แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

community_icon_wyquอัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
28  เมษายน 2552

 1. แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาคืออะไร
         แผนพัฒนาคุณภาพศึกษาเป็นข้อตกลงร่วมกันระหว่างสถานศึกษากับชุมชน โดยคณะกรรมการสถานศึกษา เพื่อใช้เป็นแผนแม่บทที่จะกำหนดเป้าหมายและแนวทางในการพัฒนาการจัดการศึกษาของสถานศึกษาในช่วงระยะเวลาที่กำหนด โดยจัดทำไว้เป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสถานศึกษาจะดำเนินงานตามข้อตกลงที่กำหนดร่วมกันนั้น

 2. แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจัดทำขึ้นเพื่ออะไร

             1) เพื่อวางแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชนและบรรลุตามมาตรฐานที่กำหนดไว้
             2) เพื่อให้ชุมชนมีส่วนร่วม สนับสนุน ส่งเสริม การดำเนินงานจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้
             3) เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้ตรงต่อความต้องการของผู้เรียน ผู้ปกครอง และชุมชน
             4) เพื่อให้ผู้เรียนได้รู้แนวทางในการเรียนรู้และสามารถกำหนดบทบาทของตนเองได้ถูกต้อง

 3. ประโยชน์ที่จะได้รับจากแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

              1) ชุมชนและผู้ปกครองมั่นใจว่าสถานศึกษามีแผนและดำเนินการจัดการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ และให้ความร่วมมือ ส่งเสริม สนับสนุนอย่างเต็มใจ
              2) สถานศึกษามีการดำเนินงานตามแผนอย่างมีคุณภาพตามมาตรฐานที่กำหนด
              3) สถานศึกษาจัดหลักสูตรและการเรียนการสอนให้กับผู้เรียนได้สอดคล้องกับความต้องการของชุมชน
              4) ผู้เรียนแสดงบทบาทในการเรียนรู้และพัฒนาตนเองจนมีความรู้ความสามารถ   มีคุณธรรม ตามที่หลักสูตรและสังคมต้องการ

 4. สาระสำคัญในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

              แผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้

                1) ภาพรวมของสถานศึกษา (School Profile) เป็นการนำเสนอข้อมูลโดยสังเขป เพื่อแสดงความเป็นมา สภาพปัจจุบันเป็นการนำเสนอข้อมูลโดยสังเขป และทิศทางในอนาคตของสถานศึกษา
                      1.1) ข้อมูลทั่วไปของชุมชน ได้แก่ สภาพทางภูมิศาสตร์การศึกษา การประกอบอาชีพ เศรษฐกิจ การปกครอง ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยม ฯลฯ
                      1.2) ประวัติความเป็นมาของสถานศึกษา
                      1.3) โครงสร้างการบริหารของสถานศึกษา แผนภูมิการบริหาร พร้อมทั้งบทบาทหน้าที่
                      1.4) โครงการสร้างการจัดการศึกษา ได้แก่ หลักสูตรกิจกรรมที่ใช้ในการจัดการศึกษา กลุ่มเป้าหมายที่ให้บริการ และการมีส่วนร่วมการบริหารจัดการของชุมชน
                      1.5) มาตรฐานการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา

               2) ทิศทางการจัดการศึกษาของสถานศึกษา    ที่จะมุ่งมั่นสู่ความเป็นเสิศในการจัดการศึกษาให้แก่ชุมชน ซึ่งประกอบด้วยสาระสำคัญ ดังนี้
                      2.1) วิสัยทัศน์ (Vision) เป็นเจตนารมณ์หรือความตั้งใจที่กว้างๆ ครอบคลุมทุกภารกิจของสถานศึกษา มุ่งการคิดไปข้างหน้า แสดงถึงความคาดหวังในอนาคต ข้อความ วิสัยทัศน์ จะสื่อถึงอุดมการณ์ หลักการ ความเชื่อ และอนาคตที่พึงประสงค์ของสถานศึกษาและชุมชน ข้อความวิสัยทัศน์จะต้องมีความชัดเจน เป็นเอกลักษณ์ของสถานศึกษา การเขียนวิสัยทัศน์ที่ดีให้คำนึงว่าจะสามารถสร้างความศรัทธาและจุดประกายความคิดให้แก่ผู้ปฏิบัติได้
                      2.2) ภารกิจหรือพันธกิจ (Mission) เป็นข้อความที่แสดงเจตนารมณ์และวิธีการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุถึงวิสัยทัศน์
                      2.3) เป้าหมายของสถานศึกษา (School Goals) เป็นข้อความที่ระบุผลลัพธ์ปลายทางที่สถานศึกษาจะดำเนินการให้บรรลุผลสำเร็จ ในช่วงระยะเวลาของแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

                การกำหนดเป้าหมายเพื่อให้ภารกิจที่กำหนดมีความเป็นไปได้และมีความชัดเจนยิ่งขึ้น สถานศึกษาจะต้องกำหนดเป้าหมายที่ครอบคลุมด้านต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการดำเนินการของสถานศึกษา เช่น ในด้านผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียน ด้านหลักสูตร และการเรียนการสอน สิ่งแวดล้อม การเรียนรู้ การจัดองค์กร การพัฒนาวิชาชีพ และการมีส่วนร่วมจัดการศึกษาของชุมชน เป็นต้น
                เป้าหมายที่กำหนดในระดับนี้ เป็นผลลัพธ์ปลายทางที่สถานศึกษาคาดหวังจะบรรลุภายในช่วงเวลาที่กำหนด ลักษณะการเขียนยังเป็นผลลัพธ์กว้างๆ  

                3) แผนปฏิบัติการ   เป็นแผนที่กำหนดกิจกรรมที่จะดำเนินการในแต่ละปี เพื่อให้บรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาคุณภาพการศึกษาในระยะที่กำหนด แผนปฏิบัติการประกอบด้วย สังเขป รายละเอียดของกิจกรรม หรือขั้นตอนการปฏิบัติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่กำหนด ผู้รับผิดชอบแต่ละกิจกรรมหรือขั้นตอนการปฏิบัติ กรอบเวลา งบประมาณ และแหล่งงบประมาณ
                 รูปแบบการเขียนนิยมใช้ตารางซึ่งจะช่วยให้เห็นความเชื่อมโยง ตั้งแต่เป้าหมาย  ยุทธศาสตร์ มาตรฐาน ที่เป็นจุดเน้นของการพัฒนา วิธีการประเมินผล ตัวบ่งชี้ความสำเร็จ ผู้รับผิดชอบ กรอบเวลา งบประมาณในแต่ละกิจกรรม

               4) การระดมทรัพยากร   ในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาจะต้องแสดงให้เห็นถึงแหล่งสนับสนุนงบประมาณและสรุปงบประมาณในแผนพัฒนาคุณภาพ ซึ่งจะต้องบอกจำนวนงบประมาณที่จะต้องใช้ในแต่ละปี และแหล่งที่สถานศึกษาจะสมารถระดมทรัพยากรและสนับสนุนงบประมาณได้

