การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา

kumpee22

  อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศเชี่ยวชาญ
29 กุมภาพันธ์ 2551

 

บทนำ

พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 กำหนดให้มีระบบประกันคุณภาพภายในและระบบประกันคุณภาพภายนอก โดยหน่วยงานต้นสังกัด และสถานศึกษาจะต้องจัดให้มีการประกันคุณภาพภายใน โดยให้ถือว่าการประกันคุณภาพภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษาที่ต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง นำไปสู่การพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานการศึกษาเพื่อพร้อมรับการประกันคุณภาพภายนอก

ความหมาย

การประกันคุณภาพภายใน หมายถึง การบริหารจัดการและการดำเนินกิจกรรม ตามปกติของสถานศึกษาเพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับผู้รับบริการทางการศึกษา ว่าการดำเนินการจัดการศึกษาของสถานศึกษามีประสิทธิภาพ และทำให้ผู้เรียนมีคุณภาพหรือมีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนด

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะจัดการศึกษาได้คุณภาพมาตรฐาน ผู้สำเร็จการศึกษามีความรู้ ความสามารถ มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ตามหลักสูตรที่กำหนดและสังคมต้องการ   

องค์ประกอบของการประกันคุณภาพภายใน

                          หลักการของการประกันคุณภาพภายใน

  • 1) จุดมุ่งหมายของการประกันคุณภาพภายใน คือ การที่สถานศึกษาร่วมกันพัฒนาปรับปรุงคุณภาพให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษา โดยเป้าหมายสำคัญอยู่ที่การพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
  • 2) การประกันคุณภาพการศึกษาภายใน เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารจัดการ และการทำงานของบุคคลทุกคนในสถานศึกษา และเป็นการดำเนินงานตามปกติของสถานศึกษา โดยสถานศึกษาจะต้องวางแผนพัฒนาและแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายชัดเจน ปฏิบัติงานตามแผนที่กำหนดไว้ มีการตรวจสอบประเมินผล และพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ มีความโปร่งใส และมีจิตสำนึกในการพัฒนาคุณภาพการทำงาน
  • 3) การประกันคุณภาพภายใน เป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา คือ ผู้บริหาร ครูและบุคลากรอื่น ๆ ในสถานศึกษา โดยการดำเนินงานจะต้องให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น ผู้เรียน ชุมชน เครือข่าย หรือหน่วยงานที่กำกับดูแล เช่น สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด/กรุงเทพมหานคร เข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดเป้าหมาย วางแผน ติดตาม ประเมินผล พัฒนาปรับปรุง ช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้สถานศึกษามีคุณภาพ เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการศึกษาที่มีคุณภาพ เป็นไปตามความต้องการของผู้เรียน ชุมชน สังคม และประเทศชาติ

                           ระบบประกันคุณภาพภายใน

การประกันคุณภาพภายใน มีแนวคิดอยู่บนพื้นฐานของการไม่ให้เกิดการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลถึงผลผลิตที่ไม่มีคุณภาพ ดังนั้นการดำเนินการประกันคุณภาพ จึงมีแนวคิดเกี่ยวกับระบบการทำงานซึ่งมีความสัมพันธ์ และต่อเนื่องกันดังนี้

  • 1) การควบคุมคุณภาพ เป็นการกำหนดมาตรฐานคุณภาพและการพัฒนาสถานศึกษาให้เข้าสู่มาตรฐาน การวางแผน และการดำเนินงานตามแผน โดยมีการจัดระบบบริหารและสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพ เพื่อพัฒนาสถานศึกษาเข้าสู่มาตรฐาน
  • 2) การตรวจสอบ และทบทวนคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา โดยใช้วิธีการที่หลากหลาย เหมาะสม อาทิ เช่น การสังเกตพฤติกรรมและกระบวนการทำงาน กระบวนการจัดการเรียนรู้ การสอบถาม การสัมภาษณ์ การพิจารณาหลักฐาน ร่องรอยการปฏิบัติงาน ตัวอย่างผลงาน และแฟ้มสะสมงาน ตลอดจนการใช้แบบสำรวจ แบบสอบถาม แบบทดสอบ และแบบวัดมาตรฐาน เป็นต้น

การตรวจสอบและทบทวนคุณภาพการศึกษาภายในสถานศึกษา จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำผลไปใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษา

  • 3) การประเมินคุณภาพ เป็นการรวบรวมข้อมูลและสารสนเทศ เพื่อประเมินคุณภาพของสถานศึกษา จัดทำรายงานคุณภาพการศึกษาประจำปี

