมนุษยสัมพันธ์

              มนุษยสัมพันธ์ หรือเรียกอีกอย่างว่า การเข้ากับคนอื่นได้ โดยทั่วไปแล้วถือว่ามนุษย์สัมพันธ์เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ที่จะต้องศึกษาและอบรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งศึกษานิเทศก์ในฐานะผู้นำในด้านการสอนของครู มนุษยสัมพันธ์ย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นที่สุด ถ้าศึกษานิเทศก์มีมนุษยสัมพันธ์ดีแล้ว ย่อมสามารถจะทำหน้าที่ให้สำเร็จได้โดยสะดวกยิ่งขึ้น ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างมีความสุข เรียนรู้จิตใจผู้ร่วมงาน รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา และเข้าใจปรับปรุงตนเองให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

                ดูบิน (Dubin) ได้เสนอแนะหลักทั่วไปในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ คือ

1) ยอมรับนับถือคนอื่น ไม่ดูหมิ่นเหยียดหยามคนอื่น
2) รู้ตน รู้ประมาณ
3) เข้าใจคนอื่น เห็นอกเห็นใจคนอื่น
4) ยอมรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น
5) มีความอดทน มีความมั่นคงทางอารมณ์
6) มีความจำดี เช่น สามารถจำชื่อคนอื่นได้
7) มองโลกในแง่ดี มีอารมณ์ขัน ย่อมคลายบรรยากาศตึงเครียด
8) มั่นใจ มีความจริงใจต่อคนอื่นในการช่วยเหลือเมื่อมีโอกาส
9) เป็นคนเที่ยงตรง เปิดเผยตรงไปตรงมา

               ปัจจุบันนี้ ได้มีการเน้นย้ำอย่างมากถึงความสำคัญในความคิดเกี่ยวกับมนุษสัมพันธ์ผู้นิเทศที่ขาดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมักจะถูกเพิกเฉย และบางครั้งถูกต่อต้านจากพวกครู ทำให้งานนิเทศการศึกษาล้มลงอย่างง่าย ผู้นิเทศจะต้องระลึกเสมอว่าชีวิตและการงานของเขาจะต้องเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับกลุ่มคนและบุคคลหลายฝ่ายที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปมากมาย ทั้งในด้านความคิดและความต้องการ จึงเป็นความจำเป็นที่ศึกษานิเทศก์จะต้องฝึกฝนตนให้มีมนุษยสัมพันธ์ เพื่อความเจริญก้าวหน้าของหน้าที่การงานสิ่งที่ศึกษานิเทศก์ควรปฏิบัติ เพื่อให้เกิดมนุษยสัมพันธ์กับผู้ร่วมงาน มีดังนี้

  • 1) ต้องสร้างตัวให้มีอารมณ์เป็นผู้ใหญ่ สุขุม ใจคอหนักแน่น ไม่เป็นทาสแห่งความกลัว พึ่งตนเอง ไม่รุกรานใคร
  • 2) ปรับตัวเองให้เข้ากับบุคคล เหตุการณ์ และสถานที่ได้
  • 3) รู้จักจดจำสังเกต และเข้าใจงานทุกชั้น ทุกเพศ และทุกวัย
  • 4) รู้จักประนีประนอม และเสียสละเมื่อยามจำเป็น
  • 5) รู้จักหาเหตุผลและใช้เหตุผล
  • 6) มีความมั่นใจในตัวเอง รู้จักตัดสินใจด้วยความรอบคอบ
  • 7) การมีมนุษยสัมพันธ์ดีนั้น ต้องยึดวิธีการประชาธิปไตยเป็นหลัก มีความสัมพันธ์อย่างเสมอภาคทัดเทียม ไม่ถือเอาความคิดเห็นของตัวเองเป็นใหญ่ เคารพและให้เกียรติความคิดเห็นของคนอื่นเคารพในสิทธิและหน้าที่ของคนอื่น
  • 8) สร้างบรรยากาศอันดี และเป็นกันเอง เป็นคนเชื่อมโยงมนุษยสัมพันธ์ระหว่างครูและนักเรียนด้วย ศึกษานิเทศก์จะต้องยอมรับนับถือในศักดิ์ศรีแห่งความเป็นคนของทุกคนที่เข้าไปติดต่อ
  • 9) เปิดโอกาสให้ทุกคนได้แสดงความคิดเห็น

