เอกสารเตรียมสอบครูผู้ช่วย กศน.ปี 2558 เรื่อง วิธีสอน

ความนำ

การสอน(Teaching) มีความหมายหลายประการ ดังนี้

การสอน หมายถึง การถ่ายทอดความรู้ ความคิด ความสามารถ เจตคติ ค่านิยมและคุณธรรม

การสอน หมายถึง  การชี้แนะแนวทางให้ผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

การสอน หมายถึง การจัดประสบการณ์และกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามที่คาดหวัง

การสอน  หมายถึง การให้ ให้ความรู้ ความรัก ความอบอุ่น ให้คำปรึกษา

การสอน  หมายถึง กระบวนการที่มีระบบระเบียบ ที่ครูและผู้เรียนร่วมกันสร้างขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความคิด ความสามารถ เจตคติ ค่านิยมและคุณธรรม ตามจุดประสงค์ที่กำหนดไว้

การสอนตามความหมายดังที่กล่าวมาแล้ว จะพบว่าการให้ความหมายของการสอนขึ้นอยู่กับจุดมุ่งหมายของครูและนักการศึกษาที่มุ่งหวังจะใช้กระบวนการทางการศึกษาพัฒนาผู้เรียนให้เป็นคนดี มีความรู้และมีทักษะ สามารถนำสิ่งที่ได้จากการสอนของครูไปใช้ในชีวิตประจำวันและดำรงชีวิตอยู่ในสังคมอย่างมีความสุข

ก่อนที่ครูจะสอนทุกครั้งครูควรตอบคำถามต่อไปนี้ให้ได้ก่อน คือสอนอะไร สอนใคร สอนทำไม สอนอย่างไร สอนที่ไหน และจะวัดผลด้วยวิธีใด

สอนอะไร คือ เนื้อหาวิชาหรือหลักสูตรที่จัดให้ผู้เรียนมีขอบข่ายแค่ไหน ไม่ยากหรือง่ายเกินไป เนื้อหาต้องท้าทายความสามารถของผู้เรียน ครูไม่ควรยึดเนื้อหาในหนังสือเรียนหรือแบบเรียนเล่มใดเล่มหนึ่งเป็นหลักตายตัว และประการสำคัญเนื้อหาที่จะสอนต้องสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้

สอนใคร ผู้สอนจะต้องทราบว่า ผู้เรียนเป็นใครมีเพศ วัย ฐานะทางเศรษฐกิจ ครอบครัว อาชีพ ประสบการณ์เดิม และมีความสนใจอะไร เพื่อจะได้ทราบถึงสภาพความพร้อม การจัดเตรียมเนื้อหาและกิจกรรมการสอนให้เหมาะสม

สอนทำไม คือการกำหนดจุดประสงค์ในการสอน ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมาก เพราะผู้สอนจะต้องนำพาผู้เรียนไปสู่จุดใด จึงจะบรรลุตามจุดประสงค์หรือเจตนาของหลักสูตร

ดังนั้นการกำหนดจุดประสงค์ในการสอนจึงเป็นการกำหนดสิ่งที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เพื่อให้บรรลุจุดประสงค์ คือเกิดความรู้ ทักษะ เจตคติ และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ของแต่ละรายวิชา การเขียนจุดประสงค์การเรียนรู้จะต้องให้ครอบคลุมพฤติกรรมการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน คือ

  1. ด้านพุทธิพิสัย (Cognitive) คือจุดประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นความสามารถด้านสมอง คือความจำ ความเข้าใจ หรือความรู้ในด้านหลักการ ทฤษฎี วิธีการ
  2. ด้านทักษะพิสัย (Skill) คือจุดประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติจริง
  3. ด้านจิตพิสัย (Affective) คือจุดประสงค์การเรียนรู้ที่เน้นด้านทัศคติ เจตคติ ความรู้สึกนึกคิดต่อเรื่องนั้น ๆ เช่นความสำคัญ คุณค่า ประโยชน์

สอนอย่างไร  คำตอบนี้เป็นหัวใจของการสอน ซึ่งเป็นการนำเอาเทคนิควิธีการสอน สื่อการเรียนต่าง ๆ ที่ได้เลือกสรรไว้มาใช้ให้เหมาะสมกับเนื้อหาวิชา ผู้สอนพึงตระหนักไว้เสมอว่าไม่มีเทคนิคการสอนใดและรูปแบบการสอนใดที่ดีและเหมาะสมที่สุดกับผู้เรียนทุกกลุ่ม การสอนควรแปรเปลี่ยนไปตามกลุ่มผู้เรียน

สอนที่ไหน  หมายถึงสถานที่จัดการเรียนการสอน สอนในห้องเรียน  ถ้าสอนในห้องเรียนต้องทราบถึงขนาดของห้องว่าห้องเล็ก ใหญ่แค่ไหน มีแสงสว่างเพียงพอหรือไม่ รวมทั้งวัสดุอุปกรณ์เหมาะสมหรือไม่

  วัดผลด้วยวิธีใด ในการสอนทุกครั้ง ครูควรเตรียมวิธีการวัดผลและประเมินผลไว้ล่วงหน้า อาจเป็นแบบทดสอบ วิธีการสังเกต สัมภาษณ์หรือตรวจผลงาน เพื่อตรวจสอบดูว่าสิ่งที่สอนไปนั้น ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้หรือไม่เพียงใด ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงการเรียนการสอนต่อไป

วิธีสอน

วิธีสอนมีหลายวิธีด้วยกัน วิธีสอนแต่ละวิธีนั้นจะเหมาะสมกับเนื้อหาที่ใช้สอนต่างกัน เนื้อหาหนึ่งอาจเหมาะสมกับวิธีสอนหนึ่ง ครูผู้สอนจะต้องใช้วิจารณญาณเพื่อพิจารณาอย่างรอบคอบว่าแต่ละเนื้อหาจะใช้วิธีสอนวิธีใด และต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของวิธีสอนกับวัยของผู้เรียน จึงจะทำให้การเรียนการสอนบรรลุจุดประสงค์อย่างมีประสิทธิภาพ

วิธีสอนแบบต่าง ๆ ที่นิยมใช้มีอยู่ทั่วไปมีดังนี้

1.วิธีสอนแบบบรรยาย (Lecture Method )

วิธีสอนแบบบรรยาย คือวิธีสอนที่ครูเป็นผู้บรรยาย ครูจะต้องเตรียมความรู้ที่จะสอนเป็นอย่างดี ให้เข้าใจเนื้อหาที่จะบรรยายจนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้เรียนได้อย่างคล่องแคล่ว เสียงดังฟังชัด มีระดับเสียงสูง ต่ำ เบาอย่างเหมาะสม ครูอาจบรรยายประกอบ เช่น PowerPoint , Video ,ภาพประกอบ, แผนภูมิ เอกสารประกอบคำบรรยาย  และเมื่อจบการบรรยายครูจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย

ขั้นตอนวิธีสอนแบบบรรยาย

ขั้นที่ 1     ขั้นเตรียม ครูค้นคว้า รวบรวมความรู้ที่จะนำมาสอนเป็นอย่างดี ลำดับการสอนเป็นหมวดหมู่และตามความยากง่ายของเนื้อหา จัดหาอุปกรณ์ที่เหมาะสมนำมาจัดไว้ให้พร้อมและเตรียมว่าอุปกรณ์สำหรับใช้ในแต่ละขั้นตอนให้เหมาะสม

ขั้นที่ 2    ขั้นสอน ครูนำเข้าสู่บทเรียนให้เหมาะสมกับเนื้อหาที่จะสอน แล้วครูก็อธิบายช้า ๆ อย่างชัดเจน อาจอธิบายประกอบรูปภาพ แผนภูมิ หรือยกตัวอย่างประกอบ และเปิดโอกาสให้ผู้เรียนซักถามข้อสงสัย

ขั้นที่ 3   ขั้นสรุป ครูและผู้เรียนช่วยกันสรุป เพื่อทบทวนสิ่งที่เรียนมาทั้งหมดและให้ผู้เรียนจดบันทึกไว้

ขั้นที่ 4   ขั้นวัดผล ครูสังเกตความสนใจ ความเข้าใจของผู้เรียน โดยวิธีต่าง ๆ ที่เหมาะสมเช่น การสอบถาม การสัมภาษณ์ การใช้แบบทดสอบ การทำแบบฝึกหัด การตรวจผลงาน เป็นต้น

ข้อดีของวิธีสอนแบบบรรยาย

  1. ครูได้อธิบายเนื้อหาเพิ่มเติมจากหนังสือหรือแบบเรียนมากขึ้น
  2. ผู้เรียนเกิดทักษะในการฟังและการเขียน
  3.   ผู้เรียนมีอิสระในการเขียนหรือตอบคำถาม

ข้อเสียวิธีสอนแบบบรรยาย

  1. ผู้เรียนไม่ได้ค้นคว้าและอภิปรายด้วยตนเอง
  2. ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่ายเพราะต้องฟังเป็นส่วนใหญ่
  3. ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนน้อย
  4. ผู้เรียนที่มีพื้นฐานการเรียนอ่อนหรือปานกลางจะเรียนไม่ค่อยทัน

 2.วิธีสอนแบบอภิปราย (Discussion Method)

วิธีสอนแบบอภิปราย เป็นการสอนที่ให้ผู้เรียนรู้จักคิดอย่างมีเหตุผล รู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นวิธีสอนที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าแสดงออก กล้าแสดงความคิดเห็น  ฝึกให้ผู้เรียนเป็นประชาธิปไตย รวมทั้งฝึกการฟัง การพูดและการเขียนเป็นอย่างดี ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นนักอ่านและนักค้นคว้าที่ดี เพราะวิธีสอนแบบอภิปรายจะท้าทายให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

ความมุ่งหมายวิธีสอนแบบอภิปราย

  1. เพื่อส่งเสริมการทำงานร่วมกัน
  2. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน
  3. เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการทำงานแบบประชาธิปไตย

การสอนแบบอภิปราย

      โดยปกติแล้วการสอนแบบอภิปรายครูจะกำหนดหัวข้ออภิปราย ผู้เรียนอภิปราย ซึ่งมีหลายรูปแบบ เช่น

 วิธีที่มีผู้มาอภิปรายประมาณ 2-6 คน มาอภิปรายหน้าชั้นเรียน มีผู้ดำเนินการอภิปราย 1 คน ผู้เรียนที่เหลือจะเป็นผู้อภิปราย โดยอภิปรายตามหัวข้อย่อยที่ได้รับมอบหมายให้ไปศึกษาค้นคว้ามา ผู้ดำเนินการอภิปรายจะเป็นผู้สรุปการอภิปรายของสมาชิกทุกคนที่อภิปรายเสร็จแล้ว โดยจะสรุปเมื่อสมาชิกอภิปรายจบทีละคน ครูจะทำหน้าที่คอยช่วยเหลือแนะนำตลอดการอภิปราย

  1. วิธีอภิปรายแบบที่ผู้เรียนทุกคน อภิปรายปัญหาเดียวกัน ทุกคนจะช่วยกันแสดงความคิดเห็นในเรื่องนั้นอย่างกว้างขวาง ภายใต้การแนะนำของครู วิธีการอภิปรายแบบนี้นำมาใช้กับการอภิปรายเพื่อมุ่งแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่งของส่วนรวม
  2. วิธีอภิปรายแบบแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มหนึ่งเป็นตัวแทนของผู้ฟัง อีกกลุ่มหนึ่งเป็นวิทยากร ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นผู้ดำเนินการอภิปรายและจะตอบข้อซักถามต่าง จากตัวแทนกลุ่มผู้ฟัง การอภิปรายแบบนี้เหมาะสมกับนำไปใช้ในการประชุม หรืออบรม
  3. วิธีอภิปรายร่วมกัน คือการอภิปรายปัญหาเดียวกัน มีครูหรือวิทยากรเป็นที่ปรึกษาและแนะนำ ผู้อภิปรายจะเลือกผู้ทำหน้าที่ประธาน เลขา และผู้ช่วยเลขา และร่วมกันอภิปรายปัญหานั้นอย่างกว้างขวาง ประธานจะเป็นผู้สรุปสุดท้าย เลขา ผู้ช่วยเลขา จะเป็นผู้จดบันทึก

วิธีสอนแบบอภิปราย เป็นวิธีสอนที่จะช่วยแก้ปัญหาผู้เรียนที่ไม่กล้าพูด ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ซึ่ง

จะทำให้ผู้เรียนสนใจฟังผู้อื่น กล้าแสดงความคิดเห็น รู้จักฟังความคิดเห็นของผู้อื่น เป็นคนมีเหตุมีผล และจะกลายเป็นนักประชาธิปไตยที่ดี

เมื่อการอภิปรายจบลงแล้ว ผู้ดำเนินการอภิปรายจะเปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่นั่งฟังการอภิปรายซักถาม

แสดงความคิดเห็นทั้งในด้านเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย หรือการแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการอภิปราย

ข้อดีการสอนแบบอภิปราย

ส่งเสริมให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสแสดงความคิดเห็น

  1. พัฒนาสติปัญญาของผู้เรียนด้านความคิด
  2. ส่งเสริมการค้นคว้าหาความรู้ของผู้เรียนเพื่อนำมาใช้ในการอภิปราย
  3. ส่งเสริมให้ผู้เรียนการเคารพในเหตุผลของผู้อื่น

ข้อจำกัดสอนแบบอภิปราย

  1. ในบางหัวข้อสิ้นเปลืองเวลาในการอภิปรายมาก หากประธานคุมสถานการณ์ได้ไม่ดี
  2. การตั้งหัวข้อไม่ดีจะทำให้การอภิปรายไม่บรรลุจุดมุ่งหมาย

3.วิธีสอนแบบแก้ปัญหาหรือวิทยาศาสตร์

                                  (Problem – Solving or Scientific Method)

         วิธีสอนแบบแก้ปัญหาหรือวิทยาศาสตร์ เป็นวิธีสอนที่สอดคล้องกับจิตวิทยาการเรียนรู้ของคนที่ว่า “คนจะเกิดการเรียนรู้ได้ก็ต่อเมื่อเกิดปัญหา” เมื่อเกิดปัญหาหรือมีปัญหาเกิดขึ้น คนก็ต้องการรู้ว่าจะแก้ปัญหานั้นอย่างไร ทำอย่างไรปัญหานั้นจึงจะหมดไป ดังนั้นวิธีสอนแบบแก้ปัญหาหรือแบบวิทยาศาสตร์ จะเกิดการเรียนรู้ขึ้นก็ต่อเมื่อมีปัญหา ถ้าไม่มีปัญหาก็จะไม่เกิดการเรียนรู้ การสอนแบบแก้ปัญหาหรือวิทยาศาสตร์  มี 5 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1. ศึกษาปัญหา

ครูและผู้เรียนจะต้องช่วยกันตั้งปัญหาขึ้น ปัญหาที่ได้ควรเป็นปัญหาที่ผู้เรียนสนใจ เมื่อได้ปัญหาแล้วก็กำหนดขอบเขตของปัญหาว่าศึกษาอะไรบ้าง

หน้าที่ของครู

  1. ช่วยแนะแนวทางให้ผู้เรียนมองเห็นปัญหา
  2. จัดสภาพแวดล้อมให้ผู้เรียนได้เข้าใจปัญหา โดยใช้สื่อ วัสดุอุปกรณ์ เพื่อการสอน

3 ช่วยผู้เรียนในการกำหนดจุดมุ่งหมายในการแก้ปัญหา และสร้างความเข้าใจแก่ ผู้เรียนทุกคนในชั้นเรียน

ขั้นที่ 2. ขั้นตั้งสมมติฐาน

           ขั้นนี้ผู้เรียนระดมความคิดเพื่อหาแนวทางในการแก้ปัญหา แล้วรวบรวมแนวทางในการแก้ปัญหาที่มีความเป็นไปได้

หน้าของครู

2.1 ช่วยผู้เรียนวางแผนการว่า จะแก้ปัญหาด้วยวิธีใด

2.2 แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม ให้ทำงานตามความสามารถและสนใจ

2.3 แนะนำผู้เรียนแต่ละกลุ่มให้รู้จักแหล่งความรู้เพื่อประโยชน์ในการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 3. ขั้นทดลองปฏิบัติตามสมมติฐาน

เป็นขั้นการเรียนรู้ของผู้เรียนโดยการลงมือปฏิบัติจริง จึงเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้มีความรู้ความสามารถที่จะนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้

หน้าที่ของครู

  1. ช่วยผู้เรียนให้เข้าใจปัญหาและรับผิดชอบในงานที่ได้รับมอบหมาย
  2. แนะนำให้ผู้เรียนรู้จักวิธีแก้ปัญหาและแหล่งความรู้สำหรับแก้ปัญหา
  3. ช่วยแนะนำให้ผู้เรียนทำงานที่ได้รับมอบหมายอย่างเป็นระบบ

