รายงานผลการใช้คู่มือการศึกษาแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง

บทคัดย่อ

ชื่อเรื่อง   รายงานผลการใช้คู่มือการศึกษาแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง  สำหรับนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้แหล่งเรียนรู้ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร

ผู้ศึกษา   มาเลียม จันทร์พรม

สถานศึกษา  ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบางมูลนาก  จังหวัดพิจิตร

ปีที่ศึกษา   2551

การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อ

1)  ศึกษาประสิทธิภาพของคู่มือการศึกษา แหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียงศูนย์ชัยพัฒนาเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร
2)  เปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาก่อนและหลังเรียนโดยใช้คู่มือการศึกษาแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชัยพัฒนาเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร
3)  ศึกษาความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการศึกษาแหล่งเรียนรู้โดยใช้คู่มือการศึกษาแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงศูนย์ชัยพัฒนาเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร

กลุ่มตัวอย่างเป็นนักศึกษาศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอบางมูลนาก  จังหวัดพิจิตร ที่ศึกษาอยู่ในภาคเรียนที่  1  ปีการศึกษา  2551 จำนวน 52 คน การเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive  Sampling)
เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาได้แก่
1)  คู่มือการศึกษาแหล่งเรียนรู้ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น  โดยใช้แหล่งเรียนรู้ศูนย์ชัยพัฒนาการเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร  ประกอบด้วยจุดการเรียนรู้ 11 จุด คือ การปลูกพืชผักปลอดสารพิษ  การเพาะเห็ดในโรงเรือน  การเลี้ยงปลาดุกในบ่อพลาสติก   การเลี้ยงกบ  การปลูกพืชสมุนไพร  การผลิตปุ๋ยอินทรีย์  การผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าว  การเพาะพันธุ์ปลานิล  การเพาะเลี้ยงปลาสวยงามและปลากัด การเลี้ยงโคนม  พันธุ์ไม้ผลและไม้หายาก องค์ประกอบของคู่มือ ประกอบด้วย  คำชี้แจง ชื่อจุดเรียนรู้ จุดประสงค์การเรียนรู้ ใบความรู้ แบบบันทึกกิจกรรม และแบบฝึกหัดท้ายกิจกรรม
2)  แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4 เลือก จำนวน 40 ข้อ
3)  แบบประเมินความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อคู่มือศึกษาคู่มือศึกษาแหล่งเรียนรู้ เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้แหล่งเรียนรู้ชัยพัฒนาเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ จำนวน 10 ข้อ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน

ผลการศึกการใช้คู่มือศึกษาแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้แหล่งเรียนรู้ศูนย์ชัยพัฒนาเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร สรุปได้ดังนี้

1) ประสิทธิภาพของ คู่มือการศึกษาแหล่งเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้แหล่งเรียนรู้ชัยพัฒนาเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร มีค่าประสิทธิภาพ(E1/E2) เท่ากับ 82.38/81.01 จึงสรุปได้ว่าคู่มือมีประสิทธิภาพสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กำหนด 80/80

2) ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน มีคะแนนเฉลี่ยหลังเรียนเท่ากับ32.40 คะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยก่อนเรียนซึ่งมีคะแนนเท่ากับ 19.54 คะแนน เมื่อนำไปเปรียบเทียบคะแนนหลังเรียนและก่อนเรียน โดยใช้ t- test พบว่าคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสติติที่ระดับ .05

3)  ความพึงพอใจของนักศึกษาที่มีต่อการศึกษาแหล่งเรียนรู้โดยใช้คู่มือการศึกษาแหล่งเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง สำหรับนักศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนต้น โดยใช้แหล่งเรียนรู้ชัยพัฒนาเกษตรสิรินธร จังหวัดพิจิตร มีความพึงพอใจโดยรวมและรายด้านในระดับมากที่สุด คือ ขนาดของรูปเล่มเหมาะสม และสวยงาม ตัวอักษรชัดเจน อ่านง่าย ภาพประกอบสวยงามและสอดคล้องกับเนื้อหา เนื้อหาสาระมีประโยชน์ตรงกับความต้องการของผู้เรียน ทำให้ผู้เรียนมีความรู้เกี่ยวกับปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมากขึ้น กิจกรรมการเรียนรู้ช่วยให้เกิดการเรียนรู้  คู่มือสามารถเป็นแนวทางในการเรียนรู้กับแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ได้

