เรื่อง การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ตอนที่ 2 : การจัดการเรียนรู้

 

อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
31 มีนาคม 2554

      การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มุ่งเน้นการจัดการเรียนรู้ตามปรัชญา คิดเป็น และยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ ผู้เรียนแต่ละคนมีธรรมชาติที่แตกต่างกัน ทั้งด้านวัย วุฒิภาวะ ความถนัด ความสนใจ วิธีการเรียนรู้ ตลอดจนมีการดำเนินชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ซึ่งส่งผลต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน ดังนั้นการจัดการเรียนรู้จึงต้องยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาความสามารถของตนเอง ตามธรรมชาติ เต็มตามศักยภาพที่มีอยู่ และเรียนรู้อย่างมีความสุข

1.  ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 4 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การแนะแนว

       การแนะแนวเป็นขั้นตอนแรกที่มีความสำคัญ สถานศึกษาต้องจัดบริการแนะแนว เกี่ยวกับหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 เพราะเป็นข้อมูลเบื้องต้นที่ประชาชนหรือกลุ่มเป้าหมายควรจะได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับ วิธีเรียน กศน. ซึ่งมีการจัดการเรียนรู้ที่หลากหลาย ที่กลุ่มเป้าหมายสามารถเลือกเรียนได้ และจะต้องให้ข้อมูลเกี่ยวกับการจบหลักสูตรการศึกษา การเทียบโอนความรู้และประสบการณ์ การเทียบโอนผลการเรียน ที่ผู้เรียนสามารถนำผลการเรียน หรือนำประสบการณ์ มาขอเทียบโอนความรู้ตามหลักสูตรฯ และเรียนเพิ่มเติมบางสาระที่ไม่สามารถเทียบโอนได้  สถานศึกษาจะต้องจัดบริการแนะแนวให้กับกลุ่มเป้าหมายได้เข้าใจแต่เริ่มต้น เพื่อเขาจะได้ตัดสินใจเลือกเรียนได้อย่างเหมาะสมสอดคล้องกับความต้องการและวิถีชีวิตของตนเอง

ขั้นตอนที่ 2 การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา

       การรับสมัครผู้เรียน และการตรวจสอบหลักฐานการศึกษา สถานศึกษาจะต้องตรวจสอบหลักฐานการสมัครให้ถูกต้องครบถ้วน เช่น การกรอกใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. วุฒิการศึกษา สำเนาทะเบียนบ้านผู้สมัครที่มีชื่อบิดามารดา บัตรประจำตัวประชาชน ใบเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล หรือใบทะเบียนสมรส ใบหย่า รูปถ่ายหน้าตรงไม่สวมแว่นตาดำและไม่สวมหมวก เป็นต้น เมื่อตรวจสอบหลักฐานและใบสมัครเป็นนักศึกษา กศน. ถูกต้องครบถ้วนแล้ว ให้กรอกใบลงทะเบียนเรียน การลงทะเบียนเรียนนั้น นักศึกษาต้องยื่นขอลงทะเบียนเรียนตามสาระรายวิชาที่สถานศึกษาเปิดสอนและตามจำนวนหน่วยกิตที่กำหนดให้ลงทะเบียนได้ตามวันเวลาที่กำหนด

ระดับประถมศึกษา ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 12 – 14 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 14 – 16 หน่วยกิต
ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ลงทะเบียนเรียนได้ภาคเรียนละ 18 – 20 หน่วยกิต

     ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาที่เปิดให้ลงทะเบียน    

ขั้นตอนที่ 3 การปฐมนิเทศ และการวางแผนการเรียน

    การปฐมนิเทศและการวางแผนการเรียน เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญมากสำหรับผู้เรียน สถานศึกษาต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจเกี่ยวกับวิธีเรียน กศน. การวัดผลและประเมินผล ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551ที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนที่ลงทะเบียนเรียนได้เลือกรูปแบบการเรียนรู้ที่เหมาะสม ตามความต้องการ สอดคล้องกับวิถีชีวิต และการทำงานของผู้เรียน เช่น การเรียนแบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน และการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ ซึ่งการเรียนรู้ตามรูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว ในแต่ละรายวิชาผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง หรืออาจเลือกการเรียนหลาย ๆ รูปแบบ ได้ตามความต้องการและความเหมาะสมของผู้เรียน ที่ผู้เรียนคิดว่าจะทำให้ประสบความสำเร็จในการเรียน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษา  สถานศึกษาจะต้องชี้แจงให้ผู้เรียนเข้าใจถึงวิธีการเรียนรู้รูปแบบต่าง ๆ ดังกล่าว

ขั้นตอนที่ 4 การวัดและประเมินผล

    การวัดและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อนำผลการประเมินไปพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ของหลักสูตรฯหรือนำไปใช้เป็นข้อมูลในการปรับปรุงแก้ไข ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนาการของผู้เรียน โดยตรง และนำไปปรับปรุงแก้ไขการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นรวมทั้งการนำไปใช้ในการพิจารณาตัดสินความสำเร็จทางการศึกษาของผู้เรียน การวัดผลและประเมินผลการเรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 มี 2 ลักษณะ ดังนี้

1.    การวัดและประเมินผลการเรียน

     1.1 การวัดและประเมินผลการเรียนรายวิชา
     1.2 การประเมินกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิต
     1.3 การประเมินคุณธรรม

2. การประเมินคุณภาพการศึกษานอกระบบระดับชาติ

   สถานศึกษาต้องจัดทำระเบียบการประเมินผลการเรียนของสถานศึกษา รวมทั้งจัดทำหลักเกณฑ์และแนวปฏิบัติในการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ของผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ของสถานศึกษาให้ชัดเจนเพื่อให้บุคลากรที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายถือปฏิบัติร่วมกันและเป็นไปตามมาตรฐานเดียวกัน

2.  วิธีเรียน กศน.

การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ยึดหลักการ ดังนี้

1) พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติพุทธศักราช 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
2) พระราชบัญญัติการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พุทธศักราช 2551
3) หลักปรัชญา คิดเป็น

    วิธีเรียน กศน. เป็นวิธีเรียนที่ผู้เรียน ต้องฝึกกระบวนการคิดวิเคราะห์ในสถานการณ์ต่าง ๆ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระในแต่ละรายวิชา รวมทั้งการเรียนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ตามสภาพความพร้อมพร้อมและความต้องการของผู้เรียนโดยมีครูเป็นผู้ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้และพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างต่อเนื่องตลอดหลักสูตร พร้อมทั้งมีการให้บริการแนะแนวหรือระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน ด้วยการให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ แนะนำและร่วมกับผู้เรียนและผู้เกี่ยวข้องในการแก้ปัญหาให้กับผู้เรียน ซึ่งวิธีการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ดังที่กล่าวมาแล้วเรียกว่า วิธีเรียน กศน. ซึ่งสามารถจัดการเรียนรู้ได้หลายรูปแบบ โดยพิจารณาจากปัจจัย ดังต่อไปนี้