              5) การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่าย
                   การประสานความร่วมมือกับหน่วยงานเครือข่าย และแหล่งวิทยาการภายนอก  เพื่อสนับสนุนทางวิชาการ เพื่อการดำเนินงานพัฒนาคุณภาพการศึกษาของสถานศึกษา ซึ่งควรจะต้องเขียนไว้ในแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาด้วย

ขั้นตอนการจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษา

                1. สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้กับบุคลากรในสถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา ผู้ปกครอง และชุมชนทราบ
                2. สถานศึกษา ศึกษาทบทวน วิเคราะห์ความเป็นมา สภาพปัจจุบัน ปัญหา จัดเตรียมข้อมูลสารสนเทศของสถานศึกษา
                3. สถานศึกษา คณะกรรมการสถานศึกษา (รวมถึงผู้แทนจากชุมชน) ประชุมวางแผนร่วมกันเพื่อกำหนดเป้าหมายของสถานศึกษา และแผนพัฒนาคุณภาพของสถานศึกษาในช่วงเวลาที่กำหนด
                4. สถานศึกษาจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาเป็นลายลักษณ์อักษรโดยผ่านการยอมรับร่วมกันจากคณะกรรมการสถานศึกษา (ซึ่งมีผู้แทนจากชุมชนร่วมด้วย)
                5. ประกาศแผนพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้บุคลากรในสถานศึกษาและบุคลากรทั่วไป   (ในชุมชน) ทราบ

                แผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา มิได้กำหนดตายตัวว่ารอบระยะเวลาของแผนจะครอบคลุมกี่ปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสถานศึกษาหรือนโยบายของต้นสังกัดที่จะกำหนดกรอบระยะเวลาได้ตามความเหมาะสมและวิถีการปฏิบัติของสถานศึกษาแต่ละแห่ง ซึ่งอาจจัดทำเป็นแผน 1 ปี หรือ 2-3 ปีก็ได้

************************

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล: https://panchalee.wordpress.com/2009/04/28/education-plan/

 

การประเมินโครงการ(1)

atpo-5-the-conceptdraw-proj อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
28 เมษายน 2552

1. ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการประเมินโครงการ
การประเมินโครงการเป็นกิจกรรมที่มีความสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารโครงการ การประเมินโครงการเป็นกระบวนการที่ให้ข้อมูลย้อนกลับ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานของโครงการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทำให้ทราบข้อบกพร่อง จุดเด่น จุดด้อยของโครงการ และทราบว่าโครงการได้บรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายเพียงใด และช่วยให้ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการนำไปใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการดำเนินโครงการได้ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

1.1 ความหมายของการประเมินโครงการ
การประเมินโครงการ คือ กระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบและนำผลมาใช้ในการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิผลของการดำเนินโครงการจากความหมายดังกล่าว สรุปได้ดังนี้
1) การประเมินโครงการเป็นกระบวนการที่จัดทำขึ้นมาอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลความจริง (Fact) ที่เชื่อถือได้
2) การประเมินโครงการจุดประสงค์ที่สำคัญเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficiency) และประสิทธิผล (Effectiveness) ของโครงการ

1.2 จุดมุ่งหมายของการประเมินโครงการ
1) เพื่อการหาข้อมูลต่างๆนำมาใช้ในการวางแผนโครงการ
2) เพื่อหาข้อมูลต่างๆนำมาใช้ในการปรับปรุงการดำเนินงานของโครงการ
3) เพื่อหาข้อมูลที่แสดงถึงผลสำเร็จและความล้มเหลวของโครงการ
4) เพื่อหาข้อมูลต่างๆที่แสดงให้เห็นประสิทธิภาพของโครงการ

1.3 ประโยชน์ของการประเมินโครงการ
1) ช่วยให้ได้ข้อมูล เพื่อนำไปใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการกำหนดโครงการ การตรวจสอบความพร้อมของทรัพยากรต่างๆ ที่จำเป็นต้องใช้ในการดำเนินโครงการ ตลอดจนความเป็นไปได้ในการจัดทำโครงการ
2) ประเมินปัจจัยหรือทรัพยากร (Input Evaluation)
3) ประเมินกระบวนการ (Process Evaluation)
4) ประเมินผลผลิตหรือผลลัพธ์ (Product Evaluation)

2. CIPP Model เป็นแบบจำลองที่เน้นการประเมินเพื่อนำสารสนเทศมาใช้ในการตัดสินใจ ซึ่งมีนิยามของการประเมินว่าเป็นกระบวนการของการวิเคราะห์เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในการตัดสินใจในทางเลือกต่างๆที่มีอยู่
ความสำคัญของแบบจำลอง CIPP เป็นกลไกในการให้ข้อมูลย้อนกลับที่จำเป็นมายังโครงการ ซึ่งจะทำให้มีสารสนเทศที่จำเป็นต่อการตัดสินใจอย่างต่อเนื่อง ข้อสมมุติเบื้องต้น 4 ประการของแบบจำลอง CIPP มีดังนี้
1. การประเมินเป็นบริการสนเทศเพื่อการตัดสินใจที่ควรให้สารสนเทศที่จำเป็นต่อผู้ตัดสินใจ
2. การประเมินเป็นวงจรและกระบวนการที่มีความต่อเนื่องที่ต้องดำเนินการประเมินโครงการทั้งหมดอย่างเป็นระบบ
3. กระบวนการประเมิน มี 3 ขั้นตอน คือ การวิเคราะห์ การบรรยาย สิ่งที่ต้องการประเมิน การได้มาซึ่งข้อมูล และการใช้ประโยชน์ของข้อมูลเพื่อการตัดสินใจปรับปรุงและพัฒนางาน โครงการศึกษานอกโรงเรียน ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้เป็นพื้นฐานสำหรับวิธีการประเมิน
4. ขั้นตอนการวิเคราะห์และการใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจทางเลือกต่างๆ ในกระบวนการประเมินกิจกรรมที่ต้องการทำร่วมกันระหว่างนักประเมินที่เป็นผู้รับผิดชอบโครงการและผู้ตัดสินใจ

3.รูปแบบการประเมิน

มโนทัศน์เบื้องต้นของแบบจำลอง CIPP นั้นประเภทของการตัดสินใจที่แตกต่างกันจำเป็นต้องใช้สารสนเทศในการตัดสินใจที่แตกต่างกันด้วยแบบจำลองนี้ได้แบ่งการประเมินออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้
1. การประเมินสภาวะแวดล้อมหรือบริบท (Context Evaluation) เป็นการประเมินที่ช่วยตัดสอนใจเลือกวัตถุประสงค์ของโครงการที่จะดำเนินการ
2. การประเมินปัจจัยหรือทรัพยากร (Input Evaluation) เป็นการตัดสินใจเกี่ยวกับการวิเคราะห์ทางเลือกที่เหมาะสมที่สุดกับทรัพยากรที่มีอยู่และเป็นทางเลือกที่มีโอกาสทำให้บรรลุวัตถุประสงค์มากที่สุด
3. การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เป็นการประเมินขณะที่นำโครงการที่วางแผนไว้ไปปฏิบัติพร้อมกับการปรับปรุง การดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพ
4. การประเมินผลผลิตหรือผลลัพธ์ (Product Evaluation) เพื่อวัตถุประสงค์ในการปรับปรุงปรับขยายหรือล้มเลิกโครงการ