ขั้นที่ 4. ขั้นวิเคราะห์ผลการปฏิบัติการทดลอง

ขั้นนี้ครูและผู้เรียนร่วมกันวิเคราะห์ผลการปฏิบัติการทดลองหรือจากการแก้ปัญหา ว่าได้ผลอย่างไร มีปัญหาแทรกซ้อนอะไรบ้างที่จะต้องแก้ไข

หน้าที่ของครู

1 ครูช่วยแนะนำให้เมื่อจำเป็นจริงๆ

  1. ให้คำแนะนำในการแสดงผลงาน

3 . ให้คำแนะนำในการจัดทำรายงานหรืออภิปราย

4.ให้คำแนะนำในการ แสดงวิธีการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 5. ขั้นสรุปผลและการนำไปใช้

เมื่อจบบทเรียนครูและผู้เรียนจะต้องสรุปเรียบเรียงให้มีระเบียบ บันทึกไว้เป็นหลักฐานเพื่อวัดผลงานบทเรียนที่เรียนไปแล้วได้ผลดีและผลเสียอย่างไร

หน้าที่ของครู

  1. ครูควรสังเกตการทำงานของผู้เรียนทุกระยะว่าตั้งใจทำและหาความรู้ได้จริงหรือไม่
  2. จัดให้ผู้เรียนทุกกลุ่มได้อภิปรายเกี่ยวกับผลงานที่ได้กระทำไป
  3. จัดให้ผู้เรียนทุกกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานซึ่งกันและกัน เพื่อจะได้นำความรู้และประสบการณ์เหล่านั้น ไปประยุกต์ใช้ต่อไป
  4. เมื่อจบบทเรียนจัดให้มีการทดสอบ ความรู้ ความเข้าใจของผู้เรียน

ข้อดีวิธีสอนแบบแก้ปัญหาหรือวิทยาศาสตร์

  1. ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง
  2. ส่งเสริมผู้เรียนได้มีการทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ
  3. ส่งเสริมผู้เรียนมีความเป็นประชาธิปไตย
  4. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ
  5. ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้ใช้ความคิดหาเหตุผล

       

 

  1. วิธีสอนแบบโครงการ (Project Method)

วิธีสอนแบบโครงการ เป็นการสอนที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนในสิ่งที่ผู้เรียนสนใจ โดยจัดให้ผู้เรียนเรียนเป็นกลุ่มหรือรายบุคคลได้เป็นผู้วางโครงการหรือวางแผนในการทำกิจกรรมเองและดำเนินงานให้สำเร็จตามโครงการนั้น โดยครูเป็นเพียงที่ปรึกษาเท่านั้น

ความมุ่งหมาย

  1. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกที่จะรับผิดชอบในการทำงานต่างๆ
  2. เพื่อให้ผู้เรียนฝึกแก้ปัญหาด้วยการใช้ความคิด
  3. เพื่อให้ผู้เรียนฝึกดำเนินงานตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้

ขั้นตอนในการสอน

ขั้นที่ 1 ขั้นกำหนดความมุ่งหมาย ขั้นนี้ครูจะเป็นผู้ชี้แนะให้ผู้เรียนตั้งความมุ่งหมายของการเรียนว่าจะเรียนเพื่ออะไร

ขั้นที่ 2 ขั้นวางแผนหรือวางโครงการ ผู้เรียนจะช่วยกันวางแผนว่าทำอย่างไรจึงจะบรรลุตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้ จะใช้วิธีการใดในการทำกิจกรรม

ขั้นที่ 3 ขั้นดำเนินการ เป็นขั้นที่ผู้เรียนลงมือกระทำกิจกรรมหรือลงมือแก้ปัญหาตามแผนที่วางไว้ ครูคอยส่งเสริมให้ผู้เรียนได้กระทำ ได้คิดและตัดสินใจด้วยตนเองให้มากที่สุดและควรชี้แนะให้ผู้เรียนรู้จักวัดผลการทำงานเป็นระยะๆ

ขั้นที่ 4 ขั้นประเมินผล ผู้เรียนเป็นผู้ประเมินผลว่ากิจกรรมหรือโครงการที่ทำนั้นบรรลุผลตามความมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ มีข้อบกพร่องอย่างไร และควรแก้ไขอย่างไร

ข้อดีวิธีสอนแบบโครงการ

  1. ผู้เรียนมีความสนใจเพราะได้ลงมือปฏิบัติจริง
  2. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีความคิดสร้างสรรค์ และการทำงานอย่างมีแผน และให้รู้จักประเมินผลงานของตนเอง
  3. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ และให้มีประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้อื่น
  4. การสอนแบบโครงงาน (Project Design)

โครงงาน(Project) หมายถึง การศึกษาเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่ผู้เรียนเป็นผู้ศึกษา ค้นคว้า และลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง โดยอาศัยวิธีทางวิทยาศาสตร์ ภายใต้คำแนะนำ ปรึกษาและดูแลของครู อาจใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ต่าง ๆ ช่วยในการศึกษา เพื่อให้การศึกษา ค้นคว้า นั้นบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ การสอนแบบโครงงานมีประโยชน์ต่อการพัฒนาผู้เรียนมาก คือทำให้ผู้เรียนมีทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ การสร้างเสริมเจตคติทางวิทยาศาสตร์ และทำให้ผู้เรียนมีความพึงพอใจ กระตือรือร้นในการเรียน ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติกิจกรรมเป็นอย่างดี

ประโยชน์ของการสอนแบบโครงงาน

  1. ผู้เรียนได้ทำงานตามความถนัด ความสนใจของตนเอง
  2. ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเอง หรือร่วมกันทำงานเป็นกลุ่ม
  3. ผู้เรียนมีวางแผนการทำงานเป็นระบบ
  4. ผู้เรียนได้พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์

5.ผู้เรียนได้ ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน

  1. การที่ผู้เรียนได้แสดงการทำงานตามให้เพื่อน ๆ ครู และผู้เกี่ยวข้องได้เห็น จึงเป็นสิ่งยืนยันได้ว่าผู้เรียนเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในโครงงานที่ทำจริง

         โครงงาน หมายถึง การกำหนดรูปแบบในการทางานอย่างเป็นระเบียบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงาน / ผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์กับชีวิตจริง

ประเภทของโครงงาน แบ่งงออกเป็น 4 ประเภท คือ

  1. ประเภทสำรวจ (Survey research project) เป็นการศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่มีอยู่ แล้วนำข้อมูลนั้นมาวิเคราะห์ และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมีระบบ
  2. ประเภทการทดลอง (Experimental research project) เป็นการศึกษาหาคำตอบตัวแปรต้นที่กำหนด มีผลต่อตัวแปรตามหรือไม่ อย่างไร โดยการควบคุมตัวแปรอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อตัวแปรต้น
  3. ประเภทพัฒนาหรือประดิษฐ์คิดค้น (Developmental research project or invention) เป็นการนำหลักการ แนวคิด ทฤษฎี มาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาหรือประดิษฐ์เครื่องมือเครื่องใช้ อุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อใช้ในงานหรือแก้ปัญหาใดปัญหาหนึ่ง
  4. ประเภทการสร้างหรืออธิบายทฤษฎี (Theoritical research project) เป็นการศึกษา ค้นคว้า แนวคิด ทฤษฎีใหม่ ๆ หรืออธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยมีหลักการ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์สนับสนุน

ขั้นตอนการสอนแบบโครงงาน

ขั้นที่ 1 การคิดและเลือกปัญหาที่จะศึกษา

ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้กำหนดปัญหา แนวคิดและวิธีการที่จะใช้แก้ปัญหาตามความสนใจต้องการรู้ของตนเอง  ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของเรื่องที่จะศึกษา เวลา ความรู้ความสามารถ และแหล่งข้อมูลที่จะศึกษา

ขั้นที่ 2 การวางแผนในการทำโครงงาน

ผู้เรียนจะต้องวางแผนการทำงานในทุกขั้นตอนอย่างละเอียดเพื่อป้องกันความผิดพลาดและสับสนในการดำเนินการทำโครงงาน ขั้นตอนดังกล่าวประกอบด้วย

  1. การกำหนดปัญหาและขอบเขตของการศึกษา
  2. การกำหนดวัตถุประสงค์ แนวคิด วิธีการที่จะนำมาใช้แก้ปัญหา สมมติฐาน และนิยามเชิงปฏิบัติการ
  3. การวางแผนรวบรวมข้อมูล และการค้นคว้าเพิ่มเติม
  4. กำหนดวิธีดำเนินงาน ได้แก่แนวทางการศึกษา ค้นคว้า วัสดุอุปกรณ์ที่ต้องใช้ การออกแบบการทดลอง การควบคุมตัวแปร การสำรวจและรวบรวมข้อมูล การประดิษฐ์คิดค้น การวิเคราะห์ข้อมูล การกำหนดระยะเวลาในการทำงานแต่ละขั้นตอน

ขั้นที่ 3 ลงมือทำโครงงาน

ผู้เรียนจะต้องปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ในขั้นตอนที่ 2 และถ้ามีปัญหาให้ขอแนะนำ ปรึกษาครูหรือที่ปรึกษา

ขั้นที่ 4 การเขียนรายงาน

ผู้เรียนจะต้องเสนอผลงานการศึกษา ค้นคว้า เป็นเอกสารอธิบายให้ผู้อื่นเข้าใจ และทราบถึงปัญหา วิธีการ และผลสรุปที่ได้จากการศึกษา พร้อมทั้งอภิปรายผลและให้ข้อเสนอแนะเพื่อเป็นแนวทางในการที่จะศึกษาค้นคว้าต่อไป

บทบาทของครู

  1. กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจในการทำโครงงาน
  2. แนะแนวให้ผู้เรียนรู้หลักการและวิธีการในการทำโครงงาน
  3. จัดกิจกรรมเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเห็นปัญหา
  4. แนะแนวทางแก่ผู้เรียนในการเลือกปัญหาที่จะศึกษา
  5. ให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนในการวางแผนดำเนินงานโครงงาน
  6. อำนวยความสะดวกแก่ผู้เรียนในการทำโครงงาน
  7. ติดตามการทำโครงงานของผู้เรียนทุกระยะ และให้คำแนะนำช่วยเหลือเมื่อจำเป็น
  8. ให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียนในการเขียนรายงานโครงงาน
  9. ให้โอกาสผู้เรียนแสดงผลงานของตนให้โอกาสและรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
  10. ประเมินผลการทำโครงงานของผู้เรียนเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงการทำโครงงานของผู้เรียนให้ดียิ่งขึ้น
  1.  วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำงาน (Committee Work Method)

วิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำงาน คือ การที่ครูมอบหมายให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันเป็นหมู่คณะ ช่วยกันค้นคว้าแก้ปัญหา หรือปฏิบัติกิจกรรมตามความสามารถ ตามความถนัด หรือตามความสนใจ เป็นการฝึกให้ผู้เรียนทำงานร่วมกันตามวิธีแบบประชาธิปไตย ทุกคนจะต้องดำเนินการตามที่มอบหมายให้ เป็นวิธีที่จะช่วยฝึกฝนผู้เรียนให้ได้รับประสบการณ์ตรง ได้เรียนรู้เพื่อนร่วมงาน แต่ต้องดำเนินการอย่างมีหลักเกณฑ์ ครูจะต้องวางแผนให้ผู้เรียนทุกคนในแต่ละกลุ่มปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

ความมุ่งหมายสอนแบบแบ่งกลุ่มทำงาน

  1. เพื่อให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบในการทำงานร่วมกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ทำงานอย่างมีระบบและระเบียบวินัย รู้จักทำหน้าที่เป็นผู้นำและผู้ตามที่ดี ทุกคนต้องทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมา ผู้ที่ทำหน้าที่หัวหน้ากลุ่มจะต้องคอยประสานงานระหว่างสมาชิกในกลุ่ม และระหว่างกลุ่มกับครู หน้าที่นี้ควรจะหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันตามโอกาส เพื่อฝึกการเป็นผู้นำของทุกคน
  2. เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกทักษะในการแก้ปัญหาตามวิธีทางวิทยาศาสตร์ มีการศึกษาค้นคว้าและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ทำงานเฉพาะอย่าง ทั้งเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม
  3. เพื่อฝึกให้ผู้เรียนรู้จักเลือกทำงานตามความสนใจ ความถนัด และความสามารถ

ขั้นตอนในการสอน

ขั้นที่ 1 ขั้นกำหนดความมุ่งหมาย เป็นขั้นที่ตั้งความมุ่งหมายและวิธีการทำงานอย่างละเอียด ถ้าเป็นครั้งแรกครูควรดูแลอย่างใกล้ชิด

ขั้นที่ 2 ขั้นเสนอแนะแหล่งวิทยาการที่จะใช้ค้นคว้าหาความรู้ เป็นขั้นที่ครูผู้สอนบอกรายละเอียดของหนังสือสำหรับค้นคว้า

ขั้นที่ 3 ขั้นวางแผน เป็นขั้นที่ผู้เรียนวางแผนทำงานร่วมกัน ทำงานตามที่ได้รับมอบหมาย

ขั้นที่ 4 ขั้นประเมินผล เป็นขั้นที่ครูสังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนในการร่วมมือกันทำงาน

ข้อดีวิธีสอนแบบแบ่งกลุ่มทำงาน

  1. ผู้เรียนสามารถแสดงออกซึ่งความคิดเห็นของตนเองได้อย่างเต็มที่

2.เปิดโอกาสให้ผู้เรียนเลือกทำงานตามความถนัด ความสามารถ และความสนใจ

           7.วิธีการสอนแบบทำงานรับผิดชอบร่วมกัน ( Co – operative Leaning )วิธีการสอนแบบทำงานรับผิดชอบร่วมกัน หมายถึง การจัดประสบการณ์เรียนรู้ที่ผู้เรียนทำงานร่วมกันและช่วยเหลือกันในชั้นเรียน ซึ่งจะสร้างบรรยากาศที่ดีในชั้นเรียน และยังเพิ่มปฏิสัมพันธ์การยอมรับซึ่งกันและกันสร้างความภาคภูมิใจให้ผู้เรียนทุกคนนอกจากนี้ยังเพิ่มผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอีกด้วย เพราะในชั้นเรียนที่มีความร่วมมือ ผู้เรียนจะได้ฟัง เขียน อ่าน ทวนความ อธิบาย และปฏิสัมพันธ์ ผู้เรียนจะเรียนด้วยการลงมือกระทำ ผู้เรียนที่มีจุดบกพร่องจะได้รับการช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่ม

   ความมุ่งหมายของการสอนแบบทำงานรับผิดชอบร่วมกัน คือ การให้ผู้เรียนทุกคนใช้ความสามารถอย่างเต็มที่ในการทำงานกลุ่ม โดยยังคงรักษาสัมพันธภาพที่ดีต่อสมาชิกกลุ่ม ในการเรียนเป็นกลุ่มแบบเดิมนั้น จุดมุ่งหมายอยู่ที่การทำงานให้สำเร็จเท่านั้น

ขั้นตอนการสอนมี 5 ชั้น ดังนี้

ขั้นที่ 1 ขั้นแนะนำ ด้วยการบอกว่าชั้นเรียนแบ่งเป็นกี่กลุ่ม กลุ่มละกี่คน สมาชิกแต่ละคนต้องรับผิดชอบที่จะเรียนเกี่ยวกับหัวข้อที่กลุ่มได้รับให้ได้มากที่สุดแต่ละกลุ่มเป็นผู้เชี่ยวชาญในหัวข้อนั้น มีหน้าที่จะสอนกลุ่มอื่น ๆ ด้วย ทุกคนจะได้รับผลการเรียน(เกรด)เป็นรายบุคคล และเป็นกลุ่ม

ขั้นที่ 2 ขั้นแบ่งกลุ่มให้ผู้เรียนคละกัน แล้วให้กลุ่มตั้งชื่อกลุ่ม เขียนชื่อกลุ่ม และสมาชิกกลุ่มบนป้ายนิเทศ ผู้สอนแจ้งกฎเกณฑ์ที่ต้องปฏิบัติระหว่างการประชุมกลุ่ม ดังนี้

1. ห้ามผู้เรียนคนใดออกจากกลุ่มก่อนที่งานกลุ่มจะเสร็จ

2. ผู้เรียนแต่ละคนในกลุ่มต้องรับผิดชอบที่จะให้สมาชิกทุกคนเข้าใจและทำงานให้เสร็จสมบูรณ์

3. ถ้าผู้เรียนคนใดไม่เข้าใจเรื่องใด ต้องขอความช่วยเหลือจากเพื่อนในกลุ่มก่อนที่จะถามผู้สอน

ขั้นที่ 3  สร้างกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ โดยผู้สอนแจกเอกสารหัวข้อต่าง ๆ ซึ่งภายในบรรจุด้วย