1. ความพร้อม ความสนใจ และศักยภาพของผู้เรียน
2. ความพร้อมในการบริหารจัดการของสถานศึกษา
3. ความพร้อมและศักยภาพของครูผู้สอน
4. ความยากง่ายของเนื้อหารายวิชา

วิธีเรียน กศน. ตามตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ที่เหมาะสมกับผู้เรียน เช่น การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม การเรียนรู้ด้วยตนเอง การเรียนรู้แบบทางไกล การเรียนรู้แบบชั้นเรียน ซึ่งการเรียนรู้แต่ละรูปแบบมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

2.1 การเรียนรู้แบบพบกลุ่ม 

      การเรียนรู้แบบพบกลุ่มเป็นการจัดการเรียนรู้ที่กำหนดให้ผู้เรียนมาพบกันโดยมีครูเป็นผู้ดำเนินการให้เกิดกระบวนการกลุ่ม เพื่อให้มีการอภิปราย แลกเปลี่ยนเรียนรู้และหาข้อสรุปร่วมกัน ทุกสัปดาห์ครูจะต้องจัดให้มีการพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง

หลักการในการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม มีดังนี้

1) จัดพบกลุ่มในรายวิชาที่ยากปานกลาง
2) เน้นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างผู้เรียนกับผู้เรียนและผู้เรียนกับครู
3) ให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยการศึกษาค้นคว้า เป็นรายบุคคล  เป็นกลุ่ม และการทำโครงงาน
4) จัดกระบวนกลุ่มที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ และสอดแทรกกระบวนการ คิดเป็น ให้ผู้เรียนได้ฝึก คิดวิเคราะห์ในแต่ละรายวิชาที่เชื่อมโยงสู่การประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและอาจสอนเพิ่มเติมในบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ
5) มีการทดสอบย่อย (QUIZ)
6) จัดพบกลุ่มอย่างน้อยสัปดาห์ละ 3 ชั่วโมง

วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้แบบพบกลุ่ม มีดังนี้

1) การนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้า ครูให้ผู้เรียนนำเสนอผลจากการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเองหรืองานกลุ่ม ซึ่งเป็นการทำกิจกรรมตามที่ได้รับมอบหมายจากการพบกลุ่มสัปดาห์ที่ที่ผ่านมา ครูจะต้องทำหน้ากระตุ้นให้ผู้เรียนแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และ ครูและผู้เรียนสรุปองค์ความรู้ร่วมกัน
2) การจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ ครูจัดการเรียนการสอนตามสาระการเรียนรู้ที่ได้วางแผนการเรียนรู้ร่วมกับผู้เรียนไว้ โดยครูจัดกระบวนการเรียนรู้เพิ่มเติมความรู้ในเนื้อหาสาระที่สำคัญ ที่ผู้เรียนยังไม่เข้าใจและต้องการจะเรียนรู้ โดยครูสอนเพิ่มเติมบางเนื้อหาที่ผู้เรียนต้องการ หรือจัดสอนเสริมนอกเหนือจากเวลาพบกลุ่ม ในเนื้อหาวิชาที่ยาก ที่ผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเองได้ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
3) การนำเสนอโครงงาน โดยให้ผู้เรียนนำเสนอความคิด และความก้าวหน้าในการทำโครงงานต่อกลุ่มใหญ่ เพื่อให้ผู้เรียนคนอื่นและครูช่วยกันวิเคราะห์ ซักถาม ให้ข้อเสนอแนะ คำแนะนำ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นการต่อยอดหรือพัฒนาความคิดและนำไปสู่การพัฒนาโครงงานในสัปดาห์ต่อไป การนำเสนอโครงงานดังกล่าวจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องทุกครั้งที่พบกลุ่มจนสิ้นสุดภาคเรียน
4) การสอบย่อย(QUIZ) เป็นการทดสอบความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระ โดยครูและสถานศึกษาเป็นผู้จัดทำข้อสอบย่อย ในลักษณะ ถาม ตอบ (QUIZ) ให้ผู้เรียนตอบคำถามสั้น ๆ ในลักษณะสรุปความคิดรวบยอด ที่เป็นความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาในรายวิชานั้นๆ ของผู้เรียนเอง
5) การฝึกกระบวนการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการ คิดเป็น ให้ผู้เรียนฝึกคิดวิเคราะห์ สังเคราะห์ และแสวงหาความรู้ด้วยตนเองจากสื่อ เช่น สถานการณ์ ข่าว นสพ. บทความ ที่เกี่ยวข้องกับ เนื้อหารายวิชาที่กำลังเรียน ครูจะทำหน้าที่เป็นผู้กระตุ้น เสริมแรง ใช้กระบวนการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วมให้ผู้เรียนทุกคนได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันตลอดช่วงเวลาพบกลุ่ม โดยครูตั้งประเด็นคำถามปลายเปิดให้ผู้เรียนได้ร่วมคิด ร่วมอภิปรายเพื่อหาคำตอบ และพยายามเชื่อมโยงเรื่องที่เรียนรู้จากรายวิชานั้นเข้าสู่วิถีชีวิตของผู้เรียนได้มองเห็นประโยชน์จากการพบกลุ่ม
6) ฝึกให้ผู้เรียนแสดงออก เพื่อให้สามารถนำความรู้และทักษะไปใช้ในชีวิตจริงได้ เช่น การนำเสนองานประกอบการใช้สื่อ การฝึกพูดในโอกาสต่าง ๆ การใช้ภาษาไทยที่ถูกต้อง การฟังและจับประเด็นสำคัญ การพูดและการเขียนเพื่อสรุปใจความสำคัญ
7) การวางแผนจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อเนื่อง คือการที่ครูและผู้เรียนร่วมกันกำหนดและนัดหมายการทำกิจกรรมต่าง ๆ ระหว่างสัปดาห์ รวมทั้งเรื่องที่ผู้เรียนจะต้องศึกษาค้นคว้าด้วยตัวเอง ตามแผนการเรียนรู้ที่ได้ร่วมกันกำหนดไว้  และครูจะต้องกำหนดตัวผู้เรียนที่จะมานำเสนองานต่อกลุ่มในสัปดาห์ต่อไป และกำหนดการทำกิจกรรมการเรียนรู้สำหรับผู้เรียนคนอื่น ๆ ด้วย
8) การติดตามและช่วยเหลือผู้เรียน ครูติดตามช่วยเหลือผู้เรียน เพื่อให้คำแนะนำ คำปรึกษาในการเรียน ครูอาจใช้วิธี เพื่อนช่วยเพื่อน คือให้เพื่อน หรือกลุ่มเพื่อนของผู้เรียน คอยช่วยเหลือให้คำแนะนำคำปรึกษาในการเรียน

2.2 การเรียนรู้ด้วยตนเอง

     การเรียนรู้ด้วยตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ผู้เรียนแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง โดยผู้เรียนกำหนดแผนการเรียนรู้ของตนเองให้สอดคล้องกับรายวิชาที่ลงทะเบียน โดยระบุขั้นตอนการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ และมีครูเป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำในการศึกษาหาความรู้จากสื่อต่าง ๆและแหล่งการเรียนรู้

