ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา(1)

pencilอัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
11 มีนาคม 2552

 ปัจจุบัน งานในด้านการศึกษาได้เจริญก้าวหน้าไปมาก มีการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ ประการ  เช่น การเปลี่ยนแปลงหลักสูตร ความรู้ในสาขาวิชาการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น     แนวความคิดและแนวการเรียนการสอนใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น    ตลอดจนการเปลี่ยนแปลงจุดมุ่งหมายของการศึกษา แต่ยังพบว่า ผู้บริหาร ครู  และผู้เกี่ยวข้องบางคน   ยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง ปัญหาดังกล่าวข้างต้นสามารถจะแก้ไขได้โดยอาศัยผู้นิเทศ หรือศึกษานิเทศก์ ซึ่งมีหน้าที่นิเทศการศึกษาให้ครูมีความเจริญงอกงามทางวิชาการ สามารถพึ่งตนเองได้      และนำความรู้เหล่านี้ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาการเรียนการสอนตามวัตถุประสงค์ที่วางไว้  ดังนั้นเรื่องการนิเทศการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ศึกษานิเทศก์ควรจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจในหลักการ กระบวนการ  และวิธีการของการนิเทศการศึกษาเพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาการเรียนการสอนต่อไปเพื่อให้เกิดความเข้าใจในเรื่องของการนิเทศการศึกษาดีขึ้น   จึงขอนำเอาความรู้เบื้องต้นของการนิเทศการศึกษามากล่าวถึงในรายละเอียดดังต่อไปนี้

 ความหมาย         

                คำว่า  การนิเทศ (Supervision)   แปลว่า การให้ความช่วยเหลือแนะนำ   หรือปรับปรุง  ดังนั้น การนิเทศการศึกษาก็น่าจะหมายถึงการให้ความช่วยเหลือแนะนำ    หรือปรับปรุงเกี่ยวกับการศึกษาโดยเฉพาะในโรงเรียน   ได้มีผู้ให้ความหมายคำว่า     การนิเทศการศึกษาไว้แตกต่างกันดังนี้

                สเปียร์ส (Spears)  ได้ให้คำจำกัดความไว้ว่า     การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการที่จะทำให้เกิดการปรับปรุงกระบวนการเรียนการสอนของครู   โดยการทำงานร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการนี้ เป็นกระบวนกระตุ้นความเจริญก้าวหน้าของครู และมุ่งหวังที่จะช่วยเหลือครู     เพื่อช่วยให้ครูได้ช่วยตนเองได้

                กูด  (Good)  ได้ให้ความหมายของการนิเทศการศึกษาว่า เป็นความพยายามของผู้ทำหน้าที่นิเทศที่จะช่วยในการให้คำแนะนำแก่ครู   หรือผู้อื่นที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาให้สามารถปรับปรุงการสอนของตนให้ดีขึ้น  ช่วยให้เกิดความเจริญงอกงามในด้านอาชีพ  ช่วยพัฒนาความสามารถของครู

                แฮร์ริส  (Harris)  ได้กล่าวถึงความหมายของการนิเทศการศึกษาว่า   หมายถึงสิ่งที่บุคลากรในโรงเรียนกระทำต่อบุคคลหรือสิ่งหนึ่งสิ่งใดโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อจะคงไว้  หรือเปลี่ยนแปลงปรับปรุงการดำเนินการเรียนการสอนในโรงเรียน  มุ่งให้เกิดประสิทธิภาพในด้านการสอนเป็นสำคัญ

                มาคส์  และสทูปส์  (Marks  and  Stoops)  ได้กล่าวถึงการนิเทศการศึกษาว่า  คุณค่าของการนิเทศการศึกษาอยู่ที่การพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับสถานการณ์  และส่งผลสะท้อนไปถึงการพัฒนานักเรียนด้วย

                 ชาญชัย  อาจิณสมาจาร  ได้ให้คำจำกัดความว่า  การนิเทศการศึกษา  คือกระบวนการสร้างสรรค์ ที่ไม่หยุดนิ่งในการให้คำแนะนำ  และการชี้ช่องทางในลักษณะที่เป็นกันเองแก่ครูและนักเรียน   เพื่อการปรับปรุงตัวของเขาเองและสภาพการเรียนการสอนเพื่อให้บรรลุเป้าหมายทางการศึกษาที่พึงประสงค์

                สันต์  ธรรมบำรุง  ได้ให้ความหมายว่า  การนิเทศการศึกษา  หมายถึงการช่วยเหลือ  การแนะนำการชี้แจง  การบริการ  การปรับปรุงที่เกี่ยวข้องกับการเรียนการสอน  ในการที่จะส่งเสริมให้ครูปรับปรุงการสอนให้ดีขึ้น

                 ดังนั้น  จึงอาจสรุปความหมายของการนิเทศการศึกษา  หมายถึง  กระบวนการพัฒนาครู  เพื่อให้ครูปรับปรุงและพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้     เพื่อให้การจัดการศึกษาบรรลุจุดมุ่งหมายที่วางไว้

              การนิเทศการศึกษาจึงเป็นกระบวนการในการแนะนำช่วยเหลือ  ครู   ให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ  ซึ่งการนิเทศนั้นอยู่บนหลักการของประชาธิปไตย  ได้แก่    การเคารพซึ่งกันระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ

                 การนิเทศการศึกษาจัดขึ้นเพื่อปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้ดียิ่งขึ้น   ในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นี้จะสำเร็จได้ผลดีเพียงไรนั้น    ย่อมขึ้นอยู่กับทักษะและความสามารถของศึกษานิเทศก์ผู้ทำงานร่วมกับครู  ตลอดจนเทคนิคและวิธีการต่าง ๆ  ที่ศึกษานิเทศก์นำมาใช้ในการนิเทศการศึกษาโดยให้ครูมีโอกาสค้นคว้างานที่จะต้องทำด้วยตนเอง  เพื่อให้เกิดความงอกงามขึ้น เมื่อได้เรียนรู้และมีความเจริญงอกงามแล้ว      ย่อมจะได้รู้จักปรับปรุงงานด้านการเรียนการสอนให้ได้ผลดีมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น      การนิเทศการศึกษามิใช่เน้นการปรับปรุงตัวครู     โดยเห็นว่า  ครูยังทำหน้าที่ไม่สมบูรณ์ในการสร้างความเจริญงอกงามให้แก่ผู้เรียน    หากแต่ให้ความสำคัญไปถึงนโยบายการศึกษา  จุดประสงค์ของการให้การศึกษา  การพิจารณาความเหมาะสมของหลักสูตรที่ใช้  วัสดุอุปกรณ์การสอนและวิธีสอนของครู  สิ่งแวดล้อมของครูและผู้เรียนในขณะที่เรียน  ตลอดจนปัญหาด้านต่าง ๆ ในส่วนตัวครูและผู้เรียนซึ่งสิ่งเหล่านี้อยู่ในขอบเขตการนิเทศการศึกษาทั้งสิ้น

 

