การจัดการศึกษานอกระบบ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
28 ธันวาคม 2553

 

ตอนที่ 1  หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

ความนำ 

         รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 มาตรา 49 กำหนดว่า บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับการศึกษาไม่น้อยกว่าสิบสองปีที่รัฐจะต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ และมาตรา 80 ได้กำหนดเป็นนโยบายด้านการศึกษาว่า ต้องดำเนินการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐาน การจัดการศึกษาในทุกระดับและทุกรูปแบบ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม จัดให้มีแผนการศึกษาแห่งชาติ กฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ ซึ่งกฎหมายเพื่อพัฒนาการศึกษาของชาติ กำหนดให้มีการส่งเสริมการศึกษาในระบบ  การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มาตรา 15 กำหนดนิยามการศึกษานอกระบบ เป็นการศึกษาที่มีความยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ระยะเวลา ของการศึกษา การวัดและประเมินผล ซึ่งเป็นเงื่อนสำคัญของการสำเร็จการศึกษา โดยเนื้อหาและหลักสูตรจะต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ดังนั้นการพัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 จึงเป็นการพัฒนาหลักสูตรที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสภาพปัญหา และความต้องการของบุคคลที่อยู่นอกโรงเรียน ซึ่งเป็นผู้มีความรู้และประสบการณ์จากการทำงานและการประกอบอาชีพ โดยกำหนดสาระการเรียนรู้ มาตรฐานการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้ การวัดและประเมินผล ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลุ่มเป้าหมายด้านจิตใจ ให้มีคุณธรรม ควบคู่ไปกับการพัฒนาการเรียนรู้ สร้างภูมิคุ้มกัน สามารถจัดการกับองค์ความรู้ ทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่น และเทคโนโลยี เพื่อให้ผู้เรียนสามารถปรับตัวอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา สร้างภูมิคุ้มกันตามแนวปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงรวมทั้งคำนึงถึงธรรมชาติการเรียนรู้ของผู้เรียน ที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และสอดคล้องกับสภาพ เศรษฐกิจ สังคม การเมือง การปกครอง ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีและการสื่อสาร

ปรัชญา

        หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  ยึดปรัชญา “คิดเป็น” มาใช้ในการจัดการศึกษา ปรัชญา”คิดเป็น” อยู่บนพื้นฐานความคิดที่ว่า ความต้องการของแต่ละบุคคลไม่เหมือนกัน แต่ทุกคนมีจุดรวมของความต้องการที่เหมือนกัน คือ  ทุกคนต้องการความสุข คนเราจะมีความสุขเมื่อตัวเรา ความรู้ทางวิชาการ สังคมและสิ่งแวดล้อม ผสมกลมกลืนกันได้ก็จะมีความสุข โดยคิดแบบพอเพียง พอประมาณ ไม่มากไม่น้อย เป็นทางสายกลาง สามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผล
       กระบวนการเรียนรู้ ตามปรัชญา “คิดเป็น” มีผู้เรียนสำคัญที่สุด โดยครูจะเป็นเพียงผู้จัดโอกาส กระตุ้นให้ผู้เรียนคิด วิเคราะห์ ปัญหาหรือความต้องการ มีการเรียนรู้จากข้อมูลจริงและตัดสินใจบนฐานข้อมูลที่เพียงพอและเชื่อถือได้ คือ ข้อมูลตนเอง วิชาการ ชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ถ้าหากสามารถทำให้ปัญหาหายไป กระบวนการก็ยุติลง ถ้ายังไม่พอใจแสดงว่ายังมีปัญหาอยู่ ก็จะเริ่มกระบวนการพิจารณาทางเลือกใหม่อีกครั้ง กระบวนการนี้ก็จะยุติลงเมื่อบุคคลพอใจและมีความสุข

หลักการ

หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 กำหนดหลักการไว้ดังนี้
      1. เป็นหลักสูตรที่มีโครงสร้างยืดหยุ่นด้านสาระการเรียนรู้ เวลาเรียน และการจัดการเรียนรู้โดยเน้นการบูรณาการเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความแตกต่างระหว่างบุคคล และชุมชน  สังคม
      2. ส่งเสริมให้มีการเทียบโอนผลการเรียนจากการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      3. ส่งเสริมให้ผู้เรียน ได้พัฒนาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยตระหนักว่าผู้เรียนมีความสำคัญ สามารถพัฒนาตนเองได้ตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ
      4.ส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา

จุดหมาย 

       หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนมีคุณธรรม จริยธรรม มีสติปัญญา มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีศักยภาพในการประกอบอาชีพและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ที่ต้องการ จึงกำหนดจุดหมายดังต่อไปนี้
      1. มีคุณธรรม จริยธรรม ค่านิยมที่ดีงามและสามารถอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสันติสุข
      2.มีความรู้พื้นฐานสำหรับการดำรงชีวิต และการเรียนรู้ต่อเนื่อง
      3.มีความสามารถในการประกอบสัมมาอาชีพให้สอดคล้องกับความสนใจ ความถนัดและตามทันความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ  สังคมและการเมือง
      4. มีทักษะการดำเนินชีวิตที่ดี และสามารถจัดการกับชีวิต ชุมชน  สังคมได้อย่างมีความสุขตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
      5. มีความเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทย ภูมิใจในความเป็นไทย โดยเฉพาะภาษา ศิลปะ วัฒนธรรม ประเพณี กีฬา ภูมิปัญญาไทย ความเป็นพลเมืองดี ปฏิบัติตนตามหลักธรรมของศาสนา ยึดมั่นในวิถีชีวิตและการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
      6. มีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ และพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
      7. เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้  มีทักษะในการแสวงหาความรู้ สามารถเข้าถึงแหล่งเรียนรู้และบูรณาการความรู้มาใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครว ชุมชน สังคมและประเทศชาติ

 

กลุ่มเป้าหมาย 

ประชาชนทั่วไปที่ไม่อยู่ในระบบโรงเรียน

โครงสร้าง

      เพื่อให้การจัดการศึกษาเป็นไปตามหลักการ จุดหมาย และมาตรฐานการเรียนรู้ ที่กำหนดไว้ให้สถานศึกษาและภาคีเครือข่ายมีแนวปฏิบัติในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา จึงได้กำหนดโครงสร้างของหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 ไว้ดังนี้

1. ระดับการศึกษา

ระดับการศึกษา แบ่งออกเป็นออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้คือ
1.1 ระดับประถมศึกษา
1.2 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น
1.3 ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย

2.สาระการเรียนรู้

 สาระการเรียนรู้ประกอบด้วย  5 สาระ ดังนี้
       1. สาระทักษะการเรียนรู้  เป็นสาระเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้วยตนเอง การใช้แหล่งเรียนรู้ การจัดการความรู้ การคิดเป็นและการวิจัยอย่างง่าย
       2. สาระความรู้พื้นฐาน เป็นสาระเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
       3. สาระการประกอบอาชีพ เป็นสาระเกี่ยวกับการมองเห็นช่องทางและการตัดสินใจประกอบอาชีพ ทักษะในอาชีพ การจัดการอาชีพอย่างมีคุณธรรมและการพัฒนาอาชีพให้มั่นคง
       4. สาระทักษะการดำเนินชีวิต เป็นสาระเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต  ศิลปะและสุนทรียภาพ
       5. สาระการพัฒนาสังคม เป็นสาระที่เกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ การเมือง การปกครอง  ศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี หน้าที่พลเมือง และการพัฒนาตนเอง ครอบครัว  ชุมชน  สังคม

3.กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

         กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตเป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคม 

4. มาตรฐานการเรียนรู้

          หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 กำหนดมาตรฐานการเรียนรู้  ตามสาระการเรียนรู้ทั้ง  5 สาระ ที่เป็นข้อกำหนดคุณภาพของผู้เรียน  ดังนี้
         1. มาตรฐานการเรียนรู้การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละสาระการเรียนรู้เมื่อผู้เรียนเรียนจบหลักสูตร การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช  2551 
         2. มาตรฐานการเรียนรู้ระดับ  เป็นมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละสาระการเรียนรู้  เมื่อผู้เรียนเรียนจบในแต่ละระดับ  ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 

5. เวลาเรียน

               ในแต่ละระดับใช้เวลาเรียน  4 ภาคเรียน ยกเว้นกรณีที่มีการเทียบโอนผลการเรียนทั้งนี้ ผู้เรียนต้องลงทะเบียนเรียนในสถานศึกษาอย่างน้อย 1 ภาคเรียน 

6. หน่วยกิต

            ใช้เวลาเรียน 40 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 1 หน่วยกิต

7. โครงสร้างหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

 

         สาระการเรียนรู้ จำนวนหน่วยกิต
ประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย
วิชาบังคับ วิชาเลือก วิชาบังคับ วิชาเลือก วิชาบังคับ วิชาเลือก
1. ทักษะการเรียนรู้

2. ความรู้พื้นฐาน

3. การประกอบอาชีพ

4. ทักษะการดำเนินชีวิต

 5. การพัฒนาสังคม

.