แผนภูมิ แสดงความสัมพันธ์ของประเภทการประเมินและประเภทของการตัดสินใจตามรูปแบบ CIPP

2009-04-28-01

จากแผนภูมิ สรุปสาระความสัมพันธ์ของการประเมินผลและประเภทของการตัดสินใจดังรายละเอียดต่อไปนี้
1) การประเมินสภาวะแวดล้อมหรือบริบท (Context Evaluation) เป็นการประเมินโครงการที่เกี่ยวกับนโยบาย ปรัชญา เป้าหมาย แรงกดดันทางเศรษฐกิจและสังคม ความต้องการของบุคลหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแรงกดดันทางการเมือง สารสนเทศที่ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับการวางแผนในการกำหนดวัตถุประสงค์ของโครงการ/กิจกรรม ที่เหมาะสมต่อไป
2) การประเมินปัจจัยหรือทรัพยากร (Input Evaluation) เป็นการตรวจสอบความพร้อมของปัจจัยเบื้องต้นต่างๆ เช่น บุคลากร งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ สถานที่ เป็นต้น เป็นการประเมินเพื่อมุ่งเน้นว่ามีปัจจัยพร้อมมูลที่จะดำเนินการหรือไม่ แผนหรือโครงการที่เสนอเหมาะสมหรือไม่ ควรปรับปรุงตรงไหนสารสนเทศที่ได้ใช้ประกอบการตัดสินใจเกี่ยวกับโครงสร้าง เพื่อวางแผนการจัดโปรแกรมหรือแผนการดำเนินงานที่เหมาะสมที่สุด เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้
3) การประเมินกระบวนการ (Process Evaluation) เป็นการประเมินผลขณะดำเนินงาน หรือประเมินในเชิงความก้าวหน้า หรือประเมินเพื่อปรับปรุงโครงการในวงจรการบริหารโครงการศึกษาปัญหาและอุปสรรค จุดเด่น จุดด้อย เป็นการประเมินเพื่อหาสาเหตุ การประเมินเป็นระยะๆ เพื่อส่งผลต่อการบรรลุเป้าหมายของโครงการนั่นเอง สารสนเทศที่ได้นำมาใช้ในการตัดสินใจเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้ การควบคุมหรือปรับปรุงแก้ไข วิธีการต่างๆให้เหมาะสมทันท่วงที ขณะที่โครงการกำลังดำเนินอยู่
4) การประเมินผลผลิตหรือผลลัพธ์ (Product Evaluation) เป็นการประเมินผลหลังจากดำเนินงานสิ้นสุดลง ซึ่งประกอบการประเมินผลลัพธ์ (Output Evaluation) โดยพิจารณาจากปริมาณและคุณภาพของผลผลิต เปรียบเทียบกับวัตถุประสงค์ของโครงการ การนำความรู้ไปใช้ในการปฏิบัติงานอีกส่วนหนึ่ง คือผลกระทบ (Impact) สารสนเทศที่ได้นำมาตัดสินคุณค่าของผลผลิตของโครงการทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพ เพื่อที่จะตัดสินใจว่า ควรจะคงไว้ ปรับปรุงให้ดีขึ้น หรือล้มเลิกโครงการ

การประยุกต์ใช้การประเมินเพื่อการตัดสินใจ ตามแบบจำลอง CIPP มาใช้ในการประเมินโครงการ ผู้รับผิดชอบโครงการจะต้องดำเนินการประเมินโครงการอย่างต่อเนื่อง เป็นระบบ เพื่อนำข้อมูลที่ได้จากการประเมินมาใช้ในการตัดสินใจ ปรับปรุง และพัฒนาโครงการให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การประเมินผลงานเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการบริหารโครงการโดยดำเนินการดังนี้
1) ประเมินก่อนเริ่มโครงการ ผู้ปฏิบัติงานควรทำการประเมินสภาวะแวดล้อมและปัจจัยเบื้องต้น มีจุดมุ่งหมายเพื่อตัดสินใจเลือกวัตถุประสงค์ของโครงการ ตรวจสอบความเหมาะสมความสมเหตุสมผลของการวางแผนดำเนินโครงการ ความเป็นไปได้ของโครงการที่จะนำไปปฏิบัติ คุณภาพของโครงการรวมทั้งตรวจสอบโอกาส ที่โครงการนั้นจะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายการประเมินเพื่อตัดสินใจ หรือหาข้อมูลสรุปสำหรับการตัดสินใจเลือกโครงการ บางครั้งเรียกว่า “การวิเคราะห์โครงการ” ในขั้นนี้เน้นพิจารณาใน 3 เรื่องใหญ่ คือ

1.1) ความเหมาะสมของโครงการที่จะดำเนินการประเมิน เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและความจำเป็นของโครงการ ศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการ ความพร้อมทางการบริหารโครงการ ความพร้อมในการสนับสนุนทางด้านทรัพยากร โดยเฉพาะความเป็นไปได้ทางการเงิน กำลังคน วัสดุ และการจัดการ
1.2) การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการดำเนินโครงการ
1.3) การศึกษาและคาดหวังถึงผลประโยชน์ หรือสิ่งที่อาจตามมาจากการดำเนินโครงการนั้นทั้งในระยะเริ่มโครงการและในขณะดำเนินโครงการ

2) การประเมินในระหว่างการดำเนินงาน เป็นการดำเนินงาน เมื่อนำโครงการที่วางแผนไว้ไปปฏิบัติ โดยผู้รับผิดชอบโครงการควรศึกษาจุดเด่น จุดด้อยการดำเนินงาน เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้หรือไม่ มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาอุปสรรคนั้น มีวิธีการดำเนินการปรับปรุงแก้ไขอย่างไร จะดำเนินการปรับปรุงแก้ไขได้ทันท่วงที

3) การประเมินหลังการดำเนินงาน เป็นการประเมินที่ผู้รับผิดชอบโครงการต้องตอบคำถามที่ว่าโครงการประสบความสำเร็จตามแผนที่วางไว้หรือไม่ ผลจากโครงการบรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการหรือไม่ ผลการดำเนินงานคุ้มค่าหรือไม่ เกิดผลกระทบอะไรกับโครงการบ้าง เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจว่าควรดำเนินโครงการนี้ต่อไป หรือปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น หรือล้มเลิกโครงการนี้

2009-04-28-02

4. ขั้นตอนการประเมินโครงการ

ในการประเมินขั้นตอนการประเมินแบ่งออกเป็น 5 ขั้นตอน (สมหวัง พิธิยานุวัฒน์ : 2544) ดังต่อไปนี้