ความจำเป็นในการนิเทศการศึกษา

                ความจำเป็นในการนิเทศการศึกษามีดังนี้

  • 1) สภาพสังคมเปลี่ยนไปทุกขณะ การศึกษาจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมด้วย     การนิเทศการศึกษาจะช่วยทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงขึ้นในองค์การที่เกี่ยวข้องกับการศึกษา
  • 2) ความรู้ในสาขาวิชาต่าง ๆ เพิ่มขึ้นโดยไม่หยุดยั้ง แม้แนวคิดในเรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ก็เกิดขึ้นใหม่อยู่ตลอดเวลา  การนิเทศการศึกษาจะช่วยทำให้ครูมีความรู้ทันสมัยอยู่เสมอ
  • 3) การแก้ไขปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อให้การจัดกิจกรรมการเรียนรู้พัฒนาขึ้น จำเป็นต้องได้รับการชี้แนะหรือการนิเทศการศึกษาจากผู้ชำนาญการโดยเฉพาะ จึงจะทำให้แก้ไขปัญหาได้สำเร็จลุล่วง
  • 4) การศึกษาของประเทศเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานการศึกษาของชาติ จะต้องมีการควบคุมดูแลด้วยระบบการนิเทศการศึกษา
  • 5) การศึกษาเป็นกิจกรรมที่ซับซ้อน จำเป็นที่จะต้องมีการนิเทศ เพื่อเป็นการให้บริการแก่ครูที่มีความสามารถต่าง ๆ กัน
  • 6) การนิเทศการศึกษาเป็นงานที่มีความจำเป็นต่อความเจริญงอกงามของครู แม้ว่าครูจะได้รับการฝึกฝนมาอย่างดีแล้วก็ตาม  แต่ครูก็จะต้องปรับปรุงฝึกฝนตนเองอยู่เสมอในขณะที่ทำงานในสถานการณ์จริง
  • 7) การนิเทศการศึกษา มีความจำเป็นต่อการช่วยเหลือครูในการเตรียมการจัดกิจกรรม
  • 8 ) การนิเทศการศึกษามีความจำเป็นต่อการทำให้ครูเป็นบุคคลที่ทันสมัยอยู่เสมอ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่มีอยู่เสมอ

                ด้วยเหตุผลความจำเป็นดังกล่าวข้างต้น ผู้มีหน้าที่นิเทศจึงควรจะต้องจัดดำเนินการ เพื่อช่วยเหลือครูให้มีความสามารถในการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ทำให้ครูก้าวทันโลกที่กำลังเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยี  และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนอย่างเต็มที่

 

ความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา

                ดร.สงัด  อุทรานันท์  (2530)  ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษาว่า  มีจุดมุ่งหมายที่สำคัญ 4 ประการ  ดังนี้

                1)  เพื่อพัฒนาคน
                2)  เพื่อพัฒนางาน
                3)  เพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์
                4)  เพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ

                การนิเทศการศึกษาเพื่อพัฒนาคน  หมายถึง การนิเทศการศึกษาเป็นกระบวนการทำงานร่วมกันกับครูและบุคลากรทางการศึกษา   เพื่อให้ครูและบุคลากร   ได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในทางที่ดีขึ้น

                การนิเทศการศึกษาเพื่อพัฒนางาน  หมายถึง  การนิเทศการศึกษา  มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่ผู้เรียนซึ่งเป็นผลผลิตจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูและบุคลากรทางการศึกษา  โดยเหตุนี้การนิเทศที่จัดขึ้นจึงมีจุดมุ่งหมายที่จะ “พัฒนางาน”  คือการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ดีขึ้น

                การนิเทศการศึกษาเพื่อสร้างการประสานสัมพันธ์  หมายถึง  การนิเทศการศึกษา  เป็นการสร้างการประสานสัมพันธ์  ระหว่างผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ  ซึ่งเป็นผลมาจากการทำงานร่วมกัน  รับผิดชอบร่วมกันมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันและกัน  ซึ่งไม่ใช่เป็นการทำงานภายใต้การถูกบังคับและคอยตรวจตราหรือคอยจับผิด

                การนิเทศการศึกษาเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจ   หมายถึง  การจัดกิจกรรมการนิเทศที่มุ่งให้กำลังใจแก่ครู และบุคลากรทางการศึกษา  ซึ่งถือว่าเป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญอีกประการหนึ่งของการนิเทศ  เนื่องจากขวัญและกำลังใจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้บุคคลมีความตั้งใจทำงาน หากนิเทศไม่ได้สร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงานแล้ว  การนิเทศการศึกษาก็ย่อมประสบผลสำเร็จได้ยาก

 

ผู้ทำหน้าที่นิเทศการศึกษา

                บุคคลที่ทำหน้าที่นิเทศการศึกษา  ไม่จำเป็นต้องเป็นศึกษานิเทศก์แต่ผู้เดียว  ใครก็ได้ที่ทำหน้าที่ช่วยเหลือ  แนะนำ  ปรับปรุงและพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  โดยเน้นในเรื่องของกระบวนการเรียนการสอน  ในปัจจุบันบุคคลผู้ทำหน้าที่นิเทศการศึกษาได้มีหลายกลุ่ม  ดังนี้

  • 1. ศึกษานิเทศก์ คือบุคคลที่มีหน้าที่ในการนิเทศการศึกษาโดยตำแหน่ง
  • 2. ผู้บริหารสถานศึกษา
  • 3. ครู อาจให้ความช่วยเหลือแนะนำเกี่ยวกับการปรับปรุงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้แก่เพื่อนครูด้วยกัน
  • 4. ผู้เชี่ยวชาญ คือบุคคลที่สถานศึกษาเชิญมาเป็นวิทยากร เพื่อช่วยเหลือแนะนำและให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้
  • 5.  ผู้บริหารการศึกษา

 

หน้าที่ของศึกษานิเทศก์

                แฮริส  (Harris)  ได้แบ่งหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ไว้ดังนี้

  • 1) หน้าที่ทางการสอน (Teaching Function) เป็นหน้าที่หลัก ศึกษานิเทศก์จะต้องทำงานที่เกี่ยวกับการสอนโดยตรง  นั่นคือช่วยเหลือ  แนะนำ  เกี่ยวกับวิธีการสอนที่ดีให้กับครูรวมตลอดถึงการวัดและประเมินผลด้วย
  • 2) หน้าที่จัดบริการ (Special Service Function) เป็นการช่วยเหลือแนะนำเกี่ยวกับการบริการให้แก่นักเรียนโดยตรง  ได้แก่  หน่วยสุขภาพพลานามัย  การแนะแนว  บริการจิตบำบัด  และสันทนาการเป็นต้น
  • 3) หน้าที่จัดอำนวยการ (Management Function) เป็นการช่วยเหลือในเรื่องการจัดดำเนินงานในด้านธุรการทั่วไป  เกี่ยวข้องกับคณะบุคคล  เป็นการเกี่ยวพันโดยทางอ้อมกับการเรียนการสอน
  • 4) หน้าที่การนิเทศ (Supervision Function) เป็นงานเกี่ยวกับการนิเทศการติดต่อ ประสานงานเป็นงานที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการเรียนการสอน  ศึกษานิเทศก์จะทำงานร่วมกับครู
  • 5) หน้าที่บริหารงานทั่วไป (General Administration Function) เป็นหน้าที่เกี่ยวกับงานบริหารในโรงเรียนทั่ว ๆ ไป  ที่ศึกษานิเทศก์จะช่วยเหลือโรงเรียนได้

