เทคนิคการนิเทศ: การสอนงาน (Coaching)

 

อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
27 กรกฎาคม 2552

mon7การนิเทศสอนงาน (Coaching) การพัฒนาสถานศึกษาให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) บุคลากรในสถานศึกษาต้องมีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งการนิเทศสอนงาน เป็นเทคนิคหนึ่งที่สำคัญที่จะช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับครู อันจะเป็นตัวจักรสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ โดยมุ่งเน้นให้ครูมีความสามารถ มีผลการปฏิบัติงานที่ดีขึ้น และสถานศึกษาที่มีความพร้อมที่จะรับการเปลี่ยนแปลง
         เทคนิคการนิเทศสอนงาน (Coaching) เป็นการสอนงานครู โดยผู้สอนงาน (Coach) อาจเป็นผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นิเทศภายในที่สามารถเป็นผู้สอนงานได้ ผู้ถูกสอนงาน (Coachee) ส่วนใหญ่เป็นครูที่อยู่ในสถานศึกษาเดียวกัน การนิเทศสอนงานจะเน้นไปที่การพัฒนาผลการปฏิบัติงาน (Individual Performance) และพัฒนาศักยภาพ (Potential) ของครู Coaching เป็นการสื่อสารอย่างหนึ่งที่เป็นทางการและไม่เป็นทางการ ระหว่างผู้บริหารสถานศึกษา และครู เป็นการสื่อสารแบบสองทาง (Two way Communication) ทำให้ผู้บริหารสถานศึกษา และครูได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เช่น ปัญหาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนต่ำ ผู้เรียนออกกลางคัน สื่อที่ใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ไม่มีคุณภาพ ซึ่งการร่วมกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว ก่อให้เกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างผู้สอนงาน (Coach) และผู้ถูกสอนงาน (Coachee) อย่างไรก็ตามการที่จะ Coaching ได้ดีนั้น ต้องมีความพร้อมทั้งผู้สอนงานและผู้ถูกสอนงาน
         กล่าวโดยสรุป  Coaching คือ การที่ผู้บริหารสถานศึกษา หรือผู้นิเทศภายใน เป็นผู้สอนงาน (Coach) ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับครู ซึ่งเป็นผู้ถูกสอน ซึ่งผู้ที่ทำหน้าที่นิเทศสอนงานจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ และมีผลงานอยู่ในระดับมาตรฐาน

 

ความหมายของการนิเทศสอนงาน 

          Coaching  หมายถึง การสอนงานครู ในสถานศึกษา ซึ่งเป็นเทคนิคหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรหรือครู ทั้งนี้ ผู้นิเทศสอนงาน Coach โดยปกติ Coach สามารถเป็นได้ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้นิเทศภายใน ส่วนผู้ถูกสอนงานโดยปกติจะเป็นครูที่อยู่ในสถานศึกษา เรียกผู้ถูกสอนว่า “Coachee”   
          การสอนงานจัดได้ว่าเป็นกระบวนการหนึ่งที่ผู้นิเทศใช้เพื่อเสริมสร้างและพัฒนาครู ให้มีความรู้ (Knowledge) ทักษะ (Skills) และคุณลักษณะเฉพาะตัว (Personal Attributes) ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ (Result Oriented) โดยจะต้องตกลงยอมรับร่วมกัน (Collaborative) ระหว่างผู้นิเทศและครู ทั้งนี้การนิเทศการสอนงานจะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาผลการปฏิบัติงานของครู (Individual Performance) ในปัจจุบันแม้การสอนงานยังมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาศักยภาพ (Potential) ของครู เพื่อให้ครูมีพัฒนาการของความรู้ ทักษะ และความสามารถเฉพาะตัว และมีศักยภาพในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้สูงขึ้นต่อไป เพื่อความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน อันนำมาซึ่งตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไปในอนาคต          
            นอกจากนั้น การนิเทศสอนงาน ยังถือได้ว่า เป็นรูปแบบของการสื่อสารอย่างหนึ่งที่เป็นทางการ และไม่เป็นทางการระหว่างผู้นิเทศ และครู หรือเรียกว่า การสื่อสารแบบสองทาง (Two Way Communication) ที่ผู้นิเทศใช้ในการชี้แจง ทำความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของครู ให้เตรียมความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้อยู่ตลอดเวลา และเป็นช่องทางในการศึกษาสภาพปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ รวมทั้งเป็นโอกาสอันดีที่ผู้นิเทศจะได้รับรู้ถึงเป้าหมาย และกลยุทธ์ในการดำเนินงานของสถานศึกษา จากการเข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารและครูในสถานศึกษา                                                                 

               