1)  ลักษณะของผู้เรียนที่สามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง

1.1) สมัครใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง ไม่ได้เกิดจากการบังคับ
1.2) ผู้เรียนเป็นแหล่งข้อมูล คือสามารถบอกได้ว่าตนเองจะเรียนเรื่องอะไร มีทักษะและข้อมูลอะไรบ้าง  สามารถกำหนดเป้าหมายได้ บอกวิธีการรวบรวมข้อมูลได้ บอกวิธีการประเมินผลการเรียนได้ รู้ถึงความสามารถของตนเอง ตัดสินใจได้ มีความรับผิดชอบต่อหน้าที่และเป็นผู้เรียนรู้ที่ดี
1.3) รู้ วิธีการที่จะเรียน คือรู้ขั้นตอนในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ว่าจะต้องทำกิจกรรมอะไรบ้างจึงจะทำให้เกิดการเรียนรู้
1.4) มีความคิดเชิงบวก มีแรงจูงใจ และสามารถเรียนแบบร่วมมือกับเพื่อนหรือบุคคลอื่น
1.5) มีระบบการเรียน รู้จักประยุกต์การเรียน และสนุกกับการเรียน
1.6) มีการเรียนรู้จากข้อผิดพลาดและความสำเร็จ มีการประเมินผลเองและเข้าใจถึงศักยภาพของตนเอง
1.7) มีความพยายามหาวิธีการใหม่ ๆ เพื่อหาคำตอบ รู้จักประยุกต์ใช้ความรู้ที่ได้จากการเรียนไปใช้กับสถานการณ์จริง และหาโอกาสในการพัฒนา ค้นคว้าหาข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา
1.8) สามารถแสดงความคิดเห็นและ อภิปรายในกลุ่มเรียนอย่างสร้างสรรค์
1.9)  การมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นสามารถเก็บข้อมูล และนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการเรียน

2) วิธีการเรียนรู้ด้วยตนเอง

2.1) การวิเคราะห์และกำหนดความต้องการ ผู้เรียนวิเคราะห์และกำหนดความต้องการในการเรียนรู้ โดยคำนึงถึงความต้องการและความสนใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ต้องการเรียน
2.2) การกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ผู้เรียนกำหนดจุดมุ่งหมายในการเรียนรู้ ที่มีความเป็นไปได้และสามารถปฏิบัติได้จริง โดยศึกษาจุดมุ่งหมายของรายวิชา แล้วเขียนจุดมุ่งหมายในการเรียน และระบุพฤติกรรมที่คาดหวังหรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวังที่สามารถวัดได้
2.3) การวางแผนการเรียน ผู้เรียนกำหนดแนวทางในการเรียนของตนเอง เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของรายวิชา กำหนดเวลาเรียน คือกำหนดจำนวนชั่วโมง และจำนวนครั้ง ในการเรียนรู้ด้วยตนเอง ทำกิจกรรมกลุ่ม พบครูเพื่อขอคำปรึกษา แนะนำ สอนเสริม และกำหนดเวลาที่สิ้นสุดการเรียนของตนเอง
2.4) การเลือกรูปแบบการเรียน คือผู้เรียน เลือกกิจกรรมการเรียนรู้ด้วยตนเองได้แก่แหล่งวิทยาการ  ผู้รู้ แหล่งเรียนรู้ เช่น ห้องสมุด วัด สถานีอนามัย และสื่อในการเรียน เช่นหนังสือเรียน วีซีดี สื่อคอมพิวเตอร์
2.5) การกำหนดบทบาทผู้ช่วยเหลือในการเรียน เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจในเนื้อหาสาระ และเกิดทักษะยิ่งขึ้น และประสบผลสำเร็จในกาเรียน เช่นมีเพื่อร่วมเรียนเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้
2.6) การกำหนดวิธีการประเมินผลการเรียน ครูและผู้เรียน ควรร่วมกันกำหนดวิธีการวัดผลและประเมินผล เช่น กำหนดเครื่องมือวัดผลได้แก่แบบทดสอบต่าง ๆ หรือชิ้นงาน เป็นต้น

3) การทำสัญญาการเรียนรู้

      ในการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้น เพื่อให้การเรียนรู้เป็นไปตามเป้าหมาย ผู้เรียนแต่ละคนจะต้องมีการจัดทำข้อตกลงการเรียนหรือสัญญาการเรียนรู้กับครู  เพื่อครูจะได้ทราบความก้าวหน้าในการเรียนของผู้เรียนเป็นรายบุคคล

     สัญญาการเรียนรู้ (Learning Contact) คือ ข้อตกลงที่ผู้เรียนได้ทำไว้กับครูว่าผู้เรียนจะปฏิบัติตนอย่างไรในการเรียน เพื่อให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร โดยผู้เรียนจะเป็นผู้เขียนสัญญาการเรียนรู้ ระบุว่าจะเรียนรู้อะไร จะวัดผลด้วยวิธีใด จะมีหลักฐานการเรียนรู้อะไรบ้าง และผลการเรียนควรเป็นอย่างไร เมื่อเขียนเสร็จแล้วจัดทำสำเนาให้ครู 1 ชุด เพื่อครูจะได้ติดตาม ตรวจสอบ ความก้าวหน้าของผู้เรียนแต่ละคน

                                              แบบฟอร์มของสัญญาการเรียนรู้

           จุดมุ่งหมาย แหล่งวิทยาการ/วิธีการ            หลักฐาน      การประเมินผล
1.ระบุว่าผู้เรียนต้องการเรียนรู้เรื่องอะไรและระบุผลสำเร็จของการเรียนรู้ที่ผู้เรียนต้องการ ระบุว่าผู้เรียนจะเรียนรู้อย่างไร จากแหล่งความรู้ใด ระบุหลักฐานการเรียนรู้ที่เป็นรูปธรรมสามารถนำมาอ้างอิงได้ โดยเก็บรวบรวมเป็นแฟ้มสะสมงาน ระบุว่าผู้เรียนจะสามารถมีผลของการเรียนรู้ในระดับใด

 

3. การเรียนรู้แบบทางไกล

การเรียนรู้แบบทางไกล เป็นการจัดการเรียนรู้ ที่ผู้เรียนจะเรียนรู้จากสื่อต่าง ๆ โดยผู้เรียนและครูจะสื่อสารทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นส่วนใหญ่ เช่นการเรียนรู้แบบ e – learning

3.1 หลักในการเรียนรู้แบบทางไกล

1) ผู้เรียนต้องมีเครื่องมือที่สามารถสื่อสาร และใช้อุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์ได้ เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ ฯลฯ
2) ผู้เรียนต้องมีเวลาสื่อสารทางอิเลคทรอนิกส์ กับครูตามเวลาที่ได้ตกลงร่วมกันกับครู เช่น Chat room, E – mail, Web board, Blog, face book ฯลฯ
3) สถานศึกษาและครู มีบทบาทในการจัดเตรียมสื่อทางไกล และอำนวยความสะดวก ให้ความช่วยเหลือ แนะนำ ให้คำปรึกษาให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้แบบทางไกลได้สำเร็จตามจุดมุ่งหมาย