•3. การทำงานเป็นกลุ่ม

              โดยธรรมชาติของงานแล้ว งานนิเทศการศึกษาจะต้องเกี่ยวข้องกับบุคคลอื่นอยู่ตลอดเวลาโดยเฉพาะกลุ่มครู ดังนั้นศึกษานิเทศก์จึงจำเป็นต้องมีทักษะในการที่จะทำงานกับกลุ่มหรือหมู่คณะ การทำงานกับกลุ่ม เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกับคณะบุคคลในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ซึ่งมีกระบวนการตั้งแต่มีการตั้งความมุ่งหมายร่วมกัน อภิปรายร่วมกัน ตัดสินใจร่วมกัน ดำเนินการร่วมกันและประเมินผลร่วมกัน การที่จะทำให้การดำเนินงานกับกลุ่มเป็นไปได้ดีมีประสิทธิภาพนั้นควรมีหลักการและวิธีปฏิบัติดังนี้

  • 1) ลักษณะการนำ และการปฏิบัติที่ดีจะทำให้เกิดการพัฒนาความสามารถพื้นฐานในการทำงานของสมาชิกในกลุ่ม
  • 2) ศึกษานิเทศก์อาจเป็นแรงผลักดันจากภายนอก หรือเป็นผู้ปฏิบัติงานเพื่อนำกลุ่มให้ทำงานภายในกลุ่มร่วมกัน จะทำให้ประสบผลสำเร็จ
  • 3) การร่วมมือประสานงานในกลุ่ม ไม่ได้ทำให้การเป็นผู้นำของศึกษานิเทศก์ลดลง แต่ยังคงมีความรับผิดชอบในการสร้างบรรยากาศของกลุ่ม และรักษาสภาพการณ์ของกลุ่ม แม้ว่าจะร่วมกันรับผิดชอบอยู่ก็ตาม
  • 4) ศึกษานิเทศก์จะต้องพร้อมที่จะเชื่อ และยอมรับความสามารถของกลุ่มในเวลาที่เหมาะสม
  • 5) กลุ่มจะทำงานร่วมกันได้อย่างดี เมื่อเข้าใจตรงกันว่า การที่มารวมกลุ่มกันนั้นมีเหตุผลอะไร
  • 6) ภายใต้ผู้นำที่ดี ภาวะผู้นำของแต่ละคนจะกลายมาเป็นลักษณะของกลุ่ม
  • 7) กลุ่มจะต้องมีการพบปะกันบ่อย ๆ การรายงาน การสอบถาม ฯลฯ ไม่สามารถใช้แทนการประชุมกลุ่มได้
  • 8) ศึกษานิเทศก์จะต้องใช้ความอดทนในการที่จะนำกลุ่มให้ถึงระดับความก้าวหน้าที่ต้องการ
  • 9) การทำงานในกลุ่มจะมีประสิทธิภาพ ถ้าสมาชิกมีความรู้สึกว่าความคิดของเขามีความสำคัญควรมีการบันทึกและนำมาพิจารณา
  • 10) ศึกษานิเทศก์มีหน้าที่รับผิดชอบที่จะต้องคุ้มครองกลุ่ม ไม่มีคนใดคนหนึ่งมีอำนาจพูดทนกลุ่มได้เอง
  • 11) จะต้องให้ความสนใจอย่างสม่ำเสมอต่อการกระทำซึ่งทำให้เกิดการพัฒนา