               วไรรัตน์  บุญสวัสดิ์  ได้กล่าวถึงภาระหน้าที่ของศึกษานิเทศก์ว่ามีดังนี้

  • 1) ช่วยเหลือครูในการพัฒนาและปรับปรุงตนเอง
  • 2) ส่งเสริมให้มีการปรับปรุงหลักสูตร
  • 3) ช่วยเหลือครูในการปรับปรุงการสอนของตนให้ดีขึ้น
  • 4) เปิดโอกาสให้ผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชา ซึ่งมีอยู่ในโรงเรียนได้ช่วยเหลือเพื่อนครู
  • 5) ส่งเสริมให้คณะครูมีความสนใจในอุปกรณ์การสอน
  • 6) ช่วยเหลือครูในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับผู้เรียนให้ดีขึ้น
  • 7) ช่วยเหลือครูในการประเมินผลผู้เรียน
  • 8 ) ส่งเสริม ยั่วยุให้ครูรู้จักประเมินผลโครงการการปฏิบัติงานและความก้าวหน้าของตน
  • 9) ช่วยให้ครูประสบผลสำเร็จและมีความรู้สึกมั่นคง

      อาคม  จันทสุนทร  ได้สรุปบทบาทและหน้าที่ของผู้นิเทศการศึกษาไว้เป็น 2 ประเด็นคือ 

  • 1) บทบาทในฐานะที่ปรึกษาหรือผู้ช่วยคิดของผู้บริหารการศึกษา หมายถึงเป็นผู้ช่วยในการวางแผนดำเนินการต่าง ๆ รวมทั้งช่วยเหลือในการตัดสินใจของผู้บริหาร
  • 2) บทบาทในฐานะที่เป็นผู้ทำให้สถานการณ์การเรียนการสอนที่ครูจัดอยู่เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ผู้นิเทศการศึกษาในบทบาทนี้จะพยายามมีกิจกรรมให้ครูได้เรียนรู้  และปฏิบัติในด้านการเรียนการสอนให้บังเกิดผลดียิ่งขึ้นเหมือนเป็นครูของครู

                กระทรวงศึกษาธิการ  โดยสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา  (ก.ค.ศ.)  ได้กำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบและลักษณะงานที่ปฏิบัติของศึกษานิเทศก์ (2548) ดังนี้

 หน้าที่และความรับผิดชอบ

                ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาการ  และงานนิเทศการศึกษาเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐานการศึกษา  ค้นคว้าทางวิชาการ  และวิเคราะห์  วิจัย  ติดตาม  ตรวจสอบและประเมินผล  เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  และปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

 ลักษณะงานที่ปฏิบัติ

  • 1.  การนิเทศการศึกษา  โดยส่งเสริมให้สถานศึกษาบริหารหลักสูตรสถานศึกษา  จัดกระบวนการเรียนรู้  มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาชาติ  พัฒนาการวัดและประเมินผลการศึกษา  การพัฒนาสื่อ  นวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ
  • 2. การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ เพื่อจัดทำเป็นเอกสาร คู่มือ และสื่อใช้ในการปฏิบัติงานและเผยแพร่ให้ครูได้ใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนการสอน
  • 3. การวิเคราะห์วิจัยเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา  เพื่อพัฒนาระบบการบริหารงานวิชาการ  พัฒนามาตรฐาน  และการประกันคุณภาพการศึกษาเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน  และเผยแพร่แก่ผู้บริหารสถานศึกษา  ครู  และผู้สนใจทั่วไป
  • 4. การติดตาม ตรวจสอบและประเมินผล เพื่อเป็นข้อมูล และสารสนเทศในการวางแผนนิเทศและพัฒนางานทางวิชาการ
  • 5. ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

                คณะกรรมการคุรุสภา  (2549)  ได้กำหนดมาตรฐานการปฏิบัติงานของศึกษานิเทศก์  ดังนี้   ผู้ประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์  ต้องปฏิบัติงานตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน  ดังต่อไปนี้

  • 1) ปฏิบัติกิจกรรมทางวิชาการเกี่ยวกับการพัฒนาการนิเทศการศึกษา เพื่อให้เกิดการพัฒนาวิชาชีพทางการศึกษา
  • 2) ตัดสินใจปฏิบัติกิจกรรมการนิเทศการศึกษา โดยคำนึงถึงผลที่จะเกิดแก่ผู้รับการนิเทศ
  • 3) มุ่งมั่น พัฒนาผู้รับการนิเทศให้ลงมือปฏิบัติกิจกรรมจนเกิดผลต่อการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
  • 4) พัฒนาแผนการนิเทศให้สามารถปฏิบัติได้เกิดผลจริง
  • 5) พัฒนาและใช้นวัตกรรมการนิเทศการศึกษาจนเกิดผลงานที่มีคุณภาพสูงขึ้นเป็นลำดับ
  • 6) จัดกิจกรรมการนิเทศการศึกษาโดยเน้นผลถาวรที่เกิดแก่ผู้รับการนิเทศ
  • 7) รายงานผลการนิเทศการศึกษาได้อย่างเป็นระบบ
  • 8 ) ปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดี
  • 9) ร่วมพัฒนางานกับผู้อื่นอย่างสร้างสรรค์
  • 10) แสวงหาและใช้ข้อมูลข่าวสารในการพัฒนา
  • 11) เป็นผู้นำและสร้างผู้นำทางวิชาการ
  • 12) สร้างโอกาสในการพัฒนางานได้ทุกสถานการณ์

 

ประเภทของงานนิเทศการศึกษา

                การนิเทศการศึกษา  อาจแบ่งออกตามวิธีปฏิบัติงานเป็น  4  ประเภท

  • 1) การนิเทศเพื่อการแก้ไข (Correction) เป็นการนิเทศที่เกิดจากการพบข้อผิดพลาดและบกพร่องก็ให้หาทางช่วยแก้ไขโดยวิธีการต่าง ๆ
  •  2)  การนิเทศเพื่อป้องกัน  (Preventive)  เป็นการนิเทศที่พยายามหาวิธีการต่าง ๆ มาจัดดำเนินงานเพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น
  • 3)  การนิเทศเพื่อก่อ  (Construction)  เป็นการนิเทศที่เกิดจากความพยายามที่จะกระทำในทางที่เหมาะสมเพื่อความเจริญเติบโตในอนาคต  เช่น  การใช้ระเบียบวิธีสอนที่ดีเป็นประจำ  ช่วยให้กำลังใจช่วยกระตุ้นให้ครูทำงานด้วยความกระฉับกระเฉง
  • 4)  การนิเทศเพื่อการสร้างสรรค์ (Creation)  เป็นการนิเทศที่พยายามจะคิดสร้างสรรค์ในสิ่งใหม่ ๆ ให้เกิดมีขึ้นในโรงเรียน