แนวคิดเกี่ยวกับการนิเทศสอนงาน 

          การนิเทศสอนงาน มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งผู้นิเทศจะคอยแนะนำให้คำปรึกษาช่วยเหลือ ให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง นอกจากผู้นิเทศจะสอนงานแล้ว ยังจะช่วยให้ครูได้วิเคราะห์ตนเองให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีคุณภาพ ในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ และสามารถแก้ปัญหาอุปสรรคในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้หมดไป การนิเทศสอนงานจะช่วยให้ครูสามารถสะท้อนภาพการปฏิบัติงานของครูเพื่อให้ครูตระหนักว่า การจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้น จะต้องใช้วิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้อย่างไร เพื่อที่จะให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ จากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ขณะเดียวกันผู้นิเทศสอนงานจะให้ข้อมูล ความรู้ที่จำเป็น ซึ่งครูยังขาดอยู่ ดังนั้น การนิเทศสอนงานที่มีประสิทธิภาพ ไม่เพียงขึ้นอยู่กับทักษะของผู้นิเทศ และความสามารถในการรับ (Receptiveness) ของครูเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับองค์ประกอบแวดล้อมของการนิเทศสอนงานด้วย เช่น ความชัดเจนของตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI : Key Performance Index) ความชัดเจนในเกณฑ์การประเมินตัวชี้วัดความสำเร็จ ประสิทธิภาพของการให้ข้อมูลย้อนกลับด้วยการนิเทศสอนงานที่มีประสิทธิภาพ จะช่วยให้สภาพแวดล้อมการทำงานดีด้วย การพูดคุยระหว่างการนิเทศสอนงาน จะช่วยให้ครูเข้าใจดีขึ้นว่า ผู้นิเทศมีความคาดหวังจากการนิเทศอย่างไร ทำให้มีการให้ข้อมูลย้อนกลับอย่างสม่ำเสมอ และเปิดโอกาสให้ต้องคิดถึงมาตรฐานและเกณฑ์ในการนำไปสู่ความสำเร็จ ในขณะปฏิบัติงาน การนิเทศสอนงานที่มีประสิทธิภาพ จะสัมพันธ์กับบรรยากาศของการเรียนรู้ ซึ่งทั้งสองประการนี้จะสนับสนุนซึ่งกันและกัน

  

บทบาทหน้าที่ของผู้นิเทศสอนงาน 

          ผู้นิเทศสอนงาน (Coach) ควรเป็นผู้รักการอ่าน รักการแสวงหาความรู้ และเป็นผู้ขวนขวายหาข้อมูลความรู้ใหม่อยู่ตลอดเวลา รวมทั้งแสวงหาประสบการณ์ใหม่เกี่ยวกับการจัดการศึกษา เพื่อที่จะได้นำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาทำหน้าที่ ให้การฝึกอบรม พัฒนาครู และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครู เป็นผู้ให้คำปรึกษา แก้ไขปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ บทบาทดังกล่าวของผู้นิเทศสอนงาน จะแสดงบทบาทใดนั้น ขึ้นอยู่กับสถานการณ์หรือสภาพปัญหาและความต้องการในการจัดการศึกษา ซึ่งบางครั้งผู้นิเทศสอนงาน อาจแสดงบทบาทใดบทบาทหนึ่ง หรือแสดงมากกว่าหนึ่งบทบาท เรียกว่าบทบาทผสมผสาน (Mixed Roles )

 

คุณลักษณะของผู้นิเทศสอนงาน 

          ผู้นิเทศสอนงาน (Coach) แสดงบทบาทนิเทศสอนงาน ควรมีพื้นฐานลักษณะนิสัยที่ดี ดังต่อไปนี้ 

           1. การยอมรับความจริง
           2. เห็นอกเห็นใจ
           3. มองโลกในแง่ดี
           4. กระตือรือร้น
           5. ให้โอกาส
           6. ยืดหยุ่น
           7. มั่นใจในตนเอง
           8. กล้ารับผิดและรับชอบ
           9. มีวิสัยทัศน์

                ผู้นิเทศสอนงาน ควรหลีกเลี่ยงลักษณะนิสัยที่ไม่ดี คือ การไม้วางใจ ขี้รำคาญ เอาแต่ใจ ถือตัว ชอบเปรียบเทียบ รอไม่ได้ ไม่มั่นใจในตนเอง ไม่หวังดี และไม่รีบร้อน

 