บทบาทของศึกษานิเทศก์ในฐานะผู้นำกลุ่ม

              ย่อมมีบทบาทหน้าที่ดังนี้

1) เป็นผู้ริเริ่ม (Initiator) เป็นผู้เสนอความคิดใหม่ กำหนดจุดมุ่งหมายของปัญหา เข้าใจลักษณะความคิดของกลุ่ม เสนอแนะจุดประสงค์ตามแนวความคิดนั้น
2) เป็นผู้นำทาง (Orientor) เป็นผู้ช่วยกลุ่มวางจุดมุ่งหมาย และกำหนดแนวทางรวบรวมแยกแยะข้อมูลเหตุการณ์ต่าง ๆ
3) เป็นผู้อำนวยความสะดวก (Facilitator) ช่วยให้มีการสื่อความหมายของสมาชิกภายในกลุ่มให้กลุ่มมีความเข้าใจตรงกัน
4) เป็นผู้ให้กำลังใจ (Encourager or Stimulator) เป็นผู้คอยกระตุ้นเชื้อเชิญให้สมาชิกได้มีส่วนร่วมในกลุ่ม รวมถึงการยอมรับบทบาทของผู้อื่น
5) เป็นผู้ประสานงาน (Harmonizer) เป็นผู้ที่สนับสนุนการแสดงความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมายอมรับว่าความเห็นที่แตกต่างกันมีประโยชน์และจำเป็นสำหรับความก้าวหน้า
6) เป็นผู้สรุป (Summarizer or Synthesizer) เป็นผู้มีหน้าที่สรุปสิ่งที่ได้จากการอภิปรายกลุ่มและนำไปใช้ในทางปฏิบัติได้
7) เป็นผู้เสาะหาข้อเท็จจริง (Fact Seeker or Information Found) เป็นผู้ไต่ถามถึงข้อมูล ความจริง ตัวอย่าง หรือหลักการต่าง ๆ เพื่อประกอบการพิจารณาปัญหา หรือแก้ปัญหา
8) เป็นผู้ประนีประนอม (Compromiser) เป็นผู้ประสานงานแนวความคิดของสมาชิกพยายามแก้ความขัดแย้งในกลุ่ม
9) เป็นผู้ให้ข้อเท็จจริง (Resourec Person or Consultant) เป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใด ๆเฉพาะเรื่องที่จะให้ข้อมูลความจริง หรือตัวอย่างประสบการณ์ รวมทั้งกล่าวอ้างความคิดเห็นของคนอื่นเป็นเครื่องสนับสนุน
10) เป็นผู้จัดการ (Arranger) เป็นผู้ตระเตรียมสถานที่ประชุม สัมมนา ดูแลอำนวยความสะดวก เช่น จัดให้มีเครื่องขยายเสียง เครื่องดื่ม และอุปกรณ์ที่จะใช้เป็นต้น
11) เป็นโฆษณา (Spokerman) เป็นผู้แถลงผลการประชุม หรือปฏิบัติงานของกลุ่มนอกจากจะเป็นการสร้างความเข้าใจแก่คนภายนอกแล้ว ยังเป็นการบรรเทาความกดดันจากภายนอกด้วย
12) เป็นผู้บันทึก (Recorder or Secretary) เป็นผู้รักษาเอกสารต่าง ๆ เกี่ยวกับจุดมุ่งหมาย ปัญหาความคิดเห็น ข้อมูล มติที่ประชุม รายงานให้กลุ่มทราบเป็นระยะ ๆ จัดเตรียมรายงาน ติดต่อสมาชิกและทำรายงานขั้นสุดท้ายเสนอผู้เกี่ยวข้อง
13) เป็นผู้ประเมินผล (Evaluator) เป็นผู้เปรียบเทียบข้อมูล ประเมินผลความก้าวหน้าและวางมาตรฐานการทำงานขั้นต่อไป
14) เป็นผู้สังเกตการณ์ (Observer or Analyzer) เป็นผู้วิเคราะห์รายงานกลุ่มเกี่ยวกับการปฏิบัติงานของกลุ่ม แหล่งวิชาการที่ใช้ว่าเหมาะสมหรือไม่
15) เป็นผู้มีอาวุโส (Status Roles) เป็นที่เคารพนับถือทั้งในและนอกกลุ่มการทำงานเป็นกลุ่ม เป็นการจัดกลุ่มอย่างมีระบบ ความสามารถของสมาชิกในกลุ่มมีส่วนสำคัญในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ทั้งในบทบาทของผู้นำและผู้ตาม

กระบวนการแก้ปัญหาประกอบด้วยขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้

  • 1) กำหนดปัญหาทำความเข้าใจกับปัญหาให้แจ่มแจ้ง
  • 2) จัดลำดับปัญหาตามลำดับปัญหาที่สำคัญก่อนหลัง
  • 3) สำรวจปัญหา พิจารณาวิธีการแก้ปัญหาที่อาจจะเป็นไปได้ กระบวนการเบื้องต้น คือการอภิปรายกลุ่ม เพื่อตรวจสอบ รวบรวมจัดประเภทข้อมูล ข้อเท็จจริงต่าง ๆ ที่มีอยู่ทั้งหมด พิจารณาแก้ปัญหาที่มีผู้เสนออย่างรอบคอบ ตัดสินปัญหาโดยยึดจุดมุ่งหมายเป็นหลัก
  • 4) ประสานงานกับบุคคลต่าง ๆ ในการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหา
  • 5) ทดสอบและประเมินผลกิจกรรมของกลุ่ม
  • 6) รายงานผลการดำเนินงานให้ผู้เกี่ยวข้องทุกคนได้ทราบ