เนื้อหา ถ้ามีกลุ่ม 6 กลุ่ม ผู้สอนต้องเตรียมเอกสาร 6 ชุด ผู้เรียนที่ได้รับหัวข้อเดียวกันจะศึกษาเรื่องนั้นด้วยกัน เมื่อทุกคนเข้าใจดีแล้ว ก็เตรียมตัววางแผนกการสอนเพื่อกลับไปสอนสมาชิกในกลุ่มเดิมของตน

ขั้นที่ 4 ขั้นผู้เชี่ยวชาญสอนเพื่อนในกลุ่มทุกคนจะผลัดกันสอนเรื่องที่ไปศึกษามาตรวจสอบความเข้าใจ และช่วยเพื่อนสมาชิกในการเรียน

ขั้นที่ 5 ขั้นประเมินผลและให้คะแนนแต่ผู้เรียนละคน ผู้สอนทำการทดสอบเพื่อดูว่าต้องสอนเพิ่มเติมหรือไม่ และให้เกรด และคิดคะแนนกลุ่ม

                            8. วิธีการสอนแบบอุปนัย ( Inductive Method )

 วิธีสอนแบบอุปนัยหมายถึงการสอนจากรายละเอียดปลีกย่อยไปหากฎเกณฑ์ กล่าวคือ เป็นการสอนแบบย่อยไปหาส่วนรวมหรือสอนจากตัวอย่างไปหากฎเกณฑ์หลักการ ข้อเท็จจริง หรือข้อสรุป โดยการให้ผู้เรียนทำการศึกษา สังเกต ทดลอง เปรียบเทียบแล้วพิจารณาค้นหาองค์ประกอบที่เหมือนกันหรือคล้ายคลึงกันจากตัวอย่างต่าง ๆ เพื่อนำมาเป็นข้อสรุป

            ความมุ่งหมายวิธีสอนแบบอุปนัย เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้ค้นพบกฎเกณฑ์หรือความจริงที่สำคัญ ๆ ด้วยตนเองกับให้เข้าใจความหมายและความสัมพันธ์ของความคิด ต่างๆ อย่างแจ่มแจ้ง ตลอดจนกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักการค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง

ขั้นตอนในการสอนแบบอุปนัย

ขั้นที่ 1  ขั้นเตรียม คือ การเตรียมตัวผู้เรียน เป็นการทบทวนความรู้เดิม กำหนดจุดมุ่งหมาย และอธิบายความมุ่งหมายให้ผู้เรียนได้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้ง

ขั้นที่ 2 ขั้นสอนหรือขั้นแสดง คือ การเสนอตัวอย่างหรือกรณีต่าง ๆ ให้ผู้เรียนได้พิจารณา เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเปรียบเทียบ สรุปกฎเกณฑ์ได้ การเสนอตัวอย่าง ควรเสนอหลายๆ ตัวอย่างให้มากพอที่จะสรุปกฎเกณฑ์ได้ ไม่ควรเสนอเพียงตัวอย่างเดียว

ขั้นที่ 3. ขั้นเปรียบเทียบและรวบรวม เป็นขั้นหาองค์ประกอบรวม คือ การที่ผู้เรียนได้มีโอกาสพิจารณาความคล้ายคลึงกันขององค์ประกอบในตัวอย่างเพื่อเตรียมสรุปกฎเกณฑ์ไม่ควรรีบร้อนหรือเร่งเร้าผู้เรียนเกินไป

ขั้นที่ 4  ขั้นสรุป คือ การนำข้อสังเกตต่าง ๆ จากตัวอย่างมาสรุปเป็นกฎเกณฑ์ นิยามหลักการ หรือสูตร ด้วยตัวผู้เรียนเอง

ขั้นที่ 5 ขั้นนำไปใช้ คือ ขั้นทดลองความเข้าใจของผู้เรียนเกี่ยวกับกฎเกณฑ์หรือข้อสรุปที่ได้มาแล้วว่าสามารถที่จะนำไปใช้ในปัญหาอื่น ๆ ได้หรือไม่

ข้อดีวิธีการสอนแบบอุปนัย 

1. ทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้อย่างแจ่มแจ้งและจำได้นาน

2. ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักคิดตามหลักตรรกศาสตร์ และหลักวิทยาศาสตร์

3. ทำให้ผู้เรียนเข้าใจวิธีการในการแก้ปัญหา และรู้จักวิธีทำงานที่ถูกต้อง

 

ข้อจำกัดวิธีการสอนแบบอุปนัย 

1. วิธีการสอนแบบอุปนัย  ไม่เหมาะสมที่จะนำไปใช้สอนวิชาที่มีคุณค่าทางสุนทรียะ

2. ใช้เวลามาก อาจทำให้ผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย

3. ทำให้บรรยากาศการเรียนเป็นทางการเกินไป

4. ครูต้องเข้าใจในเทคนิควิธีสอนแบบนี้อย่างดี จึงจะทำให้บรรลุจุดมุ่งหมาย

                                9. วิธีสอนแบบนิรนัย ( Deductive Method )

วิธีสอนแบบนิรนัย  หมายถึง การสอนที่เริ่มจากฎ หรือ หลักการต่าง ๆแล้วให้ผู้เรียนหาหลักฐานเหตุผลมาพิสูจน์ยืนยัน วิธีการสอนแบบนี้ฝึกหัดให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุมีผล ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ จนกว่าจะพิสูจน์ให้เห็นจริงเสียก่อน

ความมุ่งหมายของวิธีการสอนแบบนิรนัย เพื่อให้ผู้เรียนรู้จักใช้กฎ สูตร และหลักเกณฑ์

ต่าง ๆ มาช่วยในการแก้ปัญหา ไม่ตัดสินใจทำงานอย่างง่าย ๆ จนกว่าจะพิสูจน์ให้ทราบข้อเท็จจริงเสียก่อน

ขั้นตอนในการสอนแบบนิรนัย

ขั้นที่ 1 ขั้นอธิบายปัญหา ระบุสิ่งที่จะสอนในแง่ของปัญหา เพื่อยั่วยุให้ผู้เรียนเกิดความสนใจที่จะหาคำตอบ   เช่นเราจะหาพื้นที่ของวงกลมอย่างไร  ปัญหาจะต้องเกี่ยวข้องกับสถานการณ์จริงของชีวิต และเหมาะสมกับวุฒิภาวะของผู้เรียน

ขั้นที่ 2  ขั้นอธิบายข้อสรุป ได้แก่ การนำเอาข้อสรุปกฎหรือนิยามมากกว่า 1 อย่างมาอธิบาย เพื่อให้นักเรียนได้เลือกใช้ในการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 3  ขั้นตกลงใจ เป็นขั้นที่ผู้เรียนจะเลือกข้อสรุป กฎหรือนิยาม ที่จะนำมาใช้ในการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 4  ขั้นพิสูจน์ หรืออาจเรียกว่าขั้นตรวจสอบ เป็นขั้นที่สรุปกฎ หรือ นิยามว่าเป็นความจริงหรือไม่ โดยการปรึกษาครู ค้นคว้าจากตำราต่าง ๆ และจากการทดลองข้อสรุปที่ได้พิสูจน์ว่าเป็นความจริงจึงจะเป็นความรู้ที่ถูกต้อง

ข้อดีวิธีการสอนแบบนิรนัย 

1. วิธีสอนแบบนี้เหมาะสมที่จะใช้สอนเนื้อหาวิชาง่าย ๆ หรือหลักเกณฑ์ต่าง ๆ จะสามารถอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจความหมายได้ดี และเป็นวิธีสอนที่ง่ายกว่าสอนแบบอุปนัย

2. ฝึกให้ผู้เรียนเป็นคนมีเหตุผล ไม่เชื่ออะไรง่าย ๆ โดยไม่มีการพิสูจน์ให้เห็นจริง

ข้อจำกัดวิธีการสอนแบบนิรนัย 

1. วิธีสอนแบบนิรนัยที่จะใช้สอนได้เฉพาะบางเนื้อหาซึ่งไม่ส่งเสริมคุณค่าในการแสวงหาความรู้และคุณค่าทางอารมณ์

2. เป็นการสอนที่ผู้เรียนไม่ได้เกิดความคิดรวบยอดด้วยตนเองเพราะครูกำหนดความคิดรวบยอดให้

                                10. วิธีสอนแบบระดมพลังสมอง ( Brainstorming ) 

          การระดมสมองหมายถึง วิธีสอนที่ใช้ในการอภิปรายโดยทันที ไม่มีใครกระตุ้นกลุ่มผู้เรียนเพื่อหาคำตอบหรือทางเลือกสำหรับปัญหาที่กำหนดอย่างรวดเร็ว ในระยะเวลาสั้นโดยในขณะนั้นจะไม่มีการตัดสินว่า คำตอบหรือทางเลือกใดดีหรือไม่อย่างไร

           ลักษณะสำคัญวิธีสอนแบบระดมพลังสมอง คือ แบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพื่อช่วยกันคิดหาคำตอบหรือทางเลือกสำหรับปัญหาที่กำหนดให้ ให้มากที่สุดและเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วช่วยกันพิจารณาเลือกทางเลือกที่ดีที่สุด ซึ่งอาจมีมากกว่าหนึ่งทางเลือก

ขั้นตอนวิธีสอนแบบระดมพลังสมอง 

ขั้นที่ 1 ขั้นกำหนดปัญหา

ขั้นที่2 ขั้น แบ่งกลุ่มผู้เรียน และอาจเลือกประธานหรือเลขา เพื่อช่วยในการอภิปรายและบันทึกผลการระดมสมอง

ขั้นที่3 ขั้นสมาชิกทุกคนในกลุ่มช่วยกันคิดหาคำตอบหรือทางเลือกสำหรับปัญหาที่กำหนดให้มากที่สุดภายในเวลาที่กำหนด โดยปัญหาของแต่ละกลุ่มอาจเป็นปัญหาเดียวกันหรือต่างกันก็ได้

ขั้นที่ 4 ขั้นคัดเลือกเฉพาะทางเลือกที่น่าจะเป็นไปได้ หรือเหมาะสมที่สุด

ขั้นที่ 5 ขั้นนำเสนอผลงาน แต่ละกลุ่มนำเสนอผลงานของตน

ขั้นที่ 6 อภิปรายและสรุปผล

ข้อดีวิธีสอนแบบระดมพลังสมอง 

1. ฝึกให้ผู้เรียนเรียนรู้กระบวนการแก้ปัญหาเพื่อใช้ในการแก้ปัญหา

2. ฝึกให้ผู้เรียนรู้จักยอมรับความเห็นที่แตกต่างกัน

3. ฝึกให้ผู้เรียนค้นหาคำตอบหรือทางเลือกได้มาก ภายในระยะเวลาอันสั้น

4. ส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการร่วมมือกัน

ข้อจำกัดวิธีสอนแบบระดมพลังสมอง 

1. ประเมินผลผู้เรียนแต่ละคนได้ยาก

2. อาจมีผู้เรียนเพียงไม่กี่คนที่อภิปรายเป็นส่วนใหญ่

3. เกิดเสียงดังรบกวนห้องเรียนข้างเคียง

4. ถ้าผู้ทำหน้าจดบันทึกจดไม่ทันจะทำให้การระดมพลังสมองต้องใช้เวลามากขึ้น

5. หัวข้อจะต้องชัดเจน รัดกุม และมีประธานที่มีความสามารถในการดำเนินการ

และสรุปการอภิปราย

                              11. วิธีการสอนโดยการลงมือปฏิบัติ ( Practice )

วิธีการสอนโดยการลงมือปฏิบัติ หมายถึงวิธีสอนที่ให้ประสบการณ์ตรงกับผู้เรียน โดยการให้ลงมือปฏิบัติจริง เป็นการสอนที่มุ่งให้เกิดการผสมผสานระหว่างทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

             ลักษณะสำคัญวิธีการสอนโดยการลงมือปฏิบัติ  คือ การลงมือปฏิบัติที่ดำเนินการภายหลังการสาธิต การทดลองหรือการบรรยาย เป็นการฝึกฝนความรู้ความเข้าใจจากทฤษฎีที่เรียนมาโดยเน้นการฝึกทักษะ

ขั้นตอนการสอน

ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียม ผู้สอนกำหนดจุดมุ่งหมายของการฝึกปฏิบัติ รายละเอียดของขั้นตอนการทำงาน เตรียมสื่อต่าง ๆ เช่น วัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือใบงานหรือคู่มือการปฏิบัติงาน

ขั้นที่ 2  ขั้นดำเนินการ ผู้สอนให้ความรู้และทักษะที่เป็นพื้นฐานในการปฏิบัติ มอบหมายงานที่ปฏิบัติเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล กำหนดหัวข้อการรายงาน หรือการบันทึกผลการปฏิบัติงานของผู้เรียน

ขั้นที่ 3 ขั้นสรุป ผู้สอนและผู้เรียน ช่วยกันสรุปกิจกรรมการปฏิบัติงาน

ขั้นที่ 4. ขั้นประเมินผล สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน เช่น ความสนใจ ความร่วมมือความเป็นระเบียบ การประหยัด การใช้และการเก็บรักษาเครื่องมือ และการตรวจผลงาน เช่นคุณภาพของงาน ความริเริ่มสร้างสรรค์ ความประณีตสวยงาม

                           12. วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง ( Simulation )

วิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง หมายถึง วิธีสอนที่จำลองสถานการณ์จริงมาไว้ในชั้นเรียน โดยพยายามทำให้เหมือจริงที่สุด มีการกำหนดกติกาหรือเงื่อนไข แล้วแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มให้เข้าไปเล่นในสถานการณ์จำลองนั้น ๆ ด้วยกิจกรรมนี้ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการเผชิญกับปัญหาจะต้องมีการตัดสินใจและใช้ไหวพริบ วัตถุประสงค์ ให้ผู้เรียนได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์จนเกิดความเข้าใจ

ลักษณะสำคัญวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง  คือ สถานการณ์ที่จำลองขึ้นต้องใกล้เคียงกับความเป็นจริง ผู้เรียนได้เข้าไปมีปฏิสัมพันธ์กับสถานการณ์ ทำการตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ซึ่งการตัดสินใจจะส่งผลถึงผู้เรียนในลักษณะเดียวกับที่เกิดขึ้นในสถานการณ์จริง

ขั้นตอนการสอน

ขั้นที่ 1 ขั้นเตรียม ผู้สอนจัดเตรียมสถานการณ์โดยกำหนดจุดมุ่งหมายของการสอนแล้วเลือกรูปแบบและขั้นตอนที่เหมาะสม เขียนเนื้อหารายละเอียดและอุปกรณ์ที่ต้องใช้

ขั้นที่ 2  ขั้นดำเนินการ ผู้สอนอธิบายบทบาทหรือกติกา วิธีการเล่น วิธีการให้คะแนนและทำการแบ่งกลุ่มผู้เรียน ผู้เรียนปฏิบัติกิจกรรมที่กำหนด โดยมีผู้สอนให้คำแนะนำและดูแล ผู้สอนทำการสังเกต จดบันทึก และให้คะแนนผู้เรียนเป็นรายบุคคล

ขั้นที่ 3 ขั้นสรุป ผู้สอนจะช่วยสรุปด้วยการวิเคราะห์กระบวนการ เปรียบเทียบบทเรียนจากสถานการณ์จำลองกับความเป็นจริงหรือเชื่อมโยงกิจกรรมที่ปฏิบัติไปแล้วกับเนื้อหาวิชาที่เรียน

 

 

 

ข้อควรคำนึงวิธีสอนโดยใช้สถานการณ์จำลอง 

1. ถ้าผู้สอนขาดความรู้ในการสร้างสถานการณ์จำลอง อาจสร้างผิดไปจากจุดมุ่งหมายได้

2. สถานการณ์จำลองที่ยากเกินไปจะทำให้ผู้เรียนไม่เข้าใจ

3. เป็นการยากที่จะประเมินผู้เรียนแต่ละคน

                              13. วิธีสอนแบบสาธิต ( Demonstration Method )

วิธีสอนแบบสาธิต หมายถึงวิธีสอนที่ครูมีหน้าที่ในการวางแผนการเรียนการสอนเป็นส่วนใหญ่ โดยมีการแสดงหรือการกระทำให้ดูเป็นตัวอย่าง ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้จากการสังเกต การฟัง การกระทำ หรือการแสดง และอาจเปิดโอกาสให้ผู้เรียนเข้ามามีส่วนร่วมบ้าง

              ความมุ่งหมายวิธีสอนแบบสาธิต 

1. เพื่อกระตุ้นความสนใจให้ผู้เรียนมีความสนใจในบทเรียนยิ่งขึ้น

2. เพื่อช่วยในการอธิบายเนื้อหาที่ยาก ซึ่งต้องใช้เวลามาก ให้เข้าใจง่ายขึ้น และประหยัดเวลา บางเนื้อหาอาจจะอธิบายให้ผู้เรียนเข้าใจได้ยาก การสาธิตจะทำให้ผู้เรียนได้เห็นขั้นตอนและเกิดความเข้าใจง่าย

