เทคนิคการนิเทศ: การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้(Classroom observation)

classroom2อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
28 กรกฎาคม 2552

แนวคิดเกี่ยวกับการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 
การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ หรือการเยี่ยมชั้นเรียน เป็นเทคนิคที่นำไปใช้ได้ผลเป็นอย่างดีในการนิเทศการศึกษา และเป็นที่นิยมนำไปใช้ในการนิเทศ โดยความเป็นจริง การนิเทศการศึกษาจำเป็นจะต้องนำเทคนิคการสังเกตไปใช้อยู่ด้วยเสมอ แต่จะต้องนำไปใช้อย่างถูกต้องเหมาะสม เช่น การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ผลจากการสังเกตจะทำให้เห็นสภาพปัญหาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาคณิตศาสตร์ ซึ่งจะทำให้เห็นข้อดีและข้อเสีย ของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ซึ่งผู้นิเทศจะต้องมีความรู้อย่างลึกซึ้งในวิชาคณิตศาสตร์ และเข้าใจเทคนิคและกระบวนการของการเรียนการสอนวิชาคณิตศาสตร์ และสามารถให้คำแนะนำได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ซึ่งครูสามารถนำคำแนะนำนั้นไปใช้ในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น
          ดังนั้น  การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ จึงเป็นการติดตามผลของการนำแผนการเรียนรู้ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ และการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน

 

ความหมาย 

          การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ หมายถึง การที่ผู้นิเทศที่มีความรู้ ความเข้าใจและประสบการณ์ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สังเกตพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูในขณะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน

 

วัตถุประสงค์ 

          เพื่อให้ครูสามารถพัฒนาหรือปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพ โดยใช้ข้อมูลป้อนกลับจากการนิเทศของผู้นิเทศ

 

ขั้นตอนการสังเกต
         
ขั้นตอนการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ มี 3 ขั้นตอนดังนี้

          ขั้นตอนที่ 1  ขั้นก่อนการสังเกต
           1. สร้างความสัมพันธ์ระหว่างครูกับผู้นิเทศ
                      1.1 ปฏิบัติตนให้เป็นเพื่อนร่วมวิชาชีพกับครู
                      1.2 เป็นเพื่อนร่วมงานกับครู
                      1.3 ให้ข้อมูลต่าง ๆ แก่ครู
                      1.4 แก้ไขข้อขัดแย้งต่าง ๆ ของครู
                      1.5 รับฟังข้อเสนอแนะนำต่าง ๆ ของครู
                      1.6 ให้ความสนใจต่อครูในการปฏิบัติ
                      1.7 ให้ความจริงใจต่อครูทั้งต่อหน้าและลับหลัง
                      1.8 ให้เกียรติและยกย่องครูด้วยความจริงใจ
                      1.9  ส่งเสริมให้ครูมีความก้าวหน้าในอาชีพ
                      1.10 ให้ข้อมูล ความรู้ และสนับสนุนการทำงานของครู
             2. การปรึกษาหารือและการเตรียมแผนการเรียนรู้
                      2.1 ปรึกษาหารือกับครูในเรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
                      2.2 วางแผนการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน
                      2.3 สร้างข้อตกลงในการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน
                      2.4 ครูและผู้นิเทศ พิจารณาแผนการเรียนรู้ร่วมกัน

           ขั้นตอนที่ 2  ขั้นการสังเกต

          1. ผู้นิเทศเข้าไปสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แบบเงียบ ๆ โดยไม่ทำลายบรรยากาศการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
          2. ขณะสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้นิเทศต้องบันทึกพฤติกรรมการเรียนการสอน และบรรยากาศในห้องเรียนอย่างละเอียด
          3. บันทึกพฤติกรรมการสอนของครู (อาจใช้เทปบันทึกเสียงช่วย)
          4. ต้องสังเกต จัดกิจกรรมการเรียนรู้ตั้งแต่ต้นจนจบ ในแต่ละครั้งของการสังเกต
 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้

           ขั้นตอนที่ 3  ขั้นหลังการสังเกต

   1. วิเคราะห์พฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
             1.1 ครูกับผู้นิเทศร่วมกันวิเคราะห์พฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
             1.2 นำข้อมูลจากการบันทึกพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ พิจารณาร่วมกัน
             1.3 พิจารณาพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ว่าพฤติกรรมใดเป็นจุดเด่น
พฤติกรรมใดเป็นจุดด้อย และพฤติกรรมใดเป็นปัญหา
              1.4 ครูกับผู้นิเทศนำข้อมูลที่ได้มาร่วมกันปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้

   2. การปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
             2.1 ครูจะต้องยอมรับพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของตน
             2.2 เอาผลวิเคราะห์พฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ทั้งที่เป็นจุดเด่น จุดด้อย และพฤติกรรมที่เป็นปัญหามาเป็นข้อมูลในการปรับปรุงการจัดทำ แผนการเรียนรู้ครั้งต่อไป
             2.3 ปรับปรุงแก้ไขพฤติกรรมที่เป็นปัญหา