แนวปฏิบัติการนิเทศสอนงาน 

          การนิเทศสอนงาน จะประสบผลสำเร็จได้ มีแนวปฏิบัติสำหรับผู้นิเทศสอนงาน ดังต่อไปนี้

           1. กำหนดเวลาให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่ต้องการสอนงาน
           2. สภาพอารมณ์ปกติ พร้อมที่จะสอนงาน
           3. สุขภาพร่างกายดี
           4. วิธีการสอนงานมีความเหมาะสมกับเนื้อหาสาระ และผู้รับการนิเทศ
           5. ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับ
                     5.1 เนื้อหา/ขอบเขตของของงานที่นิเทศ
                     5.2 ผังโครงสร้างสถานศึกษา วิสัยทัศน์ นโยบายต่าง ๆ ของสถานศึกษา
                     5.3 ข้อมูลเกี่ยวกับผู้รับการนิเทศ
           6. เตรียมความพร้อม สื่อ อุปกรณ์ เครื่องมือที่ใช้ในการนิเทศสอนงาน
           7. เข้าใจจิตวิทยาการเรียนรู้ของครูที่เป็นผู้ใหญ่

 

รูปแบบของการเรียนรู้ และการรับรู้ของผู้รับการนิเทศ 

          การรับรู้ของครูแต่ละคนจะมีขีดจำกัดตามระยะเวลาที่กำหนด ควรกำหนดระยะเวลาที่เหมาะสมไม่มาก หรือน้อยเกินไป ย่อมจะทำให้ครูสามารถรับรู้และเรียนรู้ในสิ่งที่ผู้นิเทศสอนงาน หรือถ่ายทอดได้ดีกว่า และที่เหมาะสมคือประมาณหนึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หากจำเป็นต้องใช้ระยะเวลามากกว่านี้ ควรจัดให้มีเวลาพัก (Break) เพื่อให้ครูมีโอกาสหยุดทบทวนความคิดและข้อมูลที่ผู้นิเทศได้สอนงานไปแล้ว
          การศึกษาวิเคราะห์และเลือกวิธีการหรือเทคนิคในการนิเทศสอนงานให้เหมาะสม โดยมีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อให้การทำงานบรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนด ตลอดจนการให้คำแนะนำถึงแหล่งข้อมูลที่นำใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการเปิดใจและเต็มใจที่จะตอบข้อซักถามต่าง ๆ ให้แก่ครู ไม่แสดงสีหน้ารำคาญ หรือต่อว่าครู เมื่อครูพยายามคิดหาทางพัฒนา และปรับปรุงระบบ หรือกระบวนการทำงานให้รวดเร็ว สะดวก และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และร่วมกันรับผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ว่าผลลัพธ์นั้นจะออกมาดี หรือไม่ดีเพียงใด

 

ปัจจัยที่ทำให้การนิเทศสอนงานไม่บรรลุผลสำเร็จ 

        ปัจจัยที่ทำให้การนิเทศสอนงานไม่บรรลุผลสำเร็จ มีดังนี้
          1. การจัดสภาพแวดล้อม สถานที่ที่ใช้สำหรับสอนงาน ครู ไม่เหมาะสม เช่น กว้างหรือแคบเกินไป บรรยากาศในห้องประชุมดูเป็นทางการหรือเป็นกันเองเกินไป ห้องประชุมมีอากาศร้อน มีกลิ่นหรือเสียงรบกวน ทำลายสมาธิของผู้นิเทศและครู
          2. การจัดหาอุปกรณ์เครื่องมือ การจัดหาและการจัดเตรียมอุปกรณ์ เครื่องมือต่าง ๆ ไม่ครบถ้วน ไม่มีคุณภาพ ในการนำไปใช้สอนงาน หรือไม่สามารถสาธิตวิธีการใช้อุปกรณ์/เครื่องมือ ที่เกี่ยวข้องกับการสอนงานได้
          3. งบประมาณ สถานศึกษาไม่ได้ตั้งงบประมาณเพื่อการนิเทศสอนงานได้โดยเฉพาะ
          4. บุคลากร คือ ปัญหาที่เกิดจากผู้ทำหน้าที่นิเทศสอนงาน โดยมีสาเหตุจากผู้ทำหน้าที่นิเทศสอนงาน ดังนี้
                   4.1 ขาดความรู้และไม่เข้าใจในเนื้อหาที่จะสอนงาน
                   4.2 ขาดทักษะในการควบคุมเวลาในการสอนงาน
                   4.3 ขาดทักษะของการสื่อสาร และวิธีการถ่ายทอดให้ครูเข้าใจ
                   4.4 ผู้นิเทศสอนงานไม่มีความรู้ และประสบการณ์ หรือมีไม่ตรงกับสิ่งที่ครูต้องการ
                   4.5 ไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นของการสอนงาน
                   4.6 ทำตนไม่เป็นแบบอย่างที่ดีต่อครู
                   4.7 อารมณ์หงุดหงิด หรือแสดงความไม่พอใจ เมื่อครูมีคำถามหรือมีข้อสงสัย
                   4.8 ขาดความพร้อมในด้านสุขภาพกายหรือสุขภาพจิต ในขณะที่เขียนสอนงาน
          5. ครู  ครูผู้รับการนิเทศสอนงาน พบว่า เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การนิเทศสอนงานประสบความล้มเหลว คือครูมักจะหลีกเลี่ยงหรือปฏิเสธ ไม่ยอมทำตามที่ผู้นิเทศสอนงานได้ให้การนิเทศไว้ ทั้งนี้สืบเนื่องจาก ไม่มีเป้าหมายในการทำงาน หรือไม่สนใจที่จะพัฒนาตนเอง กลัวการเปลี่ยนแปลง ไม่พร้อมที่จะรับฟัง หรือขาดความเคารพศรัทธาผู้นิเทศ และอาจมีผู้นิเทศ (Coach) มากเกินไป ทำให้มีหลายแนวทางทำให้ครูเกิดความสับสน
          6. วัฒนธรรมองค์กรของสถานศึกษา ไม่เอื้อและไม่ได้รับการส่งเสริมจากผู้บริหารสถานศึกษา