3. เพื่อพัฒนาการฟังการสังเกตและการสรุปทำความเข้าใจในการสอนโดยใช้วิธีสาธิต ผู้เรียนจะฟังคำอธิบายควบคู่ไปด้วย และต้องสังเกตขั้นตอนต่าง ๆ ตลอดจนผลที่ได้จากการสาธิตแล้วจึงสรุปผลของการสาธิต

4. เพื่อแสดงวิธีการหรือกลวิธีในการปฏิบัติงาน ซึ่งไม่สามารถอธิบายได้ด้วยคำพูด เช่น การทำกิจกรรมในวิชคหกรรม วิชาศิลปะ ฯลฯ

5. เพื่อสรุปประเมินผลความเข้าใจในบทเรียน

6. เพื่อใช้ทบทวนผลความเข้าใจในบทเรียน

ขั้นตอนในการสอน

ขั้นที่ 1 ขั้นกำหนดจุดมุ่งหมายของการสาธิตให้ชัดเจน และต้องสาธิตให้เหมาะสมกับเนื้อเรื่อง

ขั้นที่ 2 ขั้นเตรียมอุปกรณ์ในการสาธิตให้พร้อม และตรวจสอบความสมบูรณ์ของอุปกรณ์

ขั้นที่ 3 ขั้นเตรียมกระบวนการสาธิต เช่น กำหนดเวลาและขั้นตอน จะเริ่มต้นดำเนินการและจบลงอย่างไร ผู้สาธิตต้องเข้าใจในขั้นตอนต่างๆ เหล่านี้อย่างละเอียด ชัดเจน

ขั้นที่ 4 ขั้นทดลองสาธิตก่อนสอน ควรทดลองสาธิตเพื่อตรวจสอบความพร้อมตลอดจนผลที่จะเกิดขึ้น เพื่อป้องกันข้อผิดพลาดในเวลาสอน

ขั้นที่ 5  ขั้นจัดทำคู่มือคำแนะนำหรือข้อสังเกตในการสาธิต เพื่อที่ผู้เรียนใช้ประกอบในขณะที่มีการสาธิต

ขั้นที่ 6 ขั้นสาธิตซ้ำ  เมื่อสาธิตเสร็จสิ้นแล้วควรให้ผู้เรียนได้ทำการสาธิตซ้ำอีก เพื่อให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น

ขั้นที่ 7 ขั้น จัดเตรียมกิจกรรมหลังจากการสาธิตเพื่อให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าหรือประโยชน์

ของการสาธิตนั้นๆ

ขั้นที่ 8 ขั้นประเมินผลการสาธิต โดยพิจารณาจากพฤติกรรมของผู้เรียนและผลของการเรียนรู้ การประเมินผลควรมีกิจกรรมหรือเครื่องมือ เช่น การทดสอบ การให้แสดงความคิดเห็นหรือการอภิปรายประกอบ

14. วิธีสอนโดยการศึกษานอกสถานที่(Frield-Trip)

วิธีสอนโดยการศึกษานอกสถานที่ เป็นวิธีสอนที่ผู้เรียนได้เปลี่ยนบรรยากาศจากการเรียนที่จำเจในห้องเรียน เป็นการออกไปศึกษาจากของจริงที่จะช่วยให้ผู้เรียนรับประสบการณ์ตรงในเรื่องที่เรียน ได้เรียนรู้สภาพความเป็นจริง ได้ใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนเป็นประโยชน์ต่อการเรียนรู้ ทำให้เกิดความเข้าใจและเกิดเจตคติที่ดีทั้งต่อสถานที่และต่อการเรียนรู้  ทำให้ผู้เรียนกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ และเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินอีกด้วย

วิธีการสอนการศึกษานอกสถานที่

1.             การวางแผน ครูกับผู้เรียนวางแผนร่วมกันในเรื่องวัตถุประสงค์ เรื่องที่จะไปศึกษา  สถานที่ที่จะไปศึกษา  วิธีการศึกษา ค่าใช้จ่าย กำหนดการ และหน้าที่ความรับผิดชอบ การขออนุญาตไปการศึกษานอกสถานที่ให้ถูกต้องตามระเบียบที่กำหนดไว้

2.             ครูและผู้เรียนไปยังสถานที่ที่กำหนดไว้

3.             ผู้เรียนศึกษาเรื่องต่างๆ ในสถานที่นั้นตามกระบวนการและวิธีศึกษาที่ได้วางแผนไว้

4.             ครูและผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้และเดินทางกลับ

ข้อเสนอแนะในการจัดการสอนการศึกษานอกสถานที่

1.             การวางแผน ครูและผู้เรียนควรมีการวางแผนร่วมกันก่อนจะเดินทางไปศึกษานอกสถานที่ ครูควรทำความเข้าใจกับผู้เรียนในชัดเจนเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการไปศึกษา การเลือกสถานที่ที่จะไป ทำความตกลงเรื่องต่าง ๆ ให้ชัดเจน เช่นการเดินทาง เรื่องที่จะศึกษา วิธีการที่จะศึกษา กำหนดการ ค่าใช้จ่าย และหน้าที่ความรับผิดชอบ

2.             การเดินทางไปศึกษานอกสถานที่ ครูควรดูแลเอาใจใส่ในเรื่องความปลอดภัย สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียน และให้คำปรึกษาแนะนำตามความเหมาะสม

3.             เมื่อไปถึงสถานที่ศึกษา ครูควรประชุมผู้เรียนทั้งหมดก่อนให้ผู้เรียนไปศึกษาตามแผนที่กำหนดไว้โดยเน้นย้ำถึงเรื่องต่อไปนี้

1)            วัตถุประสงค์ของการมาศึกษา

2)            การเคารพต่อสถานที่ ไม่ทำสิ่งใดอันเป็นการทำลายหรือทำความเสียหายต่อสถานที่

3)            ความปลอดภัย

4)            ศึกษาตามวิธีการที่กำหนดไว้

5)            การนัดหมายและการตรงต่อเวลา

4.             การสรุปผลจากการศึกษา หลังจากที่ชมและศึกษาแล้ว ผู้สอนและผู้เรียนมักไม่มีเวลาสรุปการเรียนรู้ในทันที เพราะต้องรีบเดินทางกลับ  แต่หากไม่รีบเดินทางกลับ และสามารถจัดสรรเวลาได้เพื่อสรุปและประเมินผลการเรียนรู้ในทันทีจะให้ผลดีมาก เนื่องจากผู้เรียนยังจำความรู้และประสบการณ์ที่ศึกษาได้ แต่ถ้าไม่มีเวลาเมื่อกลับไปยังสถานศึกษาแล้วควรจัดให้มีการสรุปและประเมินผลการเรียนรู้ในทันที

5.             การสรุปผลการเรียนรู้ การสรุปผลการเรียนรู้ควรครอบคลุมใน 3 ด้าน คือ

1)            ด้านความรู้ในเรื่องที่ศึกษา

2)            ด้านเจตคติ

3)            ด้านกระบวนการ เช่น กระบวนการแสวงหาความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น

วิธีการสรุปผลการเรียนรู้มีหลายวิธี เช่น การให้ผู้เรียนแต่ละคนนำเสนอประสบการณ์และข้อมูลที่ตนศึกษาและอภิปรายร่วมกัน หรือการเขียนรายงาน จัดนิทรรศการ การประชุม

15. การจัดกิจกรรมแนะแนว

1.ความหมายของการแนะแนว

การแนะแนว ( Guidance) หมายถึง กระบวนการหนึ่งที่ช่วยให้ บุคคลรู้จัก และเข้าใจตนเอง รู้จักสภาพแวดล้อม สามารถเลือกตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสม สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่าง ๆ ได้

2. ปรัชญาของการแนะแนว

การแนะแนวยึดหลักปรัชญาต่อไปนี้

1.1      บุคคลแต่ละคนย่อมมีความแตกต่างกันทั้งทางร่างกาย สังคม อารมณ์ สติปัญญา ความสนใจ ความสามารถ ความถนัดและเจตคติ

1.2      บุคคลเป็นทรัพยากรที่มีค่าและมีศักยภาพแฝงอยู่ในตน ควรพัฒนาให้เจริญขึ้นทุกด้าน

1.3      บุคคลมีการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน การเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปได้ด้วยดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสาเหตุการเปลี่ยนแปลงนั้น ๆ

1.4      พฤติกรรมทุกอย่างของบุคคลย่อมมีสาเหตุ การที่บุคคลแสดงออกอย่างใดหรือเป็นเช่นไร ย่อมเกิดจากตนเองหรือสิ่งแวดล้อมเหตุ

1.5      บุคคลย่อมมีศักดิ์ศรีและต้องการยอมรับซึ่งกันและกัน

1.6      ธรรมชาติของคนอยู่รวมกันเป็นสังคม จำเป็นต้องมีความสัมพันธ์และพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน

3.ความจำเป็นของการแนะแนว

3.1การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครองและสิ่งแวดล้อม ทำให้สังคมมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น ยากต่อการเข้าใจ ทำให้ผู้เรียนมีความสับสนในการปรับตัว ดังนั้นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างเหมาะสม

3.2   ปรัชญาการศึกษาเปลี่ยนไป   มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอน การแนะแนวจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้สอดคล้องกับความถนัด ความสนใจ ความต้องการ และความพร้อมของตนเองได้อย่างเหมาะสม

3.3   ผู้เรียนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย อารมณ์ สังคม และสติปัญญา การแนะแนวจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจต่อการเปลี่ยนและสามารถปรับตัวได้

3.4 ความแตกต่างระหว่างบุคคล ทำให้บุคคลมีปัญหาต่าง ๆกัน การปรับตัวจึงต้องมีการให้คำปรึกษาและการแนะแนวแก่ผู้เรียน

4. หลักของการแนะแนว

4.1 การแนะแนวต้องจัดเพื่อผู้เรียนทุกคน

4.2 การแนะแนวควรเป็นการช่วยให้ผู้เรียนนำตนเองได้

4.3 การแนะแนวจะต้องมีข้อมูลของผู้เรียนในด้านต่าง ๆ ตรงตามข้อเท็จจริง และเป็นปัจจุบัน

4.4 การแนะแนวจะต้องจัดอย่างต่อเนื่อง

4.5 การจัดการแนะแนวจะต้องมีการประสานงาน และร่วมมือระหว่างบุคลากรทุกคนที่เกี่ยวข้องทั้งภายใน     และภายนอกสถานศึกษา

4.6 การแนะแนวจะต้องทำควบคู่ไปกับการเรียนการสอน

4.7 การแนะแนวควรจัดบริการด้านต่าง ๆ ให้ครอบคลุมทั้งด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านส่วนตัวและสังคม

5. เป้าหมายของการแนะแนว

การแนะแนวเป้าหมายสำคัญอยู่ที่ตัวผู้เรียน โดยมีเป้าหมายดังนี้

5.1 การป้องกันปัญหา

5.2 การแก้ปัญหา

5.3 การส่งเสริมและพัฒนาผู้เรียนทุกด้าน

6. ขอบข่ายของบริการแนะแนว

6. 1 บริการศึกษาและรวบรวมข้อผู้เรียนมูลรายบุคคล (Individual Inventory Service) เป็นงานรวบรวมรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับตัวผู้เรียน ในเรื่องความสนใจ ความสามารถ ความถนัด เจตคติ ลักษณะนิสัย อารมณ์ ฯลฯ พร้อมทั้งสิ่งแวดล้อมของผู้เรียน เช่น สภาพความสัมพันธ์ของสมาชิกภายในบ้าน อาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจของครอบครัว ฯลฯ ทั้งนี้เพื่อให้ครูรู้จักผู้เรียนและผู้เรียนรู้จักตนเองมากที่สุดเท่าที่จะมากได้ เพื่อนำเอาข้อมูลรายละเอียดดังกล่าวไปใช้ประโยชน์ในการแนะแนว

6. 2 บริการสนเทศ (Information Service) เป็นงานเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารความรู้ให้แก่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านสังคมอย่างกว้างขวาง สามารถนำความรู้ความเข้าใจเหล่านั้นไปพิจารณาและตัดสินใจเลือกแนวทางการศึกษา การประกอบอาชีพ และปรับปรุงบุคลิกภาพได้อย่างเหมาะสม

6. 3 บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service) เป็นการพูดคุยที่ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจตนเอง และสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปสู่การป้องกันปัญหา ตัดสินใจแก้ปัญหาหรือพัฒนาสิ่งที่ตนเองปรารถนาอย่างเหมาะสม โดยที่ผู้เรียนซึ่งได้รับบริการคำปรึกษาพร้อมที่จะรับผิดชอบต่อผลที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากตัดสินใจกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งของตน

6.4 บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service) เป็นงานที่ช่วยให้ผู้เรียนได้รับประสบการณ์การฝึกฝน หรือการสงเคราะห์ช่วยเหลือตามแต่กรณี ขณะที่อยู่ในสถานศึกษาและจบการศึกษาจากสถานศึกษาไปแล้ว

6.5 บริการติดตามผลและประเมินผล (Follow-up and Evaluation Service) เป็นงานติดตามผลการดำเนินงานบริการด้านต่าง ๆ ที่จัดให้แก่นักเรียน บริการติดตามผลและประเมินผลมี 2 งาน คือ งานติดตามผลและงานประเมินผล

งานติดตามผล มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลที่เกิดขึ้นกับผู้เรียนซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการช่วยผู้เรียนแต่ละคนให้สามารถแก้ปัญหาและปรับปรุงตนเองในด้านต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม และเพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ประเมินผลการดำเนินงานแนะแนวและงานอื่น ๆ ของสถานศึกษา

งานประเมินผล มีวัตถุประสงค์เพื่อพิจารณาผลที่ได้จากการดำเนินโครงการแนะแนวว่ามีคุณค่ามากน้อยเพียงใด

การดำเนินงานแนะแนวทั้ง 5 บริการดังกล่าวจะต้องครอบคลุมการแนะแนวทั้ง 3 ด้าน คือด้านการศึกษา ด้านอาชีพ และด้านส่วนตัวและสังคม

7. ประเภทของการแนะแนว มี 3 ประเภท ดังนี้

1. การแนะแนวการศึกษา (Education Guidance)
2. การแนะแนวอาชีพ (Vocational Guidance)
3. การแนะแนวส่วนตัวและสังคม (Personal and Social Guidance)

การแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

การจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาตามความสนใจ ความถนัด และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน รูปแบบวิธีการและกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จึงมีหลากหลายทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

จากความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีกระบวนการแนะแนวเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนและประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รู้จักตนเองอย่างท่องแท้ รู้จักชุมชนแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง และมีข้อมูลข่าวสาร เพียงพอที่จะวิเคราะห์ และตัดสินใจกำหนดทางเลือกในการศึกษา การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม เจริญก้าวหน้า และสามารถพึ่งพาตนเองได้

ความหมาย

การแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ รู้ถึงความสามารถ ความสนใจของตนเอง เข้าใจสิ่งแวดล้อม สามารถเลือกและตัดสินใจได้ว่าตนเองควรจะศึกษาด้านใด ประกอบอาชีพอะไร หรือควรดำเนินชีวิตอย่างไรได้อย่างเหมาะสม และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และมีความสำเร็จในชีวิต

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

1) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคล (Preventive Approach)

2) ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (Curative Approach)

3) ส่งเสริมและพัฒนาบุคคล (Developmental Approach)

หลักการแนะแนว

1) การแนะแนวต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษา หรือการให้บริการโดยสอดแทรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือการให้บริการทุกกิจกรรม

2) การแนะแนวเป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือผู้ให้บริการทุกคนที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน และมีการประสานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาทุกคน โดยเฉพาะชุมชน

3) การแนะแนวจะต้องจัดสำหรับผู้เรียนและผู้รับบริการทุกคนไม่ใช่จัดให้เฉพาะผู้เรียนหรือผู้รับบริการที่มีปัญหาเท่านั้น และต้องจัดให้คลอบคลุมทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และบุคลิกภาพ

4) การแนะแนวต้องจัดอย่างต่อเนื่อง ควรมีแผนปฏิบัติการแนะแนวที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับปัญหา ความต้องการในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต

5) การแนะแนวควรมีข้อมูลและสารสนเทศ ที่ใช้ในการแนะแนวทุกด้านตรงตามความเป็นจริง และเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการได้ตรงความต้องการ

6) การแนะแนวจะต้องสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการนำตนเองและพึ่งตนเองได้

ขอบข่ายของการแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

1)            ประเภทของ การแนะแนว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท

1.1) แนะแนวทางการศึกษา (Education Guidance) การแนะแนวทางการศึกษา เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทางด้านการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการทราบถึงแนวทางการเข้ารับการศึกษา แนวโน้มของการศึกษา โอกาสของการศึกษาในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ สามารถเลือกแนวทางการศึกษา ได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถทางสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกประกอบอาชีพในอนาคต

1.2) แนะแนวทางอาชีพ (Vocational Guidance) การแนะแนวทางอาชีพ เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของงานอาชีพ แนวทางและโอกาสของการประกอบอาชีพแต่ละอาชีพ การแนะแนวทางอาชีพ จะช่วยให้ผู้เรียน ผู้รับบริการรู้จักศึกษาโลกของงานอาชีพ รู้จักเตรียมตัวทางด้านอาชีพ และช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเลือกงานอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถวางแผนการประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะทำให้ทำงานอาชีพได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และมีความสุขกับการทำงาน

1.3) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว (Personal Social Guidance) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว เป็นกระบวนการของการให้ความช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการ ให้รู้จักปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น

2) บริการแนะแนว 5 บริการ

2.1) บริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล (Individual Inventory Service) หมายถึง การศึกษาสำรวจ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนทางด้านการศึกษา อาชีพ บุคลิกภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และจัดระบบแล้วจะทำให้ผู้แนะแนวได้รู้จักผู้เรียน และสามารถให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาได้อย่างถูกต้อง สามารถช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเข้าใจตนเอง และยอมรับตนเอง

2.2) บริการสนเทศ (Information Service) หมายถึง การให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนา เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากบริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ตรงกับความต้องการ ในการส่งเสริม พัฒนา ตลอดจนแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม

2.3) บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service) หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ ความใกล้ชิด ความอบอุ่น ความมั่นใจ สติปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตัดสินใจ และเลือกได้อย่างฉลาด ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความจำเป็น ซึ่งการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ลึกซึ้งอย่างเพียงพอ

2.4) บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service) หมายถึง บริการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำเนินการตามที่ตัดสินใจเลือกไว้ เช่น ได้เรียนในวิชาหรือประกอบอาชีพที่เลือกไว้ เป็นต้น

2.5) บริการติดตามและประเมินผล (Follow – up Service) จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินการติดตามผลผู้เรียนภายหลังจากที่ได้รับบริการแนะแนวไปแล้วว่าได้ประโยชน์มากน้อยเพียงไร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้จัดบริการแนะแนวได้ทราบว่าบริการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้น ได้ผลมากน้อยเพียงใด มีจุดเด่นอะไรบ้าง และมีจุดอ่อนที่จะต้องรีบปรับปรุงแก้ไขอย่างไร

3) รูปแบบการให้บริการแนะแนว

3.1) การให้บริการทางโทรศัพท์

3.2) การให้บริการทางเครือข่าย Internet

3.3) การให้บริการโดยสื่อเอกสารและอิเล็กทรอนิกส์

3.4) การให้บริการโดยสื่อประชาสัมพันธ์

3.5) การให้บริการเป็นรายกลุ่ม-รายบุคคล

3.5.1) ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ (Guidance Center)

3.5.2) หน่วยงานแนะแนวเคลื่อนที่


เอกสารอ้างอิง

ทิศนา แขมณี.(2550). ศาสตร์การสอน.กรุงเทพฯ: บริษัท ด่านสุทธาการพิมพ์ จำกัด

วิชาการ,กรม.กระทรวงศึกษาธิการ.(2544). การสังเคราะห์งานวิจัยเกี่ยวกับรูปแบบการจัดการ

เรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว

หลักสูตรและการสอน,ภาควิชา.วิทยาลัยครูจันทรเกษม.(2529). หลักการสอนและการเตรียม

ประสบการณ์วิชาชีพภาคปฏิบัติ.กรุงเทพฯ : อำนวยการพิมพ์

การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
15 มิถุนายน 2554

1. ความเป็นมาของการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

การปฏิรูปการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 ได้กำหนดไว้ดังนี้

          หมวด 4 แนวการจัดการศึกษามาตรา24 (5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้รวมทั้งสามารถ ใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ

          มาตรา30 ให้สถานศึกษาพัฒนากระบวนการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษา  

          หมวด 6 มาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา มาตรา 48 กำหนดให้หน่วยงานต้นสังกัด สถานศึกษาจัดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาและให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายในเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารการ

          หมวด 9 เทคโนโลยีเพื่อการศึกษามาตรา 67 รัฐต้องส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา การผลิตและการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา เพื่อให้เกิดการใช้ที่คุ้มค่าและเหมาะสมกับกระบวนการเรียนรู้ของคนไทย

        ดังนั้นจึงอาจสรุปได้ว่า พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2)พ.ศ. 2554 ได้กำหนดให้นำการวิจัยมาใช้การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ ดังนี้

       1. การวิจัยในกระบวนการเรียนรู้ มุ่งให้ผู้เรียนทำวิจัย เพื่อใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถวิจัยในเรื่องที่สนใจหรือต้องการหาความรู้หรือต้องการแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการวิจัยจะช่วยให้ผู้เรียนได้ฝึกการคิด ฝึกการวางแผน ฝึกการดำเนินงานและฝึกหาเหตุผลในการตอบปัญหา โดยผสมผสานองค์ความรู้แบบบูรณาการเพื่อให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้จากสถานการณ์จริง

       2. การวิจัยพัฒนาการเรียนรู้ มุ่งให้ผู้สอนสามารถทำวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนรู้ด้วยการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการเรียนรู้ วางแผนแก้ไขปัญหาการเรียนรู้ เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ ผู้สอนสามารถทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการศึกษาที่นำไปสู่คุณภาพการเรียนรู้ ด้วยการศึกษาวิเคราะห์ปัญหาการเรียนรู้ ออกแบบและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ ทดลองใช้นวัตกรรมการเรียนรู้ เก็บรวบรวมข้อมูล และวิเคราะห์ผลการใช้นวัตกรรมนั้น ๆและผู้สอนสามารถนำกระบวนการวิจัยมาจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ด้วยการใช้เทคนิควิธีการที่ช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนจากการวิเคราะห์ปัญหา สร้างแนวทางเลือกในการแก้ไขปัญหา ดำเนินการตามแนวทางที่เลือก และสรุปผลการแก้ไขปัญหาอันเป็นการฝึกทักษะ ฝึกกระบวนการคิด ฝึกการจัดการจากการเผชิญสภาพการณ์จริง และปรับประยุกต์มวลประสบการณ์มาใช้แก้ไขปัญหา

        3. การวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา มุ่งให้ผู้บริหารทำการวิจัยและนำผลการวิจัยมาประกอบการตัดสินใจ รวมทั้งจัดทำนโยบายและวางแผนบริหารจัดการสถานศึกษาให้เป็นองค์กรที่นำไป สู่คุณภาพการจัดการศึกษา และเป็นแหล่งสร้างเสริมประสบการณ์เรียนรู้ของผู้เรียนอย่างมีคุณภาพ

2. กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

          กระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มีขั้นตอนการวิจัยเช่นเดียวกับกระบวนการวิจัยโดยทั่วไป ดังนี้

แผนภูมิแสดงขั้นตอนการวิจัยโดยทั่วไป

          กระบวนการวิจัยเพื่อการเรียนรู้ ได้มีการนำกระบวนการวิจัยทั่วไปมาประยุกต์ใช้ในการแก้ไขปัญหา  การเรียนรู้หรือการพัฒนาการเรียนรู้เป็นสำคัญ ดังนั้นในขั้นการศึกษาและวิเคราะห์ปัญหา จึงต้องเน้นไปที่ผลการพัฒนาผู้เรียน 3 ด้าน คือด้านความรู้(Cognitive Domain) ด้านทักษะ(Psychomotor Domain) และด้านเจตคติ(Affective Domain) และก่อนที่ผู้สอนจะใช้การวิจัยในกระบวนการเรียนรู้ เพื่อแก้ปัญหาหรือเพื่อพัฒนาผู้เรียน เช่นเดียวกันกับผู้บริหารจะทำการวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งองค์ประกอบของกระบวนการวิจัยเพื่อการเรียนรู้ มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ดังแผนภูมิ

แผนภูมิแสดงองค์ประกอบการเรียนรู้ด้วยการวิจัย

การวิจัยเพื่อพัฒนาคุณภาพการเรียนรู้ มุ่งเน้นผลการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ ด้วยการใช้การวิจัยในกระบวนการเรียนรู้ การวิจัยพัฒนาการเรียนรู้และการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

1.  การวิจัยในกระบวนการเรียนรู้ 

         การวิจัยในกระบวนการเรียนรู้ คือการนำระเบียบวิธีวิจัยมามาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ซึ่งมาจากความเชื่อว่า “ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองและพัฒนาตนเองได้” ดังนั้นการจัดการศึกษาจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ โดยส่งเสริมให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเองตามความสนใจ ความถนัด และความต้องการ จากสื่อและอุปกรณ์ที่มีอยู่ตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในครอบครัว ในสถานศึกษาและในชุมชนที่ผู้เรียนพบในชีวิตประจำวัน

         แนวคิดเกี่ยวกับการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง มีหลายแนวคิด เช่น

        1) แนวคิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participation learning) ซึ่งเน้นการสร้างความรู้จากประสบการณ์เดิมของผู้เรียนและการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้เรียน
         2) แนวคิดการเรียนรู้ตามหลักพุทธศาสนา ซึ่งมี 3 ระดับ คือการรู้จำจากการบอกหรือสอน การรู้จักจากการคิดหาเหตุผล และการรู้แจ้งจากการสร้างความเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งด้วยการค้นพบด้วยตนเอง
         3) แนวคิดการสร้างความรู้ (Constructivism) เน้นการสร้างความรู้ด้วยตนเองจากวิธีการต่าง ๆ กัน โดยอาศัยประสบการณ์เดิมจากโครงสร้างทางปัญญา และแรงจูงใจ

 จากแนวคิดดังกล่าวที่นำมาใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้ ประสบความสำเร็จในการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ควรจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นระบบโดยอาศัยกระบวนการวิจัยเข้ามาช่วยในการเรียนรู้ในเรื่องที่มีความซับซ้อนทำให้ผู้เรียนได้ฝึกคิด การจัดการ การหาเหตุผลในการแก้ปัญหา การผสมผสานความรู้แบบสหวิทยาการและการเรียนรู้ปัญหาที่ผู้เรียนสนใจ ครูจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนมีอิสระในการทดลองใช้แนวคิดและวิธีการต่าง ๆในการเรียนรู้ การทดสอบความรู้ที่ได้รับและการสรุปความรู้ เจตคติ และทักษะอันเป็นเครื่องมือพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต มีพัฒนาการทางสติปัญญา ทางอารมณ์ สังคม และทางร่างกาย ซึ่งรูปแบบการวิจัยในกระบวนการเรียนรู้ มีดังนี้

แผนภูมิ แสดงการวิจัยในกระบวนการเรียนรู้

จากแผนภูมิ การวิจัยในกระบวนการเรียนรู้ ซึ่งเป้าหมายของการจัดการเรียนรู้ คือผู้เรียนมีความรู้ เจตคติ และทักษะ ซึ่งได้จากการเรียนรู้ด้วยกระบวนการวิจัยอย่างเป็นระบบ มี 5 ขั้นตอน ดังนี้

        ขั้นตอนที่ 1 การวิเคราะห์ความต้องการการเรียนรู้ ขั้นตอนนี้ผู้เรียนจะต้องทราบความต้องการการเรียนรู้ของตนเอง มีการลำดับความสำคัญของความต้องการก่อนหลังที่ต้องการจะเรียนเรียน และนำเรื่องที่มีความสำคัญลำดับแรก มากำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้
        ขั้นตอนที่ 2 การวางแผนการเรียนรู้ ผู้เรียนจะต้องวางแผนการเรียนรู้ของตนเองว่าจะเรียนเรื่องอะไร ใช้เวลาเรียนเท่าไร เรียนรู้ด้วยวิธีใด เรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ใด ต้องใช้สื่ออะไร และเมื่อมีปัญหาในการเรียนจะต้องปรึกษาใคร เมื่อได้รับความรู้แล้วจะนำความรู้ไปใช้อย่างไร ตลอดจนวางแผนการนำความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนางาน
        ขั้นตอนที่ 3 การพัฒนาทักษะการเรียนรู้ เป็นขั้นตอนของการปฏิบัติเพื่อแสวงหาความรู้ตามที่ได้วางแผนไว้ ซึ่งอาจใช้วิธีการต่าง ๆ ในการเรียนรู้ เช่น การสังเกต การสัมภาษณ์ การบันทึกข้อความ การสรุปความ การเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ เช่น ศูนย์วิทยาการ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่อบุคคลและสื่อเทคโนโลยี เป็นต้น เมื่อได้ความรู้แล้วควรตรวจสอบความถูกต้องของความรู้ที่ได้ และนำความรู้ไปใช้ให้เป็นไปตามเป้าหมายของการเรียนรู้
        ขั้นตอนที่ 4 การสรุปความรู้ เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนสรุปความรู้และนำเสนอความรู้ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น รูปภาพ แผนภาพ แผนภูมิ ฯลฯ และอาจใช้ เครื่องมือ อุปกรณ์ หรือเทคโนโลยีต่าง ๆมาช่วยในการนำเสนอ
       ขั้นตอนที่ 5 การประเมินผลเพื่อปรับปรุงและนำไปใช้ในการพัฒนา เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนประเมินกระบวนการเรียนรู้ของตนเองในระหว่างการเรียนรู้ทุกขั้นตอน เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและการนำไปใช้พัฒนางานต่อไป

2.  การวิจัยพัฒนาการเรียนรู้

       ในการจัดการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ทั้งร่างกาย จิตใจ สติปัญญา ความรู้ และคุณธรรม  มีจริยธรรมและวัฒนธรรมในการดำรงชีวิต สามารถอยู่ร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุขนั้น ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานการจัดการศึกษา ที่กำหนดในการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งพัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ คือผู้เรียนจะต้องเกิดกระบวนการเรียนรู้ตรงตามเป้าหมายการเรียนรู้ ซึ่งจะต้องมีการปรับปรุงและพัฒนาการจัดการเรียนรู้ของผู้สอนอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการทำวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้จึงมีบทบาสำคัญในการพัฒนาการจัดการเรียนรู้ ผู้สอนจำเป็นจะต้องบูรณาการภารกิจของการวิจัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาการเรียนรู้ ดังนี้

       1. ในการจัดกระบวนการเรียนการสอน ควรใช้กระบวนการวิจัยมาเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้
       2. ทำวิจัยเพื่อจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียน
       3. นำผลการวิจัยมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอน

       ดังนั้น การใช้การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้จึงเป็นภารกิจที่สำคัญและจำเป็นที่ผู้สอนควรนำมาใช้ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนรู้ การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มีการดำเนินงาน ดังนี้

แผนภูมิ แสดงกระบวนการการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้

จากแผนภูมิกระบวนการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ มี 5 ขั้นตอน ดังนี้

                ขั้นตอนที่ 1 วิเคราะห์ความต้องการ/พัฒนาการเรียนรู้
                ขั้นตอนที่ 2 วางแผนการจัดการเรียนรู้
                ขั้นตอนที่ 3 จัดกิจกรรมการเรียนรู้
                ขั้นตอนที่ 4 ประเมินผลการเรียนรู้ 
                ขั้นตอนที่ 5 ทำรายงานผลการเรียนรู้

     กระบวนการทั้ง 5 ขั้นตอนผู้สอนจะต้องนำวิธีวิจัยมาใช้ในการดำเนินงาน และในขั้นตอนที่ 3 เมื่อผู้สอนทำการประเมินระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้วพบว่ามีปัญหาเกิดขึ้นเล็กน้อย ผู้สอนจะต้องดำเนินการปรับปรุงแก้ไขการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่กำหนดไว้ และเมื่อผู้สอนประเมินผลการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ 4 แล้วพบว่าไม่มีปัญหา ผู้เรียนมีการพัฒนาการเรียนรู้ที่ตรงกับจุดมุ่งหมายของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนจะต้องจัดทำรายงานผลการเรียนรู้ เพื่อรายงานแก่ผู้เกี่ยวข้องเพื่อทราบและใช้ประโยชน์ต่อไป

      ในกรณีผู้สอนทำการประเมินผลการเรียนรู้ในขั้นตอนที่ 4 แล้วพบว่ามีปัญหารุนแรง หรือพบว่ามีบางเรื่องที่จำเป็นต้องพัฒนา แต่ไม่อาจทำได้ทันที เช่น ผู้เรียนวิชาภาษาไทยขาดทักษะการอ่าน โดยเฉพาะการอ่านจับใจความ ผู้สอนจะต้องทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยดำเนินการดังนี้