แผนภูมิ : แสดงวงจรระเบียบวิธีการประเมิน

2009-04-28-03

ขั้นที่ 1
กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมิน ในขั้นตอนนี้ ผู้ประเมินจะดำเนินการดังนี้

  • 1.1 ศึกษาและรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับโครงการหนือสิ่งที่มุ่งประเมินกับวัตถุประสงค์หลักการของโครงการ ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ใครบ้างที่ต้องหารใช้ผลประเมินนี้
  • 1.2 สัมภาษณ์ผู้บังคับบังชาของผู้ประเมิน และกลุ่มผู้ใช้ผลประเมิน เกี่ยวกับความต้องการใช้ผลประเมิน ต้องการใช้เมื่อใด ต้องการสารสนเทศในประเด็นใดบ้าง
  • 1.3 จากข้อมูล 1.1 และ 1.2 กำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์ของการประเมิน เป็นที่น่าสังเกตว่าวัตถุประสงค์ของการประเมิน เป็นผลมาจากการศึกษาความต้องการของผู้ใช้ผลประเมิน และจากวัตถุประสงค์หลักของโครงการ หรือสิ่งที่มุ่งประเมิน

ขั้นที่ 2
วางแผนการประเมิน เมื่อกำหนดขอบเขตและวัตถุประสงค์การประเมินแล้ว นำวัตถุประสงค์ของการประเมินในแต่ละข้อมาวิเคราะห์เพื่อวางแผนการประเมิน แล้วกรอกลงในแบบวางแผนประเมินดังนี้

วัตถุประสงค์ของการประเมิน :

ประเภทของการประเมิน

ประเด็นคำถาม

แหล่งที่มาของข้อมูล

เวลาที่เก็บข้อมูล

วิธีการเก็บข้อมูล

วิธีวิเคราะห์ข้อมูล

           

จากวัตถุประสงค์ของการประเมิน ผู้ประเมินนำมาวิเคราะห์ว่าเป็นประเภทไหนของการประเมิน เช่น ประเมินสภาวะแวดล้อม ประเมินปัจจัยเบื้องต้น ประเมินกระบวนการ การประเมินผลผลิต ฯลฯ ประเด็นคำถามเพื่อจะได้ช่วยให้เก็บข้อมูลอย่างครบถ้วน แหล่งที่มาของข้อมูลที่ต้องการอาจมาจากผู้เข้าร่วมโครงการ ผู้สังเกตการณ์ เอกสาร หรือผลการปฏิบัติต่างๆ ช่วงเวลาที่เก็บข้อมูล แบ่งเป็น 3 ช่วง ก่อนการดำเนินโครงการ และขณะโครงการดำเนินโครงการอยู่และเมื่อสิ้นสุดโครงการ

ขั้นที่ 3
ดำเนินการประเมินตามแผน เมื่อจัดทำแผนการประเมินเรียบร้อยแล้ว จะเริ่มเก็บรวบรวมข้อมูลในช่วงต่างๆโดยเก็บรวบรวมข้อมูลตามที่ระบุไว้ในแผนการประเมิน

ขั้นที่ 4
วิเคราะห์ข้อมูล แจงนับรวบรวมข้อมูล เพื่อทำการวิเคราะห์ตามวัตถุประสงค์ของการประเมินแต่ละข้อ แล้วสรุปว่าวัตถุประสงค์นั้นๆบรรลุหรือไม่ เพียงใด มีปัญหา หรืออุปสรรคอย่างไรบ้าง

ขั้นที่ 5
รายงานผลการประเมิน โดยทั่วไปรายงานการประเมินผลมักจะทำเป็นลายลักษณ์อักษรในรูปของรายงาน ซึ่งอาจแบ่งเป็นรายงานรวมฉบับเดียว หรือการประเมินผลโครงการ และการติดตามผลหรือแยกเป็นรายงาน 2 ฉบับ คือ รายงานการประเมินผลโครงการหลังจากเสร็จสิ้นการดำเนินงาน โดยยังไม่ได้ดำเนินการติดตามผล และรายงานการติดตามผล หลังจากสิ้นสุดโครงการไปแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน

สำหรับรูปแบบของรายงานการประเมินโดยทั่วไป จะประกอบด้วยส่วนสำคัญ 7 ส่วน คือ
1. สรุปสาระสำคัญสำหรับผู้บริหาร
2. บทนำ
3. ระเบียบวิธีการประเมิน
4. ผลการวิเคราะห์
5. สรุปผลการประเมินและข้อเสนอแนะ
6. บรรณานุกรม
7. ภาคผนวก ซึ่งประกอบด้วย ตัวโครงการหรือสิ่งที่มุ่งประเมิน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล สูตร สถิติ ข้อมูลพื้นฐาน เป็นต้น

5. การเขียนโครงการประเมิน

โครงการประเมิน คือ แผนการประเมิน ซึ่งเป็นการเสนอกรอบความคิดในการประเมินว่า ทำไมต้องประเมิน ประเมินเพื่อใคร ประเมินอะไร ประเมินอย่างไร ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสิน ประเมินเมื่อไรและใช้ทรัพยากรมากน้อยเพียงไร

5.1 ความสำคัญของการเขียนโครงการประเมิน
1) เป็นการวางแผนสำหรับดำเนินงานอย่างมีขั้นตอน และมีระบบแบบแผน
2) เป็นพิมพ์เขียวของการดำเนินงานเพื่อประเมินโครงการ
3) เป็นข้อสัญญาที่ผู้ประเมินจะต้องปฏิบัติ
4) ช่วยในการประมาณการค่าใช้จ่าย แรงงาน และระยะเวลาของการประเมิน
5) เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอนุมัติหรือการให้ทุนสนับสนุนการประเมิน
6) ช่วยให้สามารถติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามโครงการประเมินได้

5.2 กรอบความคิดของการเขียนโครงการประเมิน

1

ประเมินทำไม หลักการและเหตุผลของการประเมิน

2

ประเมินเพื่อใคร ใครคือผู้ใช้ผลการประเมิน

3

ประเมินอะไร วัตถุประสงค์ของการประเมิน

4

ประเมินอย่างไร การออกแบบวิธีการประเมิน

5

ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ ตัวบ่งชี้และเกณฑ์การประเมิน

6

ประเมินเมื่อไร กำหนดการของกิจกรรมและระยะเวลา

7

ใช้ทรัพยากรมากน้อยเพียงไร งบประมาณการประเมิน

5.3 โครงสร้างการเขียนโครงการประเมิน

1) ชื่อโครงการประเมิน
2) ผู้เสนอโครงการ/ผู้รับผิดชอบ/หน่วยงานที่รับผิดชอบ
3) ปีที่ทำการประเมิน
4) ความเป็นมาของการประเมิน/เหตุผลที่ต้องประเมิน
5) วัตถุประสงค์ของการประเมิน
6) ขอบเขตของการประเมิน
– โครงการที่มุ่งประเมิน/สาระโดยสรุป
– ตัวแปร/รายการที่ศึกษา