 5

12

 8

 5

 6

   5

16

 8

 5

 6

  5

20

8

5

6

 
รวม 36  12 40 16 44 32
48 หน่วยกิต 56 หน่วยกิต 76 หน่วยกิต
กิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต 100 ชั่วโมง 100 ชั่วโมง 100 ชั่วโมง 

หมายเหตุ วิชาเลือกในแต่ละระดับ สถานศึกษาต้องจัดให้กับผู้เรียน เรียนรู้จากการทำโครงงาน จำนวนอย่างน้อย  3 หน่วยกิต

 

หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วย
1) สาระการเรียนรู้ 5  สาระคือ ทักษะการเรียนรู้ ความรู้พื้นฐาน การประกอบอาชีพ ทักษะการดำเนินชีวิต และการพัฒนาสังคม
2) จำนวนหน่วยกิตในแต่ละระดับ ดังนี้            
      2.1) ระดับประถมศึกษา ไม่น้อยกว่า 48 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 36 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 12  หน่วยกิต
       2.2) ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ไม่น้อยกว่า 56 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 40 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 16 หน่วยกิต
       2.3) ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ไม่น้อยกว่า 76 หน่วยกิต แบ่งเป็นวิชาบังคับ 44 หน่วยกิต และวิชาเลือกไม่น้อยกว่า 32 หน่วยกิต
3) ผู้เรียนต้องทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับละไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง

1. สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ 

สาระและมาตรฐานการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ประกอบด้วยสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ ดังนี้

1) สาระทักษะการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 มาตรฐาน
มาตรฐานที่ 1.1 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการเรียนรู้ด้วยตนเอง
มาตรฐานที่ 1.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการใช้แหล่งเรียนรู้
มาตรฐานที่ 1.3 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการจัดการความรู้
มาตรฐานที่ 1.4 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการคิดเป็น
มาตรฐานที่ 1.5 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีต่อการวิจัยอย่างง่าย

2)สาระความรู้พื้นฐาน ประกอบด้วย 2 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 2.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร
มาตรฐานที่ 2.2 มีความรู้ ความเข้าใจ และทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3) สาระการประกอบอาชีพ ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 3.1  มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีในงานอาชีพ  มองเห็นช่องทางและตัดสินใจประกอบอาชีพได้ตามความต้องการ  และศักยภาพของตนเอง
มาตรฐานที่ 3.2  มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะในอาชีพที่ตัดสินใจเลือก
มาตรฐานที่ 3.3  มีความรู้ ความเข้าใจ ในการจัดการอาชีพอย่างมีคุณธรรม
มาตรฐานที่ 3.4  มีความรู้ ความเข้าใจ ในการพัฒนาอาชีพให้มีความมั่นคง

4) สาระทักษะการดำเนินชีวิต ประกอบด้วย 3 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 4.1 มีความรู้ ความเข้าใจ เจตคติที่ดีเกี่ยวกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและสามารถประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตได้อย่างเหมาะสม 
มาตรฐานที่ 4.2 มีความรู้ ความเข้าใจ ทักษะและเจตคติที่ดีเกี่ยวกับการดูแล ส่งเสริม  สุขภาพอนามัยและความปลอดภัยในการดำเนินชีวิต
มาตรฐานที่ 4.3 มีความรู้ ความเข้าใจ และเจตคติที่ดีเกี่ยวกับศิลปะและสุนทรียภาพ        

5) สาระการพัฒนาสังคม ประกอบด้วย 4 มาตรฐาน ดังนี้
มาตรฐานที่ 5.1 มีความรู้ ความเข้าใจ และตระหนักถึงความสำคัญเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ประวัติศาสตร์  เศรษฐศาสตร์  การเมือง  การปกครอง สามารถนำมาปรับใช้ในการดำรงชีวิต 
มาตรฐานที่ 5.2 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นคุณค่าและสืบทอดศาสนา วัฒนธรรม ประเพณี เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข
มาตรฐานที่ 5.3 ปฏิบัติตนเป็นพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย มีจิตสาธารณะ เพื่อความสงบสุขของสังคม
มาตรฐานที่ 5.4 มีความรู้ ความเข้าใจ เห็นความสำคัญของหลักการพัฒนา และสามารถพัฒนาตนเอง ครอบครัว  ชุมชน/สังคม

หมายเหตุ  สาระการเรียนรู้ความรู้พื้นฐาน  มาตรฐานที่  2.1 มีความรู้ความเข้าใจทักษะพื้นฐานเกี่ยวกับภาษาและการสื่อสาร  ซึ่งภาษาในมาตรฐานนี้หมายถึง  ภาษาไทย และภาษาต่างประเทศ

 

ตอนที่ 2 การจัดการเรียนรู้

1. วิธีการจัดการเรียนรู้

  การศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานมีวิธีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลายดังนี้                 

1) การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองตามรายวิชาที่ลงทะเบียนเรียน โดยมีครูเป็นที่ปรึกษาและให้คำแนะนำในการการศึกษาหาความรู้ด้วยตนเอง ภูมิปัญญา ผู้รู้ และสื่อต่าง ๆ

2)  การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปรายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และหาข้อสรุปร่วมกัน

3)  การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยที่ผู้เรียนและครูจะสื่อสารกันทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ หรือถ้ามีความจำเป็นอาจพบกันเป็นครั้งคราว

4 ) การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ ที่ชัดเจน ซึ่งวิธีการจัดการเรียนรู้เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียน

5 )  การเรียนรู้ตามอัธยาศัย เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ตามความต้องการ และความสนใจ จากสื่อเอกสาร สื่ออิเล็กทรอนิกส์ หรือจากการฝึกปฏิบัติตามแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ 

แล้วนำความรู้และประสบการณ์มาเทียบโอนเข้าสู่หลักสูตรการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

6 ) การเรียนรู้จากการทำโครงงาน เป็นวิธีการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนกำหนดเรื่องโดยสมัครใจ ตามความสนใจ ความต้องการ หรือสภาพปัญหา ที่จะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า ทดลอง ลงมือปฏิบัติจริง และมีการสรุปผลการดำเนินการตามโครงการ โดยมีครูเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำ อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ และกระตุ้นเสริมแรงให้เกิดการเรียนรู้

7 ) การเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ สถานศึกษาสามารถออกแบบวิธีการจัดการเรียนรู้ในรูปแบบ อื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียน

          วิธีการจัดการเรียนรู้ดังกล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนร่วมกันกำหนดวิธีเรียนโดยเลือกเรียนวิธีใดวิธีหนึ่ง หรือหลายวิธีก็ได้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหา และสอดคล้องกับวิถี ชีวิต และการทำงานของผู้เรียน โดยขณะเดียวกันสถานศึกษาสามารถจัดให้มีการสอนเสริมได้ทุกวิธีเรียน เพื่อเติมเต็มความรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้

2.  การจัดกระบวนการเรียนรู้ 

       การจัดกระบวนการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งพัฒนาให้ผู้เรียนสู่ความเป็นคน “คิดเป็น” โดยเน้นพัฒนาทักษะการแสวงหาความรู้ ประยุกต์ใช้ความรู้ และสร้างองค์กรความรู้สำหรับตนเอง และชุมชน สังคม ซึ่งกำหนดการจัดกระบวนการเรียนรู้ กศน. หรือ ONIE MODEL ซึ่งเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่จัดขึ้นอย่างเป็นระบบตามปรัชญา “คิดเป็น” ประกอบด้วย 4 ขั้นตอน ดังนี้  

ขั้นที่ 1 กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ (O: Orientation)
ขั้นที่ 2 แสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)
ขั้นที่ 3 ปฏิบัติและนำไปประยุกต์ใช้ (I: Implementation)
ขั้นที่ 4 ประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)

 ขั้นที่ 1  กำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้  (O: Orientation)

เป็นการเรียนรู้จากสภาพ ปัญหา หรือความต้องการของผู้เรียน และชุมชน สังคม โดยให้เชื่อมโยงกับประสบการณ์เดิม และสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตร

ขั้นตอนการเรียนรู้ 
1)  ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดสภาพ ปัญหา ความต้องการในการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะได้มาจากสถานการณ์ในขณะนั้น หรือเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง หรือเป็นประเด็นที่กำลังขัดแย้ง และกำลังอยู่ในความสนใจของชุมชน ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้ผู้เรียนกระตือรือร้นที่คิดจะหาทางออกของปัญหา หรือความต้องการนั้น ๆ
2)  ทำความเข้าใจกับสภาพ ปัญหา ความต้องการในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้ โดยดึงความรู้และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน เน้นการมีส่วนร่วม มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สะท้อนความคิดและอภิปรายโดยให้เชื่อมโยงกับความรู้ใหม่
3)  วางแผนการเรียนรู้ที่เหมาะสม โดยกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดสามารถมองเห็นแนวทางในการค้นพบความรู้หรือคำตอบได้ด้วยตนเอง         