           1) จัดกิจกรรมแก้ปัญหา/พัฒนา
           2) เก็บรวบรวมข้อมูล/วิเคราะห์ข้อมูล
           3) สรุปผลการแก้ปัญหา/พัฒนา

       เมื่อได้ผลการแก้ปัญหา/พัฒนาแล้ว ผู้สอนจะต้องกลับไปประเมินผลการเรียนรู้และรายงานต่อผู้เกี่ยวข้องเพื่อนำไปใช้ประโยชน์และเมื่อผู้สอนได้ทำวิจัยเพิ่มเติมเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในการจัดการเรียนรู้ได้แล้ว ผู้สอนจะต้องนำผลวิจัยไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ต่อไป

3.  การวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

       การจัดการศึกษาของสถานศึกษาที่มีประสิทธิภาพนั้น ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบภายในของสถานศึกษา เช่น ผู้สอน ผู้เรียน หลักสูตร  สื่อ วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ และผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของสถานศึกษาดำเนินไปได้ด้วยดี คือผู้บริหารสถานศึกษา ซึ่งจะต้องระดมสรรพกำลังบุคลากรทุกฝ่ายตั้งแต่ ผู้สอน ผู้เรียน กรรมการสถานศึกษา และชุมชน มาร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ เพื่อกำหนดทิศทางหรือวิสัยทัศน์  จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา จัดทำแผนปฏิบัติการ การดำเนินงานตามแผน การนิเทศติดตามผล และการจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษา

        กระบวนการต่าง ๆ ดังกล่าวถือว่าผู้บริหารสถานศึกษาได้นำกระบวนการวิจัยมาใช้ในการบริหารจัดการของสถานศึกษา ดังนี้

แผนภูมิแสดงการวิจัยพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

      จากแผนภูมิจะเห็นได้ว่าผู้บริหารได้ใช้กระบวนการวิจัยมาดำเนินการบริหารสถานศึกษา เริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการเพื่อกำหนดทิศทาง/วิสัยทัศน์จัดทำแผนพัฒนาการจัดการศึกษา/แผนปฏิบัติการ กำกับ ดูแลการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผน นิเทศ ติดตามประเมินผลการดำเนินงาน และจัดทำรายงานผลการดำเนินงานของสถานศึกษา

      ในกรณีที่ประเมินผลการดำเนินงานแล้วพบว่ามีปัญหารุนแรงหรือพบเรื่องที่ควรได้รับการพัฒนา ผู้บริหารจะต้องทำวิจัยเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนางานดังกล่าวในระหว่างขั้นตอนที่ 4 ของการดำเนินงาน โดยมีขั้นตอนวิจัย 5 ขั้นตอน ดังนี้

                  1. การวิเคราะห์ปัญหา/พัฒนา
                  2. วางแผนแก้ปัญหา/พัฒนา
                  3. จัดกิจกรรมแก้ปัญหา/พัฒนา
                  4. เก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล
                  5. สรุปผลการแก้ปัญหา/พัฒนา

        เมื่อสรุปผลการแก้ปัญหา/พัฒนา เสร็จแล้วขั้นต่อไปคือการนำผลการวิจัยไปใช้ และประเมินในขั้นตอนที่ 4 ของการดำเนินงานบริหารอีกครั้ง ถ้าพบว่าไม่มีปัญหา จึงจัดทำรายงานผลการดำเนินงานสถานศึกษาให้ผู้เกี่ยวข้องทราบหรือเป็นข้อมูลในการพัฒนา ต่อไป

แหล่งอ้างอิง

1.  กระทรวงศึกษาธิการ.(2548) มาตรฐานการศึกษาของชาติ.กรุงเทพฯ : สหายบล็อกและการพิมพ์
2.  กรมวิชาการ.(2545) การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว
3.  สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา(องค์การมหาชน)(2547).พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2552 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ : พริกหวานกราฟฟิค

*******************************************

การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
7 เมษายน 2554

 ตอนที่ 3 เทคนิคการจัดการการเรียนรู้

1. การเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self-directed Learning)

     เป็นกระบวนการที่ผู้เรียนแต่ละคนมีความคิดริเริ่มด้วยตนเอง ผู้เรียนจะทำการวิเคราะห์ความต้องการที่จะเรียนรู้ของตน กำหนดเป้าหมายในการเรียนรู้ แยกแยะแจกแจงข้อมูลในการเรียนรู้ ทั้งที่เป็นคนและอุปกรณ์ คัดเลือกวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม และประเมินผลการเรียนรู้นั้น ๆ การเรียนรู้ด้วยตนเองจึงเป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีความคิดริเริ่มจากตนเอง แล้ววางแผนการเรียนด้วยตนเองจนจบ กระบวนการเรียนรู้การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ใหม่ ๆ และการพัฒนาทักษะ ด้วยตนเอง โดยได้รับความช่วยเหลือแนะนำ และสนับสนุนจากผู้อื่น

1.1 สมมุติฐานในการเรียนรู้ด้วยตนเอง

  Knowls M.S (1975, อ้างถึงใน สมคิด อิสระวัฒน์, 2543) เป็นผู้ที่นำการเรียนการสอนด้วยตนเองมาใช้กับชั้นเรียนของผู้ใหญ่ และได้เขียนสมมุติฐานในการจัดการสอนสำหรับผู้ใหญ่ไว้ดังนี้

1) ความจำเป็นในการเรียนรู้ ผู้ใหญ่จำเป็นต้องรู้ก่อนว่าทำไมเขาจึงต้องเรียนบางสิ่งบางอย่างก่อนที่จะลงลึกเรียนรู้เรื่องนั้น ๆ
2) ความคิดเกี่ยวกับตัวเอง ผู้ใหญ่จำเป็นต้องรับผิดชอบในการตัดสินใจของเขาเองและต้องการที่จะได้รับการปฏิบัติว่าเป็นผู้ที่สามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
3) ประสบการณ์ของผู้เรียน ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่มีประสบการณ์มากมายในชีวิตซึ่งถือเป็นสิ่งที่มีคุณค่าต่อการเรียนรู้
4) ความพร้อมในการเรียนรู้ผู้ใหญ่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่เขาต้องการ  เพื่อที่จะนำไปใช้กับสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
5) การเรียนรู้ ผู้ใหญ่จำเป็นต้องได้รับการเสริมแรงในกระบวนการเรียนรู้  เพื่อที่จะสามารถเอาชนะต่อปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ ในชีวิตได้

การเรียนรู้ด้วยตนเองสอดคล้องกับการเรียน การสอนที่ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพราะเป็นวิธีการที่ตอบสนองความต้องการ ความสนใจ ความถนัด และประสบการณ์

1.2 ขั้นตอนของการเรียนรู้ด้วยตนเอง

ขั้นตอนที่สำคัญ ๆ ของการเรียนรู้ด้วยเอง คือ

1) วิเคราะห์และการกำหนดความต้องการในการเรียนรู้
2) กำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้
3) กำหนดแหล่งวิทยาการเพื่อการเรียนรู้
4) เลือกวิธีการเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้
5) รวบรวมข้อมูล/วิเคราะห์สร้างองค์ความรู้
6) ประเมินผลการเรียนรู้

1.3 การดำเนินการเรียนรู้

1) วิเคราะห์และการกำหนดความต้องการในการเรียนรู้

ผู้เรียนศึกษาโครงสร้างของรายวิชาที่จะเรียนว่ามีประเด็น หรือเรื่องใดบ้างที่ตนสนใจที่จะเรียนรู้ หรือพิจารณาปัจจัยเงื่อนไข ข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย ประเมินความเป็นไปได้ที่จะศึกษาเรื่องนั้น และตัดสินใจกำหนดเรื่องที่จะศึกษา

2) กำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้

ผู้เรียนกำหนดเป้าหมายและสร้างความชัดเจนว่าต้องเรียนรู้เรื่องนั้นไปเพื่ออะไร แล้วจะได้ประโยชน์อะไรบ้าง การกำหนดจุดมุ่งหมายไว้ชัดเจนจะช่วยให้ผู้เรียนมีเป้าหมายและทิศทางในการเรียนรู้ชัดเจนขึ้น

3) กำหนดแหล่งวิทยาการเพื่อการเรียนรู้

ผู้เรียนวางแผน และกำหนดแหล่งวิทยาการเพื่อการศึกษารวบรวมข้อมูลว่าเรื่องใดจะศึกษาจากแหล่งวิทยาการใด แหล่งวิทยาการอาจเป็นบุคคล ผู้รู้ ห้องสมุด ศูนย์การเรียนต่าง ๆ ตลอดจนศึกษาค้นคว้าทางสื่อเทคโนโลยีต่าง ๆ

4) เลือกวิธีการเรียนและกิจกรรมการเรียนรู้

เมื่อผู้เรียนกำหนดแหล่งวิทยาการได้แล้ว ก็ต้องเลือกวิธีการเรียนหรือกิจกรรมที่จะไปศึกษาหาความรู้ไว้ด้วย อาจใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้รู้ ผู้ชำนาญ เข้าไปฝึกปฏิบัติ เข้าร่วมกิจกรรม เข้ารับการอบรม

5) รวบรวมข้อมูล/วิเคราะห์สร้างองค์ความรู้

เมื่อผู้เรียนเข้าไปศึกษาค้นคว้าข้อมูลจากแหล่งวิทยาการใดก็ต้องทำการจดบันทึกอย่างเป็นระบบและละเอียด จากนั้นก็นำมาจัดหมวดหมู่ อาจต้องเรียบเรียงข้อมูลใหม่ เขียนให้กระชับ ชัดเจน อาจวิเคราะห์หรือสังเคราะห์ข้อมูล หรือสร้างข้อสรุปในองค์ความรู้นั้น ข้อมูลความรู้ดังกล่าวผู้เรียนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ ขณะเดียวกันก็สามารถนำเสนอกับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย

6) ประเมินผลการเรียนรู้

ผู้เรียนควรพิจารณาทบทวนว่า เมื่อผ่านขั้นตอนการเรียนรู้ด้วยตนเองเช่นนี้แล้ว ผู้เรียนสามารถบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ตามที่กำหนดไว้หรือไม่ มากน้อยเพียงใด ขั้นตอนนี้ครูผู้สอนอาจเข้ามามีส่วนร่วมในการประเมินผลการเรียนในรายวิชานั้น ๆ ด้วย

โดยสรุปการเรียนรู้ด้วยตนเองเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สามารถนำมาใช้กับการศึกษานอกระบบได้ เพราะตอบสนองความสนใจ และความต้องการในการเรียนรู้ เสริมสร้างศักยภาพในการเรียนรู้ ทำให้ผู้เรียนมีความรับผิดชอบ และสามารถขยายขอบข่ายการเรียนรู้ให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น

2. การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม (Participatory Learning)

   การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม เป็นการจัดกิจกรรมเรียนรู้ที่เน้นให้ผู้เรียนต้องมีส่วนร่วมเพื่อเกิดการเรียนรู้ ในสิ่งที่อยากรู้ เกิดการเรียนรู้แบบแก้ปัญหา โดยใช้การระดมพลังสมอง และใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น การทำเวทีประชาคม การอภิปราย การแสดงบทบาทสมมุติ เป็นการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญต่อผู้เรียน โดยผู้เรียน เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ และมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนรู้กับผู้สอนทุกขั้นตอน

   การใช้วิธีการเรียนรู้จากผู้สอน ซึ่งเน้นเนื้อหาวิชาเป็นหลักไม่เพียงพอสำหรับการดำเนินชีวิตในปัจจุบัน การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ผู้เรียนได้แสวงหาความรู้ สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ที่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ ที่เป็นจริง

2.1 กระบวนการการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม

1) เน้นให้ผู้เรียนได้เรียนอย่างมีความสุข สอดคล้องกับธรรมชาติของผู้เรียนโดยได้เรียนในสิ่งที่ตนชอบ สนใจและถนัด เมื่อผู้เรียนประสบผลเร็จจะเกิดความภาคภูมิใจ และเกิดกำลังใจในการที่จะก้าวหน้าต่อไปข้างหน้า เพื่อคิดสิ่งใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลา
2) ต้องให้ผู้เรียนได้ค้นพบความสามารถของตนเอง เป็นการเน้นผู้เรียนได้เรียนโดยปฏิบัติจริง ถ้าปฏิบัติได้สำเร็จก็เกิดความภูมิใจในตนเอง และการที่ผู้เรียนค้นพบความสามารถของตนเองทำให้รู้จักตนเองมากขึ้น
3) เน้นให้ผู้เรียนเรียนสิ่งที่ที่มีความหมายต่อตนเอง โดยความรู้ต้องสัมพันธ์กับธรรมชาติ วิถีชีวิตของแต่ละคนในแต่ละชุมชน การเรียนสิ่งที่มีความหมายเป็นการตอบสนองความสนใจความต้องการ/ปัญหาของผู้เรียน
4) มีกิจกรรมและสื่อที่หลากหลายประกอบการเรียนรู้
5) มีการประเมินผลการเรียนรู้ทุกขั้นตอน

2.2 องค์ประกอบของการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม มีอยู่ 4 ประการ คือ

1) ประสบการณ์ (Experience) เป็นขั้นตอนที่ผู้สอน/วิทยากรช่วยกระตุ้น ให้ผู้เรียนนำประสบการณ์เดิมของตนมาพัฒนาเป็นองค์ความรู้
2) การสะท้อนความคิดและอภิปราย (Reflection and Discussion) เป็นขั้นตอนที่ผู้สอนจัดกิจกรรมและเสริมสร้างบรรยากาศเพื่อให้ผู้เรียนได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น อภิปรายกลุ่มเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
3) สรุปความเข้าใจและเกิดความคิดรวบยอด (Understanding and Conception) เป็นขั้นตอนการสร้างความเข้าใจของผู้เรียนเอง และนำไปสู่การเกิดความคิดรวบยอด
4) การทดลองหรือประยุกต์แนวคิด (Experiment) เป็นขั้นตอนที่ผู้เรียนนำผลการเรียนรู้จากข้อ 3 ไปประยุกต์ (กรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2541: 20)

2.3 ลักษณะของการเรียนการสอนแบบมีส่วนร่วม

     ผู้เรียนมีการเรียนเป็นกลุ่ม ใช้คำถามและเทคนิคต่าง ๆ เป็นสื่อให้คิด ให้ผู้เรียนได้ทำกิจกรรมและเสริมสร้างผลงานของตนเอง และเชื่อมโยงกับชีวิตจริง นอกจากนี้ต้องสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อกระตุ้นให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง เกิดความอยากรู้ อยากเรียน อยากปฏิบัติ การเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

1) ผู้สอนและผู้เรียนทำกิจกรรมร่วมกัน
2) ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้
3) ผู้เรียนเรียนรู้ โดย ลงมือปฏิบัติจริง ในการศึกษา ค้นคว้า อภิปรายทำให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้น และกล้าแสดงออก
4) การประเมินผลการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ต้องประเมิน 2 ทาง คือ ผู้อื่นประเมินและผู้เรียนประเมินตนเองเนื้อหาที่จะประเมินตัวเองเป็นสิ่งที่มีความหมายต่อผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ สามารถนำไปประยุกต์และบูรณาการได้ และนำไปประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอนครั้งต่อไป

3. การเรียนรู้แบบบูรณาการ (Integrated Learning)

ความหมาย การเรียนรู้แบบบูรณาการ หมายถึง การเชื่อมโยงเนื้อหาของวิชาต่าง ๆ เข้าไปด้วยกันในการเรียนรู้ เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับชีวิตจริง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

3.1 ความสำคัญของการบูรณาการ

1) สิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง และการดำเนินชีวิตประจำวันไม่ได้จำกัดว่าเกี่ยวกับวิชาหนึ่งวิชาใดเฉพาะ
2) การแก้ปัญหาหรือตัดสินใจจำเป็นต้องใช้ความรู้และทักษะจากหลายวิชาร่วมกัน
3) ช่วยให้เชื่อมโยงสิ่งที่เรียนเข้ากับชีวิตจริงทำให้เข้าใจว่าสิ่งที่เรียนมีประโยชน์   
4) ช่วยให้เข้าใจความสัมพันธ์ระหว่างวิชา และความสัมพันธ์ระหว่างวิชาต่าง ๆ กับชีวิตจริง
5) ช่วยให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างความคิดรวบยอดในศาสตร์ต่าง ๆ เนื้อหาและกระบวนการที่เรียนในวิชาหนึ่งอาจช่วยให้เข้าใจวิชาอื่นดีขึ้นได้
6) ขจัดความซ้ำซ้อนของเนื้อหาต่าง ๆ ในหลักสูตร
7) สนองความสามารถของผู้เรียน ซึ่งมีหลายด้านและสนองความสามารถในการแสดงออกและอารมณ์
8) สอดคล้องกับแนวคิดการสร้างความรู้

