รายงานการศึกษาการพัฒนาชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม

 

บทคัดย่อ
ชื่อเรื่อง   รายงานการศึกษาการพัฒนาชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม

ผู้รายงาน   นางสมพิศ  เจตนา

หน่วยงาน  สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเพชรบูรณ์

ปีที่ศึกษา    2552

 

         การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างและพัฒนาชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม สำหรับนักศึกษาการศึกษานอกระบบ หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 50 ชั่วโมง ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์ กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้เป็นนักศึกษาการศึกษานอกระบบ หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 50 ชั่วโมง วิชาการ  แปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จำนวน 40 คนโดยเลือกสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1) สร้างและพัฒนาชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม ให้มีประสิทธิภาพตามเกณฑ์มาตรฐาน 80/80 2) เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา ระหว่างก่อนและหลังการใช้ชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม 3) ศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาการศึกษานอกระบบ หลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น 50 ชั่วโมง วิชาการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบูรณ์  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีดังนี้

         1) ชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม  มี 7 หน่วยการเรียน

                   หน่วยที่ 1 ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับมะขาม พันธุ์มะขามหวาน และการขยายพันธุ์มะขาม
                   หน่วยที่ 2 การแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม : อาหารคาว
                   หน่วยที่ 3 การแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม : อาหารขบเคี้ยว
                   หน่วยที่ 4 การแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม : ผลิตภัณฑ์ที่ใช้กับร่างกาย
                   หน่วยที่ 5 สุขอนามัยในการผลิตอาหารและการบรรจุภัณฑ์
                   หน่วยที่ 6 การจัดการและการตลาด
                   หน่วยที่ 7 การรวมกลุ่มอาชีพและการดำเนินชีวิตตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

        2) แบบทดสอบท้ายหน่วยการเรียน
        3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
        4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาเกี่ยวกับความเหมาะสมของชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม

ผลการศึกษาพบว่า

      1) กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 คน เป็นชาย 3 คน หญิง 37 คน มีอายุ 51 ปี ขึ้นไปมากที่สุด จำนวน 17 คน รองลงมามีอายุ 31–40 ปี จำนวน 10 คน และอายุ 41–50 ปี มีจำนวน 9 คน มีอาชีพรับจ้าง 34 คน เกษตรกร 5 คน และเป็นแม่บ้าน 1 คน มีการศึกษาระดับประถมศึกษา 33 คน มัธยมศึกษาตอนต้น 4 คน มัธยมศึกษาตอนปลาย ปริญญาตรี และไม่มีวุฒิอย่างละ 1 คน ประสบการณ์ความรู้ที่เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม ไม่มีประสบการณ์เลย 19 คน รองลงมามีประสบการณ์ ความรู้ที่เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม 5-10 ปี มี 10 คน มีประสบการณ์ ความรู้ที่เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม น้อยกว่า 5 ปี มี 7 คน และมีประสบการณ์ ความรู้ที่เกี่ยวกับการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม มากกว่า 10 ปี มี 4 คน 

       2) ประสิทธิภาพของชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม มีค่าเท่ากับ 82.61/89.90 แสดงว่ามีประสิทธิภาพตามเกณฑ์ที่กำหนด 80.00/80.00  และจากการเปรียบเทียบค่าคะแนนเฉลี่ยก่อนและหลังการใช้ชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม การทดสอบหลังเรียนมีคะแนนสูงกว่าการทดสอบก่อนการใช้ ชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขามอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .01

        3) ความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม มีความคิดเห็นว่าชุดการเรียนการแปรรูปผลิตภัณฑ์มะขาม มีความเหมาะสมในระดับมาก ถึงมากที่สุด โดยด้านรูปเล่มของชุดการเรียนมีค่าเฉลี่ยมากอับดับแรก รองลงมา คือด้านประโยชน์ที่ได้รับจากชุดการเรียน และด้านเนื้อหาของชุดการเรียน เป็นลำดับ

 *******************************

ใส่ความเห็น