ขั้นที่ 2  ขั้นแสวงหาข้อมูลและจัดการเรียนรู้ (N: New ways of learning)

        การแสวงหาข้อมูล และจัดการเรียนรู้ โดยศึกษา ค้นคว้าหาความรู้ และรวบรวมข้อมูลของตนเอง ข้อมูลของชุมชน สังคม และข้อมูลทางวิชาการ จากสื่อและแหล่งเรียนรู้ที่หลากหลายมีการระดมความคิดเห็น วิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล และสรุปเป็นความรู้

ขั้นตอนการเรียนรู้  
1) ผู้เรียนแสวงหาความรู้ตามแผนการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ โดยเน้นการเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้ผ่านประสบการณ์ กระบวนการกลุ่ม ศึกษาจากผู้รู้ /ภูมิปัญญาและวิธีอื่น ๆ ที่เหมาะสม
2) ครูและผู้เรียนร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และสรุปความรู้เบื้องต้น โดยใช้คำถามปลายเปิดในการชวนคิด ชวนคุย เป็นเครื่องมือ ด้วยกระบวนการการระดมสมอง สะท้อนความคิดและอภิปราย
3) ผู้เรียนนำความรู้ที่ได้ไปตรวจสอบความถูกต้อง เพื่อประเมินความเป็นไปได้โดยวิธีต่าง ๆ เช่น การทดลอง การทดสอบ การตรวจสอบกับผู้รู้

ขั้นที่ 3 การปฏิบัติแลละนำไปประยุกต์ใช้ ( I: Implementation)

       นำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติ และประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เหมาะสมกับวัฒนธรรมและสังคม

ขั้นตอนการเรียนรู้ 
ผู้เรียนปฏิบัติตามขั้นตอน โดยสังเกตปรากฏการณ์ จดบันทึก และสรุปผล เก็บรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน ระหว่างดำเนินการต้องมีการตรวจสอบหาข้อบกพร่อง และรวบรวมไว้ในแฟ้มสะสมงาน

ขั้นที่ 4 การประเมินผลการเรียนรู้ (E: Evaluation)

         ประเมิน ทบทวน แก้ไขข้อบกพร่อง ผลจากการนำความรู้ไปประยุกต์ใช้แล้วสรุปเป็นความรู้ใหม่ พร้อมกับเผยแพร่ผลงาน

         ขั้นตอนการเรียนรู้ ครู และผู้เรียนนำแฟ้มสะสมงาน และผลงานที่ได้จากกการปฏิบัติมาใช้เป็นสารสนเทศในการประเมินคุณภาพการเรียนรู้ 

1) ครูและผู้เรียนร่วมกันสร้างเกณฑ์การประเมินคุณภาพการเรียนรู้
2) ครู ผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องร่วมกันประเมิน พัฒนาการเรียนรู้ให้เป็นไปตามเกณฑ์คุณภาพการเรียนรู้

         การจัดกระบวนการเรียนรู้ ทั้ง 4 ขั้นตอนเป็นวงจรของกระบวนการเรียนรู้ ตามปรัชญาคิดเป็น ซึ่งสถานศึกษาสามารถปรับใช้ ขั้นตอนการเรียนรู้ได้อย่างเหมาะสมตามสภาพของรายวิชา หรือเงื่อนไขอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้เรียน

3. สื่อการเรียนรู้

         ในการจัดการเรียนรู้เน้นให้ผู้เรียนแสวงหาความรู้ได้ด้วยตนเอง โดยการใช้สื่อการเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้แก่  สื่อสิ่งพิมพ์  สื่ออิเล็กทรอนิกส์  สื่อบุคคล  ภูมิปัญญา  แหล่งเรียนรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ชุมชนและแหล่งเรียนรู้อื่น ๆ ผู้เรียน ครู สามารถพัฒนาสื่อการเรียนรู้ขึ้นเองหรือนำสื่อต่าง ๆ ที่มีอยู่ใกล้ตัวและข้อมูลสารสนเทศที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการเรียนรู้  โดยใช้วิจารณญาณในการเลือกใช้สื่อต่าง ๆ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้การเรียนรู้เป็นไปอย่างมีคุณค่า  น่าสนใจ  ชวนคิด ชวนติดตาม เข้าใจง่าย เป็นการากระตุ้นให้ผู้เรียนรู้จักวิธีการแสวงหาความรู้  เกิดการเรียนรู้อย่างกว้างขวาง  ลึกซึ้งและต่อเนื่องตลอดเวลา

4. การเทียบโอน

         สถานศึกษาต้องจัดให้มีการเทียบโอนผลการเรียน  หรือเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียน ให้เป็นส่วนหนึ่งของผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช  2551 โดยสถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบหรือแนวปฏิบัติการเทียบโอนให้สอดคล้องกับแนวทางการเทียบโอนที่สำนักงาน กศน.กำหนด

5.การวัดและประเมินผลการเรียน

        การวัดและประเมินผลการเรียน  เป็นกระบวนการที่ให้ได้มาซึ่งข้อมูลสารสนเทศที่แสดงถึงการพัฒนา  ความก้าวหน้า  ความสำเร็จ  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียน และข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาและเรียนรู้ได้เต็มศักยภาพ เกิดทักษะกระบวนการและค่านิยมที่พึงประสงค์ ซึ่งสถานศึกษาในฐานะเป็นผู้รับผิดชอบการจัดการศึกษา  จะต้องจัดทำระเบียบและแนวปฏิบัติในการวัดและประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา  เพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน
         1) การวัดและประเมินผลรายวิชา เป็นการประเมินผลการเรียนรายวิชา สถานศึกษาต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน เพื่อให้ทราบว่าผู้เรียนมีความก้าวหน้าทางด้านความรู้ ทักษะ กระบวนการ  คุณธรรม  และค่านิยมอันพึงประสงค์อันเป็นผลเนื่องมาจากการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพียงใด และต้องมีการประเมินผลรวมเพื่อทราบว่าผู้เรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนบรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้หรือไม่อย่างไร  ดังนั้นการวัดและประเมินผลจึงต้องใช้เครื่องมือและวิธีการที่หลากหลายให้สอดคล้องกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
         2 ) การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นการประเมินสิ่งที่ผู้เรียนปฏิบัติเพื่อการพัฒนาตนเอง  ครอบครัว ชุมชน สังคม โดยพิจารณาทั้งเวลาการเข้าร่วมกิจกรรม การปฏิบัติกิจกรรมและผลจากการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนด
         3) การประเมินคุณธรรม เป็นการประเมินสิ่งที่ต้องการปลูกฝังในตัวผู้เรียน โดยประเมินจากกิจกรรมการเรียนรู้ทางด้านการพัฒนาตน การพัฒนางาน  การอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างมีความสุข  การพัฒนาคุณภาพชีวิต  การเข้าร่วมกิจกรรม การเรียนรู้ในรายวิชาต่าง ๆ และกิจกรรมในลักษณะอื่น ๆ ที่สถานศึกษาจัดขึ้น เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมให้เกิดขึ้นกับผู้เรียน
         4) การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ สถานศึกษาต้องจัดให้ผู้เรียนเข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ ในภาคเรียนสุดท้ายของทุกระดับการศึกษาในสาระการเรียนรู้ที่สำนักงาน กศน.กำหนด การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติมีวัตถุประสงค์เพื่อทราบผลการเรียนของผู้เรียนสำหรับนำไปใช้ในการวางแผนปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษานอกระบบต่อไป การประเมินดังกล่าวไม่มีผลต่อการได้หรือตกของผู้เรียน

6. การจบหลักสูตร

         ผู้จบการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  พุทธศักราช 2551 ในแต่ละระดับการศึกษาต้องผ่านเกณฑ์การจบหลักสูตร ดังนี้
         1) ผ่านการประเมินและได้รับผลการตัดสินการเรียนตามเกณฑ์ที่สถานศึกษากำหนดทั้ง 5 สาระการเรียนรู้ และได้ตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดตามโครงสร้างหลักสูตร
         2) ผ่านกระบวนการประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตไม่น้อยกว่า 100 ชั่วโมง
         3) ผ่านกระบวนการประเมินคุณธรรม
         4) เข้ารับการประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

7.เอกสารหลักฐานการศึกษา

     เอกสารหลักฐานการศึกษาให้เป็นไปตามที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด  สถานศึกษาทุกแห่งต้องใช้เอกสารหลักฐานการศึกษาเหมือนกัน  เพื่อประโยชน์ในการสื่อความเข้าใจที่ตรงกันและการส่งต่อได้แก่

1) ระเบียนแสดงผลการเรียน
2) หลักฐานแสดงวุฒิการศึกษา(ประกาศนียบัตร)
3) แบบรายงานผู้สำเร็จการศึกษา

          เอกสารหลักฐานการศึกษาอื่น ๆ  สถานศึกษาต้องพิจารณาจัดทำเพื่อใช้ประกอบการจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตามที่เห็นสมควร เช่น แบบประเมินผลกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต

เอกสารอ้างอิง

       สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.(2551). หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพฯ : ม.ป.พ.