    3. ประเมินผล
            3.1 ติดตามผลการปฏิบัติการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
            3.2 ศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนและเจตคติของผู้เรียนว่า  มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้นหรือไม่ และผู้เรียนมีเจตคติต่อการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูในระดับใด

         การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้นิเทศควรทำหลาย ๆ ครั้ง จนผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศมั่นใจว่าการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูมีผลเป็นที่น่าพอใจ

 

แนวทางในการปฏิบัติการสังเกต 

           1. การเข้าสังเกตการสอน  ผู้นิเทศจะต้องเข้าชั้นเรียนก่อนเวลานัดหมาย เพื่อพบครูก่อนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ สอบถามถึงความพร้อมของครู สร้างสัมพันธภาพที่ดีกับครู เช่น ยิ้มแย้มแจ่มใส ชมเชย การจัดสภาพแวดล้อมที่ดี เพื่อให้ กำลังใจ แก่ครูในเบื้องต้น เมื่อผู้สอนมีความพร้อมแล้ว จึงกล่าวสวัสดีกับผู้เรียน และแนะนำตนเองแก่นักเรียน แล้วจึงเข้าไปนั่งในจุดที่ครูจัดให้อย่างสงบและมีสมาธิ เพื่อตั้งใจและสังเกตด้วยความจริงใจ ไม่ควรย้ายที่นั่งหรือเดินไปมาขณะที่ครูกำลังจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพราะจะเป็นการรบกวนสมาธิของครูและนักเรียน
            2. การจดบันทึก  เมื่อครูเริ่มสอน ผู้นิเทศจะต้องจดบันทึกพฤติกรรมตามแบบบันทึกที่กำหนด เมื่อสิ้นสุดการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว ผู้นิเทศควรบันทึกข้อเสนอแนะสิ่งที่ควรบันทึก 2 ประการ คือ
                         1) จุดเด่นที่พบจากการสังเกต
                         2) จุดอ่อนที่ควรปรับปรุง
            เมื่อบันทึกเสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ส่งมอบแบบสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นั้นให้ผู้สอนทราบ เพื่อเป็นข้อมูลในการให้คำปรึกษาหารือเป็นข้อมูลย้อนกลับครั้งต่อไป ดังนั้นผู้นิเทศจึงควรระมัดระวังถ้อยคำ ภาษาที่ใช้บันทึกเป็นพิเศษ เพื่อไม่ให้ผู้สอนเสียกำลังใจ
            กิจกรรมทั้งหมดนี้ ต้องให้เสร็จสิ้นหลังการจัดกิจกรรมการเรียนรู้สิ้นสุด ไม่ควรใช้เวลามากนัก  ก่อนจะออกจากห้องเรียน ผู้สอนและผู้นิเทศจะต้องนัดหมายว่าจะดำเนินการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ต่อไป
            3. การรายงานและการนัดหมายในการทำกิจกรรมครั้งต่อไป เมื่อสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เสร็จสิ้นลงแล้ว ผู้นิเทศจะต้องจัดทำรายงานการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้การจัดทำรายงานให้นำข้อมูลจากเครื่องมือสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่กำหนดไว้ และข้อมูลต่าง ๆ ที่ผู้นิเทศได้จดบันทึกไว้เพื่อแจ้งให้ผู้สอนรับทราบ เพื่อเป็นข้อมูลไปใช้ในการปรึกษาหารือร่วมกัน และให้ข้อมูลป้อนกลับต่อครู เมื่อผู้นิเทศบันทึกข้อมูลเสร็จควรมอบให้ครูทันที เพื่อนำไปศึกษาวิเคราะห์พร้อมกันและนัดหมาย ตดลงกันว่าจะร่วมปรึกษาหารือเพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับในขั้นตอนต่อไป
             4. การประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ข้อมูลป้อนกลับ การประชุมปรึกษาหารือเพื่อข้อมูลป้อนกลับ ถือเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่สุดของการสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ข้อมูลป้อนกลับที่เที่ยงตรงและมีประสิทธิภาพ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาคุณภาพการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพราะข้อมูลป้อนกลับจะเป็นประโยชน์ต่อการปรับปรุงพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู เพื่อให้ครูประเมินความก้าวหน้าและพฤติกรรมการสอนด้านต่าง ๆ ของตน จึงถือว่าเป็นปัจจัยในการพัฒนาทักษะ ความรู้ เจตคติ และพัฒนาเทคนิคการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูได้อย่างมีประสิทธิภาพในครั้งต่อไป
             5. การให้ข้อมูลป้อนกลับ  ข้อมูลป้อนกลับจะมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลสูงสุดในการนำไปใช้นั้น ต้องเป็นข้อมูลป้อนกลับที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