                          วิธีการประกันคุณภาพภายใน

  • 1) การประกันคุณภาพภายในให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการบริหารการศึกษา และเป็นหน้าที่ของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษา ที่ต้องดำเนินการอย่างมีระบบและต่อเนื่อง โดยคำนึงถึงปรัชญา หลักการ วิสัยทัศน์ พันธกิจ และภารกิจ ของสถานศึกษาที่กำหนดไว้
  • 2) จัดให้มีกลุ่ม ฝ่ายหรือคณะกรรมการดำเนินการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา โดยการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายและผู้รับบริการ เพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
  • 3) พัฒนามาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษาเพิ่มในส่วนที่เป็นลักษณะเฉพาะของสถานศึกษาที่สอดคล้องกับท้องถิ่น
  • 4) จัดทำแผนพัฒนาคุณภาพและแผนปฏิบัติการของสถานศึกษาและดำเนินงานตามแผนดังกล่าว
  • 5) ดำเนินการตรวจสอบ ติดตามเพื่อการพัฒนาคุณภาพให้เป็นไปตามเป้าหมายและมาตรฐานการศึกษา
  • 6) จัดทำรายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาเสนอหน่วยงานต้นสังกัด ภาคีเครือข่ายและเผยแพร่ต่อสาธารณชน
  • 7) รายงานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาต่อคณะกรรมการสถานศึกษา และมีการกำหนดมาตรการร่วมกันในการพัฒนาสถานศึกษาไปสู่มาตรฐานการศึกษาที่กำหนด

 

***************************

การแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

 

book_icon21 อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
 ศึกษานิเทศเชี่ยวชาญ
29 กุมภาพันธ์ 2551

 บทนำ

การจัดการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นการจัดการศึกษาเพื่อประชาชนทุกคน ให้ได้รับโอกาสทางการศึกษาตามความสนใจ ความถนัด และสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมในปัจจุบัน รูปแบบวิธีการและกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จึงมีหลากหลายทั้งนี้เพื่อสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

                จากความหลากหลายของกลุ่มเป้าหมาย และกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยดังกล่าว จำเป็นจะต้องมีกระบวนการแนะแนวเข้ามาเกี่ยวข้อง เพื่อที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนและประชาชนกลุ่มเป้าหมาย ได้รู้จักตนเองอย่างท่องแท้ รู้จักชุมชนแวดล้อมอย่างลึกซึ้ง และมีข้อมูลข่าวสาร เพียงพอที่จะวิเคราะห์ และตัดสินใจกำหนดทางเลือกในการศึกษา การประกอบอาชีพ และการดำเนินชีวิตของตนเองได้อย่างเหมาะสม เจริญก้าวหน้า และสามารถพึ่งพาตนเองได้

ความหมาย

                     การแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย หมายถึง กระบวนการที่จัดขึ้นเพื่อช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ รู้ถึงความสามารถ ความสนใจของตนเอง เข้าใจสิ่งแวดล้อม สามารถเลือกและตัดสินใจได้ว่าตนเองควรจะศึกษาด้านใด ประกอบอาชีพอะไร หรือควรดำเนินชีวิตอย่างไรได้อย่างเหมาะสม และสามารถปรับตัวให้อยู่ในสังคมอย่างมีความสุข และมีความสำเร็จในชีวิต

วัตถุประสงค์/เป้าหมาย

  • 1) เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นกับบุคคล (Preventive Approach)
  • 2) ช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น (Curative Approach)
  • 3) ส่งเสริมและพัฒนาบุคคล (Developmental Approach)

หลักการแนะแนว

  • 1) การแนะแนวต้องจัดให้เป็นส่วนหนึ่งของการจัดการศึกษา หรือการให้บริการโดยสอดแทรกอยู่ในกระบวนการเรียนการสอน หรือการให้บริการทุกกิจกรรม
  • 2) การแนะแนวเป็นหน้าที่ของผู้จัดกิจกรรมการเรียนการสอน หรือผู้ให้บริการทุกคนที่จะต้องดำเนินการร่วมกัน และมีการประสานกับผู้เกี่ยวข้องทั้งภายในและภายนอกสถานศึกษาทุกคน โดยเฉพาะชุมชน
  • 3) การแนะแนวจะต้องจัดสำหรับผู้เรียนและผู้รับบริการทุกคนไม่ใช่จัดให้เฉพาะผู้เรียนหรือผู้รับบริการที่มีปัญหาเท่านั้น และต้องจัดให้คลอบคลุมทั้งด้านการศึกษา อาชีพ และบุคลิกภาพ
  • 4) การแนะแนวต้องจัดอย่างต่อเนื่อง ควรมีแผนปฏิบัติการแนะแนวที่มีความสอดคล้องสัมพันธ์กับปัญหา ความต้องการในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต
  • 5 ) การแนะแนวควรมีข้อมูลและสารสนเทศ ที่ใช้ในการแนะแนวทุกด้านตรงตามความเป็นจริง และเป็นปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้สามารถช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการได้ตรงความต้องการ
  • 6) การแนะแนวจะต้องสามารถส่งเสริมให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการนำตนเองและพึ่งตนเองได้