3.2 วิธีการเรียนรู้แบบทางไกล

1) การศึกษาแนวทางการเรียนรู้แบบทางไกลจากสื่อต่าง ๆ
2) การเรียนรู้จากสื่อทางไกลตามที่สถานศึกษากำหนด
3) การประเมินความรู้ก่อนเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองก่อนเรียน
4) ศึกษาเนื้อหาสาระจากสื่อต่าง ๆ และส่งงานที่ครูมอบหมายตามกำหนด
5) การสื่อสารกับครูตามเวลาที่กำหนด เพื่อขอคำแนะนำ คำปรึกษา และนัดหมายการทำกิจกรรมการเรียนรู้
6) การประเมินความรู้หลังเรียน คือผู้เรียนประเมินความรู้ของตนเองหลังเรียน

4. การเรียนรู้แบบชั้นเรียน

การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เป็นการเรียนรู้ในลักษณะแบบห้องเรียน ที่สถานศึกษากำหนดรายวิชา เวลาเรียน และสถานที่ที่เรียนชัดเจน การเรียนรู้แบบชั้นเรียนเหมาะสำหรับผู้เรียนที่มีเวลามาเข้าชั้นเรียนสม่ำเสมอ

4.1 หลักในการเรียนรู้แบบชั้นเรียน

1) สถานศึกษากำหนดสถานที่เรียนและตารางเรียนที่เหมาะสม
2) จัดให้มีการประชาสัมพันธ์การเรียนรู้แบบชั้นเรียน เกี่ยวกับสถานที่ วัน เวลาที่เรียนและครูผู้รับผิดชอบให้ผู้เรียนทราบอย่างทั่วถึง
3) สถานศึกษาจัดหาสื่อและอุปกรณ์การเรียนการสอน เช่นเครื่องมือ อุปกรณ์ทดลองวิทยาศาสตร์ เครื่องคอมพิวเตอร์ และโสตทัศนูปกรณ์ ที่มีคุณภาพ
4) ผู้เรียนจะต้องมีเวลามาเรียนตามที่กำหนดไว้ในตารางเรียน

4.2 วิธีดำเนินการจัดการเรียนรู้

1) การจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยครู ผู้รู้ หรือผู้เชี่ยวชาญ ด้านเนื้อหานั้น ๆ เป็นผู้ถ่ายทอดความรู้และฝึกทักษะให้กับผู้เรียน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียน ซักถาม แสดงความคิดเห็นและลงมือฝึกปฏิบัติจริง และครูควรจัดเวลาในการให้คำปรึกษาแก่ผู้เรียน
2) การจัดกระบวนการปฏิสัมพันธ์ เป็นการจัดกระบวนการที่ส่งเสริมการมีปฏิสัมพันธ์ในการเรียนรู้ระหว่างครูกับผู้เรียน และผู้เรียนกับผู้เรียน เช่นกิจกรรมกลุ่ม การจัดที่นั่งเป็นกลุ่ม
3) การจัดให้มีการปรับบทบาทผู้เรียน เช่นการแบ่งผู้เรียนเป็นกลุ่มย่อย ๆ และมอบหมายงานให้ปฏิบัติ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ ครูจะจัดกิจกรรม 3 ลักษณะ ดังนี้

      (1) การให้ข้อมูล ข้อเท็จจริง
      (2) การเรียนรู้ด้วยการลงมือปฏิบัติจริง
      (3) การสะท้อนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างผู้เรียนและครู

4) การติดตาม และช่วยเหลือผู้เรียน เช่นจัดบริการแนะแนว จัดบริการให้คำปรึกษา จัดให้มีผู้ช่วยสอน และการติดตามช่วยเหลือโดยเพื่อหรือกลุ่มเพื่อน

   การเรียนรู้ทั้ง 4 รูปแบบ ดังที่กล่าวข้างต้น สถานศึกษาและผู้เรียนจะร่วมกันกำหนดว่าในแต่ละรายวิชาจะเรียนรู้แบบใด ซึ่งขึ้นอยู่กับความยากง่ายของเนื้อหาสาระของแต่ละรายวิชานั้น ๆ โดยให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตและการประกอบอาชีพของผู้เรียน และขึ้นอยู่กับความพร้อมของสถานศึกษาในการจัดสอนเสริมเพื่อเติมเต็มความรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ให้บรรลุมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ นอกจากนั้นสถานศึกษาสามารถออกแบบการเรียนรู้แบบอื่น ๆ ได้ตามความต้องการของผู้เรียนและความพร้อมของสถานศึกษาแต่ละแห่ง   สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553).

เอกสารอ้างอิง

     สมบัติ สุวรรณพิทักษ์,(2543).เทคนิคการสอนแนวใหม่.กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย.

      สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553) แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.กรุงเทพฯ : รังสีการพิมพ์.

 ***************************

เรื่อง การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

                    

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
18 มีนาคม 2554

ตอนที่ 1: แนวคิดการจัดการเรียนรู้        

     สำนักงาน กศน. ได้พัฒนาหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพการเปลี่ยนแปลงของสังคมปัจจุบันและประชาชนที่อยู่นอกระบบโรงเรียน การจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนอย่างมีคุณภาพมีแนวคิดที่สำคัญซึ่งจะเป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ ดังนี้

1. แนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545
2. การจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551
3. แนวคิดความเชื่อพื้นฐาน ปรัชญา “คิดเป็น”
4. หลักการศึกษานอกโรงเรียน
5. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
6. หลักการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้ใหญ่

1. แนวการจัดการศึกษาตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545

          พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 มีสาระสำคัญในหมวด 4 แนวการจัดการศึกษา ดังนี้

          มาตรา 22 การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่าผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษา ต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มตามศักยภาพ
         มาตรา 23 การจัดการศึกษา ทั้งการศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ต้องเน้นความสำคัญทั้งความรู้ คุณธรรม กระบวนการเรียนรู้และบูรณาการตามความเหมาะสมของแต่ละระดับการศึกษา ในเรื่องต่อไปนี้

1)  ความรู้เรื่องเกี่ยวกับตนเอง และความสัมพันธ์ของตนเองกับสังคม ได้แก่ ครอบครัว ชุมชน ชาติ และสังคมโลก รวมถึงความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ความเป็นมาของสังคมไทยและระบบการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
2) ความรู้และทักษะด้นวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมทั้งความรู้ความเข้าใจและ       ประสบการณ์เรื่องการจัดการ การบำรุงรักษาและการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ  และสิ่งแวดล้อม อย่างสมดุลยั่งยืน
3) ความรู้เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม การกีฬา ภูมิปัญญาไทย และการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญา
4) ความรู้ และทักษะด้านคณิตศาสตร์ และด้านภาษา เน้นการใช้ภาษาอย่างถูกต้อง      
5)  ความรู้ และทักษะในการประกอบอาชีพและการดำรงชีวิตอย่างมีความสุข