            5.1 เป็นข้อมูลเชิงพฤติกรรม ที่สามารถสังเกตได้ และแปลความหมายได้ มีความเจาะจง เจาะลึก สามารถมองเห็นพฤติกรรมนั้นได้อย่างชัดเจน
            5.2 มีความบริสุทธิ์ ปราศจากค่านิยมส่วนตนของผู้นิเทศที่มีอิทิพลต่อ  การตัดสินใจของครู และควรหลีกเลี่ยงในการให้คำแนะนำที่มีลักษณะเป็นเชิงบังคับ ให้ผู้รับการนิเทศเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม จะทำให้การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของครูไม่ยั่งยืน
            5.3 เป็นข้อมูลที่ได้จากสถานการณ์จริง คือ เป็นข้อมูลที่เกิดขึ้นและได้มาจากการสังเกต การจัดกิจกรรมการเรียนรู้จริง ไม่ใช่มาจากการแปลความหมายหรือจากการทำนายผล ดังนั้น ข้อมูลจึงมีความแม่นยำ เที่ยงตรง ซึ่งได้จากหลักฐานเชิงประจักษ์
            5.4 ผู้นิเทศต้องเปิดโอกาสให้ครูเปิดใจในการให้ข้อมูล สามารถชี้แจงได้เต็มที่ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู
            5.5 มุ่งช่วยเหลือครูเป็นสำคัญ จุดมุ่งหมายในการให้ข้อมูลป้อนกลับนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้ครูปรับปรุงพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ดังนั้น ผู้นิเทศจะต้องให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน เพื่อให้ครูสามารถเข้าใจได้

             6. การให้ข้อมูลป้อนกลับ ครูและผู้นิเทศ ต้องมีส่วนร่วมในการพิจารณาและเสนอข้อมูลได้อย่างเสมอภาค อย่าให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเกิดความรู้สึกที่เหนือกว่าและด้อยกว่า ความเสมอภาค จะสร้างบรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน และยังเป็นการสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องตรงกัน
             7. มุ่งหมาย เจาะจงที่พฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เป้าหมายของการสังเกตอยู่ที่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู ไม่ใช่มุ่งที่การเปลี่ยนแปลงบุคลิกภาพของครู ดังนั้น การให้ข้อมูลป้อนกลับจึงต้องมุ่งเน้นที่พฤติกรรมการสอนของครู มิใช่ไปวิเคราะห์หรือวิจารณ์ วิพากษ์บุคลิกภาพของครู
             8. มุ่งให้ครูเห็นประโยชน์จากข้อมูล ผู้นิเทศจะต้องสามารถทำให้ครูได้เข้าใจถึงจุดมุ่งหมาย เหตุผล และคุณประโยชน์ที่เขาพึงจะได้รับ อันจะกลายสภาพเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงและพัฒนาพฤติกรรมการสอนของตนต่อไป
             9. มุ่งอธิบายถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น พิจารณาถึงข้อมูลป้อนกลับต้องพิจารณาและอธิบายจากพฤติกรรมที่เป็นจริง หลีกเลี่ยงการใช้ภาษา หรือการแสดงออกซึ่งการวัดและการประเมินตัวครู
            10. การตัดสินใจเลือกทางเลือกใหม่ เมื่อได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยละเอียดแล้ว ขั้นสุดท้ายเป็นการพิจารณาตัดสินใจเลือกทางเลือกใหม่ เพื่อเป็นข้อมูลป้อนกลับ ทางเลือกนี้จะประกอบด้วย พฤติกรรมที่ดีซึ่งควรคงไว้ และพฤติกรรมที่ยังด้อย ควรปรับปรุงแก้ไข ในส่วนที่ต้องปรับปรุงแก้ไข ผู้นิเทศจะต้องกระตุ้นและสนับสนุนให้ครูได้พิจารณาทางเลือกใหม่ เพื่อจะช่วยให้การปรับปรุงการเรียนการสอนนั้นมีประสิทธิภาพ และประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น
             11. การสรุปข้อมูล ข้อมูลที่ได้จำเป็นจะต้องสรุปเพื่อนำไปใช้ ควรมี 4 ประเด็น คือ
                        1) จุดมุ่งหมายของบทเรียน
                        2) รูปแบบและยุทธวิธีในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
                        3) พฤติกรรมของครูและแนวปฏิบัติของครูในระหว่างจัดกิจกรรมการเรียนรู้ 
                        4) พฤติกรรมของผู้เรียนระหว่างเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้
              12. การเสนอข้อมูลป้อนกลับ ข้อมูลที่สรุปแล้วควรเก็บไว้เป็นข้อมูลในการสังเกตครั้งต่อไป และเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาพฤติกรรมการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครู และผู้นิเทศควรส่งรายงานการนิเทศนี้ ให้แก่ ผู้บริหารสถานศึกษา หากมีการเปลี่ยนผู้ทำหน้าที่นิเทศ เพื่อจะได้นำข้อมูลนี้ไปใช้ในการนิเทศคราวต่อไป

 

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
https://panchalee.wordpress.com/2009/07/28/classroom_observation

————————————–

5 Replies to “เทคนิคการนิเทศ: การสังเกตการจัดกิจกรรมการเรียนรู้(Classroom observation)”

    1. สวัสดีค่ะ อาจารย์เกษมศักดิ์
      ขอบคุณที่มาเยี่ยม Panchalee blog และกำลังใจที่ให้ซึ่งมีคุณค่ามากสำหรับดิฉัน
      อาจารย์ขิง

ใส่ความเห็น