 

แนวทางการจัดระบบ Coaching ในสถานศึกษา

         การจัดระบบ Coaching ในสถานศึกษาให้เป็นรูปธรรมมีดังนี้
          1. กำหนดระบบ Coaching เป็นนโยบายของสถานศึกษา
          2. สร้างสภาพแวดล้อม และบรรยากาศของสถานศึกษาให้มีความไว้เนื้อเชื่อใจ (Trust) โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ทำหน้าที่นิเทศสอนงาน และครูผู้รับการนิเทศสอนงาน
          3. กำหนดใน Job Description ของผู้บริหารสถานศึกษา และผู้นิเทศภายในให้ทำหน้าที่เป็น Coach
          4. กำหนดเรื่องการ Coaching  เป็นหนึ่งในเป้าหมายประจำปีของสถานศึกษา โดยมีการกำหนดและวัดตัวชี้วัดความสำเร็จ (KPI : Key Performance Index)
          5. เชื่อมโยงผลการทำ Coaching สู่ระบบ Performance Management และระบบจ่ายค่าตอบแทน
          6. สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เป็นวัฒนธรรมของการเรียนรู้ (Learning Culture) ดังนี้
                    6.1 เรียนรู้โดยการลงมือทำ (Learning by Doing)
                    6.2  เรียนรู้โดยการถ่ายทอด (Learning by Teaching)
                    6.3  เรียนรู้โดยการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Learning by Sharing)

 

ประโยชน์การนิเทศสอนงาน (Coaching)

          ประโยชน์การนิเทศสอนงาน ที่ส่งผลโดยตรงต่อ ครู สถานศึกษา และผู้นิเทศมีดังต่อไปนี้

           1. ประโยชน์ต่อผู้นิเทศสอนงาน (Coach)
                     1.1 ผู้นิเทศสามารถปรับปรุงและพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
                     1.2 ผู้นิเทศสามารถช่วยเหลือครู ในการสะท้อนจุดเด่น และจุดที่ยังมีปัญหาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูได้อย่างแท้จริง และครูสามารถนำข้อมูลต่าง ๆ จากผู้นิเทศไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีคุณภาพ
                     1.3 ผู้นิเทศสามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ และปัญหา การเปลี่ยนแปลง การเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ ของสถานศึกษาให้ครูได้เข้าใจตรงกัน และมีทิศทางในการทำงานเป็นไปในทิศทางเดียวกัน
                     1.4 ผู้นิเทศสามารถรับรู้ความคาดหวัง สภาพและปัญหา อุปสรรค ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ซึ่งจะนำไปสู่ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการในการนิเทศอย่างแท้จริง
                     1.5 เป็นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการทำงานระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ

          2. ประโยชน์ต่อครูผู้รับการสอนงาน (Coachee)
                     2.1 การสอนงานจะช่วยให้ครูสามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีคุณภาพ
                     2.2  Coaching เป็นกระบวนการหนึ่งที่จะช่วยผลักดันและสนับสนุนให้ครูทำงาน ให้บรรลุเป้าหมาย (Performance Goal) ตามแผนงานที่กำหนด
                     2.3  เข้าใจขอบเขต เป้าหมาย ของงาน และความต้องการที่ผู้นิเทศคาดหวัง
                     2.4 ได้รับรู้สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลง ปัญหา อุปสรรค ของการจัดการศึกษาในสถานศึกษา และภารกิจที่สถานศึกษากำลังดำเนินการในปัจจุบัน และจะดำเนินการต่อไปในอนาคต
                    2.5 ได้รับรู้ถึงปัญหา หรืออุปสรรคที่เกิดขึ้น ในการจัดการเรียนรู้ร่วมกับผู้นิเทศ และมีส่วนร่วมกับผู้นิเทศ ในการพิจารณา แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น
                    2.6   มีโอกาสรู้ถึงจุดแข็ง จุดอ่อนของตน เพื่อสามารถนำไปพัฒนา และปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