อ้างอิงบทความนี้ อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: การจัดการศึกษานอกระบบ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551  https://panchalee.wordpress.com/2010/12/28/non-formal

*******************

กศน.ตำบล: แหล่งเรียนรู้ของชุมชน

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
24 ธันวาคม 2553

ตอนที่ 1 บทนำ                                                                   

1. ความเป็นมา

          การปฏิรูปการศึกษาในทศวรรษที่สอง(พ.ศ. 2552-2561) ได้ให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาและการเรียนรู้ โดยมุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษาและการเรียนรู้ของคนไทย เพิ่มโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพและส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนของสังคมในการบริหารจัดการเพื่อให้คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิต ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยอย่างมีคุณภาพ ให้บรรลุวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้ “คนไทยได้เรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างมีคุณภาพ”

           กระทรวงศึกษาธิการ จึงได้มีนโยบายให้มีการจัดตั้ง กศน.ตำบลขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์การเรียนรู้ระดับตำบล เป็นแหล่งเรียนรู้ สำหรับประชาชนเพื่อประชาชนได้ใช้ในการแสวงหาความรู้เพื่อให้เกิดสังคมแห่งการเรียนรู้

2. ความหมาย

           กศน.ตำบล หมายถึง  หน่วยจัดกิจกรรมการเรียนรู้การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่ตั้งอยู่ในระดับตำบล/แขวง

3. หลักการ

          หลักการทำงาน กศน. ตำบล ยึดชุมชนเป็นฐานในการทำงานและการเรียนรู้ โดยใช้ต้นทุนของชุมชน เช่น อาคาร สถานที่ แหล่งวิทยาการ ภูมิปัญญาท้องถิ่น วัฒนธรรมประเพณี มีการประสานเครือข่ายในชุมชนร่วมจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยส่งเสริม สนับสนุนให้ทุกภาคส่วนในชุมชน/สังคม เข้ามามีส่วนร่วมเป็นภาคีเครือข่ายในการดำเนินการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล ทั้งในฐานะผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ มีส่วนร่วมเป็นเจ้าของ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมแก้ปัญหา บูรณาการกระบวนการเรียนรู้ และจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมมชน มีคณะกรรมการ กศน. ตำบล ที่เป็นคนในชุมชนให้การส่งเสริมสนับสนุน ติดตามดูแลและร่วมประเมินผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล

4.วัตถุประสงค์

     กศน. ตำบล จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ ดังนี้

       1) เพื่อเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการศึกษาตลอดชีวิตอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
       2) เพื่อสร้างและขยายภาคีเครือข่ายในการมีส่วนร่วมการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในชุมชน
       3) เพื่อส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของภาคีเครือข่าย
       4) เพื่อประสานและเชื่อมโยงการดำเนินงานจัดการศึกษาร่วมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชนและภาคประชาชน

 

ตอนที่ 2 การดำเนินงาน กศน.ตำบล

1. การบริหารจัดการ

      มีแนวทางในการดำเนินงาน ดังนี้

     1) ด้านอาคารสถานที ปรับปรุงอาคารสถานที่ทั้งภายในและภายนอกให้มีความพร้อมในการให้บริการให้มีความสะอาด ร่มรื่น สวยงาม ปลอดภัย เหมาะสมและมีบรรยากาศเอื้อต่อการส่งเสริมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
      2) ด้านวัสดุ ครุภัณฑ์ จัดหา วัสดุ และครุภัณฑ์ พื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ที่ทันสมัย เพียงพอกับความต้องการ เช่น คอมพิวเตอร์สำหรับบริการสืบค้นข้อมูล โปรเจ็กเตอร์เครื่องเล่นดีวีดี อุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม วิทยุ ฯลฯ และดูแล บำรุงรักษาวัสดุ และครุภัณฑ์ ให้อยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งาน
     3) จัดหาสื่อการเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ ทั้งสื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ และ สื่ออิเล็กทรอนิกส์
     4) ด้านบุคลากร

           หัวหน้า กศน. ตำบล ดำเนินการส่งเสริมสนับสนุน และประสานการทำงานกับครู ศรช. ชุมชนและภาคีเครือข่าย ปฏิบัติหน้าที่ประจำ ในพื้นที่ กศน. ตำบล ที่รับผิดชอบได้รับการอบรมพัฒนาอย่างเป็นระบบและต่อเนื่องตามแผนที่ อำเภอหรือจังหวัด กำหนด
            ครู กศน. จัดกิจกรรม กศน. ในหมู่บ้าน/ชุมชน ที่รับผิดชอบ ประสานการทำงานร่วมกับหัวหน้า กศน.ตำบล ชุมชนและภาคีเครือข่าย
            คณะกรรมการ กศน. ตำบล  ดำเนินการสรรหา คณะกรรมการ กศนตำบล ตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงาน กศน. กำหนด สร้างความรู้ความเข้าใจให้แก่คณะกรรมการ กศน. ตำบล เกี่ยวกับการดำเนินงาน กศน. ตำบล เสริมสร้างแรงจูงใจและความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล.ทำหน้าที่เป็นเลขานุการ ในการจัดประชุมคณะกรรมการ กศน. ตำบล
            อาสาสมัคร กศน. ตำบล  ดำเนินการสรรหาและ เสริมสร้างแรงจูงใจ ในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน. ตำบล
            ภาคีเครือข่าย  แสวงหา รวบรวมและจัดทำทำเนียบภาคีเครือข่ายในระดับตำบล สร้างความเข้าใจให้แก่ภาคีเครือข่ายเกี่ยวกับการดำเนินงาน กศน.ตำบล เสริมสร้างแรงจูงใจและความพร้อมในการเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม กศน.ตำบล

2. กิจกรรมหลักของ กศน. ตำบล

1)  ศูนย์ข้อมูลข่าวสารของชุมชน (Information center)

         1.1) พัฒนาระบบฐานข้อมูและสารสนเทศระดับชุมชน ให้ครบถ้วน ถูกต้อง ทันสมัยโดยใช้แบบเก็บข้อมูลของสำนักงาน กศน. จัดเก็บข้อมูลให้ครบถ้วน เป็นปัจจุบัน ประมวลผลเป็นรายตำบล จัดทำระบบฐานข้อมูลสารสนเทศ และนำมาใช้ในการบริหารจัดกิจกรรม
         1.2) จัดทำแผนพัฒนคุณภาพ กศน. ตำบล และแผนปฏิบัติการประจำปี  นำเสนอแผน ต่อคณะกรรมการ กศน. ตำบล และภาคีเครือข่าย และเสนอแผนให้ กศน. อำเภอ /เขตพิจารณา อนุมัติ
         1.3) เสนอความรู้ข้อมูลข่าวสารสารสนเทศของชุมชนให้ถูกต้องและทันสมัยโดยเสนอข้อมูลสารสนเทศที่มีความจำเป็นต่อการดำรงชีวิตประจำวัน เช่นข้อมูลเกี่ยวกับ แหล่งเรียนรู้ในชุมชนการตลาดชุมชน สินค้าชุมชน ฯลฯ จัดทำข้อมูลสารสนเทศเผยแพร่ในรูปแบบต่างๆ เช่น เอกสาร แผนภูมิ แผ่นป้ายประชาสัมพันธ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ เว็บไซต์ เป็นต้น

2) ศูนย์สร้างโอกาสการเรียนรู้ (Opportunity Center)

          2.1) ประสานความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย โดยประสานงาน/วางแผนร่วมกับภาคีเครือข่าย ในชุมชน เช่นคณะกรรมการชุมชน อบต. พัฒนาที่ดิน สถานีอนามัย พัฒนากรตำบล สหกรณ์ ปศุสัตว์ประมง ตำรวจกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน วัด มัสยิด โรงเรียน ฯลฯ เพื่อจัดกิจกรรมบริการชุมชน รวบรวมและเผยแพร่องค์ความรู้ของภาคีเครือข่าย ในการจัดการเรียนรู้
          2.2) เชื่อมโยงรูปแบบการให้บริการของหน่วยงานภาคีเครือข่าย กับ กศน. ตำบลโดย ส่งเสริมและหรือจัดกิจกรรมร่วมกับภาคีเครือข่าย เช่น ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it center)(สอศ.) ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน (กระทรวงไอซีที) มุมวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (สสวท.) บริการหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ธนาคารเคลื่อนที่ การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย อำเภอเคลื่อนที่ ฯลฯ พัฒนารูปแบบกิจกรรมให้หลากหลายและสอดคล้องกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายในชุมชนเพื่อสร้างโอกาส การเรียนรู้ให้กับประชาชน
          2.3) พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารโดยจัดทำเว็บไซด์ กศน.ตำบลใช้ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการติดต่อกับผู้เรียน/ผู้รับบริการ สืบค้น รวบรวมและการเผยแพร่ข้อมูลทางอินเตอร์เน็ต และแหล่งข้อมูลอื่นๆ