7) ข้อตกลงเบื้องต้น
8) คำจำกัดความที่ใช้ คำจำกัดความที่เกี่ยวข้อง
9) ข้อจำกัดของการประเมิน (ไม่จำเป็นจะไม่เขียนยกเว้นกรณีวิกฤต)
10) แนวทางการดำเนินงาน
– แหล่งข้อมูล/กลุ่มตัวอย่าง
– เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ขั้นตอนการพัฒนาเครื่องมือ
11) งบประมาณที่ใช้
12) แผนการเผยแพร่ผลการประเมิน/การนำเสนอผลการประเมิน
13) ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
14) ปฏิทินการปฏิบัติงาน
15) บรรณานุกรม
16) ภาคผนวก

เอกสารอ้างอิง

การศึกษานอกโรงเรียน. กรม. การประเมินโครงการศึกษานอกโรงเรียน. กรุงเทพมหานคร : กองแผนงาน กรมการศึกษานอกโรงเรียน, 2536. เอกสารอัดสำเนา (เอกสารนำเสนอประกอบการอบรมการประเมินโครงการการศึกษานอกโรงเรียน)

สมหวัง พิธิยานุวัฒน์. วิธีวิทยาการประเมินศาสตร์แห่งคุณค่า. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพมหานคร : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. 2544. กรุงเทพมหานคร : กรมการศึกษานอกโรงเรียน. ม.ป.ป., เอกสารอัดสำเนา

***************************

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: https://panchalee.wordpress.com/2009/04/28/project-evaluation1/

การประเมินโครงการ(2)

 

atpo-5-the-conceptdraw-proj

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
28 เมษายน 2552

(ตัวอย่าง)รายละเอียดการประเมินโครงการ
การศึกษานอกโรงเรียนเพื่อสร้างงานอาชีพในชนบท

 

 

1. ตัวโครงการ

ส่วนประกอบคำถามการประเมิน

สภาพความสำเร็จ

ตัวบ่งชี้

แหล่งข้อมูล

วิธีรวบรวมข้อมูล

1.1 มีการศึกษาประเมินความต้องการและปัญหาหรือไม่ โครงการมีวัตถุประสงค์และเนื้อหาตรงและครอบคลุมปัญหาและความต้องการของบุคคลในชุมชน ความเห็นของผู้สอนและผู้เรียนหรือบุคคลในชุมชนที่มีต่อวัตถุประสงค์และเนื้อหาการเรียนของโครงการ ครูผู้สอน ผู้เรียน และบุคคลในชุมชนตามโครงการ แบบสอบถาม
1.2 ปัญหาเป็นปัญหาที่แท้จริงและมีความสำคัญระดับสูงหรือไม่ วัตถุประสงค์หรือเนื้อหาเป็นความจำเป็นอันดับสูงของบุคคลในชุมชน ความเห็นของผู้สอนและผู้เรียน ครูผู้สอน ผู้เรียน และบุคลากรในชุมชน แบบสอบถาม
1.3 ทรัพยากรที่ระบุในความต้องการสำหรับโครงการสามารถจัดหาได้ง่าย โครงการมีทรัพยากรที่ระบุในโครงการครบ ไม่มีอุปสรรคในการจัดหา ความเห็นของผู้สอนและเจ้าหน้าที่โครงการ (อาจคำนวณจากปริมาณทรัพยากรต่อผู้เรียน) ผู้สอนและเจ้าหน้าที่โครงการ แบบสอบถาม
1.4 ทรัพยากรที่ระบุในโครงการสอดคล้องเหมาะสมกับวิธีดำเนินการหรือไม่ โครงการมีทรัพยากรสอดคล้องกับวิธีกาดำเนินการ ความคิดเห็นของเจ้าหน้าที่โครงการ ผู้สอนและผู้เรียน (อาจวิเคราะห์ว่าวิธีการมีทรัพยากรเพียงพอ) ผู้สอน ผู้เรียน เจ้าหน้าที่โครงการ แบบสอบถาม
1.5 วิธีการดำเนินการหลายทางเลือกหรือไม่ และคัดเลือกมาจากวิธีที่เหมาะสมที่สุดหรือไม่ โครงการมีวิธีการหลายวิธีและวิธีที่เหมาะสมที่สุดได้รับการจัดอันดับไว้ ความเห็นจากผู้สอน เจ้าหน้าที่และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ แบบสอบถาม
1.6 วิธีดำเนินการนำไปสู่จุดมุ่งหมายหรือผลผลิตที่ต้องการจริงหรือไม่ โครงการกำหนดวิธีดำเนินการในแต่ละจุดมุ่งหมายหรือกำหนดผลผลิตจำนวนแน่นอน ความเห็นจากผู้สอนเจ้าหน้าที่และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้สอน เจ้าหน้าที่ ผู้ทรงคุณวุฒิ แบบสอบถาม
1.7 จุดมุ่งหมายของโครงการย่อย สนองต่อเป้าหมายของโครงการ โครงการย่อยมีจุดประสงค์สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการใหญ่ ความเห็นของเจ้าหน้าที่และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิเจ้าหน้าที่ แบบสอบถาม
1.8 ดรรชนีชี้บ่งความก้าวหน้าของโครงการเที่ยงตรงวัดได้จริงหรือไม่ โครงการกำหนดดรรชนีหรือตังบ่งชี้ไว้ชัดเจนสามารถวัดได้ ความเห็นของเจ้าหน้าที่และผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้ทรงคุณวุฒิเจ้าหน้าที่ แบบสอบถาม
1.9 เทคนิควิธีการมีจุดอ่อนอะไรบ้าง โครงการมีเทคนิควิธีการที่ดีเป็นส่วนใหญ่ (80%) ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ ผู้ทรงคุณวุฒิเจ้าหน้าที่ แบบสอบถาม
1.10 เป้าหมายจุดประสงค์ของโครงการชัดเจนหรือไม่ โครงการมีเป้าหมาย จุดประสงค์ กล่าวเป็นข้อความไว้ชัดเจน สามารถวัดได้ ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ แบบสอบถาม
1.11 ผลกระทบอันเกิดจากความสำเร็จของโครงการที่จะมีต่อสังคม เศรษฐกิจของประเทศมีอะไรบ้าง โครงการมีเป้าหมายในด้านสังคม เศรษฐกิจไว้ชัดเจน ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่ นักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ แบบสอบถาม