  

หลักสำคัญของการนิเทศการศึกษา

                บริกส์  และจัสท์แมน  (Briggs  and  Justman)  ได้เสนอหลักการนิเทศสำหรับผู้บริหารไว้ดังนี้

  • 1) การนิเทศการศึกษาต้องเป็นประชาธิปไตย
  • 2) การนิเทศการศึกษาจะต้องเป็นการส่งเสริม และการสร้างสรรค์
  • 3) การนิเทศการศึกษาควรจะต้องอาศัยความร่วมมือของวิทยากรหลายคนมากกว่าที่จะแบ่งผู้นิเทศออกเป็นรายบุคคล
  • 4) การนิเทศการศึกษา ควรตั้งอยู่บนรากฐานของการพัฒนาวิชาชีพมากกว่าจะเป็นความสัมพันธ์ส่วนบุคคล
  • 5) การนิเทศการศึกษา จะต้องคำนึงถึงความถนัดของแต่ละบุคคล
  • 6) จุดมุ่งหมายสูงสุดของการนิเทศการศึกษา คือหาทางช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ ความสามารถตามความมุ่งหมายของการศึกษา
  • 7) การนิเทศการศึกษาจะต้องเกี่ยวข้องอยู่กับการส่งเสริมความรู้สึกอบอุ่นให้แก่ครู และการสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีระหว่างหมู่คณะ
  • 8 ) การนิเทศการศึกษาควรเริ่มต้นจากสภาพการณ์ปัจจุบันที่กำลังประสบอยู่
  • 9) การนิเทศการศึกษาควรเป็นการส่งเสริมความก้าวหน้า และความพยายามของครูให้สูงขึ้น
  • 10) การนิเทศการศึกษาควรเป็นการส่งเสริมและปรับปรุงสมรรถวิสัย ทัศนคติ และข้อคิดเห็นของครูให้ถูกต้อง
  • 11) การนิเทศการศึกษา พยายามหลีกเลี่ยงการกระทำอย่างเป็นพิธีการมาก ๆ
  • 12) การนิเทศการศึกษาควรใช้เครื่องมือ และกลวิธีง่าย ๆ
  • 13) การนิเทศการศึกษาควรตั้งอยู่บนหลักการและเหตุผล
  • 14) การนิเทศการศึกษาควรมีจุดมุ่งหมายที่แน่นอน และสามารถประเมินผลได้ด้วยตนเอง

               เบอร์ตัน  และบรุคเนอร์  (Burton  and  Brueckner)  ได้สรุปหลักการนิเทศการศึกษาไว้ 4 ประการ คือ

  • 1) การนิเทศการศึกษาควรมีความถูกต้องตามหลักวิชา การนิเทศการศึกษาที่ดีควรจะเป็นไปตามวัตถุประสงค์  และนโยบายที่วางไว้  ควรเป็นไปตามความจริงและกฎเกณฑ์ที่แน่นอน
  • 2) การนิเทศการศึกษาควรเป็นวิทยาศาสตร์ การนิเทศการศึกษาควรเป็นไปอย่างมีระเบียบมีการปรับปรุงและประเมินผล  การนิเทศควรจะมาจากการรวบรวมข้อมูล  และการสรุปผลอย่างมีประสิทธิภาพเป็นที่เชื่อถือได้
  • 3) การนิเทศการศึกษาควรเป็นประชาธิปไตย การนิเทศการศึกษาจะต้องเคารพในความแตกต่างของบุคคล  เน้นความร่วมมือร่วมใจกันในการดำเนินงาน  และใช้ความรู้ความสามารถในการปฏิบัติงานเพื่อให้งานนั้นไปสู่เป้าหมายที่ต้องการ 
  • 4) การนิเทศการศึกษาควรจะเป็นการสร้างสรรค์ การนิเทศการศึกษาควรเป็นการแสวงหาความสามารถพิเศษของบุคคล  แล้วเปิดโอกาสให้ได้แสดงออกและพัฒนาความสามารถเหล่านั้นอย่างเต็มที่

                ไวลส์  (Wiles)  ได้เสนอแนะหลักการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้

  • 1) ให้ความสำคัญกับครูทุกคนและทำให้เห็นว่าต้องการความช่วยเหลือจากเขา
  • 2) แผนงานหรือความเจริญก้าวหน้าเป็นผลจากการทำงานเป็นทีม
  • 3) หาโอกาสพบปะสังสรรค์เป็นกันเองกับครูโดยสม่ำเสมอ
  • 4) เปิดโอกาสให้สมาชิกได้แสดงความคิดเห็นและส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่ม
  • 5) เป็นมิตรไมตรีกับบุคคลทั่วไป
  • 6) ปรึกษากับหมู่คณะเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงใด ๆ อันจะพึงมี
  • 7) พิจารณาสภาพที่เป็นปัญหาของสมาชิก อาจจะซักถามสัมภาษณ์หรือให้คณะครูเสนอปัญหาที่อยู่ในความสนใจร่วมกัน
  • 8) หากศึกษานิเทศก์กระฉับกระเฉงมีชีวิตชีวา หมู่คณะย่อมจะเป็นเช่นกัน
  • 9) บทบาทการนำของศึกษานิเทศก์คือ การประสานงานและการช่วยเหลือทางวิชาการ
  • 10) ฟังมากกว่าพูด
  • 11) การปฏิบัติงานเริ่มด้วยปัญหาของสมาชิก
  • 12) วางแผนปฏิบัติงานของหมู่คณะไว้
  • 13) ตำแหน่งหน้าที่มิได้ทำให้ศึกษานิเทศก์ต้องเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม หรือความเป็นมิตรไมตรีกับหมู่คณะต้องชะงักงัน
  • 14) พยายามใช้ประสบการณ์ด้านความสามารถต่าง ๆ ของครูอาวุโสให้เกิดประโยชน์ในการนิเทศมากที่สุด
  • 15) ตัดสินใจแน่วแน่ทันต่อเหตุการณ์
  • 16) เอาใจใส่รู้งานในหน้าที่ดี
  • 17) สำรวจและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอ
  • 18) สนใจในสวัสดิภาพของสมาชิก
  • 19) มีความรับผิดชอบ ปลูกฝังความรับผิดชอบให้แก่หมู่คณะ
  • 20) สนใจในสวัสดิภาพของสมาชิก

               มาร์ค  และคณะ  (Marks)  ได้ให้หลักเบื้องต้นของการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้

  • 1) การนิเทศการศึกษา ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่าย
  • 2) การนิเทศการศึกษา ต้องถือหลักว่าเป็นการบริการ ซึ่งครูเป็นผู้ใช้บริการ
  • 3) การนิเทศการศึกษา ควรสอดคล้องกับความต้องการของครู
  • 4) การนิเทศการศึกษา ควรเป็นการสร้างสรรค์ทัศนคติ และความสัมพันธ์ระหว่างผู้นิเทศกับผู้รับการนิเทศ
  • 5) การนิเทศการศึกษา ควรเน้นให้เห็นความสำคัญของงานวิจัย และพยายามหาทางให้ครูศึกษางานวิจัย  แล้วนำมาปฏิบัติตามนั้น
  • 6) การนิเทศการศึกษา ควรยึดหลักการประเมินผลการนิเทศทั้งผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศ

               วินัย  เกษมเศรษฐ์  ได้กล่าวไว้ว่า  การนิเทศการศึกษาที่มีประสิทธิภาพจะต้องอาศัยหลักการต่าง ๆ ดังนี้

  • 1) หลักสภาพผู้นำ (Leadership) คือการใช้อิทธิพลของบุคคลที่จะทำให้กิจกรรมต่าง ๆ ของกลุ่มเป็นไปตามเป้าประสงค์
  • 2) หลักความร่วมมือ (Cooperation) คือการกระทำร่วมกัน และรวมพลังทั้งหมดเพื่อแก้ปัญหาด้วยกัน  โดยยอมรับและยกย่องผลของความร่วมมือในการปรับปรุงการเรียนการสอนจากหลายฝ่ายและทำหน้าที่และความรับผิดชอบชัดแจ้งในการจัดองค์การ    การประเมินผล      ตลอดจนการประสานงาน
  • 3) หลักการเห็นใจ (Considerateness) คือการนิเทศการศึกษาจะต้องคำนึงถึงตัวบุคคลที่ร่วมงานด้วยการเห็นใจ  จะทำให้ตระหนักในคุณค่าของมนุษยสัมพันธ์
  • 4) หลักการสร้างสรรค์ (Creativity) คือการนิเทศการศึกษา จะต้องทำให้ครูเกิดพลังที่จะคิดเริ่มสิ่งใหม่ ๆ แปลก ๆ หรือทำงานด้วยตนเองได้
  • 5) หลักการบูรณาการ (Integration) เป็นกระบวนการซึ่งรวมสิ่งกระจัดกระจายให้สมบูรณ์มองเห็นได้
  • 6) หลักการมุ่งชุมชน (Community) เป็นการแสวงหาปัจจัยที่สำคัญในชุมชน และการปรับปรุงปัจจัยเหล่านั้น  เพื่อส่งเสริมความเป็นอยู่ในชุมชนให้ดีขึ้น
  • 7) หลักการวางแผน (Planning) หมายถึงกระบวนการวิเคราะห์ซึ่งเกี่ยวกับการแสวงผลในอนาคตการกำหนดจุดประสงค์ที่ต้องการล่วงหน้า  การพัฒนาทางเลือกเพื่อปฏิบัติให้บรรลุถึงจุดประสงค์และการเลือกทางปฏิบัติให้เหมาะสมที่สุด
  • 8 ) หลักการยืดหยุ่น (Flexibility) หมายถึง ความสามารถที่จะถูกเปลี่ยนแปลงได้ และพร้อมอยู่เสมอที่จะสนองความต้องการสภาพที่เปลี่ยนแปลงไป
  • 9) หลักวัตถุวิสัย (Objectivity) หมายถึงคุณภาพที่เป็นผลจากหลักฐานตามสภาพความจริงมากกว่าความเห็นบุคคล
  • 10) หลักการประเมินผล (Evaluation) หมายถึงการหาความจริงโดยการวัดที่แน่นอน และหลายอย่าง

                วิจิตร   วรุตบางกูร  และคณะ  ได้เสนอแนะหลักสำคัญในการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้

  • 1) หาทางให้ครูรู้จักช่วยและพึ่งตัวเอง ไม่ใช่คอยจะอาศัยและหวังพึ่งศึกษานิเทศก์หรือคนอื่นตลอดเวลา
  • 2) ช่วยให้ครูมีความเชื่อมั่นในตนเอง สามารถที่จะวิเคราะห์และแยกแยะปัญหาต่าง ๆ ด้วยตนเองได้
  • 3) ต้องทราบความต้องการของครู แล้ววางแผนการนิเทศเพื่อตอบสนองความต้องการนั้น ๆ
  • 4) ศึกษาปัญหาต่าง ๆ ของครู และทำความเข้าใจกับปัญหานั้น ๆ แล้วพิจารณาหาทางช่วยแก้ไข
  • 5) ชักจูงให้ครูช่วยกันแยกแยะและวิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน
  • 6) การแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเรียนการสอน ควรเปิดโอกาสให้ครูได้ใช้ความคิดและลงมือกระทำเองให้มากที่สุด
  • 7) รับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่าง ๆ ของครู แล้วนำมาพิจารณาร่วมกัน
  • 8 ) ช่วยจัดหาแหล่งวิทยากร อุปกรณ์การสอน ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ ให้แก่ครู
  • 9) ช่วยจัดหาเอกสาร หนังสือ และตำราต่าง ๆ ให้แก่ครู
  • 10) ช่วยให้ครูรู้จักจัดหาหรือจัดทำวัสดุอุปกรณ์การสอนที่ขาดแคลนด้วยตนเอง โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นที่มีอยู่
  • 11) หาทางให้สถานศึกษา ชุมนุมชน และหน่วยงานที่ใกล้เคียง มีความสัมพันธ์กันและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน
  • 12) ต้องยอมรับนับถือบุคลากรที่ร่วมงานในโรงเรียนนั้น ๆ และแสดงให้เขาเห็นว่าเขามีความสำคัญในสถานศึกษานั้น ๆ ด้วย
  • 13) ช่วยให้ครูได้แถลงกิจกรรม และผลงานต่าง ๆ ของสถานศึกษาให้ชุมชนทราบโดยสม่ำเสมอ
  • 14) ต้องทำความเข้าใจกับผู้บริหารสถานศึกษาในส่วนที่เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของกันและกัน
  • 15) ช่วยประสานงานระหว่างสถานศึกษากับองค์การหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
  • 16) รวบรวมข้อมูลต่าง ๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์มาทำการวิเคราะห์และวิจัย
  • 17) ทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องราวต่าง ๆ ของการศึกษาอย่างแจ่มแจ้ง เพื่อจะได้ดำเนินการให้บรรลุเป้าหมาย

 