3) ศูนย์การเรียนชุมชน (Learning Center) 

     3.1) ออกแบบกิจกรรม/โปรแกรมการศึกษา ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายโดย กศน. ตำบล และกศน. อำเภอ ร่วมกับกลุ่มเป้าหมายในการออกแบบกิจกรรม/โปรแกรมหรือโครงการ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ ของกลุ่มเป้าหมายและชุมชน.  กิจกรรม/โปรแกรมหรือโครงการควรมีลักษณะที่บูรณาการระหว่างวิถีชีวิต การทำงานและการเรียนรู้
      3.2) จัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้แก่ประชาชนกลุ่มเป้าหมายในชุมชน 

           3.2.1) ส่งเสริมการรู้หนังสือ โดยจัดทำแผนการแก้ปัญหาผู้ไม่รู้หนังสือสำหรับกลุ่มเป้าหมาย ในตำบลอย่างชัดเจน จัดกิจกรรมส่งเสริมการรู้หนังสือ ในกลุ่มเป้าหมายอายุ ๑๕ – ๕๙ ปี เป็นลำดับแรก
           3.2.2) การศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน จัดทำแผนยกระดับการจัดการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โดยจำแนกกลุ่มเป้าหมายให้ชัดเจน เช่น ผู้เรียนที่ออกกลางคัน เด็กเร่ร่อน
ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ กลุ่มผู้ย้ายถิ่น ผู้นำท้องถิ่น กลุ่มอาชีพประชากรวัยแรงงาน เป็นต้น วางแผนการจัดการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดกิจกรรมการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และรายงานผลการดำเนินงาน
           3.2.3) การศึกษาต่อเนื่อง 
              การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ จะต้องให้ความสำคัญและดำเนินการ จัดการศึกษาต่อเนื่องประเภทการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพเป็นลำดับแรกโดย จัดทำแผนจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ/หลักสูตรอาชีพระยะสั้น ที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชนโดยเน้นการเพิ่มทักษะทางด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่และอาชีพใหม่ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน
              การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต จัดทำแผนการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นของผู้เรียนและชุมชน เช่น การป้องกันสาธารณภัย สุขภาพอนามัย ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน คุณธรรมจริยธรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นต้น
              การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน จัดทำแผนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนใช้รูปแบบ ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยการฝึกอบรม การประชุมสัมมนา การจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรูปแบบอื่นๆที่เหมาะสม เช่น จัดกิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย จัดกระบวนการเรียนรู้ในการเป็นพลเมืองดีของชุมชน สังคม ของประเทศ เพื่อนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ เศรษฐกิจชุมชน และการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และ จัดการศึกษาต่อเนื่องโดยใช้หลักสูตรบูรณาการ เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนตามแนวทางหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
            3.2.4)  การศึกษาตามอัธยาศัย
               การส่งเสริมการอ่านโดย จัดทำแผนการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ในรูปแบบต่างๆ เช่น ครอบครัว
รักการอ่าน มุมส่งเสริมการอ่านในชุมชน กศน.ตำบลเคลื่อนที่ อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน กระเป๋าความรู้สู่ชุมชน หีบหนังสือสู่หมู่บ้าน จุดบริการการอ่านชุมชน มุมอ่านหนังสือที่ท่ารถ ร้านเสริมสวย ร้านตัดผม สถานีอนามัย เป็นต้น
              จัดบริการสื่อ โดยจัดบริการสื่อประเภทต่าง       ๆ ที่เหมาะสมและหลากหลาย เช่น สื่อสิ่งพิมพ์ (นสพ.) สื่ออิเล็กทรอนิกส์ สื่อสาธิต สื่อทดลอง วิทยุชุมชน หอกระจายข่าว เป็นต้น บริการ Student Channel เพื่อเสริมศักยภาพให้กับโรงเรียนดีประจำตำบล บริการการศึกษาทางไกล (ETV) ให้กับนักศึกษา กศน. และประชาชนทั่วไป

4) ศูนย์ชุมชน (Community Center)

         จัดและส่งเสริมให้ กศน. ตำบล เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรมของชุมชนเช่น เวทีชาวบ้าน สภากาแฟ สถานที่พบปะเสวนา แลกเปลี่ยนความคิดเห็น ตลาดนัดอาชีพ กิจกรรมศาสนา วัฒนธรรม เวทีประชาธิปไตย กีฬา ฯลฯโดยครู กศน.ตำบลเป็นผู้ดำเนินการร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ทั้ง อบต. อบจ. เทศบาล ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน รวมทั้งอาสาสมัคร ในชุมชน เช่น อาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) อาสาสมัคร กศน. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน ภูมิปัญญาท้องถิ่น ข้าราชการบำนาญ เยาวชน ผู้นำท้องถิ่น ในการจัดกิจกรรม เกิดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้

3. การมีส่วนร่วมของชุมชน

การมีส่วนร่วมของชุมชน มีแนวทางในการดำเนินการ ดังนี้
         1) ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างกระแสให้ประชาชนและทุกภาคส่วนของชุมชนเห็นความสำคัญและเข้าร่วมในการดำเนินกิจกรรม กศน. ตำบล และจัดให้มีการยกย่องเชิดชูเกียรติ เป็นต้น
         2) ส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและพัฒนางาน กศน.ตำบล อย่างต่อเนื่องและมีส่วนร่วมในการนิเทศ ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
         3) เสริมสร้างและพัฒนาระบบเครือข่ายการเรียนรู้ ภายในตำบล และระหว่างตำบล เช่น แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โรงเรียนดีประจำตำบลศูนย์ ICT ตำบล เป็นต้น

4. การนิเทศ ติดตามและรายงานผล 

         1) การนิเทศ ติดตามผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยจัดทำแผนการนิเทศ ติดตามผลการจัดกิจกรรมในพื้นที่ ประสานภาคีเครือข่ายร่วมนิเทศ ติดตามผล จัดให้มีประชานิเทศกิจกรรมในพื้นที่
         2) การรายงานผลการจัดกิจกรรมตามแผนปฏิบัติการประจำปี โดยจัดทำปฏิทินการรายงานผลการจัดกิจกรรมจัดเก็บข้อมูลและรวบรวมผลการจัดกิจกรรม จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงาน รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามแบบและระยะเวลาที่กำหนด และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กศน. ตำบล

 

ตอนที่ ๓ บทบาทหน้าที่

          กศน.ตำบล มีบทบาทสำคัญในการจัดและส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตของประชาชน และสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ในชุมชน โดยมีหัวหน้า กศน.ตำบล เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงาน กศน.ตำบล ดังนี้

1. บทบาทหน้าที่ของหัวหน้า กศน. ตำบล

1) การวางแผนจัดทำฐานข้อมูลชุมชน  จัดทำแผนพัฒนา กศน. ตำบล และจัดทำแผนปฏิบัติการประจำปี
2) การจัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

         จัดและส่งเสริมการศึกษานอกระบบ ได้แก่ การส่งเสริมการรู้หนังสือการศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน และ การศึกษาต่อเนื่อง
        จัดและส่งเสริมการศึกษาตามอัธยาศัย ได้แก่ ส่งเสริมการอ่าน จัดและพัฒนาแหล่งเรียนรู้ บริการข่าวสารข้อมูล และสื่อที่หลากหลาย จัดและส่งเสริมกิจกรรมห้องสมุดประชาชนตำบล ห้องสมุดชุมชน มุมหนังสือบ้าน

3) บริการการเรียนรู้ในชุมชนร่วมกับภาคีเครือข่าย

ศูนย์ซ่อมสร้างเพื่อชุมชน (Fix it Center) ร่วมกับ (สอศ.)
– ชมรมคุ้มครองผู้บริโภค ร่วมกับ (สคบ.)
ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน ร่วมกับ (กระทรวงไอซีที)
 
– มุมวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตร่วมกับ (สสวท.)
– หน่วยแพทย์เคลื่อนที่ ร่วมกับโรงพยาบาล สถานีอนามัย
– ธนาคารเคลื่อนที่
– การป้องกันบรรเทาสาธารณภัย ร่วมกับกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย
-อำเภอเคลื่อนที่ ร่วมกับอำเภอ