3.2 ประเภทของการสอนแบบบูรณาการ

1) การบูรณาการภายในวิชา เป็นการนำเนื้อหาวิชาหลัก 1 วิชา สอนและสอดแทรกเนื้อหาของวิชาอื่นที่ใกล้เคียง
2) บูรณาการระหว่างวิชา เป็นการแยกแต่ละวิชาโดยกำหนดหัวข้อเรื่อง ความคิดรวบยอด

3.3 แนวทางการจัดบทเรียน

1) มีการกำหนดหัวเรื่องที่เชื่อมโยงความคิดรวบยอด
2) มีการวางแผนการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ ที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาและลงมือปฏิบัติ

3.4 รูปแบบการสอนแบบบูรณาการ

1) แบบสอดแทรก (Infusion) เป็นการสอดแทรกเนื้อหาโดยผู้สอนคนเดียว กล่าวคือ ครูผู้สอนจะสอนในวิชาที่ตนรับผิดชอบ และสอดแทรกเนื้อหน้าของวิชาอื่น เข้าไปในการสอนของตนเอง
2) แบบคู่ขนาน (Parallel) เป็นการสอนแบบคู่ขนาน โดยใช้ครูตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปสอนวิชาต่างกันแต่ครูทั้งสองคน ต้องมาวางแผนการสอนร่วมกัน โดยมีการกำหนดหัวเรื่อง ความคิดรวบยอด และปัญหาเดียวกัน
3) แบบสหวิทยาการ (Multi disciplinary) แบบนี้มีส่วนคล้ายคลึงกับการสอนแบบขนาน แต่มีการมอบหมายงานหรือโครงงาน (Project) ร่วมกัน ซึ่งเชื่อมโยงสาขาวิชาต่าง ๆ เข้าด้วยกัน วางแผนแบ่งเป็นโครงการ
4) แบบเป็นคณะหรือข้ามวิชา (Trans disciplinary) ในการสอนเป็นคณะแบบนี้ ครูที่สอนวิชาต่าง ๆ จะร่วมกันสอนเป็นทีมร่วมกันวางแผนปรึกษาหารือ กำหนด หัวเรื่อง ความคิดรวบยอด และปัญหาร่วมกันสอน

3.5 องค์ประกอบที่มีผลต่อการบูรณาการ

1) การบูรณาการ ต้องเริ่มตั้งแต่บูรณาการหลักสูตร โดยวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน เป็นการจัดทำหลักสูตรบูรณาการ ที่ต้องระดมสมองในการคิดเชิงวิชาการ
2) การบูรณาการเนื้อหาวิชา สถานศึกษาจะต้องมีการวิเคราะห์ วางแผนการสอนการทำงานร่วมกันจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งจาก ผู้เรียน ผู้สอน และผู้บริหารสถานศึกษา บุคลากรดังกล่าวจะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถจึงจะประสบความสำเร็จ
3) วัดผล ประเมินผล สอดคล้องกับการบูรณาการ โดยพิจารณาจากการให้ความร่วมมือในการเรียนการสอน ซึ่งเกณฑ์การวัดผลประเมินผลนี้ต้องแตกต่างไปจากการวัดผลประเมินผลจากปกติ

3.6 จุดอ่อนของการบูรการ

1) ขาดการวิเคราะห์หลักสูตร เนื้อหา และความต้องการของผู้เรียน
2) บุคลากรในการสอนบูรณาการ ขาดความรู้ความสามารถในการบูรณาการ
3) การสอนบูรณาการในระดับชั้นมัธยมศึกษา หรือสูงขึ้น ต้องใช้ผู้สอนหลายคน ทำในลักษณะกระบวนการกลุ่ม เพื่อวางแผนร่วมกันเป็นไปด้วยความยากลำบาก
4) การวัดผล ประเมินผล ทำได้ยาก ส่วนใหญ่มุ่งวัดเนื้อหา แต่ไม่มีการประเมินผลกระบวนการ
5) สำหรับผู้เรียนที่มีความสามารถพิเศษ เช่น คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ ต้องจัดสอนแยกเฉพาะเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสกัดกั้นความสามารถพิเศษ

4. การเรียนรู้แบบโครงงาน

4.1  ความสำคัญ

การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นกระบวนการแสวงหาความรู้ หรือการค้นคว้าหาคำตอบในสิ่งที่ผู้เรียนต้องการรู้หรือมีความสงสัยด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นวิธีเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเลือกศึกษาตามความสนใจของตนเองหรือของกลุ่ม

การเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการเรียนรู้ที่ใช้วิธีการหลากหลายรูปแบบนำมาผสมผสานกัน เช่น กระบวนการกลุ่ม การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา การวิจัย ทั้งนี้มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งที่สนใจ โดยใช้กระบวนการและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนจะต้องลงมือปฏิบัติกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่มุ่งให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากแหล่งเรียนรู้ ผู้เรียนสามารถสรุปความรู้ได้ด้วยตนเอง ผู้สอนจะส่งเสริมสนับสนุนให้ผู้เรียนศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้ให้ได้ความรู้ที่สมบูรณ์

จากความสำคัญของการเรียนรู้แบบโครงการดังกล่าว การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดให้การเรียนวิชาเลือกในแต่ละระดับ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการทำโครงงาน จำนวนอย่างน้อย 3 หน่วยกิต(สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,2553:17)

4.2 แนวคิด

        การเรียนรู้แบบโครงงานเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงตามหลักพัฒนาการคิดของบลูม(Bloom) ทั้ง 6 ขั้น คือ ความรู้ความจำ(Knowledge) ความเข้าใจ(Conprehension) การนำไปใช้(Application) การวิเคราะห์(Analysis) การสังเคราะห์(Synthesis) และการประเมินค่า (Evaluation)  นอกจากนั้นยังเป็นการเรียนรู้ที่ให้ความสำคัญต่อผู้เรียนทุกขั้นตอนของกระบวนการเรียนรู้ ตั้งแต่การวางแผนการเรียนรู้ การออกแบบการเรียนรู้ การสร้างสรรค์ประยุกต์ใช้ผลผลิต และการประเมินผลงาน โดยมีครูเป็นผู้อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้            

4.3 ความหมายของโครงงาน 

           โครงงาน หมายถึง แผนงานและกิจกรรมที่มีการกำหนดรูปแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ มีกระบวนการทำงานที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถผลิตชิ้นงานหรือผลงานที่สัมพันธ์กับหลักสูตรและนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตจริงได้

4.4 ประเภทของโครงงาน

โครงงานแบ่งเป็น 4 ประเภท ดังนี้ 

1) ประเภทศึกษาทดลอง เป็นการศึกษาเปรียบเทียบทดลองหรือพิสูจน์ความจริงตามหลักวิชาการอย่างเป็นเหตุเป็นผลเพื่อค้นหาข้อเท็จจริงในสิ่งที่ต้องการรู้
2) ประเภทสำรวจข้อมูล เป็นการสำรวจรวบรวมข้อมูลแล้วนำข้อมูลนั้น ๆ มาจำแนกเป็นหมวดหมู่และนำเสนอในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนหรือพัฒนางานหรือปรับปรุงงาน
3) ประเภทสิ่งประดิษฐ์ เป็นการผลิตชิ้นงานใหม่และศึกษาคุณภาพ ประสิทธิภาพ ประโยชน์และคุณค่าของชิ้นงานนั้น ๆ
4) ประเภทพัฒนาผลงาน เป็นการค้นคว้าหรือพัฒนาชิ้นงานให้สามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นหรือมีประสิทธิภาพสูงขึ้น

4.5 ประโยชน์ของการเรียนรู้แบบโครงงาน

ประโยชน์ของการเรียนรู้แบบโครงงานมิได้อยู่ที่ผลผลิตหรือชิ้นงานที่ได้จากการทำโครงงาน แต่ประโยชน์ที่ผู้เรียนจะได้รับคือกระบวนการเรียนรู้ที่เกิดจากการศึกษาค้นคว้า ทดลองและสรุปผลการเรียนรู้หรือสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง และการเรียนรู้แบบโครงงาน ยังมีประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ดังนี้

1) ผู้เรียนได้ศึกษาค้นคว้าตามความถนัดและความสนใจ
2) ผู้เรียนได้ฝึกทักษะกระบวนการทำงานด้วยตนเองหรือร่วมฝึกทักษะเป็นกลุ่ม
3) ผู้เรียนมีการทำงานเป็นระบบ
4) ผู้เรียนมีโอกาสในการพัฒนาความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์
5) ผู้เรียนได้ศึกษา ค้นคว้า และแก้ปัญหาจากการทำงาน
6) ผลงานหรือชิ้นงานสามารถนำไปสู่การประเมินความรู้ ความสามารถของผู้เรียนตามสภาพจริงได้

4.6 กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน

กระบวนการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานมี 3 ขั้นตอน การเลือกโครงงาน การจัดทำโครงงาน และการเขียนรายงานโครงงาน

ขั้นตอนที่ 1  การเลือกโครงการ

เป็นขั้นที่มีความสำคัญมาก ครูและผู้เรียนร่วมกันศึกษา สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ของรายวิชาและรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาพปัญหาของชุมชน ความถนัด ความสนใจ และความต้องการของผู้เรียน นำมาวิเคราะห์เพื่อตัดสินใจเลือกโครงงานและกำหนดหัวข้อโครงงาน

ขั้นตอนที่ 2 การจัดทำโครงงาน เมื่อผู้เรียนเลือกโครงงานได้แล้ว ต่อไปเป็นขั้นตอนการจัดทำโครงงาน ซึ่งประกอบด้วย การเขียนโครงงาน การขออนุมัติโครงงาน และลงมือปฏิบัติงาน

2.1 การเขียนโครงงาน  

1) ชื่อโครงงาน ควรเขียนสั้น ๆ กระชับ ชัดเจน และสามารถสื่อความหมายได้ว่า ทำอะไร เช่น “โครงงานการทำโคมไฟจากไม้ไผ่”
2) หลักการและเหตุผล หรือความสำคัญของโครงงาน ควรเขียนสภาพและความต้องการของตนเองและชุมชน ปัญหาที่เกิด วิธีการแก้ปัญหา สภาพที่ต้องการให้เกิดขึ้น และประโยชน์ที่จะได้รับ
3) วัตถุประสงค์ ควรเขียนแสดงให้เห็นถึงความต้องการที่จะกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง การเขียนวัตถุประสงค์ ถ้ามีหลายวัตถุประสงค์ ควรเขียนเป็นข้อ ๆ เรียงตามลำดับความสำคัญ
4) เป้าหมาย ควรระบุให้ชัดเจนว่าผลงานที่ได้ คืออะไร มีปริมาณเท่าใดและคุณภาพเป็นอย่างไร
5) วิธีดำเนินงาน เขียนเป็นรายละเอียดขั้นตอนของการทำงาน ตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดโครงงาน โดยเขียนเป็นแผนปฏิบัติงาน ประกอบด้วย หัวข้อ กิจกรรม ระยะเวลา สถานที่  ทรัพยากร/ปัจจัย
6) ระยะเวลา กำหนดระยะเวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนสิ้นสุดดำเนินโครงงาน
7) งบประมาณ จัดทำรายละเอียด รายจ่ายที่จะต้องใช้ในการทำโครงงานทั้งหมด ซึ่งเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับ ค่าวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ และเครื่องใช้ เป็นต้น
8) การติดตามและประเมินผล  ต้องมีการติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงงานทุกระยะ คือก่อนดำเนินการโครงงาน ระหว่างดำเนินการโครงงาน และหลังดำเนินการโครงงาน เพื่อดูแลและควบคุมการทำโครงงานให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ จะต้องเขียนระบุถึงวิธีการ เครื่องมือ ระยะเวลา  ในการติดตามและประเมินผล
9)  ผลที่คาดว่าจะได้รับ ให้ระบุถึงผลที่จะเกิดขึ้นเมื่อเสร็จสิ้นโครงงานเป็นทั้งผลที่ได้รับโดยตรงและผลพลอยได้หรือผลกระทบจากโครงงานที่เป็นผลในด้านดีที่คาดว่าจะได้รับนั้นจะต้องสอดคล้องกับจุดประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
10) ผู้รับผิดชอบโครงงาน ระบุผู้เรียนที่เป็นเจ้าของโครงงานอาจเป็นรายบุคคลหรือเป็นกลุ่ม
11) ที่ปรึกษา ที่ปรึกษาในการทำโครงงานของผู้เรียน อาจเป็นครูผู้สอน วิทยากรสอนเสริม ผู้ทรงคุณวุฒิ หรือภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งผู้เรียนจะต้องประสานงานกับผู้ที่จะมาเป็นที่ปรึกษาก่อนที่จะนำชื่อมาเขียนไว้ในโครงงาน

2.2) การขออนุมัติโครงงาน ผู้เรียนต้องเขียนโครงงานและแผนปฏิบัติงานเป็นรายบุคคล หรือเป็นกลุ่ม กรณีเป็นกลุ่มจำนวนสมาชิกในกลุ่มต้องเหมาะสมกับขนาดของโครงงาน เสนอต่อผู้สอนเพื่อให้ความเห็นชอบเบื้องต้น แล้วเสนอต่อหัวหน้าสถานศึกษาเพื่ออนุมัติ

2.3) ปฏิบัติงาน เมื่อผู้เรียนได้รับอนุมัติให้ทำโครงงานแล้ว ให้ปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนดไว้จนสำเร็จได้ผลงาน/ชิ้นงานตามวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ในระหว่างปฏิบัติงานผู้เรียนจะต้องบันทึกผลการปฏิบัติงานเป็นระยะ ๆ เพื่อรายงานความก้าวหน้าของโครงงานต่อผู้สอนตามข้อตกลงระหว่างผู้เรียนกับผู้สอน และครูผู้สอนจะต้องลงลายมือชื่อและให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะไว้เป็นหลักฐาน ในแบบบันทึกผลการปฏิบัติงานโครงงาน

                                                  แบบบันทึกผลการปฏิบัติงานโครงงาน…………………

ที่          กิจกรรม ผลการปฏิบัติงาน ปัญหา/อุปสรรค      และการแก้ไข   ครูรับทราบ วัน/เดือน/ปี ข้อคิดเห็น/ข้อเสนอแนะของครู
           
           
           
           

ขั้นตอนที่ 3  การเขียนรายงานโครงงาน

การเขียนรายงานโครงงานมีองค์ประกอบ ดังนี้

1)  ส่วนนำ ประกอบด้วย ปก คำนำ และสารบัญ
2)  ส่วนเนื้อหา ประกอบด้วย

              2.1) หลักการและเหตุผล วัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงงาน

              2.2) วิธีดำเนินงาน

                        ตอนที่ 1 การเตรียมการ

                                 – การศึกษาค้นคว้า จากเอกสาร แบบเรียน ตำรา แหล่ง     เรียนรู้  การสำรวจชุมชน และผู้รู้ ฯลฯ

                                 -การเตรียมวัสดุอุปกรณ์

                                 – บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน รายละเอียดเกี่ยวกับ จำนวนผู้ปฏิบัติงาน ความรู้ความสามารถ การแบ่งบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ

                       ตอนที่ 2 การดำเนินงานได้แก่ขั้นตอนการทำโครงงานแต่ละขั้นตอน และวิธีการตรวจสอบความถูกต้อง

                       ตอนที่ 3 งบประมาณ แสดงค่าใช้จ่ายในแต่ละกิจกรรม และค่าใช้จ่ายรวมทั้งหมดของโครงงาน

                      ตอนที่ 4 ผลการดำเนินงาน เขียนสรุปว่าผลงาน/ชิ้นงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายหรือไม่ พร้อมทั้งแสดงความคิดเห็นต่อผลงานหรือชิ้นงาน รวมทั้งข้อเสนอแนะต่อผู้ที่ต้องการทำโครงงานลักษณะนี้ต่อไป

3) ภาคผนวก

    – โครงงาน

4.7 การประเมินโครงงาน

แนวทางการประเมินโครงงานโดยกำหนดกรอบในการประเมินแบ่งเป็น 3 ส่วนคือ

ส่วนที่ 1 เอกสารโครงงาน
ส่วนที่ 2 กระบวนการทำงาน
ส่วนที่ 3 ผลงาน/ชิ้นงานและเอกสารรายงานโครงงาน

มีรายละเอียดดังนี้

        รายการประเมิน  คะแนนเต็ม(ร้อยละ)
 ส่วนที่ 1 เอกสารโครงงาน ประเมินความชัดเจน ความเหมาะสมและความเป็นไปได้ในประเด็นต่อไปนี้

-หลักการและเหตุผล
-วัตถุประสงค์
-เป้าหมาย
-แผนปฏิบัติการโครงงาน
-การติดตามและประเมินผล
-ผลที่คาดว่าจะได้รับ

       20%
ส่วนที่ 2 กระบวนการทำงานประเมินความเหมาะสมและประสิทธิภาพ ในประเด็นต่อไปนี้

-การดำเนินกิจกรรม
-การมีส่วนร่วมของสมาชิกกลุ่ม(กรณีเป็นงานกลุ่ม)
-การนำเสนอความก้าวหน้า
-การติดตามและประเมินผล

      40%
ส่วนที่ 3 ผลงาน/ชิ้นงานและเอกสารรายงานโครงงาน มีประเด็นในการประเมิน ดังนี้ 

1.ผลงาน/ชิ้นงาน 
– เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้
 – ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์
– คุณภาพของผลงาน/ชิ้นงาน
– ประโยชน์

2. เอกสารรายงานโครงงาน
– ความสมบูรณ์ของเนื้อหาสาระ
– ความถูกต้องตามหลักวิชาการ
-การพิมพ์และการจัดทำรูปเล่ม

       40%

 

เอกสารอ้างอิง

          1. กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน,(2541).คู่มือการจัดทำโครงงาน หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย พุทธศักราช 2530.กรุงเทพฯ:ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

         2. กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน,(2543).แนวทางการจัดการเรียนรู้การศึกษานอกระบบ:ผู้เรียนสำคัญที่สุด.กรุงเทพฯ:ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

         3. สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553).แนวทางการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.กรุงเทพฯ:รังสีการพิมพ์.