2. สภาพเมื่อเริ่มต้นโครงการปัจจัยเบื้องต้น

ส่วนประกอบคำถามการประเมิน

สภาพความสำเร็จ

ตัวบ่งชี้

แหล่งข้อมูล

วิธีรวบรวมข้อมูล

2.1 โครงการทรัพยากร วัสดุ อุปกรณ์ในระยะเริ่มต้นมากน้อยเพียงใด โครงการกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะมีกำลังคน เงิน วัสดุอุปกรณ์และเวลาพอเพียงแก่การดำเนินงาน ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิเจ้าหน้าที่โครงการนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่โครงการนักวิชาการ แบบสอบถาม
2.2 โครงการมีทางได้วัสดุอุปกรณ์เพิ่มเติมในระยะเวลาต่างๆเพียงใด โครงการกำหนดไว้ชัดเจนว่าจะมีการเพิ่มเติมวัสดุอุปกรณ์ในระยะเวลาต่างๆ ความเห็นของผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่โครงการนักวิชาการ ผู้ทรงคุณวุฒิ เจ้าหน้าที่โครงการนักวิชาการ แบบสอบถาม
2.3 โครงการมีบุคลากรเหมาะสมเพียงพอตามที่ต้องการหรือไม่ โครงการมีบุคลากรในด้านต่างๆตามที่ต้องการ จำนวนบุคลากร เช่น ในอัตราผู้สอน 1 คน ต่อ ผู้เรียน หรือบุคลากรในสาขาวิชาต่างๆ เจ้าหน้าที่โครงการนักวิชาการ แบบสอบถาม
2.4 มีการฝึกอบรมเพิ่มเติมแก่บุคลากรด้านใดหรือไม่มากน้อยเพียงใด โครงการกำหนดวิธีการฝึกอบรมเพิ่มเติมให้แกบุคลากรไว้ชัดเจนพร้อมระบุปริมาณผู้เข้ารับการฝึกอบรม ความเห็นของเจ้าหน้าที่โครงการ นักวิชาการ เจ้าหน้าที่โครงการนักวิชาการ แบบสอบถาม
2.5 ทัศนคติของบุคลากรต่อโครงการเป็นอย่างไร บุคลากรมีทัศนคติต่อโครงการทั้งในด้านเป้าหมาย วิธีการและผลการดำเนินงานสูง ทัศนคติของบุคลากรในโครงการ บุคลากรในโครงการ แบบสอบถาม
2.6 การสนับสนุนของบุคลากรระดับสูงขึ้นไปมีมากน้อยเพียงใด บุคลากรระดับสูง สนับสนุนโครงการเป็นอย่างดี ความคิดเห็นในการสนับสนุนโครงการของบุคลากรระดับสูง บุคลากรระดับสูง แบบสอบถามวัดเจตคติหรือความคิดเห็น
2.7 ชุมชนมีความรู้สึกต่อโครงการเป็นอย่างไร ชุมชนมีความรู้สึกที่ดีต่อโครงการ ความรู้สึกของชุมชน บุคคลในชุมชน แบบสัมภาษณ์ (เชิงคุณภาพ)
2.8 สภาพความเป็นอยู่ของชุมชนเป็นอย่างไรมีสิ่งก่อสร้างหรือกิจกรรมใดบ้าง ชุมชนในโครงการมีอาคารบ้านเรือนสิ่งก่อสร้างและกิจกรรมในหมู่บ้านในสภาพที่ดี ความคิดเห็นของชุมชน บุคคลในชุมชน แบบสัมภาษณ์ (เชิงคุณภาพ)
2.9 การประกอบอาชีพของชุมชนรวมทั้งรายได้เฉลี่ยค่าครองชีพและค่าใช้จ่ายเป็นอย่างไร ชุมชนมีการประกอบอาชีพด้วยความภาคภูมิใจ มีรายได้เฉลี่ยถึงเกณฑ์ของการครองชีพและมีค่าใช้จ่าที่ประหยัด ลักษณะการประกอบอาชีพรายได้ รายจ่ายของบุคคลในชุมชน บุคคลในชุมชน แบบสัมภาษณ์ (เชิงคุณภาพ)
2.10 บรรยากาศทางการปกครองของชุมชน ทัศนคติและปรัชญาของบุคคลระดับผู้บริหาร การปกครองของชุมชนมีความราบรื่น รับผิดชอบ สามัคคี พึ่งตนเอง เสียสละ และขยันหมั่นเพียร ทัศนคติ และปรัชญาของผู้บริหารเอื้ออำนวยต่อการปกครองชุมชน ผู้บริหารหมู่บ้านระดับตำบล อำเภอ แบบทดสอบวัดเจตคติ