**********************************

รายงานการพัฒนาชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์

ชื่อเรื่อง   รายงานการพัฒนาชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องการดำรงชีวิตของพืช  ระดับประถมศึกษา 

ชื่อผู้ศึกษา  นางสาวเกื้อกูล  ศิลปสุวรรณ  ตำแหน่งครูชำนาญการ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอท่าตะโก  จังหวัดนครสวรรค์    

ปีการศึกษา  2551

บทคัดย่อ 

         การศึกษาครั้งนี้เป็นรายงานการพัฒนาชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ หมวดวิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง  การดำรงชีวิตของพืช  ระดับประถมศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544   มีจุดมุ่งหมาย  1) เพื่อศึกษาประสิทธิภาพของชุดการสอน   เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช ระดับ ประถมศึกษา ตามเกณฑ์ประสิทธิภาพ 80/80 2) เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษา ก่อนเรียนและหลังเรียนด้วยชุดการสอน เรื่อง  การดำรงชีวิตของพืช ระดับประถมศึกษา   3) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการใช้ชุดการสอน  เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช  ระดับประถมศึกษา

         กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์  ได้แก่  นักศึกษาระดับประถมศึกษาตามหลักเกณฑ์และวิธีการจัดการศึกษานอกโรงเรียน  หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544  ของศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ที่ลงทะเบียนเรียนหมวดวิชาวิทยาศาสตร์ ภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2551 จำนวน  30  คน โดยใช้วิธีเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) ใช้เวลาในการทดลองสอนจำนวน 12 ชั่วโมง  

       เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย
           (1)  ชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่อง  การดำรงชีวิตของพืช จำนวน 10 ชุด คือ ชุดที่ 1 ประเภทของพืช ชุดที่ 2 โครงสร้างและหน้าที่ของราก ชุดที่ 3 โครงสร้างและหน้าที่ของลำต้น ชุดที่ 4 โครงสร้างและหน้าที่ของใบ ชุดที่ 5 โครงสร้างและหน้าที่ของดอก ชุดที่ 6 โครงสร้างและหน้าที่ของผล ชุดที่ 7 โครงสร้างและหน้าที่ของเมล็ด ชุดที่ 7 ปัจจัยที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโตของพืช ชุดที่ 9 การสังเคราะห์ด้วยแสง และชุดที่ 10 การขยายพันธ์ของพืช
          (2)  แผนการจัดการเรียนรู้ 
          (3) แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนซึ่งเป็นแบบทดสอบปรนัย ชนิดเลือกตอบ 4  ตัวเลือก  ชุดละ 10 ข้อ  จำนวน  10  ชุด  มีค่าความยากง่าย 0.31 – 0.78   อำนาจจำแนก 0.37 – 0.78  และมีค่าความเที่ยง 0.74 – 0.78   
          (4) แบบสอบถามความคิดเห็นของนักศึกษาที่มีต่อการใช้ชุดการสอนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ เรื่องการดำรงชีวิตของพืช ระดับประถมศึกษา  

    ผลการวิจัยพบว่า 

  1. ชุดการสอน  เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช  ระดับประถมศึกษา  มีค่าประสิทธิภาพสูง กว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ 80/80 โดยมีค่าประสิทธิภาพของชุดการสอน   เท่ากับ 84.85/87.43
  2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกลุ่มสาระการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ที่ทำการสอนโดยใช้ชุดการสอน เรื่อง  การดำรงชีวิตของพืช   ระดับประถมศึกษา นี้มีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักศึกษาระหว่างก่อนเรียนและหลังเรียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีคะแนนผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน
  3. นักศึกษามีความคิดเห็นที่มีต่อการใช้ชุดการสอน เรื่อง การดำรงชีวิตของพืช   ระดับประถมศึกษา  อยู่ในระดับมากทุกรายการ คือ ชุดการสอน ใช้ภาษาชัดเจน อ่านแล้วเข้าใจง่าย มีการจัดลำดับขั้นตอนของเนื้อหาต่อเนื่อง  การยกตัวอย่างและสรุปเนื้อหาชัดเจน ชุดการสอนทำให้กระตือรือร้นต่อการเรียน มีกิจกรรมที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง  กิจกรรมสามารถกระตุ้นให้ผู้เรียน คิดวิเคราะห์ คิดสร้างสรรค์ คิดอย่างมีวิจารณญาณ และมีจิตนาการ มีการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากหลายเหมาะสมกับเนื้อหาและกิจกรรม ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันได้

******************