อัญชลี ธรรมะวิธีกุล

1. การจัดการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 กำหนดไว้ในมาตรา 49 ว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ดังนั้น สำนักงาน กศน.จึงได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มาใช้ในการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายคือประชาชนที่ไม่ได้อยู่ในระบบโรงเรียน เช่นกลุ่มประชากรวัยแรงงาน ทหารกองประจำการ อาสาสมัครสาธารณสุข ผู้นำท้องถิ่น แรงงานไทย กลุ่มชาติพันธ์ กลุ่มคนไทยในต่างประเทศและ ประชนทั่วไป เป็นต้น
หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เป็นหลักสูตรที่มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกระบบโรงเรียน ซึ่งมีความรู้และประสบการณ์จากการดำรงชีวิต การประกอบชีพ โดยการกำหนดสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ และการวัดผลประเมินผลที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มเป้าหมาย ด้านจิตใจให้มีคุณธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถจัดการกับองค์ความรู้ ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา สร้างภูมิคุ้มกันตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอพียง รวมทั้งคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียนที่อยู่นอกระบบ และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคม การเมือง การปกครอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร
การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ตามปรัชญา “คิดเป็น” และยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ผู้เรียนแต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ทั้งด้านวัย วุฒิภาวะ ความถนัด ความสนใจ วิธีการเรียนรู้ ตลอดจนมีการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเอง ตามธรรมชาติ เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ และเรียนรู้อย่างมีความสุข
โครงสร้างของหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ไว้ดังนี้
– ระดับการศึกษา แบ่งออกเป็น 3 ระดับ คือ ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
– สาระการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 สาระ คือ สาระทักษะการเรียนรู้ สาระความรู้พื้นฐาน
– สาระการประกอบอาชีพ สาระทักษะการดำเนินชีวิต และสาระการพัฒนาสังคม
– เวลาเรียน ในแต่ละระดับใช้เวลาเรียน 4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่มีการเทียบโอนผลการเรียน ทั้งนี้ผู้เรียนต้องลงทะเบียนในสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน
– หน่วยกิต ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต
จำนวนหน่วยกิตในแต่ละระดับ มีดังนี้
– ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 36 หน่วยกิต และวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 12 หน่วยกิต
– ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 40 หน่วยกิต และวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 16 หน่วยกิต
– ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 44 หน่วยกิต และวิชาเลือก ไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต
– การเรียนรู้จากการทำโครงงาน วิชาเลือกในแต่ละระดับ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียน เรียนรู้จากการทำโครงงาน จำนวนอย่างน้อย 3 หน่วยกิต
– กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต กำหนดให้ผู้เรียนทุกระดับต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต จำนวนไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง เป็นเงื่อนไขในการจบหลักสูตร
การเทียบโอนผลการเรียน สถานศึกษาจะต้องจัดให้มีการเทียบโอนผลการเรียนหรือเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยสถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบหรือแนวปฏิบัติการเทียบโอนให้สอดคล้องกับแนวทางการเทียบโอนที่สำนักงาน กศน. กำหนด โดยกำหนดวิธีการเทียบโอน ดังนี้
1. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักฐานการศึกษาที่จัดการศึกษาเป็นระดับประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น และตอนปลายหรือเทียบเท่า
2. การเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษานอกระบบประเภทการศึกษาต่อเนื่อง
3. การเทียบโอนผลการเรียนจากหลักสูตรต่างประเทศ
4. การเทียบโอนผลการเรียนจากความรู้และประสบการณ์กลุ่มเป้าหมายเฉพาะ
5. การเทียบโอนผลการเรียนจากการประเมินความรู้และประสบการณ์
การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 4 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การแนะแนว
การแนะแนวเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ สถานศึกษาจะต้องจัดบริการแนะแนว เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพราะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่กลุ่มเป้าหมายควรจะต้องเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีเรียน กศน. ซึ่งมีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเลือกเรียนได้ และจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจบหลักสูตรการศึกษา การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบโอนผลการเรียน ที่ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียน หรือนำประสบการณ์ มาขอเทียบโอนความรู้ตามหลักสูตรฯ และเรียนเพิ่มเติมบางสาระที่ไม่สามารถเทียบโอนได้ สถานศึกษาจะต้องจัดบริการแนะแนวให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจแต่เริ่มต้น เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจเลือกเรียนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของตนเอง
ขั้นตอนที่ 2 การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา
การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบหลักฐานการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น การกรอกใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. วุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้านผู้สมัครที่มีชื่อบิดามารดา บัตรประจำตัวประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อ – ชื่อสกุล หรือใบทะเบียนสมรส ใบหย่า รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก เป็นต้น เมื่อตรวจสอบหลักฐานและใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้กรอกใบลงทะเบียนเรียน การลงทะเบียนเรียนนั้น นักศึกษาต้องยื่นขอลงทะเบียนเรียนตามสาระรายวิชาที่สถานศึกษาเปิดสอนและตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ตามวันเวลาที่กำหนด ดังนี้(สำนักงาน กศน. , 2555 : 7)
ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 14 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 17 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละไม่เกิน 23 หน่วยกิต
ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาที่เปิดให้ลงทะเบียน
ขั้นตอนที่ 3 การปฐมนิเทศ และการวางแผนการเรียน
การปฐมนิเทศและการวางแผนการเรียน เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียน สถานศึกษาจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเรียน กศน. การวัดผลและประเมินผล ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนได้เลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ตามความต้องการ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และการทำงานหรือ การประกอบอาชีพ ของผู้เรียน เช่น การเรียนแบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งการเรียนรู้ตามรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ในแต่ละรายวิชาผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรืออาจเลือกการเรียนหลาย ๆ รูปแบบ ได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้เรียน ที่ผู้เรียนคิดว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษา สถานศึกษาจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว
ขั้นตอนที่ 4 การวัดและประเมินผล
การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรฯหรือนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน โดยตรง และนำไปปรับปรุงแก้ไขการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งการนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน การวัดผลและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 2 ระดับ ดังนี้ (สำนักงาน กศน.,2555 : 9)
- การประเมินผลในระดับสถานศึกษา เป็นการดำเนินการวัดและประเมินผลการเรียนเป็นรายวิชา ประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต และประเมินคุณธรรม
- การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินในภาคเรียนสุดท้ายก่อนสอบปลายภาคเรียนนั้น ๆ
วิธีเรียน กศน. เป็นวิธีเรียนที่ผู้เรียน ต้องฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ในสถานการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระในแต่ละรายวิชา รวมทั้งการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามสภาพความพร้อมพร้อมและความต้องการของผู้เรียนโดยมีครูเป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร พร้อมทั้งมีการให้บริการแนะแนวหรือระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ด้วยการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำและร่วมกับผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน ซึ่งวิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังที่กล่าวมาแล้วเรียกว่า “วิธีเรียน กศน.” ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ โดยพิจารณาจากความพร้อม ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน ความพร้อมในการบริหารจัดการของสถานศึกษา ความพร้อมและศักยภาพของครูผู้สอน และความยากง่ายของเนื้อหารายวิชา
วิธีเรียน กศน. ตามตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 255วิธีเรียน กศน. ที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน ซึ่งการเรียนรู้แต่ละรูปแบบมีลักษณะ ดังต่อไปนี้
การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียน โดยระบุขั้นตอนการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ และมีครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆและแหล่งการเรียนรู้
การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม เป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปความรู้ร่วมกัน ทุกสัปดาห์ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ6 ชั่วโมง(สำนักงาน กศน.,2555:211)
การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ เช่นการเรียนรู้แบบ e – learning หรือถ้ามีความจำเป็นอาจจะพบกันเป็นครั้งคราว
การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่เรียนชัดเจน การเรียนรู้แบบชั้นเรียนเหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ
การเรียนรู้ทั้ง 4 รูปแบบ ดังที่กล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนดว่าในแต่ละรายวิชาจะเรียนรู้แบบใด ซึ่งขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้เรียน และขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาในการจัดสอนเสริมเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นสถานศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียนและความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง
นอกจากนั้นสถานศึกษาสามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบอื่น ๆได้ตามความต้องการของผู้เรียน
2. การสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551
ในการจัดการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่ สื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อบุคคล ภูมิปัญญา แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น ชุมชน และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ ผู้เรียน ครู สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเอง หรือนำสื่อต่างๆ ที่มีอยู่ใกล้ตัว และข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเรียนรู้ โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อต่างๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่า น่าสนใจ ชวนคิด ชวนติดตาม เข้าใจง่าย เป็นการกระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้ เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง ลึกซึ้ง และต่อเนื่องตลอดเวลา
นวัตกรรมทางการศึกษา(Educational Innovation) คือ ความคิดใหม่ วิธีการใหม่ เทคนิคใหม่ แนวทางใหม่ ผลผลิตใหม่ ที่ได้ปรับประยุกต์ สร้างสรรค์ และพัฒนา ทั้งจากการต่อยอดภูมิปัญญาเดิมหรือจากการคิดค้นขึ้นมาใหม่ด้วยภูมิปัญญาใหม่ให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อการศึกษา
2.1 การแบ่งประเภทของนวัตกรรมการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตามภารกิจของการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 5 ประเภท ดังนี้
1) นวัตกรรมด้านรูปแบบหรือวิธีการจัดการศึกษา เช่น
– การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มประชากรวัยแรงงาน
– การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้กับทหารกองประจำการ
– การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุข
– การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มผู้นำท้องถิ่น
– การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมายบนพื้นที่สูง
– การศึกษารูปแบบการจัดการศึกษา ระดับประถมศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.2551
สำหรับบุคคลที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่อยู่ในวัยการศึกษาภาคบังคับแต่ไม่สามารถเรียนในระบบโรงเรียน
– การพัฒนารูปแบบการจัดการศึกษา ระดับประถมศึกษา ตาม หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สำหรับกลุ่มเป้าหมายชาวเล ซึ่งเป็นเด็กวัยเรียนที่ไม่ได้รับการศึกษาในระบบ
2) นวัตกรรมด้านการจัดเรียนรู้หรือการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน เช่น
– การพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้การทำโครงงาน
– การพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
– การศึกษาเทคนิคในการจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน
– การพัฒนาการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมให้กับผู้เรียน
– การพัฒนาการจัดกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับผู้เรียน(กพช.)
3) นวัตกรรมด้านสื่อการเรียนรู้ เช่น
– เอกสารประกอบการเรียน
– บทเรียนสำเร็จรูป
– ชุดการสอน
– ชุดฝึกทักษะ
– คอมพิวเตอร์ช่วยสอน (CAI)
– E-learning
4) นวัตกรรมด้านการวัดผลและประเมินผลการศึกษา เช่น
– การพัฒนาการวัดผลแบบอิงเกณฑ์ อิงกลุ่ม
– การพัฒนาการวัดผลตามสภาพจริง (Authentic)
– การพัฒนาแบบทดสอบก่อนเรียน-หลังเรียน
– การพัฒนาการประเมินเพื่อจัดกลุ่มเรียน
5) นวัตกรรมด้านการบริหารการศึกษา เช่น
– การพัฒนารูปแบบการประชาสัมพันธ์ กศน.