3. การดำเนินโครงการ

ส่วนประกอบคำถามการประเมิน

สภาพความสำเร็จ

ตัวบ่งชี้

แหล่งข้อมูล

วิธีรวบรวมข้อมูล

3.1 ผู้บริหารและผู้ร่วมงานมีจุดมุ่งหมายปรัชญาในการปฏิบัติงานสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายและแนวดำเนินโครงการหรือไม่ คณะกรรมการทุกระดับมีจุดมุ่งหมาย ปรัชญาในการปฏิบัติงานสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายโครงการ ความสอดคล้องของจุดมุ่งหมาย ปรัชญาของผู้บริหารและผู้ร่วมงาน ผู้บริหารและผู้ร่วมงาน วิเคราะห์เอกสารและสัมภาษณ์
3.2 ผู้มีส่วนสนับสนุนโครงการมีทัศนคติและความรู้สึกต่อโครงการในลักษณะใด บุคคลที่มีส่วนร่วมสนับสนุนโครงการที่มีทัศนคติและความรู้สึกที่ดีต่อโครงการ ทัศนคติของผู้มีส่วนสนับสนุน เช่น กรรมการระดับอำเภอ จังหวัด ผู้นำเสริมสร้างในหมู่บ้าน กรรมการผู้นำเสริมสร้าง สัมภาษณ์สอบถามหรือแบบวัดเจตคติ
3.3 การปฏิบัติงานตรงกับที่วางไว้ในโครงการหรือไม่ถ้าไม่เพราะความจำเป็น การปฏิบัติงานตรงกับวิธีการที่วางไว้ในโครงการ ความสอดคล้องของการปฏิบัติงานกับเทคนิควิธีหรือกลยุทธศาสตร์ของโครงการ ผู้เรียน ผู้สอน และเจ้าหน้าที่โครงการ สังเกต สัมภาษณ์วิเคราะห์เชิงตารางความสัมพันธ์
3.4 บุคลากรปฏิบัติงานโดยยึดวัตถุประสงค์ของโครงการ บุคลากรปฏิบัติงาน โดยยึดวัตถุประสงค์ของโครงการมีอิสระในการเลือกวิธีปฏิบัติ การปฏิบัติตามวัตถุประสงค์ของบุคลากรและความอิสระในการเลือกวิธีปฏิบัติ บุคลากรผู้เรียน สังเกต สัมภาษณ์
3.5 การสื่อความของบุคคลผู้ร่วมงานมีมากน้อยเพียงใด มีความเข้าใจตรงกันเพียงใด บุคคลร่วมงานมีความเข้าใจตรงกันอันเกิดจากการสื่อความ การสื่อความเช่น การประกาศ การประชุม การอ่านจากเอกสาร บุคคลผู้ร่วมงาน สัมภาษณ์(แบบสอบถามประกอบ)
3.6 ขั้นตอนการปฏิบัติงานมีความขัดข้องเพียงใด จำเป็นต้องปรับขยายอย่างไรบ้าง ผู้ปฏิบัติงานดำเนินตามขั้นตอนการปฏิบัติงานได้เรียบร้อย ไม่เป็นปัญหาในการปรับขยาย การปฏิบัติงานหรือไปตามขั้นตอน บุคลากรผู้ร่วมงาน สัมภาษณ์ (แบบสอบถามประกอบ)
3.7 สาเหตุใดทำให้งานเสร็จสิ้นก่อนกำหนดเวลาและหลังเวลา งานเสร็จสิ้นตรงตามเวลา งานที่เสร็จสิ้นตามเวลา บุคลากรผู้ร่วมงาน สัมภาษณ์ (แบบสอบถามประกอบ)
3.8 การใช้ทรัพยากร เงิน เวลา กำลังงานคุ้มค่าเพียงใด การใช้ทรัพยากรเงิน เวลา กำลังงานคุ้มค่า อัตราการใช้บุคลากรจากการใช้เงิน เวลาต่อผู้เรียน ผู้เรียน บุคลากร สัมภาษณ์
3.9 ระเบียบปฏิบัติที่กำหนดขึ้นได้รับการปฏิบัติตามมากน้อยเพียงใด ระเบียบที่ล้าสมัยขัดต่อการปฏิบัติงานได้รับการปรับปรุงให้เหมาะสม มีการปฏิบัติตามระเบียบในโครงการนี้และมีการแก้ไขระเบียบที่ขัดต่อการปฏิบัติ การปฏิบัติงานสอดคล้องกับระเบียบการปฏิบัติ บุคลากรและเจ้าหน้าที่ของโครงการ การสัมภาษณ์แบบสอบถาม
3.10 ขวัญและกำลังใจของผู้ปฏิบัติงานมีมากน้อยเพียงใดสาเหตุใดที่ทำให้ขวัญและกำลังใจตกต่ำ ผู้ปฏิบัติงานมีขวัญและกำลังใจสูง มีการแก้ไขปรับปรุงทำให้ขวัญกำลังใจสูงขึ้น ขวัญกำลังใจของผู้ร่วมงาน บุคลากรผู้ร่วมงาน แบบสอบถามสัมภาษณ์
3.11 มีการจัดสรรบุคลากรให้เหมาะสมกับงาน บุคลากรมีทักษะที่จำเป็นต่องานเพียงใด บุคลากรทำงานตรงกับทักษะความถนัด ผลผลิตของงานมีมากอันเกิดจากทักษะความถนัดของผู้ร่วมงาน บุคลากรผู้ร่วมงานเจ้าหน้าที่โครงการ แบบสอบถามสัมภาษณ์
3.12 มีการประเมินผลงานเป็นระยะๆโดยผู้ปฏิบัติงานเป็นผู้ประเมินตนเองมากน้อยเพียงใด ผู้ปฏิบัติงานประเมินผลงานตนเองอย่างสม่ำเสมอเป็นระยะๆ แบบการประเมินผลงานและวิธีการประเมินผลงาน ผู้ปฏิบัติงาน สัมภาษณ์ (แบบสอบถามประกอบ)

4. สภาพเมื่อสิ้นสุดโครงการ

ส่วนประกอบคำถามการประเมิน

สภาพความสำเร็จ

ตัวบ่งชี้

แหล่งข้อมูล

วิธีรวบรวมข้อมูล

4.1 ทรัพยากร เงิน เวลา บุคลากรที่ใช้ไปทั้งหมดในโครงการเป็นจำนวนเท่าใด (ประเมินโดยใช้ข้อ 2.1 ถึง 2.10 และเพิ่มเติมด้วยข้อ 4.1 – 4.6 )การใช้ทรัพยากรเงิน เวลา บุคลากรเป็นไปตามเป้าหมายของโครงการหรือประหยัดกว่า อัตราต่างๆเช่น Cost per head อัตราผู้เรียนต่อผู้สอน เอกสาร เจ้าหน้าที่ โครงการ ศึกษาเอกสาร(Content analysis)
4.2 ผลผลิตของโครงการตามที่ระบุไว้ในจุดประสงค์ของโครงการมีอะไรบ้างเป็นจำนวนเท่าใด โครงการได้ผลผลิตตรงหรือมากกว่าที่ระบุไว้ในจุดประสงค์ของโครงการ อัตราผลผลิตคิดเป็นร้อยละที่กำหนดไว้ในจุดประสงค์ เอกสาร หลักฐานต่างๆ เจ้าหน้าที่โครงการ วิเคราะห์เอกสาร
4.3 ผลผลิตอันเป็นผลพลอยได้เพิ่มเตอมจากที่ระบุไว้ในจุดมุ่งหมายมีอะไรบ้างจำนวนเท่าใด โครงการมีผลกระทบในทางดี มีผลพลอยได้ต่างๆตามมา จำนวนผลพลอยได้หรือผลกระทบ เช่น ความพอใจของชุมชน ชุมชน บุคลากรเจ้าหน้าที่โครงการ วิเคราะห์สอบถาม
4.4 ข้อบกพร่องที่จำต้องระวังแก้ไขในการปฏิบัติงานตามโครงการ โครงการไม่มีข้อบกพร่องต้องแก้ไข อัตราข้อบกพร่องเปรียบเทียบกับงานที่มี ชุมชน บุคลากร เจ้าหน้าที่โครงการ สัมภาษณ์สอบถาม
4.5 ผลงานดีเด่นของโครงการและปัจจัยที่ทำให้เกิดผลงานดีเด่น โครงการมีผลงานดีเด่นอันเกิดจากปัจจัยต่างๆ ปัจจัยที่ทำให้เกิดผลงานดีเด่น ชุมชน บุคลากร เจ้าหน้าที่โครงการ สัมภาษณ์สอบถาม
4.6 บุคลากรที่ได้รับการพัฒนาในด้านใดมากน้อยเพียงใดและบุคลากรมั่นใจในการปฏิบัติงานต่อไป บุคลากรมั่นใจในการปฏิบัติงานอันเป็นผลมาจากการพัฒนา ความมั่นใจของบุคลากร บุคลากร แบบสอบถามสัมภาษณ์เพิ่มเติม

 

 

 ปฏิทินแผนการประเมินผล / ติดตามผลโครงการ

กิจกรรม

พ.ศ. 2551

พ.ศ. 2552

ต.ค

พ.ย

ธ.ค

มค

กพ.

มีค

เม.ย

พ.ค

มิ.ย

ก.ค

ส.ค

ก.ย

  • 1. ประเมินตัวโครงการ
  • 2. ประเมินผลปัจจัยเบื้องต้น/สภาพเมื่อเริ่มต้นโครงการ
  • 3. ประเมินผลการดำเนินโครงการ/การจัดอบรมและกิจกรรม
  • 4. ประเมินผลผลิต ผลสัมฤทธิ์และผลกระทบของโครงการ/เมื่อสิ้นสุดโครงการ

 

 

เอกสารอ้างอิง

กมล สุดประเสริฐ. คู่มือการประเมินผลโครงการการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อการสร้างอาชีพ
                                ในชนบท.