กระบวนการนิเทศการศึกษา

                กระบวนการนิเทศการศึกษา  หมายถึงการดำเนินการในการนิเทศให้ได้รับความสำเร็จ

                แฮริส  (Harris)  ได้กำหนดขั้นตอนของกระบวนการนิเทศการศึกษาไว้ดังนี้

  • 1) ขั้นวางแผน (Planning) ได้แก่ การคิด การตั้งวัตถุประสงค์ การคาดการณ์ล่วงหน้าการกำหนดตารางงาน  การค้นหาวิธีปฏิบัติงาน  และการวางโปรแกรมงาน
  • 2) ขั้นการจัดโครงการ (Organizing) ได้แก่ การตั้งเกณฑ์มาตรฐาน การรวบรวมทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งคนและวัสดุอุปกรณ์  ความสัมพันธ์แต่ละขั้น  การมอบหมายงาน  การประสานงาน  การกระจายอำนาจตามหน้าที่  โครงสร้างขององค์การ  และการพัฒนานโยบาย 
  • 3) ขั้นการนำเข้าสู่การปฏิบัติ (Leading) ได้แก่ การตัดสินใจ การเลือกสรรบุคคล การเร้าจูงใจให้มีกำลังใจคิดริเริ่มอะไรใหม่ ๆ  การสาธิต  การจูงใจ  และให้คำแนะนำ  การสื่อสาร  การกระตุ้น  ส่งเสริมกำลังใจ  การแนะนำนวัตกรรมใหม่ ๆ และให้ความสะดวกในการทำงาน
  • 4) ขั้นการควบคุม (Controlling) ได้แก่ การสั่งการ การให้รางวัล การลงโทษ การให้โอกาสการตำหนิ  การไล่ออก  และการบังคับให้กระทำตาม
  • 5) ขั้นประเมินผล (Appraising) ได้แก่ การตัดสินการปฏิบัติงาน การวิจัย และการวัดผลการปฏิบัติงาน  กิจกรรมที่สำคัญ  คือพิจารณาผลงานในเชิงปฏิบัติว่าได้ผลมากน้อยเพียงใด  และวัดผลด้วยการประเมินอย่างมีแบบแผน  มีความเที่ยงตรง  ทั้งนี้ควรจะมีการวิจัยด้วย

                จะเห็นว่า  กระบวนการนิเทศการศึกษาเป็นการทำงานอย่างมีแบบแผน  โดยเริ่มจากการวิเคราะห์งานการเรียนการสอนของครู   เพื่อจะได้ทราบปัญหา    ระบุปัญหาที่จะต้องรีบแก้ไขปรับปรุงก่อนหลังแล้วจึงวางแผนที่จะดำเนินการโดยหาทางเลือกที่จะแก้ปัญหาที่ดีที่สุด  ต่อจากนั้นก็ดำเนินการตามแนวขั้นตอนตามลำดับจนถึงขั้นการประเมินผลการปฏิบัติงานแล้วจึงนำผลการปฏิบัติไปปรับปรุงแก้ไขต่อไป

 ***********************

อ้างอิงบทความนี้   
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล :  https://panchalee.wordpress.com/2009/03/30/supervision/

 

 

100 Replies to “ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา(1)”

  1. ดิฉันขอขอบพระคุณท่านศึกษานิเทศก์ เป็นอย่างสูง ข้อมูลนี้ดิฉันจะนำมาประกอบการทำวิทยานิพนธ์ค่ะ

    1. เรียน อาจารย์เสาวนีย์ สอนไทย ที่เคารพ
      ดีใจมากค่ะที่บทความ เป็นประโยชน์ต่อการทำวิทยานิพนธ์ ขอให้ประสบความสำเร็จในการเรียนนะคะ
      อาจารย์ขิง

    2. สวัสดีค่ะ อาจารย์
      ดิฉันรบกวนสอบถามคะ ระหว่าง องค์ประกอบการนิเทศ กับ ปัจจัย การนิเทศ แตกต่างกันไหมคะ หรือความหมายเดียวกัน
      ขอบคณมากค่ะ

      1. สวัสดีค่ะคุณ กชพร
        1 ปัจจัยการนิเทศ ( Input) คือสิ่งที่นำไปใช้ในการปฏิบัติการนิเทศที่จะส่งผลต่อความสำเร็จของการนิเทศ (output) เช่น ผู้ทำหน้าที่นิเทศ สื่อประกอบการนิเทศ งบประมาณ สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ
        2.องค์ประกอบของการนิเทศ เป็นการนำแนวคิดของรูปแบบการทำงานอย่างเป็นระบบ(Systematic Approach) มาใช้ในการนิเทศ ซึ่งมีส่วนประกอบ 3 ประการคือ
        1) ปัจจัย (Input) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของระบบ
        2) ดำเนินการ (Process) ซึ่งเป็นการนำปัจจัยมาดำเนินการ
        3) ผลผลิต (Output) ผลที่เกิดจากการนิเทศ ที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการนืเทศ
        อัญชลี ธรรมะวิธีกุล

  2. ปาขอขอบพระคุณท่านศึกษานิเทศก์ เป็นอย่างสูง ข้อมูลนี้ปาจะนำมาประกอบการศึกษาค้นคว้าอิสระและอาจจะนำมาต่อยอดในการทำวิทยานิพนธ์ต่อไปค่ะ รูปแบบการนิเทศที่ปาสนใจคือรูปแบบ collaborative Supervision
    ค่ะ แต่ยังมีความลังเลว่าการนิเทศแบบ collaborative Supervision
    กับ Developmental Supervision แบบใดจะมีความชัดเจนมากกว่ากันค่ะ ขอบพระคุณมากนะค่ะสำหรับ บทความสำหรับการศึกษาค่ะ

    1. เรียน คุณปา ที่เคารพ
      ดีใจมากที่คุณปาเข้ามาคุยเรื่องนิเทศ รูปแบบการนิเทศทั้ง 2 รูปแบบที่กล่าวมานั้นเป้าหมายสุดท้ายคือคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งเกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูที่ให้ความสำคัญต่อผู้เรียน ซึ่งการทำงานในยุคนี้ เน้นการทำงานเป็นทีม การพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศตัองทำงานร่วมกันในการแก้ปัญและพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน ดังนั้นรูปแบบการนิเทศทั้ง 2 รูปแบบ สามารถนำมาบูรณาการกัน เป็น Cooperative Development Supervision ได้ค่ะ ถ้าคุณปามีรูปแบบการนิเทศ รูปแบบอื่น ๆอีกเข้ามาแลกเปลี่ยนอีกนะคะ

      อาจารย์ขิง

  3. ขอบพระคุณมากค่ะที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการนิเทศ ดิฉันกำลังงง และสับสนในการหาข้อมูลเรื่องนี้พอดี เพราะจะนำไปทำวิทยานิพนธ์ มีประโยชน์ต่อดิฉันมากค่ะ

    1. เรียน คุณเก๋ ที่เคารพ
      ดีใจมากที่บทความเรื่องการนิเทศเป็นประโยชน์ต่อการทำวิทยานิพนธื แลคขอบคุณมากที่เข้ามาเยี่ยม Panchalee Blog ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  4. ขออนุญาตนำไปทำรายงานส่งหน่อยนะคะ เนื้อหาตรงตามที่ต้องการพอดีเลย กำลังเรียนเรื่องการนิเทศ ระดับ ป.โท หลักสูตรและการสอน
    ขอบคุณคะ

    1. เรียนคุณ preeya ที่เคารพ
      ดีใจมากที่บทความเรื่องนิเทศเป็นประโยชน์ ต่อการเรียน ป. โท และขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม Blog ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  5. ขอขอบคุณท่านศน.เป็นอย่างสูงที่ให้รายละเอียดเกี่ยวกับการนิเทศเป็นอย่างดี ขออนุญาตนำข้อมูลไปใช้ในการเรียนป.โท การบริการการศึกษา ครับ มีคำถามอยากให้ท่านช่วยชี้แนะหน่อยครับ คำถามคือ การนิเทศ น่าจะเป็นส่วนไหนของกระบวนการพัฒนาทรัพยากรกำลังคน ในเชิง competency-based Development อยากจะขอคำอธิบายและตัวอย่างประกอบด้วยครับ ขอขอบพระคุณล่วงหน้าเลยครับ ติดต่อทางเมลล์ก็ได้ครับ