– การพัฒนารูปแบบ การจัดบริการแนะแนว
– การพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษา
– การพัฒนาและส่งเสริมให้มีแหล่งการเรียนรุ้
– การพัฒนาระบบข้อมูลและสารสนเทศ
– การพัฒนาระบบการบริหารงานทะเบียนและการตรวจสอบวุฒิการศึกษา
– การพัฒนาครูประจำศูนย์การเรียนชุมชนในการจัดการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน
– การพัฒนาระบบนิเทศภายในสถานศึกษา
2.2 การใช้กระบวนการวิจัยและพัฒนาในการสร้างนวัตกรรมการเรียนรู้
การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) มีความหมายใน 2 ลักษณะ คือ
1. การวิจัยและพัฒนา หมายถึง กระบวนการดำเนินงานที่ประกอบด้วยขั้นตอนการวิจัยและขั้นตอนการพัฒนา โดยการนำผลจากการวิจัยไปใช้ในการพัฒนาเพื่อการแก้ปัญหา หรือพัฒนาสภาพเดิมให้ดีขึ้น หรือมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2. การวิจัยและพัฒนา หมายถึง การพัฒนา โดยใช้กระบวนการวิจัยในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา โดยใช้องค์ความรู้เชิงวิจัยมาใช้ในการพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
2.3 กระบวนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ คือ
ระยะที่ 1 การประดิษฐ์คิดค้น หรือเป็นการพัฒนาต่อยอดให้เหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้
ระยะที่ 2 การพัฒนาโดยการทดลองในลักษณะโครงการทดลอง (Pilot Project)
ระยะที่ 3 การนำไปใช้ในจัดการเรียนการสอนในสถานการณ์จริง
2.4 ขั้นตอนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
ขั้นที่ 1 การศึกษา รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับ ทฤษฎี หลักการ ระเบียบ แนวปฏิบัติ สภาพ ปัญหา และความต้องการในการจัดการศึกษา ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 โดยการศึกษาข้อมูลเบื้องต้น ดังนี้
1) กำหนดประเด็น ข้อมูลที่ต้องการศึกษาค้นคว้า
2) กำหนดวิธีการศึกษา รวบรวมข้อมูล
3) กำหนดและจัดทำเครื่องมือการศึกษา/ รวบรวม
4) กำหนดและจัดหาแหล่งข้อมูลกลุ่มตัวอย่าง
5) จัดทำแผนการศึกษาและรวบรวมข้อมูล
6) ดำเนินการตามแผน
7) วิเคราะห์และสรุปผลการศึกษา/ การรวบรวมข้อมูล
ขั้นที่ 2 การออกแบบนวัตกรรมให้สอดคล้องกับทฤษฎี หลักการ ระเบียบ แนวปฏิบัติ สภาพปัญหาและความต้องการ ดังนี้
1) กำหนด/ เลือกประเภทนวัตกรรมที่เหมาะสม
2) ศึกษารายละเอียดของนวัตกรรมที่กำหนด
– องค์ประกอบสำคัญ
– ขั้นตอนการจัดทำ/ สร้างนวัตกรรม
– กระบวนการบริหารจัดการ/ ใช้นวัตกรรม
– ฯลฯ
3) จัดทำหรือพัฒนานวัตกรรม
4) การตรวจสอบคุณภาพ ความเหมาะสมเบื้อต้นของนวัตกรรม
ขั้นที่ 3 การทดลอง วิจัย และพัฒนาเพื่อให้นวัตกรรมมีคุณภาพ และประสิทธิภาพ ดังนี้
1) การบริหารจัดการกระบวนการทดลอง
2) จัดทำแผนการทดลอง
3) ดำเนินการทดลอง
4) ประเมินผลการทดลอง (Evaluation)
5) พัฒนา/ ปรับปรุงนวัตกรรม
ขั้นที่ 4 การเผยแพร่ไปสู่ประชากรเป้าหมายเพื่อให้เกิดการยอมรับและนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลายและกว้างขวาง ดังนี้
1) ขยายผลการนำนวัตกรรมไปใช้จริง
2) การติดตามและประเมินผลการใช้นวัตกรรม
3) การพัฒนา ปรับปรุงนวัตกรรม
4) รายงานผลการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม
เอกสารอ้างอิง
สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2555). คู่มือดำเนินงานหลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 (ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2555)กรุงเทพ: รังสีการพิมพ์
——————————————————————————-,(2555).หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 สาระการเรียนรู้(ฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2554).กรุงเทพ : โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก
สมบัติ การจนารักพงศ์,(2547) นวัตกรรมการศึกษา ชุดเคล็ดลับ วิธีคิด และวิธีสร้างนวัตกรรมสำหรับครูมืออาชีพ.กรุงเทพ:สำนักพิมพ์ธารอักษร จำกัด
—————————————————————————————