มาตรา 24 การจัดกระบวนการเรียนรู้ ให้สถานศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินดังต่อไปนี้

1) จัดเนื้อหาสาระและกิจกรรมให้สอดคล้องกับความสนใจและความถนัดของผู้เรียน โดยคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล
2) ฝึกทักษะ กระบวนการคิด การจัดการ การเผชิญสถานการณ์และการประยุกต์ความรู้มาใช้เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหา
3) จัดกิจกรรมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง ฝึกการปฏิบัติให้ทำได้ คิดเป็น ทำเป็น รักการอ่าน และเกิดการใฝ่รู้อย่างต่อเนื่อง
4) จัดการเรียนรู้โดยผสมผสานสาระความรู้ด้านต่าง ๆ อย่างได้สัดส่วนสมดุลกัน รวมทั้งปลูกฝังคุณธรรม ค่านิยมที่ดีงาม และคุณลักษณะอันพึงประสงค์ในทุกวิชา
5) ส่งเสริม สนับสนุนให้ผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียน และอำนวยความสะดวกเพื่อให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนกาเรียนรู้ ทั้งผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกัน จากสื่อการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่าง ๆ
6) จัดการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ มีการประสานความร่วมมือกับบิดามารดา ผู้ปกครอง และบุคคลในชุมชนทุกฝ่าย เพื่อร่วมกันพัฒนาผู้เรียนตามศักยภาพ

มาตรา 26 ให้สถานศึกษาจัดการประเมินผู้เรียนโดยพิจารณาจากพัฒนาการของผู้เรียน ความประพฤติ การสังเกตพฤติกรรมการเรียน การร่วมกิจกรรมและการทดสอบควบคู่ไปในกระบวนการเรียนการสอนตามความเหมาะสมแต่ละระดับและรูปแบบการศึกษา

 

2. การจัดการเรียนรู้ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551

     พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551 ได้กำหนดแนวทางในการจัดการเรียนรู้ไว้ดังนี้

มาตรา 4 “การศึกษานอกระบบ” หมายความว่ากิจกรรมการศึกษาที่มีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการและวัตถุประสงค์ของการเรียนรู้ที่ชัดเจน มีรูปแบบ หลักสูตร วิธีการจัดและระยะเวลาเรียนหรือฝึกอบรมที่ยืดหยุ่นและหลากหลายตามสภาพความต้องการและศักยภาพในกาเรียนรู้ของกลุ่มเป้าหมายนั้นและมีวิธีการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ที่มีมาตรฐานเพื่อรับคุณวุฒิทางการศึกษา หรือเพื่อจัดระดับผลการเรียนรู้

    “การศึกษาตามอัธยาศัย”  หมายความว่า กิจกรรมการเรียนรู้ในวิถีชีวิติประจำวันของบุคคล ซึ่งบุคคลสามารถเลือกที่จะเรียนรู้ได้อย่าต่อเนื่องตลอดชีวิต ตามความสนใจ ความต้องการ โอกาส ความพร้อม และศักยภาพในการเรียนรู้ของแต่ละบุคคล

    “สถานศึกษา” หมายความว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยในสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

มาตรา 6 การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้ยึดหลักการดังต่อไปนี้               

1) การศึกษานอกระบบ
         1.1) ความเสมอภาคในการเข้าถึงและได้รับการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทั่วถึงเป็นธรรม และมีคุณภาพ เหมาะสมกับสภาพชีวิตของประชาชน
        1.2) การกระจายอำนาจแก่สถานศึกษาและการให้ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้

2)  การศึกษาตามอัธยาศัย
        2.1) การเข้าถึงแหล่งการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับความสนใจและวิถีชีวิตของผู้เรียนทุกกลุ่มเป้าหมาย
        2.2) การพัฒนาแหล่งเรียนรู้ให้มีความหลากหลายทั้งส่วนที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่น และส่วนที่นำ เทคโนโลยีมาใช้เพื่อการศึกษา
        2.3) การจัดกรอบหรือแนวทางการเรียนรู้ที่เป็นคุณประโยชน์ต่อผู้เรียน

มาตรา 7 การส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษานอกระบบ ให้ดำเนินการเพื่อเป้าหมายในเรื่องดังต่อไปนี้

1) ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาศักยภาพกำลังคนและสังคม ที่ใช้ความรู้ และภูมิปัญญาเป็นฐานในการพัฒนา ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความมั่นคง และคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ตามแนวทางพัฒนาประเทศ
2) ภาคีเครือข่ายเกิดแรงจูงใจและมีความพร้อมในการมีส่วนร่วมเพื่อจัดกิจกรรมการศึกษา

มาตรา 9 ให้กระทรวงศึกษาธิการส่งเสริม และสนับสนุนการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย โดยให้ความสำคัญแก่ผู้เกี่ยวข้องตามบทบาทและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

1) ผู้เรียน ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์มีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนรู้ และสามารถเลือกรับบริการได้หลากหลายตามความต้องการของตนเอง
2) ผู้จัดการเรียนรู้สำหรับการศึกษานอกระบบ และผู้จัดแหล่งการเรียนรู้สำหรับการศึกษาตามอัธยาศัย มีการดำเนินการที่หลากหลายตามศักยภาพเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เรียน โดยบูรณาการความรู้ ปลูกฝังคุณธรรม และค่านิยมที่ดีงาม
3) ผู้ส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งเป็นผู้ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้เรียนและผู้จัดการเรียนรู้ มีการดำเนินการที่หลากหลาย เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง

มาตรา 11 เพื่อประโยชน์ในการจัดและพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ให้ส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อดำเนินการในเรื่องดังต่อไปนี้

1) จัดให้มีโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเรียนรู้ เช่น แหล่งการเรียนรู้ ศูนย์การเรียนชุมชน สื่อและเทคโนโลยีที่หลากหลายเพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าถึงการเรียนรู้
2) ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของภาคีเครือข่าย เพื่อให้เกิดความร่วมมือและการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
3) ส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคีเครือข่ายได้รับโอกาสในการจัดสรรทรัพยากรและเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการดำเนินงาน

3. แนวคิดความเชื่อพื้นฐาน ปรัชญา “คิดเป็น”

        “คิดเป็น” (KIDPEN)ปรัชญาพื้นฐาน ของ กศน. คิดเป็น เป็นกระบวนการคิดที่เกิดขึ้นจากหลักการและแนวคิดของ ดร.โกวิท วรพิพัฒน์ นักการศึกษาไทย ที่กล่าวไว้ว่า “การจัดการศึกษาต้องการสอนคน ให้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น”

        คิดเป็น หมายถึง กระบวนการที่คนเรานำมาใช้ในการตัดสินใจ โดยต้องแสวงหาข้อมูลของตนเอง ข้อมูลของสภาพแวดล้อมในชุมชน และข้อมูลทางวิชาการ แล้วนำมาวิเคราะห์หาทางเลือกในการตัดสินใจที่เหมาะสม มีความพอดีระหว่างตนเองและสังคม