อ้างอิงบทความนี้ อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ตอนที่ 3 เทคนิคการจัดการการเรียนรู้ https://panchalee.wordpress.com/2011/04/07/learning-management-2/

***************************

เรื่อง การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตอนที่ 2 : การจัดการเรียนรู้

 

อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
31 มีนาคม 2554

      การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ตามปรัชญา คิดเป็น และยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ผู้เรียนแต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ทั้งด้านวัย วุฒิภาวะ ความถนัด ความสนใจ วิธีการเรียนรู้ ตลอดจนมีการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเอง ตามธรรมชาติ เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ และเรียนรู้อย่างมีความสุข

1.  ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การแนะแนว

       การแนะแนวเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ สถานศึกษาต้องจัดบริการแนะแนว เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพราะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายควรจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีเรียน กศน. ซึ่งมีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเลือกเรียนได้ และจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจบหลักสูตรการศึกษา การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบโอนผลการเรียน ที่ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียน หรือนำประสบการณ์ มาขอเทียบโอนความรู้ตามหลักสูตรฯ และเรียนเพิ่มเติมบางสาระที่ไม่สามารถเทียบโอนได้  สถานศึกษาจะต้องจัดบริการแนะแนวให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจแต่เริ่มต้น เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจเลือกเรียนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของตนเอง

ขั้นตอนที่ 2 การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา

       การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบหลักฐานการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น การกรอกใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. วุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้านผู้สมัครที่มีชื่อบิดามารดา บัตรประจำตัวประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล หรือใบทะเบียนสมรส ใบหย่า รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก เป็นต้น เมื่อตรวจสอบหลักฐานและใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้กรอกใบลงทะเบียนเรียน การลงทะเบียนเรียนนั้น นักศึกษาต้องยื่นขอลงทะเบียนเรียนตามสาระรายวิชาที่สถานศึกษาเปิดสอนและตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ตามวันเวลาที่กำหนด

ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 12 – 14 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 14 – 16 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 18 – 20 หน่วยกิต

     ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาที่เปิดให้ลงทะเบียน    

ขั้นตอนที่ 3 การปฐมนิเทศ และการวางแผนการเรียน

    การปฐมนิเทศและการวางแผนการเรียน เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียน สถานศึกษาต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเรียน กศน. การวัดผลและประเมินผล ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนได้เลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ตามความต้องการ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และการทำงานของผู้เรียน เช่น การเรียนแบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งการเรียนรู้ตามรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ในแต่ละรายวิชาผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรืออาจเลือกการเรียนหลาย ๆ รูปแบบ ได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้เรียน ที่ผู้เรียนคิดว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษา  สถานศึกษาจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว

ขั้นตอนที่ 4 การวัดและประเมินผล

    การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรฯหรือนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน โดยตรง และนำไปปรับปรุงแก้ไขการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งการนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน การวัดผลและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 2 ลักษณะ ดังนี้

1.    การวัดและประเมินผลการเรียน

     1.1 การวัดและประเมินผลการเรียนรายวิชา
     1.2 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
     1.3 การประเมินคุณธรรม

2. การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

   สถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบการประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสถานศึกษาให้ชัดเจนเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

2.  วิธีเรียน กศน.

การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ยึดหลักการ ดังนี้

1) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
2) พระราชบัญญัติการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551
3) หลักปรัชญา คิดเป็น

    วิธีเรียน กศน. เป็นวิธีเรียนที่ผู้เรียน ต้องฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ในสถานการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระในแต่ละรายวิชา รวมทั้งการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามสภาพความพร้อมพร้อมและความต้องการของผู้เรียนโดยมีครูเป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร พร้อมทั้งมีการให้บริการแนะแนวหรือระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ด้วยการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำและร่วมกับผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน ซึ่งวิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังที่กล่าวมาแล้วเรียกว่า วิธีเรียน กศน. ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ โดยพิจารณาจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. ความพร้อม ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน
2. ความพร้อมในการบริหารจัดการของสถานศึกษา
3. ความพร้อมและศักยภาพของครูผู้สอน
4. ความยากง่ายของเนื้อหารายวิชา

วิธีเรียน กศน. ตามตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน ซึ่งการเรียนรู้แต่ละรูปแบบมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

2.1 การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม 

      การเรียนรู้แบบพบกลุ่มเป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปร่วมกัน ทุกสัปดาห์ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง

หลักการในการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม มีดังนี้

1) จัดพบกลุ่มในรายวิชาที่ยากปานกลาง
2) เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับครู
3) ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการศึกษาค้นคว้า เป็นรายบุคคล  เป็นกลุ่ม และการทำโครงงาน
4) จัดกระบวนกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดแทรกกระบวนการ คิดเป็น ให้ผู้เรียนได้ฝึก คิดวิเคราะห์ในแต่ละรายวิชาที่เชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ
5) มีการทดสอบย่อย (QUIZ)
6) จัดพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง

วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม มีดังนี้

1) การนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้า ครูให้ผู้เรียนนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่ม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากการพบกลุ่มสัปดาห์ที่ที่ผ่านมา ครูจะต้องทำหน้ากระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ครูและผู้เรียนสรุปองค์ความรู้ร่วมกัน
2) การจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ ครูจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ที่ได้วางแผนการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนไว้ โดยครูจัดกระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติมความรู้ในเนื้อหาสาระที่สำคัญ ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้ โดยครูสอนเพิ่มเติมบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ หรือจัดสอนเสริมนอกเหนือจากเวลาพบกลุ่ม ในเนื้อหาวิชาที่ยาก ที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
3) การนำเสนอโครงงาน โดยให้ผู้เรียนนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถาม ให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดหรือพัฒนาความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานดังกล่าวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่พบกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
4) การสอบย่อย(QUIZ) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระ โดยครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดทำข้อสอบย่อย ในลักษณะ ถาม ตอบ (QUIZ) ให้ผู้เรียนตอบคำถามสั้น ๆ ในลักษณะสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในรายวิชานั้นๆ ของผู้เรียนเอง
5) การฝึกกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ คิดเป็น ให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สถานการณ์ ข่าว นสพ. บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหารายวิชาที่กำลังเรียน ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น เสริมแรง ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดช่วงเวลาพบกลุ่ม โดยครูตั้งประเด็นคำถามปลายเปิดให้ผู้เรียนได้ร่วมคิด ร่วมอภิปรายเพื่อหาคำตอบ และพยายามเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้จากรายวิชานั้นเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์จากการพบกลุ่ม
6) ฝึกให้ผู้เรียนแสดงออก เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การนำเสนองานประกอบการใช้สื่อ การฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การฟังและจับประเด็นสำคัญ การพูดและการเขียนเพื่อสรุปใจความสำคัญ
7) การวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง คือการที่ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดและนัดหมายการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งเรื่องที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้  และครูจะต้องกำหนดตัวผู้เรียนที่จะมานำเสนองานต่อกลุ่มในสัปดาห์ต่อไป และกำหนดการทำกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
8) การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน ครูติดตามช่วยเหลือผู้เรียน เพื่อให้คำแนะนำ คำปรึกษาในการเรียน ครูอาจใช้วิธี เพื่อนช่วยเพื่อน คือให้เพื่อน หรือกลุ่มเพื่อนของผู้เรียน คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาในการเรียน

2.2 การเรียนรู้ด้วยตนเอง

     การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียน โดยระบุขั้นตอนการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ และมีครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆและแหล่งการเรียนรู้

1)  ลักษณะของผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง

1.1) สมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
1.2) ผู้เรียนเป็นแหล่งข้อมูล คือสามารถบอกได้ว่าตนเองจะเรียนเรื่องอะไร มีทักษะและข้อมูลอะไรบ้าง  สามารถกำหนดเป้าหมายได้ บอกวิธีการรวบรวมข้อมูลได้ บอกวิธีการประเมินผลการเรียนได้ รู้ถึงความสามารถของตนเอง ตัดสินใจได้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี
1.3) รู้ วิธีการที่จะเรียน คือรู้ขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างจึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้
1.4) มีความคิดเชิงบวก มีแรงจูงใจ และสามารถเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น
1.5) มีระบบการเรียน รู้จักประยุกต์การเรียน และสนุกกับการเรียน
1.6) มีการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ มีการประเมินผลเองและเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง
1.7) มีความพยายามหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อหาคำตอบ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์จริง และหาโอกาสในการพัฒนา ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา
1.8) สามารถแสดงความคิดเห็นและ อภิปรายในกลุ่มเรียนอย่างสร้างสรรค์
1.9)  การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นสามารถเก็บข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการเรียน

2) วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง

2.1) การวิเคราะห์และกำหนดความต้องการ ผู้เรียนวิเคราะห์และกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความต้องการและความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ต้องการเรียน
2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ผู้เรียนกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ที่มีความเป็นไปได้และสามารถปฏิบัติได้จริง โดยศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชา แล้วเขียนจุดมุ่งหมายในการเรียน และระบุพฤติกรรมที่คาดหวังหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่สามารถวัดได้
2.3) การวางแผนการเรียน ผู้เรียนกำหนดแนวทางในการเรียนของตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชา กำหนดเวลาเรียน คือกำหนดจำนวนชั่วโมง และจำนวนครั้ง ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำกิจกรรมกลุ่ม พบครูเพื่อขอคำปรึกษา แนะนำ สอนเสริม และกำหนดเวลาที่สิ้นสุดการเรียนของตนเอง
2.4) การเลือกรูปแบบการเรียน คือผู้เรียน เลือกกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองได้แก่แหล่งวิทยาการ  ผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด วัด สถานีอนามัย และสื่อในการเรียน เช่นหนังสือเรียน วีซีดี สื่อคอมพิวเตอร์
2.5) การกำหนดบทบาทผู้ช่วยเหลือในการเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาสาระ และเกิดทักษะยิ่งขึ้น และประสบผลสำเร็จในกาเรียน เช่นมีเพื่อร่วมเรียนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
2.6) การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียน ครูและผู้เรียน ควรร่วมกันกำหนดวิธีการวัดผลและประเมินผล เช่น กำหนดเครื่องมือวัดผลได้แก่แบบทดสอบต่าง ๆ หรือชิ้นงาน เป็นต้น

3) การทำสัญญาการเรียนรู้

      ในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องมีการจัดทำข้อตกลงการเรียนหรือสัญญาการเรียนรู้กับครู  เพื่อครูจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

     สัญญาการเรียนรู้ (Learning Contact) คือ ข้อตกลงที่ผู้เรียนได้ทำไว้กับครูว่าผู้เรียนจะปฏิบัติตนอย่างไรในการเรียน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยผู้เรียนจะเป็นผู้เขียนสัญญาการเรียนรู้ ระบุว่าจะเรียนรู้อะไร จะวัดผลด้วยวิธีใด จะมีหลักฐานการเรียนรู้อะไรบ้าง และผลการเรียนควรเป็นอย่างไร เมื่อเขียนเสร็จแล้วจัดทำสำเนาให้ครู 1 ชุด เพื่อครูจะได้ติดตาม ตรวจสอบ ความก้าวหน้าของผู้เรียนแต่ละคน

                                              แบบฟอร์มของสัญญาการเรียนรู้

           จุดมุ่งหมาย แหล่งวิทยาการ/วิธีการ            หลักฐาน      การประเมินผล
1.ระบุว่าผู้เรียนต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรและระบุผลสำเร็จของการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องการ ระบุว่าผู้เรียนจะเรียนรู้อย่างไร จากแหล่งความรู้ใด ระบุหลักฐานการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมสามารถนำมาอ้างอิงได้ โดยเก็บรวบรวมเป็นแฟ้มสะสมงาน ระบุว่าผู้เรียนจะสามารถมีผลของการเรียนรู้ในระดับใด

 

3. การเรียนรู้แบบทางไกล

การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ เช่นการเรียนรู้แบบ e – learning

3.1 หลักในการเรียนรู้แบบทางไกล

1) ผู้เรียนต้องมีเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร และใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ
2) ผู้เรียนต้องมีเวลาสื่อสารทางอิเลคทรอนิกส์ กับครูตามเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันกับครู เช่น Chat room, E – mail, Web board, Blog, face book ฯลฯ
3) สถานศึกษาและครู มีบทบาทในการจัดเตรียมสื่อทางไกล และอำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบทางไกลได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

3.2 วิธีการเรียนรู้แบบทางไกล

1) การศึกษาแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลจากสื่อต่าง ๆ
2) การเรียนรู้จากสื่อทางไกลตามที่สถานศึกษากำหนด
3) การประเมินความรู้ก่อนเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองก่อนเรียน
4) ศึกษาเนื้อหาสาระจากสื่อต่าง ๆ และส่งงานที่ครูมอบหมายตามกำหนด
5) การสื่อสารกับครูตามเวลาที่กำหนด เพื่อขอคำแนะนำ คำปรึกษา และนัดหมายการทำกิจกรรมการเรียนรู้
6) การประเมินความรู้หลังเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองหลังเรียน

4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน

การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่เรียนชัดเจน การเรียนรู้แบบชั้นเรียนเหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ

4.1 หลักในการเรียนรู้แบบชั้นเรียน

1) สถานศึกษากำหนดสถานที่เรียนและตารางเรียนที่เหมาะสม
2) จัดให้มีการประชาสัมพันธ์การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เกี่ยวกับสถานที่ วัน เวลาที่เรียนและครูผู้รับผิดชอบให้ผู้เรียนทราบอย่างทั่วถึง
3) สถานศึกษาจัดหาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นเครื่องมือ อุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และโสตทัศนูปกรณ์ ที่มีคุณภาพ
4) ผู้เรียนจะต้องมีเวลามาเรียนตามที่กำหนดไว้ในตารางเรียน

4.2 วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้

1) การจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยครู ผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญ ด้านเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้กับผู้เรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ซักถาม แสดงความคิดเห็นและลงมือฝึกปฏิบัติจริง และครูควรจัดเวลาในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน
2) การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ เป็นการจัดกระบวนการที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน เช่นกิจกรรมกลุ่ม การจัดที่นั่งเป็นกลุ่ม
3) การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน เช่นการแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย ๆ และมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ครูจะจัดกิจกรรม 3 ลักษณะ ดังนี้

      (1) การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง
      (2) การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
      (3) การสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู

4) การติดตาม และช่วยเหลือผู้เรียน เช่นจัดบริการแนะแนว จัดบริการให้คำปรึกษา จัดให้มีผู้ช่วยสอน และการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อหรือกลุ่มเพื่อน

   การเรียนรู้ทั้ง 4 รูปแบบ ดังที่กล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนดว่าในแต่ละรายวิชาจะเรียนรู้แบบใด ซึ่งขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้เรียน และขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาในการจัดสอนเสริมเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นสถานศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียนและความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง   สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553).

เอกสารอ้างอิง

     สมบัติ สุวรรณพิทักษ์,(2543).เทคนิคการสอนแนวใหม่.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

      สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553) แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.กรุงเทพฯ : รังสีการพิมพ์.

 ***************************