              ชาญชัย อาจิณสมาจาร ได้กล่าวถึงสิ่งที่ศึกษานิเทศก์ควรกระทำเพื่อพัฒนาพลังของหมู่คณะให้เกิดความสำเร็จดังนี้
                1) ศึกษานิเทศก์จะต้องช่วยเหลือหมู่คณะในการวางแผนเป้าหมาย และวัตถุประสงค์
                2) ศึกษานิเทศก์ต้องจัดให้มีการอภิปรายเป็นหมู่คณะและร่วมกันตัดสินใจ
                3) ศึกษานิเทศก์จะต้องให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเป็นผู้นำและตัวศึกษานิเทศก์จะต้องร่วมรับผิดชอบกับสมาชิกทุกคน
               4) ศึกษานิเทศก์จะต้องจัดให้มีการประชุมครูและตนเองจะต้องมีส่วนร่วมในการประชุมด้วย
               5) ศึกษานิเทศก์ต้องทำงานโดยผ่านทางคณะกรรมการ
               6) ศึกษานิเทศก์จะต้องก่อให้เกิดสภาพที่จำเป็นต่อความสำเร็จในการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ
               7) ศึกษานิเทศก์จะต้องพัฒนาวินัยในตนเองให้เกิดขึ้นกับหมู่คณะ
               8) ศึกษานิเทศก์จะต้องส่งเสริมให้ผู้ปกครองและชุมชนได้มีส่วนร่วมในงานของหมู่คณะด้วย

4. การสร้างขวัญและกำลังใจ

                  ขวัญและกำลังใจ เป็นสิ่งสำคัญที่มีผลต่อการปฏิบัติงาน ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของผู้บริหารที่จะสร้างขวัญและกำลังใจให้กับบุคลากรในหน่วยงาน ในทำนองเดียวกัน ขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญต่องานนิเทศการศึกษาด้วย ศึกษานิเทศก์ควรตระหนักและควรสร้างขวัญกำลังใจให้เกิดมีขึ้นในการปฏิบัติงาน ขวัญและกำลังใจมีประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานดังนี้

               1) ทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นในหมู่คณะ
               2) ทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกันในการปฏิบัติงาน
               3) ทำให้เกิดความกระตือรือร้น และขยันหมั่นเพียรในการทำงาน
               4) ทำให้เกิดความศรัทธา และความเชื่อมั่นในการทำงาน
               5) จงใจให้เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ในการทำงาน
               6) สร้างความเข้าใจอันดีให้เกิดขึ้นในหมู่คณะ
               7) ทำให้เกิดความจงรักภักดี และซื่อสัตย์ต่อกัน
               8) มีความรับผิดชอบต่องาน และมีวินัยในตนเอง
               9) ทำให้เกิดความพึงพอใจในการทำงาน

            ด้วยความสำคัญของการสร้างขวัญและกำลังใจในการทำงานดังกล่าว ศึกษานิเทศก์จึงจำเป็นต้องสร้างขวัญให้เกิดขึ้นในการดำเนินการนิเทศ วิธีการที่จะสร้างให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงานมีหลายวิธีดังนี้

  • 1) สร้างให้กลุ่มเกิดทัศนคติที่ดีต่องาน เพราะถ้าทุกคนมีทัศนคติที่ดีต่องานแล้ว ย่อมทำให้ทุกคนรักงาน และกระตือรือร้นที่จะทำงาน
  • 2) การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในหน่วยงาน มีการยอมรับนับถือซึ่งกันและกัน ย่อมก่อให้เกิดบรรยากาศการทำงานขึ้น
  • 3) ยกย่องชมเชยให้กำลังใจแก่ผู้ตั้งใจทำความดี การชมเชยควรคำนึงถึงกาลเทศะ มีเหตุมีผลมาจากความจริงใจ ไม่ชมเชยพร่ำเพรื่อ ทำให้คำชมเชยหมดความหมาย
  • 4) เอาใจใส่เรื่องสวัสดิภาพ ให้ความสนิทสนมพอสมควร ทักทายปราศรัยไต่ถามข่าวคราวทุกข์สุขในโอกาสอันควร
  • 5) ให้สมาชิกมีโอกาสระบายความคับข้องใจในการทำงาน
  • 6) ควรจะได้มีโอกาสสำรวจ หรือออกแบบสอบถามสภาพการทั่วไปในการทำงานเพื่อจะหาทางแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้น รวมทั้งการรักษาน้ำใจในการทำงานไว้ด้วย
  • 7) มีโอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าไปสู่ตำแหน่ง หรือเงินเดือนสูงขึ้นไป รวมทั้งการได้รับการพิจารณาความดีความชอบด้วยความยุติธรรม
  • 8) สถานที่ทำงานดี มีสิ่งอำนวยความสะดวกพอสมควร
  • 9) ให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นปรับปรุงงาน รวมทั้งมีส่วนร่วมในความสำเร็จของงาน หากบุคคลใดมีความคิดริเริ่มที่ดีมีประโยชน์ในการปรับปรุงงาน ควรยกย่องความดีความชอบของบุคคลนั้น เพื่อให้เป็นตัวอย่างเป็นกำลังใจแก่ผู้ร่วมงานคนอื่น ๆ

             จากการสร้างขวัญด้วยวิธีการต่าง ๆ บางครั้งการสร้างขวัญก็ประสบผลสำเร็จ นั่นคือ การตอบสนองด้วยความตั้งใจทำงาน ให้ความร่วมมืออย่างดียิ่ง แต่บางครั้งการสร้างขวัญก็ไม่ประสบผลสำเร็จ ศึกษานิเทศก์ควรจะได้สังเกตพิจารณาบรรยากาศของการทำงาน เพื่อเสริมสร้างขวัญและกำลังใจยิ่ง ๆ ขึ้นไป ขวัญจะเกิดขึ้นหรือไม่ มากน้อยเพียงใด อาจใช้วิธีดูจากสิ่งต่อไปนี้

               1) ความสามัคคีเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน ไม่แตกแยกเป็นก๊กเป็นเหล่า การแตกแยกเป็นเชิงความคิดเห็นเป็นเรื่องของหลักการและความคิด ไม่ใช่เรื่องส่วนตัว
               2) ความเอาใจใส่ในการงานการหมั่นติดตามผลงานที่ได้รับมอบหมายอยู่เสมอ เมื่อปรากฎว่าจะมีข้อบกพร่องหรือความเสียหายเกิดขึ้น ก็พยายามแก้ไข หรือชี้แจงให้ผู้มีอำนาจขึ้นไปทราบ แต่ไม่เป็นไปในด้านการฟ้องผู้อื่น
              3) ไม่ขาดหรือหยุดงานโดยไม่จำเป็น มีความสบายใจที่ได้มาทำงานและอยู่ร่วมกับเพื่อนฝูง
              4) คำร้องทุกข์หรือบัตนสนเท่ห์ การร้องทุกข์ของคนงานก็ดี หรือบัติสนเท่ห์กล่าวโทษการทำงานของครูก็ดี หากมีบ่อย ๆ เสมอ ๆ ก็น่าจะเป็นเครื่องชี้ให้เห็นว่า เกิดความบกพร่องในการทำงานนั้นแล้ว การร้องทุกข์หรือบัตรสนเท่ห์จะมีขึ้นยาก หากการปฏิบัติงานได้เป็นไปตามปกติ คนงานทุกคนได้รับความดูแลและเอาใจใส่โดยเสมอหน้า ดังนั้นคำร้องทุกข์หรือบัตรสนเท่ห์ จึงใช้เป็นเครื่องชี้สภาพขวัญในการทำงานของผู้ทำงานได้
              5) การสังเกตและการสัมภาษณ์ การสนทนาโดยตรงหรือการสังเกตจะทำให้ทราบความรู้สึกของผู้ร่วมงาน วิธีนี้อาจได้คำตอบดีกว่าการตอบแบบสอบถาม แม้จะเป็นวิธีที่สิ้นเปลืองเวลามาก แต่ถ้ามีวิธีการและเทคนิคในการถามที่ดีแล้ว ก็นับว่าให้ประโยชน์คุ้มค่ามากทีเดียว
              6) การให้กรอกแบบสอบถาม การกรอกแบบสอบถามตามระยะเวลาอันเหมาะสม เช่น 6 เดือนครั้ง นับว่าเป็นเครื่องมือที่ดีในการตรวจสภาพขวัญของการทำงานโดยทั่วไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับลักษณะของคำถามและวิธีการที่จะสอบถาม