        คิดเป็น มีความเชื่อวามนุษย์ทุกคนต้องการความสุข แต่ความสุขของแต่ละคนแตกต่างกันเนื่องจากมนุษย์มีความแตกต่างกันในด้านต่าง ๆ เช่น เพศ วัย สภาพสังคมสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ซึ่งทำให้ความต้องการและความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน ดังนั้น การที่บุคคลจะอยู่ได้อย่างเป็นสุขในสังคม จะต้องเป็นผู้คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น และกระบวนการคิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็นนั้น จะต้องนำข้อมูลอย่างน้อย 3 ด้าน มาประกอบในการคิด คือ ข้อมูลด้านตนเอง ข้อมูลด้านสังคม สิ่งแวดล้อม และ ข้อมูลด้านวิชาการ โดยจะต้องวิเคราะห์ว่าข้อมูลใดน่าเชื่อถือมากกว่า หรือมีผลดีมากกว่า เพื่อนำมาประกอบการตัดสินใจโดยอาศัยการพิจารณาอย่างรอบคอบ

หลักการของการคิดเป็น 

1) “คิดเป็น” เชื่อว่าสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ และปัญหานั้นสามารถแก้ไขได้
2) การแก้ปัญหาต่าง ๆได้อย่างเหมาะสมที่สุด จำเป็นจะต้องมีข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจอย่างน้อย 3 ด้าน คือ ข้อมูลด้านที่เกี่ยวกับตนเอง สังคม และวิชาการ
3) การตัดสินใจแก้ปัญหาต่าง ๆ ด้วยการไตร่ตรองข้อมูล ทั้ง 3 ด้านอย่างรอบคอบแล้ว ก่อให้เกิดความพึงพอใจต่อการตัดสินใจและควรรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตนเอง
4) เนื่องจากสังคมมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา การตัดสินใจอาจจะต้องเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพและสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

ลักษณะของคน “คิดเป็น” มี  8 ประการ ดังนี้

1) มีความเชื่อว่าปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องธรรมดา และปัญหาต่าง ๆ นั้นสามารถแก้ไขได้
2) การคิดที่ดี จะต้องใช้ข้อมูลหลาย ๆ ด้าน เช่น ด้านตนเอง ด้านสังคมและด้านวิชาการ
3) มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับข้อมูลว่าข้อมูลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
4) มีความสนใจที่จะวิเคราะห์ข้อมูลอยู่เสมอ
5) มีความรู้ความเข้าใจต่อการกระทำของตนว่าส่งผลต่อสังคม
6) การตัดสินใจการกระทำต่าง ๆ ของตนเอง แล้วมีความสบายใจและเต็มใจที่จะรับผิดชอบต่อการกระทำนั้น
7) มีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันอย่างระบบ
8) สามารถวิเคราะห์คุณค่าและตัดสินใจเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาต่าง ๆให้สอดคล้องกับค่านิยม ความสามารถ สถานการณ์  เงื่อนไข และความเป็นไปได้ของแนวทางในการแก้ปัญหานั้น ๆ

แผนภูมิ  แสดงกระบวนการคิดเป็น 

                  

กระบวนการเรียนรู้สู่การคิดเป็น 

กระบวนการเรียนรู้สู่การคิดเป็น มี 6 ขั้นตอน ดังนี้

ขั้นที่ 1 สำรวจปัญหา เมื่อเกิดปัญหาจะต้องเกิดกระบวนการคิดเพื่อแก้ปัญหา
ขั้นที่ 2  หาสาเหตุของปัญหา เป็นการรวบรวมข้อมูลต่าง ๆที่เป็นสาเหตุทำให้เกิดปัญหาขึ้น เพื่อทำความเข้าใจกับปัญหาด้วยการวิเคราะห์ว่าปัญหานั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร มีอะไรเป็นสาเหตุของปัญหาบ้าง ซึ่งสาเหตุของปัญหาที่เกิดขึ้นอาจมาจากสาเหตุ 3 ประการ คือ

1)สาเหตุจากตนเอง เช่น  ฐานะทางเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ  สุขภาพ
2)สาเหตุจากสังคม เช่นสิ่งแวดล้อม ภาวะเศรษฐกิจ ความเชื่อ จารีตและประเพณี เป็นต้น
3)สาเหตุจากความรู้ด้านวิชาการ เช่น ขาดความรู้ด้านวิชาการที่จะนำไปใช้ในการแก้ปัญหานั้น ๆ

ขั้นที่ 3 การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อแก้ปัญหา เป็นการวิเคราะห์ข้อมูลทั้ง 3 ด้าน คือข้อมูลด้านตนเอง ด้านสังคม และด้านวิชาการ เพื่อหาทางเลือกในการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 4 การตัดสินใจทางเลือกในการแก้ปัญหา เมื่อได้ทางเลือกในการแก้ปัญหาแล้วจึงตัดสินใจแก้ปัญหา โดยมีความพร้อมของข้อมูลที่จะนำมาใช้ในการดำเนินการแก้ปัญหา

ขั้นที่ 5 การตัดสินใจไปสู่การปฏิบัติแก้ปัญหา เมื่อตัดสินใจเลือกทางใดแล้วต้องยอมรับว่าเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดในข้อมูลที่มีในขณะนั้น

ขั้นที่ 6 การปฏิบัติในการแก้ปัญหา ขั้นนี้เป็นการดำเนินการแก้ปัญหาและประเมินผลไปพร้อมกัน ถ้าผลเป็นที่พอใจและเกิดความสุข เรียกว่า”คิดเป็น” แต่ถ้าผลออกมาไม่เป็นไปตามที่คิดไว้ซึ่งไม่เป็นที่พอใจ จะต้องเริ่มต้นกระบวนการคิดแก้ปัญหาใหม่       

 4. หลักการศึกษานอกโรงเรียน

      การศึกษานอกโรงเรียนเป็นกระบวนการของการศึกษาตลอดชีวิต มุ่งให้ประชาชนได้รับการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการศึกษาขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตตามมาตรฐานของสังคมซึ่งเป็นสิทธิที่คนทุกคนพึงได้รับ นอกจากนั้นยังจะได้รับการศึกษาที่ต่อเนื่องจากการศึกษาพื้นฐานเพื่อนำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิต และพัฒนาชุมชนและสังคม ต่อไป การจัดการเรียนรู้การศึกษานอกโรงเรียน จึงยึดหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้