ขอบข่ายของการแนะแนวการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

  • 1) ะเภทของ การแนะแนว แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
  • 1.1) แนะแนวทางการศึกษา (Education Guidance) การแนะแนวทางการศึกษา เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับทางด้านการศึกษา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการทราบถึงแนวทางการเข้ารับการศึกษา แนวโน้มของการศึกษา โอกาสของการศึกษาในอนาคต ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการ สามารถเลือกแนวทางการศึกษา ได้อย่างเหมาะสมกับความสามารถทางสติปัญญา ความถนัด ความสนใจ ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกประกอบอาชีพในอนาคต
  • 1.2) แนะแนวทางอาชีพ (Vocational Guidance) การแนะแนวทางอาชีพ เป็นกระบวนการของการให้ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโลกของงานอาชีพ แนวทางและโอกาสของการประกอบอาชีพแต่ละอาชีพ การแนะแนวทางอาชีพ จะช่วยให้ผู้เรียน ผู้รับบริการรู้จักศึกษาโลกของงานอาชีพ รู้จักเตรียมตัวทางด้านอาชีพ และช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเลือกงานอาชีพที่เหมาะสมกับตนเอง สามารถวางแผนการประกอบอาชีพได้ ซึ่งจะทำให้ทำงานอาชีพได้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมาย และมีความสุขกับการทำงาน
  • 1.3) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว (Personal Social Guidance) การแนะแนวทางด้านสังคมส่วนตัว เป็นกระบวนการของการให้ความช่วยเหลือผู้เรียนหรือผู้รับบริการ ให้รู้จักปฏิบัติตนที่เหมาะสมเพื่อให้สามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข เป็นผู้ที่มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตดี มีความเข้าใจตนเองและผู้อื่น สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่น รู้จักทำตนให้เป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเองและบุคคลอื่น
  • 2) บริการแนะแนว 5 บริการ
  • 2.1) ริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล (Individual Inventory Service) หมายถึง การศึกษาสำรวจ รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับตัวผู้เรียนทางด้านการศึกษา อาชีพ บุคลิกภาพ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเมื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ และจัดระบบแล้วจะทำให้ผู้แนะแนวได้รู้จักผู้เรียน และสามารถให้ความช่วยเหลือ ส่งเสริม และพัฒนาได้อย่างถูกต้อง สามารถช่วยให้ผู้เรียนหรือผู้รับบริการเข้าใจตนเอง และยอมรับตนเอง
  • 2.2) บริการสนเทศ (Information Service) หมายถึง การให้ข้อมูลข่าวสาร ความรู้ เพื่อให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนา เป็นกิจกรรมต่อเนื่องจากบริการศึกษาและรวบรวมข้อมูล จะช่วยให้ผู้เรียนได้รับข้อมูลข่าวสารความรู้ตรงกับความต้องการ ในการส่งเสริม พัฒนา ตลอดจนแก้ปัญหาอย่างเหมาะสม
  • 2.3) บริการให้คำปรึกษา (Counseling Service) หมายถึง การให้ความช่วยเหลือ ความใกล้ชิด ความอบอุ่น ความมั่นใจ สติปัญญา ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถตัดสินใจ และเลือกได้อย่างฉลาด ถูกต้อง เหมาะสมกับสภาพปัญหา ความต้องการ ความจำเป็น ซึ่งการให้คำปรึกษาที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นจะต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง ลึกซึ้งอย่างเพียงพอ
  • 2.4) บริการจัดวางตัวบุคคล (Placement Service) หมายถึง บริการที่จะช่วยให้ผู้เรียนสามารถดำเนินการตามที่ตัดสินใจเลือกไว้ เช่น ได้เรียนในวิชาหรือประกอบอาชีพที่เลือกไว้ เป็นต้น
  • 2.5) บริการติดตามและประเมินผล (Follow – up Service) จัดทำขึ้นเพื่อดำเนินการติดตามผลผู้เรียนภายหลังจากที่ได้รับบริการแนะแนวไปแล้วว่าได้ประโยชน์มากน้อยเพียงไร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้จัดบริการแนะแนวได้ทราบว่าบริการต่าง ๆ ที่จัดขึ้นนั้น ได้ผลมากน้อยเพียงใด มีจุดเด่นอะไรบ้าง และมีจุดอ่อนที่จะต้องรีบปรับปรุงแก้ไขอย่างไร
  • 3) รูปแบบการให้บริการแนะแนว
  • 3.1) การให้บริการทางโทรศัพท์
  • 3.2) การให้บริการทางเครือข่าย Internet
  • 3.3) การให้บริการโดยสื่อเอกสารและอิเล็กทรอนิกส์
  • 3.4) การให้บริการโดยสื่อประชาสัมพันธ์
  • 3.5) การให้บริการเป็นรายกลุ่ม-รายบุคคล
  • 3.5.1) ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำ (Guidance Center)
  • 3.5.2) หน่วยงานแนะแนวเคลื่อนที่

 ***********************

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล:  https://panchalee.wordpress.com/2009/03/27/advice/ 

 

***************************