**********************

อ้างอิงบทความนี้

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: https://panchalee.wordpress.com/2009/04/28/project-evaluation2/

แนวคิดเชิงระบบ (System Concept)

อัญชลี   ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
28 เมษายน 2552

bamboo2

 โดยทั่วไปเราจะรู้จักคุ้นเคยกับคำว่า  “ระบบ”  หรือคำในภาษาอังกฤษว่า  “System”  พอสมควรในทางวิทยาศาสตร์เราจะพูดถึงระบบสุริยะจักรวาล  ระบบโมเลกุลในร่างกายมนุษย์  เรามีระบบหมุนเวียนของ  โลหิต  ระบบประสาท  ระบบการขับถ่ายของเสียในร่างกายสำหรับใช้ในชีวิตประจำวัน  เราคุ้นเคยกับคำว่า  ระบบการศึกษา  ระบบโรงเรียนและระบบการเรียนการสอน  เป็นต้น (สงัด  อุทรานันท์ . 2533 : 1 – 10)

                คำว่า  “ระบบ”  ไม่ว่าจะพูดในลักษณะใดก็ตาม  จะหมายถึงสิ่งต่างๆที่รวมกัน  ซึ่งแสดงถึงองค์ประกอบและความสัมพันธ์ระหว่างองค์ประกอบนั้นๆ  อย่างชัดเจน  องค์ประกอบของระบบแบ่งออกเป็น  2  ประเภท  ดังต่อไปนี้ (ปฐม  นิคมานนท์ . 2529 : 33 – 34)

 1)  องค์ประกอบในระบบ 
                ประกอบด้วยส่วนสำคัญ  3  ส่วน  ดังนี้
                1.1)  ปัจจัยนำเข้า  (Input)  อาจได้แก่วัสดุ  อุปกรณ์  วัตถุดิบ  แรงงาน  เงินทุน  ทรัพยากรต่างๆ  รวมไปถึงเวลาและสถานที่
                1.2)  กระบวนการ  (Process)  ได้แก่  เทคนิควิธี  ขั้นตอนการดำเนินงานต่างๆ  ตั้งแต่ต้นจนจบ
                1.3)  ผลที่ได้รับหรือผลผลิต  (Output)  เป็นผลที่ได้รับจากปัจจัยนำเข้าและกระบวนการทั้งหมด  ผลผลิตเป็นสิ่งที่ต้องการในขั้นสุดท้ายของระบบ  ผลผลิตอาจเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่ง  หรือหลายๆอย่างรวมกัน  เช่น  ในกระบวนการผลิตสินค้า  ก็อาจหมายถึงการเพิ่มคุณภาพ  การเพิ่มจำนวน  การยืดอายุผลผลิต  การเปลี่ยนรูปผลิตภัณฑ์  การลดต้นทุน  การผลิต  การลดต้นทุนการขนส่ง  ลดอุบัติเหตุ  หรือการเปลี่ยนแปลงในด้านดี  อื่นๆ  เป็นต้น

                ในระบบจะต้องมีการตรวจสอบอยู่ทุกขั้นตอน  เรียกว่า  Feedback  หรือข้อมูลย้อนกลับ  ซึ่งเป็นการบอกให้รู้ว่าแต่ละขั้นตอนดี  หรือไม่ดีเพียงใด  อย่างใด  ตัวอย่างเช่น  ในกรรมวิธีการผลิต  ถ้าในด้านปัจจัยนำเข้าหรือ  Input  ต้องมีการตรวจสอบดูว่าวัตถุดิบที่ใช้  มีคุณภาพตรงตามความต้องการหรือไม่  อาจรวมไปถึงกรรมวิธีในการสั่งซื้อวัตถุดิบ  การเก็บรักษา  การขนส่ง  เป็นต้น  ในด้านกระบวนการผลิตอาจจะต้องตรวจสอบดูสูตรการผลิต  การทำงานของเครื่องจักร  การแบ่งหน้าที่ทำงาน  การมอบหมายความรับผิดชอบ  วิธีสั่งการ  การควบคุม  การรายงานเป็นต้น  สำหรับด้านผลผลิตนั้นต้องตรวจสอบดูว่าผลผลิตที่ได้  มีปริมาณและคุณภาพตรงกับความต้องการหรือไม่  ตรงกับความต้องการของตลาดแล้วหรือยัง  ยังมีส่วนจะต้องปรับปรุง  พัฒนาขึ้นอย่างไร  ดังนี้เป็นต้น 

2)  องค์ประกอบที่อยู่นอกระบบ
               โดยทั่วไปมักมีองค์ประกอบอื่นที่อยู่นอกระบบ  ส่งผลต่อประสิทธิภาพของระบบที่สำคัญ  3  ประการ  ดังนี้
              2.1) ทรัพยากร  ได้แก่  ปัจจัยด้านมนุษย์  เงิน  วัสดุ  ทรัพยากรธรรมชาติ  เป็นต้น
              2.2) ความคาดหวัง  ได้แก่  ความคาดหวังของผู้ผลิต  ของลูกค้า  พ่อค้า  รัฐบาล  ชุมชน  ตลอดจนประชาชนทั่วไป
              2.3) สภาพแวดล้อม  เช่น  ภาวะการตลาด  ภาวะเศรษฐกิจ  เทคโนโลยี  การปกครอง  การเมือง  และสังคม  เป็นต้น   

ความสำคัญของการนำแนวคิดเชิงระบบไปใช้ในการปฏิบัติงาน

                1)  แนวคิดเชิงระบบเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สามารถกำหนดกรอบการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  และสามารถมองเห็น  กระบวนการทำงานทั้งหมดตั้งแต่ต้นจนจบ
                2)  ส่งเสริมการทำงานเป็นทีม  เนื่องจากสามารถสื่อสารกระบวนการทำงานทุกขั้นตอนกับทีมงาน  ได้กระจ่างชัด  ซึ่งทำให้สามารถอธิบาย  หรือแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆในมุมมองที่กว้าง
                3)  ทำให้มองเห็นสิ่งที่เกิดขึ้น  หรือสิ่งที่กำลังปฏิบัติอยู่  ความผิดพลาดต่างๆที่เกิดจากระบบ  จะทำให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนและหาวิธีแก้ไขได้ถูกต้องทันท่วงที  ซึ่งเป็นผลดีทั้งในระยะสั้นและระยาว
                 4)  ทำให้การทำงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ  คือ  มีความถูกต้อง  ประหยัดค่าใช้จ่าย  ทันตามเวลาที่กำหนดและสอดคล้องกับเป้าหมายที่กำหนดไว้

——————————————————————————-

 เอกสารอ้างอิง

 ปฐม  นิคมานนท์.  การวางแผนและการประเมินโครงการ.  กรุงเทพมหานคร :  สมาคมการศึกษานอกระบบแห่งประเทศไทย,  2529 
สงัด  อุทรานันท์.  เทคนิคการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ.  กรุงเทพมหานคร  :  โรงพิมพ์มิตรสยาม,  2532.

 

 **********************************

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี   ธรรมะวิธีกุล: https://panchalee.wordpress.com/2009/04/28/system-concept/