รายงานผลการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยง

ชื่อเรื่อง     รายงานผลการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เรื่อง การทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอแม่ทา  จังหวัดลำพูน

ชื่อผู้เขียน   นายปิยะ  นพศิริวงศ์
ปีที่ศึกษา     2551 

บทคัดย่อ

                การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว และนำผลจากการศึกษา มาเป็นข้อมูลในการพัฒนาสื่อให้มีประสิทธิผลยิ่งขึ้น  ประชากรที่ใช้ในการศึกษา  คือ ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยใช้คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว แบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา จำนวน 1 คน  ประธานกรรมการสถานศึกษา จำนวน 1 คน  ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน จำนวน 2  คน   ครูภูมิปัญญาพื้นบ้าน จำนวน  5  คน  และนักศึกษาการศึกษานอกระบบ  จำนวน 20 คน  เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษา ประกอบด้วยร่างหลักสูตรและคู่มือการจัดกิจกรรม    การเรียนรู้ ประกอบด้วยแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 7 หน่วยการเรียนรู้ คือ

1) ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว
2) เครื่องมือและวัสดุ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว
3) ฝ้ายและการเตรียมฝ้ายสำหรับการทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว
4) การพัฒนาปรับปรุงและย้อมสีเส้นด้าย
5) การกรอด้ายพุ่ง การกะขนาด และการขึ้นเครื่องทอ
6) การฝึกปฏิบัติ การทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว
7) การพัฒนาอาชีพตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและจรรยาบรรณของผู้ประกอบอาชีพ

      แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง แบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน และแบบสอบถามความเหมาะสมของคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ การทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว  ทำการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกกับประชากรที่ใช้แบบสัมภาษณ์แบบมีโครงสร้าง และวิเคราะห์ข้อมูลทางสถิติโดยการใช้  ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยประชากร และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานประชากร

ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้

             1. ผลการสัมภาษณ์จากประชากร  5  กลุ่ม ได้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา  ประธานกรรมการสถานศึกษา  ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน และครูภูมิปัญญาพื้นบ้าน  เกี่ยวกับความเหมาะสมของหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น  วิชาการทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว พบว่า หลักสูตรมีความเหมาะสมกับผู้เรียน สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของสถานศึกษา  และสภาพสังคมปัจจุบัน   ด้านวัตถุประสงค์ และเนื้อหาสาระวิชามีความเหมาะสม  ครบถ้วนและครอบคลุม   ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการประเมินผลมีความสอดคล้องกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์
             ด้านกายภาพของคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ผู้บริหารสถานศึกษา ครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน และครูภูมิปัญญาพื้นบ้านมีความคิดเห็นว่า ขนาดของรูปเล่ม การจัดรูปเล่ม ขนาดตัวอักษร และภาษาที่ใช้มีความเหมาะสม  ภาพประกอบมีขนาดเหมาะสมและมีความสอดคล้องกับเนื้อหา
             ด้านกายภาพของสื่ออิเล็กทรอนิกส์  ผู้บริหารสถานศึกษา  ประธานกรรมการสถานศึกษาครูประจำศูนย์การเรียนชุมชน และครูภูมิปัญญาพื้นบ้าน  มีความคิดเห็นว่า  รูปแบบการนำเสนอ    มีความเหมาะสม  โดยมีการสื่อความหมายตรงกับประเด็นการเรียนรู้   ทำให้ผู้เรียนมีความเข้าใจและสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง   อีกทั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบันทำให้สามารถใช้งานสื่ออิเล็กทรอนิกส์ได้สะดวก  จึงเป็นช่องทางการเรียนรู้อีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยทำให้ผู้เรียนเข้าใจบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น

             2. ผลการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  นักศึกษาการศึกษานอกระบบหลักสูตรวิชาชีพระยะสั้น  วิชาการทอผ้าพื้นบ้านกะเหรี่ยงด้วยกี่เอว  มีความคิดเห็นว่า  ด้านเนื้อหาสาระการเรียนรู้  ด้านการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ และด้านการวัดประเมินผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมาก   ด้านประโยชน์ที่ได้รับจากการนำไปใช้  ในภาพรวมมีความเหมาะสมอยู่ในระดับมากที่สุด

*******************************