           3. ประโยชน์ต่อสถานศึกษา
                    3.1 สถานศึกษามีผลการปฏิบัติงาน (Organization Performance) เป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนดไว้
                     3.2   สถานศึกษามีความพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ในยุคโลกาภิวัตน์ เนื่องจากการสอนงานทำให้ครูมีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านการทำงานตามนโยบาย กลยุทธ์ วิธีการทำงาน และการนำเอาเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ เป็นต้น
                     3.3    เป็นการส่งเสริมการสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีมในสถานศึกษา

 

อ้างอิงบทความนี้
เทคนิคการนิเทศ: การสอนงาน (Coaching)
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล: https://panchalee.wordpress.com/2009/07/27/coaching/

 

——————————————————

37 Replies to “เทคนิคการนิเทศ: การสอนงาน (Coaching)”

  1. เยี่ยมจริงค่ะ หนูเป็นหัวหน้าฝ่ายวิชาการคนใหม่ แต่ไม่ค่อยได้เรื่องเท่าไหร่นัก ความรู้ก็ไม่ค่อยมี ได้อ่านงานดีๆ รู้สึกมีกำลังใจหน่อย

    1. เรียนคูณ koreefar ที่เคารพ
      บทความเรื่องการนิเทศสอนงาน ดิฉันเพิ่งได้เขียนบทความนี้ขึ้นมาใหม่โดยนำกรอบแนวคิด ทฤษฎีการสอนงาน (Coaching) และประสบการณ์การเป็นศึกษานิเทศก์มาหลายปี ได้พยายามเขียนขึ้นมาเพื่อเป็นแนวคิดในการสอนงาน ให้กับผู้บริหาร ศึกษานิเทศก์ ครูผู้ทำนิเทศภายในหรือหัวหน้างานในองค์กรต่าง ๆ นำไปใชในการ Coaching หลังจากนำบทความออกเผยแพร่เมื่อวันที่ 27 กรกฎาคม 2009 ก็ยังไม่มั่นใจเท่าไร ได้รับ Feedback จากคุณ ก็ทำให้มีความหวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์ต่อผู้อ่าน ขอขอบคุณสำหรับความคิดเห็นที่ทำให้ดิฉันมีกำลังใจที่จะเขียนบทความที่เป็นประโยชน์ต่อไป
      อาจารย์ขิง

    1. คุณณัฐ ธรรมะวิธีกุล
      ตอนนี้ทำงานที่อุตรดิตถ์ ขอบคุณมากสำหรับกำลังใจ และความช่วยเหลือต่าง ๆ ในการทำ Blog พรุ่งนี้จะไปนครสวรรค์ คิดถึงณัฐมาก
      จากแม่ขิง

  2. อยากจะรบกวนท่านเป็นวิทยากรอบรม เรื่องการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนโดยใช้ระบบ Coaching จะติดต่อได้อย่างไรครับ

    1. เรียน อาจารย์ศุภากร ที่เคารพ
      ต้องขออภัยด้วยที่ดิฉันไม่มีเวลาจริง ๆ เพราะมีภารกิจมากมาย เช่นนิเทศสถานศึกษา กศน. 7 จังหวัดในภาคเหนือ ทำ PMQA ของ สป.ศธ , กศน. ประธานจัดทำข้อสอบปลายภาค หมวดวิชา …. กลั่นกรองผลงานวิชาการ เชี่ยวชาญ กศน. เป็นพี่เลี้ยงการทำผลงานทางวิชาการให้กับครูในสถานศึกษาที่นิเทศ เป็นพี่เลี้ยงการทำประกันคุณภาพให้กับสถานศึกษา กศน.ที่รับผิดชอบ
      การใช้ระบบ Coaching นั้นความจริงในวิถีชีวิตการเป็นผู้บริหารสถานศึกษาของอาจารย์ได้ทำอยู่แล้ว เพียงแต่เราไม่ได้ทำเป็นเชิงระบบ เช่นการกำหนดปัญหาที่ชัดเจน เพื่อนำมาเป็นประเด็นหรือเรื่องที่เราจะ Coaching การตั้งวัตถุประสงค์ การวางกรอบการดำเนินงาน การประเมินผลการดำเนินงานทุกขั้นตอน ทุกขั้นตอนครูที่รับการสอนงานจะต้องมีส่วนร่วม หลักของการ Coaching คือ ครูเรียนรู้โดยลงมือทำจริง ๆ ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้ เทคนิค และประสบการณ์ต่าง ๆ จากผู้นิเทศ ขณะเดียวกันก็แลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้นิเทศและครูผู้รับการนิเทศ หลักสำคัญของการทำ Coaching คือ ผู้ทำหน้าที่ Coaching จะต้องมีความรู้และประสบการณ์ในเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้ เช่นเรื่อง เทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบ 5 E ที่เน้นพัฒนาทักษะการคิดขั้นสูง : กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศเป็นต้น ถ้าโรงเรียนอาจารย์อยู่ในเขตพื้นที่ 7 จังหวัด ดิฉันจะหาโอกาสไปเยี่ยมค่ะ(อุทัยธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก สุโขทัย ตาก เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์ )
      อาจารย์ขิง