  1. หลักความเสมอภาคทางการศึกษา กลุ่มเป้าหมายของการศึกษานอกระบบส่วนมากเป็นผู้พลาดโอกาส และผู้ด้อยโอกาสทางการศึกษา ซึ่งอาจมีความแตกต่างทางด้านสถานภาพในสังคม อาชีพเศรษฐกิจ และข้อจำกัดต่าง ๆ ในการจัดการศึกษาและกระบวนการเรียนรู้การศึกษานอกระบบต้องไม่มีการเลือกปฏิบัติ หากแต่สร้างความเสมอภาคในโอกาสทางการศึกษาและการเรียนรู้อย่างเท่าเทียมกัน
  2. หลักการพัฒนาตนเองและการพึ่งพาตนเอง การจัดการศึกษานอกระบบจะต้องจัดการเรียนการสอน และกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตน สามารถเรียนรู้ เกิดความสำนึกที่จะพัฒนาตนเองได้ เป็นคนคิดเป็น ปรับตัวเพื่อให้ทันกับกระแสการเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เรียนด้วยตนเอง พึ่งพาตนเอง เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอย่างเป็นปกติสุขท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของสังคม
  3. หลักการบูรณาการการเรียนรู้กับวิถีชีวิต หลักการนี้อยู่บนพื้นฐานของการจัดการเรียนรู้ที่สัมพันธ์กับสภาพปัญหา วิถีชีวิต สภาพแวดล้อมและชุมชนท้องถิ่นของผู้เรียน ซึ่งเป็นหลักการที่สำคัญในการจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา สิ่งดังกล่าวส่งผลโดยตรงต่อการจัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดการเรียนรู้เป็นลักษณะของการบูรณาการจึงมีความเหมาะสม โดยบูรณาการสาระต่าง ๆ เพื่อการเรียนรู้ และบูรณาการวิธีการจัดการเรียนการสอน เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการคุณภาพชีวิตของผู้เรียนอย่างเป็นองค์รวม
  4. หลักความสอดคล้องกับปัญหาความต้องการและความถนัดของผู้เรียน  หลักการนี้เป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนรู้จักความต้องการของตนเอง สามารถจัดการศึกษาให้กับตนเองได้อย่างเหมาะสม ครู กศน. มีบทบาทในการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเองของผู้เรียน โดยให้ผู้เรียนร่วมกำหนดวัตถุประสงค์ สาระการเรียนรู้ วิธีการเรียน และการประเมินผลการเรียนรู้ของตนเอง ซึ่งเป็นกระบวนการการศึกษานอกระบบที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ
  5. หลักการเรียนรู้ร่วมกันและการมีส่วนร่วมของชุมชน การเรียนรู้ร่วมกันในกลุ่มผู้เรียนนับว่าสำคัญ เป็นการส่งเสริมและสร้างกัลยาณมิตรในกลุ่มผู้เรียน ก่อให้เกิดความร่วมมือความผูกพัน เอื้ออาทร การช่วยกันและกัน ปลูกฝังวินัยในตนเอง ฝึกความรับผิดชอบ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรเกิดขึ้นสำหรับผู้เรียนที่มีวุฒิภาวะ สำหรับการมีส่วนร่วมของชุมชน ก็นับว่าเป็นหลักการสำคัญในการจัดการศึกษานอกระบบ ชุมชนสามารถเข้ามาร่วมในการจัดทำหลักสูตร สถานศึกษา การจัดสรรทรัพยากรเป็นแหล่งเรียนรู้ และสนับสนุนในเรื่องอื่น ๆ เพื่อผลิตผู้เรียนที่เป็นสมาชิกที่ดีของชุมชนต่อไป

 

1. หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

      แนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่สำคัญและเหมาะสมที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ คือหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นหลักปรัชญาของการพัฒนาที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท โดยคำนึงถึงความพอประมาณ ความมีเหตุผล การสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีในตัว ตลอดจนใช้ความรู้ ความรอบคอบและคุณธรรมประกอบการวางแผน การตัดสินใจ และการกระทำ หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง มีดังนี้

1) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาที่ชี้แนะแนวทางการดำรงอยู่และการปฏิบัติตนในทางที่ควรจะเป็น โดยมีพื้นฐานมาจากวิถีชีวิต ดังเดิมของสังคมไทย สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ตลอดเวลาและเป็นการมองความเปลี่ยนแปลงของโลกในเชิงระบบว่ามีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา มุ่งเน้นการรอดพ้นจากภัยและวิกฤตเพื่อความมั่นคงและความยั่งยืนของการพัฒนา
2) หลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการปฏิบัติตนได้ในทุกสถานการณ์ โดยเน้นการปฏิบัติบนทางสายกลางและการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอน
3) “ความพอเพียง” มีองค์ประกอบของคุณลักษณะ 3 ประการ คือ ความพอประมาณ ความมีเหตุผลและการมีภูมิคุ้มกัน

3.1) ความพอประมาณ หมายถึง ความพอดีไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น3.2) ความมีเหตุผล หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับของความพอเพียงนั้นจะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น ๆ อย่างรอบคอบ3.3) การมีภูมิคุ้มกันที่ดีในตัวเอง หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่าง ๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตทั้งใกล้และไกล

4) เงื่อนไขการตัดสินใจและการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆให้อยู่ในระดับพอเพียงนั้นต้องอาศัยทั้งความรู้และคุณธรรมเป็นพื้นฐาน ดังนี้

4.1) เงื่อนไขความรู้ ประกอบด้วย ความรอบรู้เกี่ยวกับวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ความรอบคอบที่จะนำความรู้เหล่านั้นมาพิจารณาให้เชื่อมโยงกันเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนนำไปปฏิบัติด้วยความระมัดระวัง
4.2) เงื่อนไขคุณธรรมที่จะต้องเสริมสร้างประกอบด้วย การมีความตระหนักในคุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริต มีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต ไม่โลภ ไม่ตระหนี่

5)  การนำหลักปรัชญาของเศรษฐกิจเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ คือ การพัฒนาที่สมดุลและยั่งยืน พร้อมรับต่อการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ความรู้และเทคโนโลยี

5. หลักการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้ใหญ่ (Andragogy)

      การจัดเรียนรู้การศึกษานอกโรงเรียนจำเป็นจะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ ธรรมชาติของผู้เรียนซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่อยู่นอกระบบโรงเรียน และส่วนใหญ่เป็นผู้ใหญ่  มีความพร้อมและศักยภาพในการเรียนรู้ที่แตกต่างจากกลุ่มเป้าหมายในระบบโรงเรียน การจัดการเรียนรู้ควรคำนึงถึงจิตวิทยาผู้ใหญ่ ซึ่งต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิด จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรมของผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีความแตกต่างระหว่างบุคคล มีความสนใจ มีลักษณะการเรียนรู้เฉพาะของตน เพื่อสามารถดำเนินการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ได้อย่างถูกต้อง (กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน, 2547:34-36)

      ทฤษฏี Andragogy ของ Knowles เป็นทฤษฏีที่พัฒนาขึ้นมาจากการศึกษาเกี่ยวกับการเรียนรู้ของผู้ใหญ่ ซึ่งเน้นย้ำว่าผู้ใหญ่นั้นสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และคาดหวังว่าการตัดสินใจเรียนของผู้ใหญ่จะได้รับการตอบสนองที่ดี ดังนั้น โปรแกรม        การเรียนรู้ของผู้ใหญ่จึงต้องสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพพื้นฐานของผู้ใหญ่แต่ละคน

หลักการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ของผู้ใหญ่  คือ

    1) ผู้ใหญ่ต้องการที่จะรู้เหตุผลว่าทำไม  พวกเขาจึงต้องการเรียนรู้ในบางสิ่งบางอย่างเท่านั้น  บางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องเรียน
   2) ผู้ใหญ่ต้องการเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่ประสบอยู่
   3) ผู้ใหญ่มุ่งที่จะเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา  หรือนำไปใช้ได้จริง
   4) ผู้ใหญ่เรียนรู้ได้ดี เมื่อเรื่องที่เรียนนั้น มีคุณค่าจริง ๆ ต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขา

Knowles ยกตัวอย่างของการออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่โดยต้องคำนึงว่า

1. มีความจำเป็นที่จะต้องอธิบายว่า  ทำไมเรื่องที่เฉพาะเจาะจงบางเรื่องจะต้อง ถูกสอนแก่ผู้ใหญ่  บางเรื่องยอมรับความรู้และประสบการณ์ที่มีอยู่แล้วได้ไม่ต้องเรียนอีก
2. การสอนจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของการทำงาน เพื่อให้เกิดการจำได้อย่างแม่นยำ กิจกรรมการเรียนจะต้องอยู่ในบริบทของงานง่าย ๆ เพื่อที่จะก่อให้เกิดผลในทางปฏิบัติ
3. การสอนจะต้องครอบคลุมและคำนึงถึงความแตกต่างทางด้านพื้นฐานของผู้เรียน การจัดสื่อการเรียนและกิจกรรม จะต้องจัดในระดับที่แตกต่างกัน รวมทั้งประเภทของการเรียนรู้ที่หลากหลายของการมีประสบการณ์
4. เมื่อผู้ใหญ่  เริ่มเรียนรู้ด้วยตนเอง การสอนจะต้องช่วยให้ผู้เรียนค้นพบตัวเอง  และช่วยชี้แนะแนวทาง  เมื่อเกิดข้อผิดพลาดขึ้น

 วิธีจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับลักษณะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่   โดย  Jarvis (1983) ได้สรุปเป็นตารางเปรียบเทียบ ดังนี้  (กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน, 2547:35-36)

 

ลักษณะการเรียนรู้ของผู้ใหญ่  วิธีจัดการเรียนรู้
1) การเรียนรู้เป็นความต้องการขั้นพื้นฐาน    ของมนุษย์ (Basic human need) – การสอนไม่ใช่สิ่งที่มีความจำเป็นและ  สำคัญมากนักในการเรียนรู้ แต่จะเป็นการ  อำนวยความสะดวกให้การเรียนรู้เร็วขึ้น
2) ผู้ใหญ่ในฐานะผู้เรียน ชอบที่จะมีส่วนร่วม (Participate) ในกระบวนการเรียนรู้     2.1 นักศึกษาผู้ใหญ่ส่วนมากจะมี สิ่งเหล่านี้ติดตัวมาด้วย  คือ
            – มีประสบการณ์ต่าง ๆ
            – ความหมายต่อสถานการณ์ การเรียนรู้
            – ความต้องการในการเรียนรู้      2.2 นักศึกษาผู้ใหญ่จะมีลักษณะบางประการต่อสถานการณ์ในการเรียนรู้ คือ
            – ความเชื่อมั่นในตนเอง
            – ความชื่นชมในตนเอง
            – การรับรู้ในตนเอง
– วิธีการสอนทั้งหลายควรจะใช้เพื่อการอำนวยความสะดวกมากกว่าจะเป็นการสั่งสอน
– ครูควรใช้ประสบการณ์ของผู้เรียนให้เป็น ประโยชน์ในการสอน
– ผู้สอนควรสร้างระบบความหมายที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นด้วยการบูรณาการความรู้เข้าด้วยกัน ครูควรช่วยเหลือนักศึกษาในการเรียนเพื่อการประยุกต์มากกว่าการสอนเฉพาะทฤษฏี
– ผู้สอนควรสนับสนุนให้เกิดผลดียิ่งขึ้น
– พยายามสนับสนุนส่งเสริมให้ควบคู่ไปกับความรู้ที่เขาได้รับ
– สนับสนุนและส่งเสริมให้ผู้เรียนมีการประเมินผลด้วยตนเอง

 

5. ออกแบบประสบการณ์เพื่อการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยคำนึงถึงจิตวิทยาผู้ใหญ่
6. ดำเนินการให้เกิดประสบการณ์การเรียนรู้ด้วยวิธีการและสื่ออุปกรณ์ที่เหมาะสม  เน้นให้รู้จริง  รู้อย่างลึกซึ้ง
7. ประเมินผลการเรียนรู้และวิเคราะห์ความต้องการเรียนรู้อีกครั้งเพื่อดูว่าความต้องการเรียนรู้นั้น ๆ ได้รับการตอบสนองหรือไม่  เน้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการรับรู้ด้วย
8. เปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการเรียนและเน้นกระบวนการคิดเป็น
9. อธิบาย สาธิต  ง่าย ๆ และชัดเจน เน้นของจริงและใกล้เคียงกับประสบการณ์ 
10. เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้แสดงออกอย่างเต็มที่ ให้อิสระในการตัดสินใจของตนเอง
11. ละเว้นการลงโทษ ทั้งทางตรง และทางอ้อม แต่ต้องอธิบายให้เข้าใจเหตุผล
12. จะต้องมีการวางแผน ปฏิบัติ และประเมินผลอย่างชัดเจนร่วมกันกับผู้เรียน
13. กิจกรรมเนื้อหาตรงตามความต้องการและเป็นเรื่องใกล้ตัว
14. ส่งเสริมให้เรียนรู้ด้วยตนเอง หรืออาจจัดกลุ่มเล็ก ๆ ช่วยกันเรียน
15. เน้นให้นำความรู้ที่ได้รับไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงและการทำงานได้ด้วย    

     สรุปได้ว่า การจัดการเรียนรู้ให้กับผู้ใหญ่ ต้องเป็นการจัดการที่เกิดจากความต้องการของผู้ใหญ่ และเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหาและสามารถ นำไปใช้ได้จริง การจัดการเรียนการสอนจึงต้องครอบคลุม และตั้งอยู่บนพื้นฐานของผู้เรียนที่เป็นผู้ใหญ่

เอกสารอ้างอิง 

          กระทรวงศึกษาธิการ,(2551). พระราชบัญญัติส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย พ.ศ. 2551. กรุงเทพฯ : สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.
         กระทรวงศึกษาธิการ,(2546).พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และแก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545 พร้อมกฎกระทรวงที่เกี่ยวข้องและพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับ พ.ศ. 2545. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์(ร.ส.พ.).
        กลุ่มพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน,(2547). เอกสารเสริมความรู้การจัดการศึกษาตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544. กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์คุรุสภาลาดพร้าว.
        สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย,(2553).แนวทางการจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551.กรุงเทพฯ : รังสีการพิมพ์.

                                                   *****************************

เรื่อง การจัดการเรียนรู้ ตามหลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 :อัญชลี ธรรมะวิธีกุล https://panchalee.wordpress.com/2011/03/24/learning-management