5. การสื่อความหมาย

                การสื่อความหมาย มีความสำคัญอย่างยิ่งในการติดต่อกันระหว่างบุคคล ถ้าหากการสื่อความหมายไม่ดีพอ ปัญหาและอุปสรรคก็มักจะเกิดขึ้น เช่น ทำให้งานล่าช้า ผิดพลาด เกิดข้อขัดแย้ง หรือไม่ก็หยุดชะงักดังนั้นถ้าต้องการให้การดำเนินงานบรรลุสมความมุ่งหมายด้วยความเรียบร้อยและราบรื่น การสื่อความหมายเป็นสิ่งหนึ่งที่จะช่วยส่งเสริมให้การปฏิบัติงานสัมฤทธิผลได้ จุดมุ่งหมายที่สำคัญก็คือต้องการให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกันระหว่างผู้สื่อความหมาย และผู้รับความหมาย งานนิเทศการศึกษาจะได้ผลดีเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นิเทศที่จะมีความรู้ มีทักษะในการใช้สิ่งเหล่านี้ได้ดี และเกิดประโยชน์แก่งานได้มากเพียงใด ถ้าการติดต่อสื่อสารไม่ได้ผลย่อมทำให้การจัดรูปงานต่าง ๆ ไม่ได้ผลยิ่งกว่านั้นยังอาจทำให้คณะครูเกิดการแตกแยกเป็นพวกเป็นเหล่าได้อีกด้วย การสื่อความหมายที่ใช้ประสิทธิภาพนั้นอาจเกิดจากความบกพร่องหลายประการดังนี้

               1) ภาษาหรือเครื่องสื่อความหมายที่ใช้ ไม่ชัดเจนแจ่มแจ้งพอ มีทางให้คิดได้หลายทางเข้าใจยาก
               2) ผู้พูดกับผู้ฟังใช้ภาษากันคนละระดับ
               3) การแปลความหมายผิด เพราะการแปลความหมายจะเป็นไปตามประสบการณ์แต่ละคนทุกคนมีประสบการณ์แตกต่างกัน ยิ่งคำพูดที่ใช้มีความซับซ้อนหรือมีลักษณะเป็นนามธรรมมากเพียงไร ความแตกต่างในการแปลความหมายก็ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
               4) ข้อความสูญหาย เกิดจากการถ่ายทอดที่เนื้อข้อความสูญหาย หรือเกิดจากความจำไม่ดีเรื่องราวที่ถ่ายทอดต่อ ๆ กันมานั้น ถ้าไม่สูญหายหรือสูญข้อเท็จจริงไปก็มักจะขยายความเพิ่มขึ้น
                5) ความไม่เอาใจใส่ของผู้ฟังหรือผู้อ่าน นอกจากจะไม่เข้าใจในเนื้อหาแล้ว บางครั้งยังขาดการเอาใจใส่ในเรื่องนั้น ๆ อีกด้วย ผลที่ตามมาก็คือ การติดต่อบกพร่องทำให้งานล้มเหลว
                6) ความไม่สามารถที่จะปรับตัวได้ในระยะเวลาอันสั้น หรือความเคยชินความผิดพลาดชนิดนี้มักจะเกิดขึ้น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกิดขึ้น เช่น เปลี่ยนตารางสอน เปลี่ยนห้องสอน บางครั้งจะต้องใช้เวลาพอสมควร ผู้รับคำสั่งจึงจะปฏิบัติได้ถูกต้อง
                7) ความไม่แน่ใจในตัวผู้พูดสั่งงาน ในบางคราวบางกรณีผู้สั่งงานใช้คำขยายความจนรับสาระอะไรไม่ได้ หรือพูดทีเล่นทีจริงจนไม่แน่ใจว่าที่พูดนั้นเป็นความจริง หรือพูดเล่น ผู้รับคำสั่งจะรอดูก่อน ถ้าผู้สั่งงานพูดจริง ๆ จึงจะลงมือปฏิบัติตาม