    1. เรียน คุณวิทยา ที่เคารพ
      การนิเทศ แตกต่าง จากการบริหาร แต่ผู้บริหารก็มีบทบาททั้งการบริหารและการนิเทศ จุดมุ่งหมายของการนิเทศ ซึ่ง ดร. สงัด อุทรานันท์ ได้กล่าวไว้ คือ เพื่อพัฒนางาน เพื่อพัฒนาคน เพื่อประสานสัมพันธ์ และสร้างขวัญและกำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ดังนั้นกระบวนการนิเทศจึงเป็นกระบวนการพัฒนาทรัพยากรกำลังคน โดยตรง ในเชิง Competency-base Deverlopment เพราะนอกจากจะพัฒนาด้านความรู้ ความสามารถแล้ว เราจะต้องสร้างขวัญและกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานควบคู่ไปด้วย การพัฒนา สมรรถนะในการปฏิบัติงานของครู มี 2 ลักษณะ คือ 1)สมรรถนะหลัก ได้แก่ การมุ่งผลสัมรฤธิ์ การบริการที่ดี การพัฒนาตนเอง และการทำงานเป็นทีม 2)สมรรถนะในการจัดการเรียนการสอน ได้แก่การออกแบบการเรียนรู้ การพัฒนาผู้เรียน และการบริหารจัดการชั้นเรียน จะเห็นได้ว่าการพัฒนาครูเพื่อให้สามารถจัดการเรียนการสอนได้อย่ามีประสิทธิภาพ จะพัฒนาสมรรถนะของครูด้านใดด้านหนึ่งคงไม่ได้ คงจะต้องมีการจัดทำแผนในการพัฒนาโดยให้ครูได้มีส่วนร่วม การพัฒนาครูโดยใช้กระบวนการนิเทศนั้น รูปแบบ กิจกรรม หรือเทคนิคในการนิเทศ ที่จะนำมาใช้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการนิเทศ เทคนิคการนิเทศที่นำมาใช้ในการพัฒนาสมรรถนะครู เช่น การนิเทศแบบคลินิก การนิเทศแบบมีส่วนร่วม การสอนงาน(Coaching) ระบบพี่เลี้ยง(Mentoring)แต่ การนิเทศจะต้องมีความต่อเนื่อง ผู้นิเทศจะต้องสามารถให้คำแนะนำ เป็นที่ปรึกษาของครูได้เมื่อเขามีปัญหา
      ขอบคุณสำหรับโจทย์ข้อนี้ เป็นโจทย์ที่ดีมาก ดิฉันคงต้องไปทำการบ้านต่อ ยังมีแนวคิดว่า ถ้านำ PMQA บางตัวชี้วัดมาประยุกต์ใช้ในการ พัฒนา Competency น่าจะมีความเป็นไปได้
      อาจารย์ขิง

  6. ก่อนอื่นต้องขอบคุณท่านศน.นะคะที่ได้ทำblog ดีๆ แบบนี้ขึ้นมา ต้องบอกเลยว่ามีประโยชน์อย่างมาก สำหรับสถานศึกษาของกศน.ค่ะ ทุกบทความและข้อมูลมีความสำคัญที่จะช่วยให้สถานศึกษามีคู่มือการดำเนินงานในเรื่องการนิเทศอย่างแท้จริง ๆ

  7. ขอบคุณมากสำหรับข้อมูลคะ จะนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนางาน และขอข้อมูลบางส่วนไปอ้างอิงในดุษฎีนิพนธ์นะคะ

    1. เรียน คุณ hasana ที่เคารพ
      ต้องการแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับการนิทศงาน กศน. เข้ามาคุยได้ นะคะ
      อาจารย์ขิง

  8. ต้องขอขอบคุณที่ลงองค์ความรู้ต้องขออนุญาตอ้างอิงต่อเพื่อส่งการบ้าน สพฐ.และสนใจงานวิจัยท่าน เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาตนเองเผิ่อได้ คศ.4 ก่อนเกษียณ

  9. `ขอบพระคุณท่านศึกษานิเทศก์มากนะคะที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการนิเทศ จะได้นำเอาไปใช้ในการสอบค่ะ เนื้อหาอ่านแล้วเข้าใจง่ายค่ะ ขอบพระคุณมาก

  10. ขอบคุณบทความของท่านเป็นอย่างมากค่ะ เพราะภัสกำลังเรียน ป.โท บริหารการศึกษาที่ม.ราชภัฏ นครสวรรค์ และเป็นแนวทางในการดำเนินงาน กศน.ด้วยค่ะ

    1. เรียน ครูตั้ม ที่เคารพ
      ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม Panchalee’Blogและ ทำให้ดิฉันได้มีโอกาสเข้าไปเยี่ยม Kru Tum’Blog ต้องขอแสดงความชื่นชม Social Media ในรูปแบบห้องเรียนออนไลน์ เป็นรูปแบบที่จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับสังคมแห่งการเรียนรู้ในยุคปัจจุบัน ดิฉันเป็นผู้ที่เรียนIT ในรูปแบบการเรียนรู้ตามอัธยาศัย ด้วยวิธีการอ่านหนังสือ ถามน้อง ๆ ที่ทำงาน ถามลูกศิษย์ที่มีความสามารถด้าน IT ศึกษาจากเว็ปไซด์ ต่าง ๆ ต้องขอขอบคุณ
      Kru Tum’Blog ที่เป็นแหล่งเรียนรู้แห่งใหม่สำหรับดิฉัน
      อาจารย์ขิง

  11. หลังจากที่สำนักปรับบุคลากรเข้าสู่ตำแหน่งเรียบร้อย ครู ทั้งหลายคงได้มีโอกาสทบทวนบทบาทหน้าที่ที่ถูกลืมมานาน และโอกาสนี้ ขอเป็นศิษย์พี่ขิงอีกครั้งนะคะ
    พัชราภรณ์
    กศน.อุบล

    1. อาจารย์พัชราภรณ์ ที่รัก
      ดีใจมากค่ะที่เข้ามาทักทาย พี่คิดถึงอาจารย์ และชาว กศน. อุบล ทุกคนไม่เคยลืมที่ได้เคยร่วมงานกัน การปรับปรุงโครงสร้าง กศน.ใหม่ ทำให้ครูได้มีโอกาสทำหน้าที่ครูที่แท้จริง ไม่ต้องกังวลนะคะ พี่จะเป็นกำลังใจให้ทุกคนค่ะ
      พี่ขิง