  3. เรียน อาจารย์อัญชลี ที่นับถือ

    ผมอ่านบทความของอาจารย์ขอชมเชยว่าบทความของอาจารย์เยี่ยมจริง ๆ เข้าใจง่าย ปฏิบัติได้ ผมสนใจเรื่องการ Coaching มานานแล้ว มาเจอบทความของอาจารย์ผมดีใจมาก
    และผมจะขอนุญาติอาจารย์ไปอ้างอิงและเผยแพร่ต่อไปเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาการศึกษาของเด็กไทย หวังว่าอาจารย์คงให้ความอนุเคราะห์ และขอขอบคุณมาล่วงหน้า ณ โอกาสนี้ และผมจะคอยคำตอบจากอาจารย์จาก web นี้นะครับ

    ขอแสดงความนับถือ
    ฉลอง จันทร์ขาว
    ศึกษานิเทศก์ นครศรี ฯ เขต 3

    1. เรียน อาจารย์ฉลอง ที่เคารพ
      ดีใจและขอบคุณท่านมากที่มาเยี่ยม Blog และให้กำลังใจ สำหรับบทความใน Blog ทุกบทความต้องการเผยแพร่และแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับทุกท่าน และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่อาจารย์ให้ความสนใจบททความนี้ในการนำไปอ้างอิงและเผยแพร่ ที่จริงการทำงานของ ศน.ทุกคน เป็นลักษณะ Coaching อยู่แล้ว เพียงเราไม่ได้มองว่าเป็นเทคนิคการนิเทศ และไม่ได้จัดระบบการทำงาน ซึ่งเราอาจนำวงจร PDCA มาจัดทำระบบ Coaching ดิฉันได้ทดลองทำ Coaching เรื่องการทำวิทยฐานะ เรื่องประกันคุณภาพการศึกษา ได้ผลดีพอสมควร ขณะทำพบปัญหาต่าง ๆก็พยายามปรับปรุงแก้ไข จนกลายเป็นบทเรียนที่ดีที่สามารถนำไปใช้ Coaching กับการนิเทศเรื่องอื่น ๆ ได้
      อาจารย์ขิง

  4. กำลังศึกษา ป.โท อยู่ค่ะ ขออนุญาตนำบทความนี้นำเสนอเพื่อนร่วมชั้นเรียน เยี่ยมมากเลยค่ะ อาจารย์ให้หาบทความเรื่องการนิเทศ 3 เรื่องและต้องทันสมัย ต้องขอบพระคุณท่าน ศน. เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ค่ะ

    นักศึกษาป. โท หลักสูตร
    ม.รามคำแหง

    1. เรียน คุณศุภวรรณ ที่เคารพ
      ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม Blog และยินดีมากที่บทความเรื่องการนิเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการเรียนของคุณศุภวรรณ ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  5. สวัสดีครับท่านอาจารย์..รบกวนเรียนถามอาจารย์นิดนึงว่า..รูปแบบการนิเทศเชิงสนับสนุนน่าจะเป็นการสนับสนุนในด้านใดดี..ควรมีรูปแบบกรอบแนวคิดอย่างไรดีครับ..พอดีตอนนี้ผมก็พยายามหางานวิจัย..หารูปแบบหลายๆส่วนมาศึกษา..เพื่อที่จะนำออกมาให้ได้กรอบแนวคิดเกี่ยวกับการนิเทศเชิงสนับสนุนที่สมบูรณ์..และสามารถนำไปพัฒนา..หรือไปใช้ในโรงเรียนได้ดีน่ะครับ..ถ้าอย่างไรรบกวนอาจารย์ช่วยแนะนำด้วยนะครับ..ผมไม่ได้หายไปไหน..ตอนนี้พยายามมุ่ง..พยายามค้นคว้าอยู่อย่างเข้มข้นเลยครับ..ขอบพระคุณท่านอาจารย์ล่วงหน้าด้วยนะครับ..