4) สร้างและพัฒนาภาคีเครือข่ายการเรียนรู้ในชุมชน โดยการประสานขอความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย องค์กรชุมชนผู้รู้ ผู้ทรงคุณวุฒิ ตลอดจนภูมิปัญญาท้องถิ่น เพื่อร่วมเป็นอาสาสมัคร กศน. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน เป็นต้น
5) ประชาสัมพันธ์และเผยแพร่แผนงาน โครงการ กิจกรรมและผลการดำเนินงานของ กศน. ตำบล ในรูปแบบต่างๆ
6) รายงานผลการปฏิบัติงาน รายงานข้อมูลที่เกี่ยวข้องตามแบบรายงานและระยะเวลาที่กำหนด และรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีของ กศน. ตำบล

2. บทบาทหน้าที่ของ กศน. อำเภอ / เขต ที่มีต่อ  กศน. ตำบล

1) สร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายจุดเน้นของ สำนักงาน กศน.
2) สนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติงานประจำปี ของ กศน. ตำบล
3) จัดซื้อ จัดหาสื่อ วัสดุ อุปกรณ์ ที่จำเป็นต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้และการให้บริการ
4) พัฒนาหัวหน้า กศน. ตำบล อาสาสมัคร กศน. ตำบล และคณะกรรมการ กศน. ตำบล
5) ประสานภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจัดกิจกรรมระดับตำบล
6) ร่วมกับ กศน. ตำบล จัดกิจกรรมการเรียนรู้
7) จัดและพัฒนาระบบงานธุรการของ กศน. ตำบล
8) นิเทศ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
9) สรุป วิเคราะห์ ผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล ในระดับอำเภอ รายงานสำนักงาน กศน.
10) เสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ในรูปแบบต่างๆ

3. บทบาทหน้าที่ของ สำนักงาน กศน. จังหวัด/กทม. ที่มีต่อ กศน. ตำบล

1) ชี้แจงนโยบายจุดเน้นการดำเนินงาน
2) สนับสนุนงบประมาณตามแผนปฏิบัติงานประจำปี ของ กศน. ตำบล
3) พัฒนาหัวหน้า กศน. ตำบล อาสาสมัคร กศน. ตำบล และคณะกรรมการ กศน. ตำบล
4) ประสานภาคีเครือข่ายระดับจังหวัดเข้าร่วมจัดกิจกรรมระดับตำบล
5) จัดและพัฒนาระบบงานธุรการของ กศน. ตำบล
6) กำกับ ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน กศน. ตำบล
7) เสริมสร้างแรงจูงใจในการปฏิบัติงาน ในรูปแบบต่างๆ

4. บทบาทหน้าที่ของ สถาบัน กศน. ภาค ที่มีต่อ กศน. ตำบล

1) สนับสนุนสื่อการเรียนรู้
2) ร่วมพัฒนาหลักสูตรการจัดการศึกษานอกระบบ
3) จัดเวทีแสดงผลงานทางวิชาการระดับภาค
4) ร่วมพัฒนาครู กศน. ตำบล
5) วิจัยเพื่อการพัฒนาการดำเนินงาน กศน. ตำบล

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.(2553)คู่มือปฏิบัติงานครู กศน. ตำบล. กรุงเทพฯ : สำนักงาน กศน.

Download

อ้างอิงบทความนี้ อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: กศน.ตำบล: แหล่งเรียนรู้ของชุมชน https://panchalee.wordpress.com/2010/12/23/nfe-tumbon/

**************************************

การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในปัจจุบัน(1)

                   

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ 
21 ธันวาคม 2553

1.พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551

1.1 ความหมาย ของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

          พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ได้ให้ความหมาย การศึกษานอกระบบและการศึกตามอัธยาศัยในมาตรา 4 ไว้ดังนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ.2551:3-4)

           การศึกนอกระบบ หมายความว่ากิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในการเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้นและมีวิธีการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษาหรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้

          การศึกษาตามอัธยาศัย หมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิติประจำวันของบุคคล ซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่าต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

1.2 หลักการ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

         หลักการส่งเสริมสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ยึด หลัก ดังต่อไปนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ.2551:8-9)

        1) การศึกษานอกระบบ

1.1) ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั่วถึงเป็นธรรม และมีคุณภาพ เหมาะสมกับสภาพชีวิตของประชาชน
1.2) การกระจายอำนาจแก่สถานศึกษาและการให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาเรียนรู้

    2) การศึกษาตามอัธยาศัย

2.1) การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย
2.2) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีความหลากหลายทั้งส่วนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่วนที่นำ เทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา
2.3) การจัดกรอบหรือแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้เรียน

1.3 เป้าหมายของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

       เป้าหมายในการส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีดังต่อไปนี้ (กระทรวงศึกษาธิการ.2551:10 -11)

1) การศึกษานอกระบบ

1.1) ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนและสังคม ที่ใช้ความรู้และภูมิปัญญาเป็นฐานในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ตามแนวทางการพัฒนาประเทศ
1.2) ภาคีเครือข่ายเกิดแรงจูงใจและมีความพร้อมในการมีส่วนร่วมเพื่อจัดกิจกรรมการศึกษา

2) การศึกษาตามอัธยาศัย

2.1) ผู้เรียนได้รับความรู้และทักษะพื้นฐานในการแสวงหาความรู้ที่จะเอื้อต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2.2) ผู้เรียนได้เรียนรู้สาระที่สอดคล้องกับความสนใจและความจำเป็นในการยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
2.3) ผู้เรียนสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ประโยชน์และเทียบโอนผลการเรียนกับการศึกษาในระบบและการศึกษานอกระบบ

1.4 อำนาจหน้าที่ของ สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

             พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดไว้ในมาตรา 14 ให้มีสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ขึ้นในสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน กศน.” โดยมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้(กระทรวงศึกษาธิการ.2551: 22-25)

1) เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และรับผิดชอบงานธุรการของคณะกรรมการ
2) จัดทำข้อเสนอแนะนโยบาย ยุทธศาสตร์ แผน และมาตรฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยต่อคณะกรรมการ
3) ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการพัฒนาคุณภาพทางวิชาการ การวิจัย การพัฒนา หลักสูตรและนวัตกรรมทางการศึกษา บุคลากรและระบบข้อมูลข่าวสารสนเทศที่เกี่ยวข้องกับการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
4) ส่งเสริม สนับสนุน และดำเนินการเทียบโอนผลการเรียน การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ และการเทียบระดับการศึกษา
5) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานให้บุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และองค์กรอื่นรวมตัวกันเป็นภาคีเครือข่าย เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งในการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
6) จัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ประโยชน์เครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษา วิทยุชุมชน ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ห้องสมุดประชาชน พิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนชุมชน และแหล่งการเรียนรู้อื่น เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้และการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างต่อเนื่องของประชาชน
7) ดำเนินการเกี่ยวกับการติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
8) ปฏิบัติงานอื่นใดตามพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นที่บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักงาน หรือตามที่รัฐมนตรีมอบหมาย

1.5 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด

             มาตรา 17 แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 กำหนดให้มี สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดเรียกโดยย่อว่า “สำนักงาน กศน. จังหวัด”ทุกจังหวัด จำนวน 75 แห่ง และสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร เรียกโดยย่อว่า”สำนักงาน กศน.กทม.” 1 แห่ง เป็นหน่วยงานการศึกษา สังกัดสำนักงาน กศน.  ทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรการของคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาการนอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และได้กำหนดให้มีอำนาจหน้าที่บริหารจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ดังนี้(กระทรวงศึกษาธิการ.2551:31-37)

             มาตรา 18 ให้สถานศึกษาทำหน้าที่ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน และจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยร่วมกับภาคีเครือข่ายการดำเนินงานของสถานศึกษา อาจจัดให้มีศูนย์การเรียนชุมชนเป็นหน่วยจัดกิจกรรมและสร้างกระบวนการเรียนรู้ของชุมชนก็ได้ การจัดตั้ง ยุบ เลิก รวม การกำหนดบทบาท อำนาจหน้าที่ของสถานศึกษาให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด

             มาตรา 19 ให้สถานศึกษาแต่ละแห่งมีคณะกรรมการสถานศึกษา

             มาตรา 20 ให้สำนักงาน จัดให้มีระบบการประกันคุณภาพการศึกษานอกระบบซึ่งเป็นระบบประกันคุณภาพภายในสำหรับสถานศึกษาที่มีคุณภาพและมาตรฐานสอดคล้องกับกฎหมายว่าด้วยการศึกษาแห่งชาติ ให้สถานศึกษาดำเนินการประกันคุณภาพภายในให้สอดคล้องกับระบบ หลักเกณฑ์ และวิธีการประกันคุณภาพภายใน โดยได้รับความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุน จากภาคีเครือข่าย และสำนักงาน ระบบหลักเกณฑ์และวิธีประกันคุณภาพภายในให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง

2.สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

 2.1  สถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีจำนวน 964 แห่ง มี ดัง นี้ (ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ.2551:1-34)

1) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร คือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยเขต (กศน. เขต) จำนวน 50 แห่ง
2) สถานศึกษาสังกัดสำนักส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัด คือ ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ (กศน.อำเภอ) จำนวน 877 แห่ง
3) สถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย จำนวน 37 แห่ง มีดังนี้  

(1) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง) 
(2) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ 
(3) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนจำนวน 7 แห่ง
(4) ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี”สามสงฆ์ทรงพระคุณ” 
(5) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา จำนวน 12 แห่ง
(6) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา (เอกมัย)
(7) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษารังสิต
(8) ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด
(9) อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
(10) ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ
(11) สถาบันการศึกษาทางไกล
(12) สถาบันการศึกษาต่อเนื่องสิรินธร
(13) สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร
(14) สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค
(15) สถาบันส่งเสริมและ พัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้

2.2 อำนาจและหน้าที่ของสถานศึกษาสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยต่อไปนี้(ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ.2551:2-37)    

 

1) ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต มี อำนาจหน้าที่ ดัง ต่อไปนี้(ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ.2551:2-37)

(1) จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(2) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานภาคีเครือข่าย เพื่อการจัดการศึกษานอกระบบและ การศึกษาตามอัธยาศัย
(3) ดำเนินการตามนโยบายพิเศษของรัฐบาลและงานเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ
(4) จัด ส่งเสริม สนับสนุนและประสานงานการจัดการศึกษาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริในพื้นที่
(5) จัด ส่งเสริม สนับสนุน พัฒนาแหล่งเรียนรู้และภูมิปัญญาท้องถิ่น
(6) วิจัยและพัฒนาคุณภาพหลักสูตร สื่อ กระบวนการเรียนรู้ และมาตรฐานการศึกษานอกระบบ
(7) ดำเนินการเทียบโอนผลการเรียน การเทียบโอนความรู้แลประสบการณ์
(8) กำกับ ดูแล ตรวจสอบ นิเทศภายใน ติดตามประเมินผลและรายงานผลการดำเนินงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(9) พัฒนาครู และบุคลากรทางการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(10) ระดมทรัพยากรเพื่อใช้ในการจัดและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
(11) ดำเนินการประกันคุณภาพภายใน ให้สอดคล้องกับระบบ หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนด
(12) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย 

 

 

 

2) ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก(วิทยาลัยในวัง) เรียกโดยย่อว่า ศกภ.

          มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

         (1) ฝึกอบรมศิลปะไทยโบราณช่างสิบหมู่ และศิลปวัฒนธรรมไทยแก่ประชาชนทั่วไป
         (2) จัดนิทรรศการงานศิลปะไทยโบราณ ในรูปแบบนิทรรศการถาวร และนิทรรศการเคลื่อนที่เพื่อเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมไทย
         (3) ส่งเสริม สนับสนุน ประสานงาน การจัดฝึกอบรมวิชาชีพศิลปะไทยโบราณ ช่างสิบหมู่ และศิลปวัฒนธรรมไทยกับหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน
         (4) พัฒนาหลักสูตร สื่อ กระบวนการเรียนรู้ บุคลากรด้านวิชาชีพ ศิลปะไทยโบราณ และศิลปวัฒนธรรมไทย
         (5) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนา เผยแพร่ เพื่ออนุรักษ์ศิลปะไทยโบราณ และศิลปวัฒนธรรมไทยให้เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติ
         (6) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

3) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เรียกโดยย่อว่า ศฝก.

         มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) จัดการศึกษา ฝึกอบรมและสาธิตด้านเกษตรกรรมธรรมชาติ ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เกษตรธรรมชาติ แนวทางอื่น ๆ ที่เหมาะสมกับนิเวศเขตร้อน ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและทรัพยากร เทคโนโลยีการเกษตร สมุนไพร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรธรรมชาติ
(2) เป็นศูนย์การเรียนรู้และเผยแพร่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยเฉพาะด้านเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(3) วิจัย ทดลอง เผยแพร่เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านเกษตรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมและองค์ความรู้อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเกษตรธรรมชาติ
(4) ส่งเสริม สนับสนุน ประสานกับชุมชน หน่วยงานเครือข่าย ทั้งภาครัฐภาคเอกชนเพื่อแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมและเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน โดยเน้นองค์ความรู้เกี่ยวข้องกับเกษตรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
(5) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

4) ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน เรียกโดยย่อว่า ศฝช.

         มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

           (1) จัดการศึกษาและฝึกอบรมด้านอาชีพ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความจำเป็น ความต้องการ ของประชาชนบริเวณชายแดน โดยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและการเมือง
           (2) เป็นศูนย์สาธิต ทดลอง วิจัย และเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาการศึกษาด้านอาชีพและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนบริเวณชายแดน
           (3) พัฒนาบุคลากร พัฒนาหลักสูตร สื่อ รูปแบบการเรียนการสอนด้านอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
           (4) ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาด้านอาชีพร่วมกับภาคีเครือข่ายในพื้นที่บริเวณชายแดน ที่รับผิดชอบ และเผยแพร่โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
          (5) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย          

ที่ ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดน                         พื้นที่บริการ
1 เชียงราย เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และพะเยา
2 ชุมพร ชุมพร ระนอง และประจวบคีรีขันธ์
3 ปัตตานี ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สงขลา และสตูล
4 สระแก้ว สระแก้ว จันทบุรี และตราด
5 อุตรดิตถ์ อุตรดิตถ์ น่าน ตาก เพชรบูรณ์ และพิษณุโลก
6 มุกดาหาร มุกดาหาร อุบลราชธานี นครพนม เลย หนองคาย และอำนาจเจริญ
7 สุรินทร์ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และศรีสะเกษ

 

 

 

 

 

 

 

 

5 ) ศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี”สามสงฆ์ทรงพระคุณ”เรียกโดยย่อว่า ศฝส.                      

   มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

            (1)  จัดการศึกษาและฝึกอบรมด้านอาชีพ ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา ความจำเป็น ความต้องการของประชาชนบริเวณชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี โดยมุ่งเน้นให้เกิดการสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ส่งเสริมสนับสนุนการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคงและการเมือง
            (2) ส่งเสริม สนับสนุนการจัดการศึกษาด้านอาชีพร่วมกับภาคีเครือข่ายและเผยแพร่ในโครงการพระราชดำริ ในพื้นที่บริเวณชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
            (3) เป็นศูนย์สาธิต ทดลอง วิจัย และเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง พัฒนาการศึกษาด้านอาชีพและสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของประชาชนบริเวณชายแดนจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ราชบุรี และเพชรบุรี
            (4) พัฒนาบุคลากร พัฒนาหลักสูตร สื่อ รูปแบบการเรียนการสอนด้านอาชีพที่เหมาะสมกับสภาพและความต้องการของท้องถิ่น
            (5) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

6) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา เรียกโดยย่อว่า ศว.

              มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

              (1)จัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียนและประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ
              (2) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนารูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อาทิ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยีที่เหมาะสม
              (3) เผยแพร่และบริการรูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
              (4) พัฒนาครู อาจารย์ วิทยากร และบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
             (5) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
            (6) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ที่ ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา                            พื้นที่บริการ
1 กาญจนบุรี สุพรรณ นครปฐม ราชบุรี และกาญจนบุรี
2 ขอนแก่น สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู เลย อุดรธานี และขอนแก่น
3 ตรัง ภูเก็ต พังงา  ระนอง กระบี่ และตรัง
4 นครราชสีมา ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ ชัยภูมิ และนครราชสีมา
5 นครศรีธรรมราช ชุมพร สุราษฎร์ธานี พัทลุง สงขลา และนครศรีธรรมราช
6 นครสวรรค์ อุทัยธานี กำแพงเพชร ตาก พิษณุโลก อุตรดิตถ์ สุโขทัย พิจิตร เพชรบูรณ์ และนครสวรรค์
7 พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา
8 ยะลา นราธิวาส ปัตตานี สตูล และยะลา
9 ลำปาง เชียงราย  เชียงใหม่  พะเยา แพร่  น่าน แม่ฮ่องสอน ลำพูน และลำปาง
10 สมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสมุทรสาคร
11 สระแก้ว สมุทรปราการ ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด ปราจีนบุรี นครนายก ฉะเชิงเทรา และสระแก้ว
12 อุบลราชธานี ยโสธร ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ มหาสารคาม นครพนม มุกดาหาร อำนาจเจริญ  และอุบลราชธานี

 

7) ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาเพื่อการศึกษารังสิต เรียกโดยย่อว่า ศว. รังสิต

              มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

(1) จัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียนและประชาชนทั่วประเทศ
 (2) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนารูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อาทิ ดาราศาสตร์ ธรรมชาติวิทยา เทคโนโลยีที่เหมาะสม
 (3) เผยแพร่และบริการรูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
 (4) พัฒนาครู อาจารย์ วิทยากร บุคาคลากรทางการศึกษา ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
 (5) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
 (6) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

8) ศูนย์วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมเพื่อการศึกษาร้อยเอ็ด เรียกโดยย่อว่า ศว.ร้อยเอ็ด

      มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(1) เป็นแหล่งเรียนรู้ตามอัธยาศัยด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเน้นการจัดสภาพแหล่งเรียนรู้ด้วยสื่อเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมสมัยใหม่และวัฒนธรรมภาคอีสาน
(2) จัดกิจกรรมการศึกษาบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม สนับสนุนการเรียนรู้พัฒนาทักษะกระบวนการคิดทางวิทยาศาสตร์ สำหรับเด็ก เยาวชน นักเรียน นิสิต นักศึกษาและประชาชนทั่วไป
 (3) เป็นแหล่งกลางในการ ค้นคว้า วิจัย พัฒนา สาธิต ส่งเสริมและเผยแพร่การประดิษฐ์ คิดค้นที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม รวมทั้งให้รู้จักใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์เพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
(4) ฝึกอบรมปฏิบัติการให้ความรู้แก่ ครู อาจารย์ เพื่อเพิ่มทักษะ เทคนิคการใช้ การผลิตสื่อสร้างสรรค์ นวัตกรรมการศึกษาประกอบการเรียนการสอนด้านวิทยาศาสตร์และด้านวัฒนธรรม
 (5) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานกับหน่วยงานเครือข่าย ในการจัดและให้บริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแก่กลุ่มเป้าหมาย
 (6) เผยแพร่และให้บริการ ข้อมูล ข่าวสาร สื่อ และรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม แก่หน่วยงานเครือข่ายและบุคคลทั่วไป
 (7) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

9) สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร เรียกโดยย่อว่า สธ.

  มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ 

(1) จัดบริการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับประชาชนเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง
(2) ฝึกอบรมและพัฒนาสมรรถภาพการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยให้กับบุคลากรภาครัฐ เอกชน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
(3) วิจัย พัฒนารูปแบบ กระบวนการจัดการศึกษา การฝึกอบรม และการพัฒนาบุคลากร
(4) ส่งเสริมให้บริการข่าวสารข้อมูลแก่ประชาชนด้านสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
(5) ส่งเสริม ประสานงาน การทำงานร่วมกันกับภาคีเครือข่าย
(6) รวบรวม เผยแพร่พระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ด้านการศึกษา ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม
(7) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

10) สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร

  มีอำนาจและหน้าที่ดังต่อไปนี้ 

(1) จัดการศึกษานอกระบบประเภทการศึกษาต่อเนื่องที่ต้องใช้ทักษะ เทคนิค ความชำนาญการเป็นพิเศษ
(2) จัดการศึกษานอกระบบหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.)
(3) จัดการศึกษานอกระบบสำหรับกลุ่มเป้าหมายพิเศษที่มีวิธีการจัดการศึกษาเป็นพิเศษ เช่น ผู้สูงอายุ คนพิการ เด็กด้อยโอกาส สตรีกลุ่มเสี่ยง เป็นต้น
(4) วิจัยและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่สอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ที่รับผิดชอบ
(5) ศึกษารูปแบบ ทดลอง นำร่องการจัดการเรียนการสอนสำหรับชุมชนเมือง
(6) เป็นศูนย์ประเมินความรู้ ประสบการณ์และเทียบระดับการศึกษาในพื้นที่รับผิดชอบ
(7) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

11) สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค มี 5 ภาค ภาคละ 1 แห่ง

สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค แต่ละแห่งรับผิดชอบพื้นที่บริการ ดังนี้

ที่ สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาค                 พื้นที่บริการ
1 สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคกลาง พื้นที่บริการ 16 จังหวัด คือ จังหวัดเพชรบุรี กาญจนบุรี ชัยนาท นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี ประจวบคีรีขันธ์ พระนครศรีอยุธยา ราชบุรี ลพบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร สระบุรี สิงห์บุรี สุพรรณบุรี และจังหวัดอ่างทอง
2 สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออก พื้นที่บริการ 9 จังหวัด คือ จังหวัดจันทบุรี เชิงเทรา ชลบุรี ตราด นครนายก ปราจีนบุรี ระยอง สมุทรปราการ และจังหวัดสระแก้ว
3 สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พื้นที่บริการ 19 จังหวัด คือ จังหวัดเลย กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ หนองคาย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี และจังหวัดอุบลราชธานี
4 สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคเหนือ พื้นที่บริการ 17 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน กำแพงเพชร ตาก นครสวรรค์ น่าน พะเยา พิจิตร พิษณุโลก ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุทัยธานี
5 สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคใต้ พื้นที่บริการ 14 จังหวัด คือ จังหวัดกระบี่ ชุมพร ตรัง  นครศรีธรรมราช นราธิวาส ปัตตานี พังงา  พัทลุง ภูเก็ต ยะลา ระนอง สงขลา สตูล และจังหวัดสุราษฏร์ธานี

 

12) สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ เรียกโดยย่อว่า สพร.

    มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

(1) จัดการเรียนรู้ด้วยกระบวนการและรูปแบบการเรียนรู้ที่หลากหลาย เช่นโปรแกรมการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต โปรแกรมการทัศนศึกษาเพื่อการเรียนรู้  การเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านสื่อ รูปแบบต่าง ๆ และการเรียนรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นต้น
(2) บริการรับรองความรู้และประสบการณ์ที่เกิดจากการเรียนรู้
(3)ให้บริการและเผยแพร่สารสนเทศเพื่อการเรียนรู้
(4) ถ่ายทอดและฝึกอบรมแนวทางจัดการเรียนรู้
(5) วิจัยและพัฒนากระบวนการ รูปแบบ และนวัตกรรมการจัดการเรียนรู้
(6) ส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายการจัดการเรียนรู้
(7) พัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อจัดการเรียนรู้
(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

13) อุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เรียกโดยย่อว่า อวท.

          มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้ 

(1) ปลูกฝังความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และความภาคภูมิใจในพระอัจฉริยะภาพแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย ที่ได้ทรงบุกเบิกงานด้านดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ไทย
(2) จัดและบริการการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม แก่นักเรียน นักศึกษาทั้งในและนอกระบบโรงเรียนและประชาชนทั่วประเทศ
(3) ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนารูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม อาทิวิทยาศาสตร์ทางทะเล ดาราศาสตร์ เทคโนโลยีที่เหมาะสม
(4) เผยแพร่และบริการรูปแบบกิจกรรม หลักสูตร สื่อ และกระบวนการจัดกิจกรรม การเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
 (5) พัฒนาครู อาจารย์ วิทยากร และบุคลากรทางการศึกษา ผู้รับผิดชอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
(6) ส่งเสริม สนับสนุน และประสานงานร่วมกับภาคีเครือข่าย ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อม
(7) ส่งเสริมและพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว
(8) ปฏิบัติงานอื่น ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

3.กิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

            กิจกรรมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ที่จัดในปัจจุบัน มีดังต่อไปนี้(สำนักงาน กศน.2553: 10 – 18)

1) กิจกรรมการศึกษานอกระบบ

1.1) การศึกษานอกระบบ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ระดับ ประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย
1.2) การส่งเสริมการรู้หนังสือ
1.3) การศึกษาต่อเนื่อง

1.3.1) การศึกษาเพื่อพัฒนาการงานและอาชีพ
1.3.2 )การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะชีวิต
1.3.3) การศึกษาเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชน

 2) กิจกรรมการศึกษาตามอัธยาศัย 

            2.1) การส่งเสริมการอ่าน
            2.2) ห้องสมุดประชาชน
            2.3) วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา

4.กลุ่มเป้าหมาย

กลุ่มเป้าหมายในการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีดังนี้ (สำนักงาน กศน. 2553:3)

1) กลุ่มเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต

1.1)  ผู้ด้อยโอกาส
1.2)  ผู้พิการหรือทุพพลภาพ
1.3)  ผู้สูงอายุ
1.4)  ชนต่างวัฒนธรรม
1.5)  ประชาชนทั่วไปที่มีความสนใจใฝ่เรียนรู้

2) กลุ่มเป้าหมาย เพื่อการพัฒนาความสามารถในเชิงการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

  2.1) ผู้อยู่ในวัยแรงงานที่อยู่นอกระบบ
  2.2) ผู้อยู่ในวัยแรงงานที่อยู่ในระบบ

 

 อ้างอิงบทความนี้ อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในปัจจุบัน(1) https://panchalee.wordpress.com/2010/12/21/nfe_ac1/

***********************************