ข้อเสนอแนะสำหรับศึกษานิเทศก์ ที่จะทำให้การติดต่อสื่อความหมายได้ผลดี มีดังนี้

              1) ในการถ่ายทอดความคิดนั้น จะต้องให้ชัดเจน และมีความแน่นอนมากที่สุดทั้งภาษาและความคิด การถ่ายทอดนั้นจะต้องเป็นระเบียบ เป็นขั้นตอนตามลำดับของเหตุผล
             2) ศึกษานิเทศก์จะต้องพยายามหาทางให้ผู้รับเรื่องราวต่าง ๆ รับฟังหรืออ่านด้วยความตั้งใจจริงจังและเต็มที่
             3) ศึกษานิเทศก์จะต้องนึกอยู่เสมอว่า การติดต่อสื่อความหมายนั้น เป็นเครื่องมือที่จะก่อให้เกิดความร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อให้บรรลุถึงความสำเร็จร่วมกัน ผู้นิเทศจึงควรติดต่อกับผู้บริหารและสร้างความสัมพันธ์กับครูก่อนไปทำการนิเทศ
             4) ศึกษานิเทศก์ควรใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ช่วยในการติดต่อสื่อความหมายด้วยจะทำให้เข้าใจยิ่งขึ้น
              5) ควรให้การปฐมนิเทศ เพื่อให้คณะครูเข้าใจเรื่องราวต่าง ๆ ตั้งแต่แรกก่อนเข้าทำการนิเทศ
              6) สร้างความสัมพันธ์เป็นส่วนตัว จะช่วยให้การถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจได้ง่ายขึ้นนอกจากนี้ผู้สื่อความหมายควรทราบถึงอิทธิพลที่มีต่อการสื่อความหมายอื่น ๆ ด้วยที่ทำให้การสื่อความหมายผิดเป้าประสงค์ไป มีอยู่เสมอที่ผู้ฟัง 2 คน ฟังเรื่องเดียวกันแต่เกิดความเข้าใจ เกิดอารมณ์และความรู้สึกต่าง ๆ กันไป

 

 

 

************************

อ้างอิงบทความนี้   
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล :  https://panchalee.wordpress.com/2009/03/30/supervision-3/

20 Replies to “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา(3)”

  1. พรุ่งนี้ผมจะไปปฏิบัติหน้าที่ นิเทศ กิจกรรมกศน.ตำบล บ้านดารา กศน.ตำบลไร่อ้อยและกศน.ตำบลบ้านในเมือง พื้นที่กศน.อ.พิชัยอุตรดิตถ์ ครับ คงมีข้อมูลดีมาอวด และข้อมูลที่น่าศึกษาต่อไป มาเล่าให้ฟังครับ อยากได้ข้อคิดเห็นและกำลังใจจากศึกษานิเทศมืออาชีพครับท่าน

    1. เรียน ผอ.อำนาจที่เคารพ
      รู้สึกปลื้มมากกับการทำงานอย่างเป็นระบบ และให้ความสำคัญกับคุณภาพการศึกษา ของ ผอ.และน้อง ๆ กศน.พิชัย ประมาณปลายเดือน กพ. ถ้าไม่ติดภาระกิจ จะไปเยี่ยม ชาว กศน. อุตรดิตถ์ ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  2. เรียนอาจารย์ที่เคารพ
    อาจารย์ค่ะขออนุญาตนำบทความของอาจารย์มาอ่านเพื่อสอบ ศน.นะค่ะ ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ในแนวการสอบด้วยค่ะ
    ขอบพระคุณมากค่ะ

    1. เรียน อาจารย์ ณภาพร ที่เคารพ
      วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554 จะมีข้อมูลเกี่ยวกับ การสอบ ศน. กศน. แล้วจะแจ้งให้ทราบ คอยติดตามนะคะ ใน Panchaleeมีบทความที่เป็นความรู้เกี่ยวกับการนิเทศ และความรู้เกี่ยวกับ กศน. จำนวนมาก อาจารย์ดูหนังสือและทำความเข้าใจให้ดี สอบได้แน่ ๆ ค่ะ
      อาจารย์ขิง

      1. อาจารย์ขิงที่เคารพ (ขออนุญาตเรียกชื่อเล่นนะคะ)
        ดิฉันสอบ ศน.ผ่านไปแล้ว ปรากฏว่ามีชื่อติดในบัญชีค่ะ ขอขอบพระคุณอาจารย์เป็นอย่างสูงสำหรับความรู้เรื่องการนิเทศ เห็นอาจารย์บอกจะมีการสอบศน.กศน. น่าสนใจมากค่ะ อยากไปสอบดู อาจารย์มีความคืบหน้ารบกวนช่วยบอกข่าวด้วยนะค่ะ ขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ

        ครูณภาพร

      2. เรียน อาจารย์ ณภาพร ที่เคารพ
        ขอแสดงยินดีด้วย ที่สอบ ศน.ได้ สำหรับ ศน. กศน. โครงสร้างใหม่ สำนักงาน กศน. จังหวัด มี ศน. แห่งละ 4 คน รวมทั่วประเเทศ 304 คน และ ศน. ส่วนกลาง ขณะนี้ มีตำแหน่งว่าง 14 ตำแหน่ง ซึ่งจะเปิดสอบใหม่ทั้งหมด เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 54 มีการประชุมเกี่ยวกับ การคัดเลือก ศน. กศน. คงมีสรุปผล และประกาศรับสมัคร ศน. กศน. เร็ว ๆนี้ ถ้าสนใจติดตามได้ที่ nfe.go.th ค่ะ
        อาจารย์ขิง

      3. เรียนอาจารย์ขิงที่เคารพ
        ได้ข่าวการรับสมัครสอบ ศน.กศน.แล้วค่ะ แต่เป็นส่วนกลาง จะมีเปิดสอบส่วนจังหวัดหรือเปล่าค่ะ
        รบกวนอาจารย์แนะนำเรื่องสอบด้วยค่ะ ไม่แน่ใจว่าใช้หลักสูตรเหมือน สพป. หรือเปล่า
        ขอบพระคุณค่ะ

      4. เรียน อาจารย์ ณภาพร ที่เคารพ
        ขณะ กศน. อยู่ระหว่างหารือ กคศ. เรื่องการคัดเลือก ศน. ของ สำนักงาน กศน. จังหวัด ค่ะ แต่ถ้ามีการสอบแข่งขัน ลักษณะของการสอบเช่นเดียวกับศึกษานิเทศก์ส่วนกลาง ค่ะ ดูรายละเอียดได้ ที่ nfe.go.th
        อาจารย์ขิง

  3. เรียนอ.ขิง
    ภัสมีเรื่องรบกวนอีกรอบภัสต้องการเอกสารเกียวกับการนิเทศภายใน ของกศน. ภัสจะหาได้จากไหนบ้างคะ ที่นครสวรรค์มีแต่แบบเก่ามากเลยค่ะ
    ภัสรา ทวิชาติสกุล
    กศน.อำเภอเก้าเลี้ยว
    จ.นคสวรรค์

    1. ผอ.ภัสรา ที่รัก
      ใน Panchalee blog หมวดหมู่ การนิเทศ กศน. มีบทความเกี่ยวกับการนิเทศ 16 ตอน และมีบทความเรื่อง การจัดการนิเทศการศึกษาภายในสถานศึกษา ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  4. เรียน อ.ขิง
    ภัสเป็นแค่ครูอาสาสมัครฯคะแต่เรียนต่อป.โท สาขาบริหารการศึกษา และกำลังทำ ISเรืองการนิเทศภายในของ กศน. มิได้เป็น ผอ.ค่ะ แต่ก็พยายามจะไปให้ถึงตำแหน่งผอ.ค่ะ

    1. เรียน TIA ที่เคารพ
      ขอบคุณที่เข้ามาทักทาย และยินดีอย่างยิ่ง ที่ Panchalee blog ได้รับใช้ผู้อ่านทุกท่าน ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  5. จริยธรรมของผู้นิเทศก์ มีอะไรบ้างคะ และนำไปประยุกต์ใช้ในการนิเทศก์การเรียนการสอนได้อย่างไรบ้างคะ

    1. สวัสดีค่ะ คุณ Ramlee
      ขอบคุณที่มาเยี่ยม Panchalee blog ค่ะ เรื่องช่องว่างทางความคิดระหว่าง ครูและ ศน. มีมานานแล้วเนื่องจากใช้วิธีนิเทศในรูปแบบนิเทศติดตามผล ลองเปลี่ยนวิธีนิเทศแบบมีส่วนร่วมจะทำให้ช่องว่างลดลงค่ะ
      อาจารย์ขิง

ส่งความเห็นที่ ภัสรา ยกเลิกการตอบ