  6. เรียนอาจารย์อัญชลี

    สนใจเรื่อง coaching อยู่ค่ะ แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจลึกซึ้ง กำลังพัฒนาเป็นดุษฎีนิพนธ์
    เพื่อวัดและเชื่อมโยงตัวแปร หากอาจารย์มีข้อแนะนำ โปรดแนะนำด้วยนะคะ

    ขอบคุณค่ะ
    สุมลา พรหมมา

  7. เป็นบทความที่มีสาระและได้ความรู้มากเลยค่ะ ตอนนี้ดิฉันกำลังเรียนป.โท อ.ให้ทำวิทยานิพนธ์ ดิฉันสนใจทำเรื่องที่เกี่ยวกับการจัดการนิเทศการสอนของครูในโรงเรียน และบทความของอ.มีความรู้มาก ดิฉันขออนุญาต อ.ขิง นำความรู้นี้ไปอ้างอิงและเผยแพร่ในการจัดทำวิทยานิพนธ์ ต้องขอขอบพระคุณอ.ขิงมากๆที่นำเสนอบทความนี้ และจะนำการนิเทศนี้ไปใช้ในการพัฒนาการสอนของครูที่อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เพราะสอนอยู่ที่นั่น เป็นกำลังใจให้ดิฉันด้วยขอบพระคุณอ.ขิงอีครั้งค่ะ

  8. เป็นบทความที่มีเนื้อหาครอบคลุมดีมากค่ะ เป็นเอกสารอ้างอิงสำหรับเขียนบทความส่งอาจารย์ในการเรียนเรื่องนิเทศการสอนได้เป็นอย่างดี ขอบคุณมากๆสำหรับสิ่งดีๆที่มอบให้

  9. อยากถามอาจารย์ว่าเราจะมีการพัฒนาระบบการโคชชิ่งภายในสถานศึกษาให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร

    1. สวัสดีค่ะครูวิน
      ก่อนอื่นเราต้องถามตนเองว่า ในสถานศึกษาเรามีระบบการสอนงานหรือไม่(Coaching) องค์กรในระบบราชการไทย ระบบสอนงานทำได้อยากมากเนื่่องจากหลายสาเหตุ เช่น บุคลากรมีความเชื่อมั่นในตนเองสูง การไม่ยอมรับนับถือคนที่มีความรู้ความสามารถในหน่วยงาน การไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง การไม่ปรับกระบวนทัศน์ ฯลฯ ดังนั้นการจะมีระบบ Coaching ต้องเริ่มจากการสร้างความตระหนักและเห็นความสำคัญของการสอนงานว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน ต่อตัวครู ในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา
      อาจารย์ขิง

  10. สวัสดีค่ะ อาจารย์

    ดิฉันขอฝากตัวเป็นลูกศิษย์ของท่านด้วยคน ยังไม่เคยพบตัวจริงท่าน แต่ติดตามผลงานในบล็อก และเว็บไซต์ค่ะ ดิฉันเป็นนักศึกษาปริญญาเอก มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ตอนนี้สนใจจะทำวิทยานิพนธ์เรื่อง การพัฒนางานบริหารวิชาการแบบสอนงาน(Coaching) ในโรงเรียนประถมศึกษาขนาดเล็ก

    หัวข้อเรื่องได้รับความเห็นชอบ จากคณะกรรมการบัณฑิตศึกษาแล้ว ส่วนขั้นตอนต่อไป คือ การศึกษาบริบท และเอกสารวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำเสนอเค้าโครง เนื่องจากท่านเป็นผู้เชี่ยวชาญ ที่มีความรู้ลึกในเรื่องการ Coaching งานด้านการศึกษา ดิฉันขอความเมตตาท่านให้ความกรุณาเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาด้วย

    กราบขอบพระคุณค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณมัณฑนา
      ด้วยความยินดี และรู้สึกเป็นเกียติมากค่ะ
      ถ้าติดต่อทางจดหมาย ตามที่อยู่ดังนี้ค่ะ
      อัญชลี ธรรมะวิธีกุล หัวหน้าหน่วยศึกษานิเทศก์ สำนักงาน กศน. กระทรวงศึกษาธิการ เขตดุสิต ถนนราชดำเนิน กทม.10300
      อาจารย์ขิง

  11. ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงยิ่ง นะคะ สำหรับความกรุณาที่ท่านมีให้
    เมื่อได้รับหนังสือ แต่งตั้ง จากทางมหาวิทยาลัยแล้ว ดิฉันจะรีบส่งจดหมายถึงท่าน
    โดยด่วน ขณะนี้กำลังเตรียมเนื้อหาเค้าโครง ส่งมหาวิทยาลัย เพื่อขอตั้งอจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ทั้งภายใน และผู้ทรงคุณวุฒิเฉพาะทาง นอกมหาวิทยาลัยด้วยค่ะ

  12. เรียน อาจารย์อัญชลีที่เคารพ ดิฉันเป็น ศนของเทศบาลนนทบุรี ขออนุญาตนำบทความของท่านไปใช้อ้างอิงในการทำผลงานด้วยนะคะ เพราะกำลังใช้วิธีการสอนสอน และติดตามช่วยเหลือกับเพื่อนครูในสังกัดเทศบาล เมื่ออ่านบทควมนี้ทำให้เข้าใจวิธีการมากยิ่งขึ้น และจะนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาการนิเทศของตัวเองให้มีคุณภาพมากขึ้น ขอบพระคุณท่านอาจารย์นะคะ สำหรับความรู้ที่ให้เป็นวิทยาทาน

  13. เรียน ท่าน ศน.อัญชลี ธรรมวิธีกุล ที่เคารพอย่างสูง
    ดิฉัน นางทิพย์วรรณ สุนนท์ ตำแหน่ง ครู หัวหน้าฝ่ายวิชาการ โรงเรียนบ้านหนองเขื่อง สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชัยภูมิ เขต 1 ได้ศึกษาการนิเทศของท่าน ศน.อัญชลี ทำให้ได้รับความรู้ในการนิเทศ ดิฉันนำความรู้ที่ได้จากการศึกษาไปปรับใช้พัฒนางานวิชาการที่โรงเรียน ผลการพัฒนางานเป็นอย่างไรจะนำเรียนเสนอท่าน ศน.ให้ทราบในภายหลังนะคะ
    ขอบพระคุณมากนะคะ
    นางทิพย์วรรณ สุนนท์

    1. สวัสดีค่ะคุณครูทิพย์วรรณ
      ขอบคุณที่มาเยี่ยม Panchalee blog ถ้าอาจารย์มีบทความวิชาการ หรือบทความด้านนิเทศส่งมาเผยแพร่ใน Panchalee blog ได้นะคะ
      อาจารย์ขิง

  14. คำนึง
    เรียน ท่าน ศน. อัญชลี ที่เคารพ
    ผมได้อ่านบทความแนวความคิดของท่านเกี่ยวกับการสอนงานcoaching ซึ่งเป็นแนวการศึกษาที่สำคัญยิ่ง ผมอีกคนหนึ่งต้องขออนุญาตและขอความอนุเคราะห์บทความของท่านไปใช้ประกอบในการทำผลงาน ผมอยากให้ท่าน ศน. นำความคิดเกี่ยวกับการเรียนการสอนแบบมิตรภาพบ้างจะเป็นอย่างไรครับ. หรือคล้ายกับการสอนงาน

    1. สวัสดีค่ะอาจารย์คำนึง
      เทคนิคการสอนงานเป็นบวนการหนึ่งที่ใช้พัฒนาบุคคลากร ในยุคใหม่ ส่วนการนำแนวคิดเกี่ยวกับการสอนแบบมิตรภาพที่เรานำไปใช้กับผู้เรียนก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการพัฒนาบุคคลากรได้ค่ะ ขอบคุณที่มาเยี่ยม Panchalee blog ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  15. กำลังศึกษา ป.โท อยู่ค่ะ ขออนุญาตนำบทความนี้นำเสนอเพื่อนร่วมชั้นเรียน เยี่ยมมากเลยค่ะ อาจารย์ให้หาบทความเรื่องการนิเทศ เรื่องและต้องทันสมัย ต้องขอบพระคุณท่าน ศน. เป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้ค่ะ
    นักศึกษาป. โท หลักสูตร
    ม.รามคำแหง

  16. สวัสดีครับ อาจารย์ปานชาลี ที่เคารพ ผมได้อ่านบทความของอาจารย์แล้วรู้สึกได้มุมมอง แง่คิด ในการต่อยอดสู่การทำงานการนิเทศการเรียนการสอนที่เป็นระบบ ระเบียบ ลึก และผลการนิเทศนี้จะส่งผลต่อการจัดเรียนการสอนของครูได้ตรงกับความต้องการของครู และนักเรียนโดยตรง ผมชอบครับ ตอนนี้ผมก็ทำผลงานยุครับ ถ้าหากไม่รบกวนอาจารย์มากนัก ผมขอความอนุเคราะห์ท่านเป็นพี่เลี้ยงเกี่ยวกับการนิเทศ การเรียนการสอนด้วยนุครับ

ส่งความเห็นที่ koreefar ยกเลิกการตอบ