    1. เรียน คุณรุจิกาญน์ ที่เคารพ
      เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีน้องคนหนึ่งเข้าทำงานใหม่ที่สำนักงาน เขาแต่งตัวทันสมัยแบบเด็กวัยรุ่น คนรุ่นใหม่ เนื่องจากน้องเคยทำงานจากหน่วยงานของเอกชนมาก่อน การแต่งกายของน้องถ้าอยู่ที่เดิมก็คงไม่แปลกมากนัก แต่อยู่ที่กระทรวงศึกษาจะดูแปลกตาไป ดิฉันจะสนิทสนมกับเด็ก ๆ ในสำนักงานทุกคน และเรียกแทนตัวเองว่า “ป้า”
      จึงพุดเล่น ๆ กับน้องว่า “พรุ่งนี้อย่าแต่งตัวสวยมากนะ ป้าอิจฉา” ขณะพูดก็ยิ้มแย้มกับน้อง เป็นปกติไม่ได้แสดงอาการตำหนิหรือสั่งสอน และพูดคุยเรื่องอื่น ๆ ต่อไปอีกสักพัก ผลปรากฎว่า วันรุ่งขึ้นน้องแต่งตัวเรียบร้อยขึ้น และวันต่อมาก็ค่อย ๆ เรียบร้อยขึ้น ใช้เวลาไม่ถึง 2 อาทิตย์ น้องก็แต่งตัวเรียบร้อยใกล้เคียงกับพนักงานคนอื่น ๆ ในสำนักงาน ซึ่งน้องมีการปรับตัวได้ดีมาก ดิฉันคิดว่าแต่ละบุคคลมีวิธีคิด และการปรับตัวไม่เหมือนกัน คงต้องทดลองหลาย ๆวิธี และเราต้องใจเย็น ๆ ในการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่อนร่วมงาน การบังคับบัญชาอาจใช้ได้กับบางคน แต่การแก้ปัญหาโดยใช้กระบวนการทางจิตวิทยา ถึงจะช้าไปบ้าง คิดว่าจะเกิดผลดีกว่า ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  12. เรียน อาจารย์อัญชลีที่นับถือ หนูจะสมัครสอบ ศน. ประจำ สำนักงาน กศน.จังหวัด หนูมีเรื่องรบกวนเรียนถามอาจารย์ว่า แนวข้อสอบทั่วไปคล้ายของ สพฐ. หรือเปล่าคะ เพราะหนูกลัวสอบไม่่ผานเกณฑ์ และกลัวไม่ได้เป็น ศน. ท่านอาจารย์มีตัวอย่างอย่างข้อสอบให้หนูดูบ้างไหมคะ ขอบคุณอาจารย์ไว้ล่วงหน้านะคะ ของเรารับสมัครวันที่ 13 – 17 มิถุนายน 2554 ส่วนวันสอบยังไม่มีกำหนดคะ จาก พรมาดา วงศ์หวัน สำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงราย โทรศัพท์ 0819603965

    1. เรียน อาจารย์พรมาดา ที่เคารพ
      การสอบ ศน. กศน. แนวข้อสอบที่คล้ายของ สพฐ. มีเฉพาะภาค ก.การสอบข้อเขียน ข้อ 2 ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน บางฉบับ และ ข้อ 3 ความรอบรู้ทั่วไปบางเรื่องที่เกี่ยวกับนโยบายของรัฐบาลและของ ศธ. นอกจากนั้นเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับ กศน.ข้อสำคัญ ภาค ข การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง ข้อ 1 ประเมินผลการปฏิบัติงาน ในส่วนที่ให้จัดทำเอกสารแนวทางการพัฒนางานนิเทศในสำนักงาน กศน.จังหวัด/กทม. พยามเขียนให้ดีที่สุด การที่จะเขียนให้ได้ดีควรศึกษาแนวคิด ทฤษฎีการนิเทศการศึกษา และงาน กศน.
      อาจารย์ขิง

      1. เรียน อ.ขิงที่นับถือ
        หนูขอบคุณอาจารย์มากที่ให้แนวคิด และความกระจ่างในการเตรียมตัวสอบ ศน. ตอนนี้หนูกำลังอยู่ในช่วงเตรียมอ่านหนังสือ และศึกษา พรบ.ต่างๆ และเนื้อหาหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง โอกาสต่อไปหากมีข้อสังสัยใดๆ หนูจะเรียนปรึกษา ท่านอีกครั้งนะคะ ขอบคุณมากค่ะ

        พรมาดา วงศ์หวัน
        สำนักงาน กศน.จังหวัดเชียงราย

  13. เรียนท่าน ศน. ค่ะ
    หนูมีเรื่องรบกวนสอบถามค่ะ ว่าถ้าหากจะเรียนต่อด้านศึกษานิเทศก์ควรเรียนที่สถาบันใดดีค่ะ และส่วนใหญ่ศึกษานิเทศก์จะทำงานอยู่ที่ไหนค่ะ ขอบพระคุณล่วงหน้าค่ะ

    1. เรียน คุณพลอยไพลิน ที่เคารพ
      1. วิชานิเทศการศึกษาเป็นวิชาหนึ่งอยูในหลักสูตรปริญาตรีทางการศึกษาสาขาบริหารการศึกษา และสามารถเป็นวิชาเลือกในหลักสูตรปริญญาตรีทางการศึกษา ซึ่งเปิดสอนในมหาวิทยาลัยหลายแห่ง เช่น มศว.ประสานมิตร จุฬาฯ เกษตรฯ
      2. ศึกษานิเทศก์ เป็นตำแหน่งที่อยู่ใน หน่วยงานทางการศึกษา ในสังกัดสำนักฯต่าง ๆ เช่น กศน. มัธยม ประถม อาชีวศึกษา
      3. การเป็นศึกษานิเทศก์ มีคุณสมบัติ ดังนี้
      1) ต้องเป็นครูหรือบุคลากรทางการศึกษา
      2) มีวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา
      3) ดำรงตำแหน่งครูมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรี และ 2 ปี สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาโท
      4. มีใบประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์
      อาจารยืขิง

  14. เรียน อ.ขิง
    ขอบคุณมากนะคะที่ให้กำลังใจ หนูสอบได้ลำดับที่ 25 หนูจะตั้งใจทำงานค่ะ

    พรมาดา วงศ์หวัน เชียงราย

    1. อาจารย์พรมาดา ที่รัก
      ขอแสดงความยินดี และขอต้อนรับ เป็นศึกษานิเทศก์ กศน. ค่ะ ไว้พบกันตอนอบรม ศน. นะค่ะ
      อาจารย์ขิง

  15. ขอบคุณสำหรับสาระดีๆนะคะ
    กำลังสนใจเรียนต่อด้านนิเทศน์ศาสตร์อยู่พอดี เป็นเนื้อหาที่มีประโยชน์แก่ตัวหนูมากค่ะ ^^

  16. สวัสดีค่ะ ศน.อัญชลี ที่เคารพ
    หนูมีข้อสงสัย อยากจะปรึกษาอาจารย์ค่ะ ตอนนี้หนูกำลังหาสาขาที่จะลงเรียนปริญญาโทอยู่ค่ะ กำลังมองไว้ที่ ม.ศิลปากร นครปฐม สาขา หลักสูตรและการนิเทศ อีกสาขา คือ การสอนสังคมศึกษา ตัวหนู จบปริญญาตรี มาทางด้านเศรษฐศาสตร์ อยากเปลี่ยนสายงานเพราะมีความมั่นคงกว่า จึงมอง ป.โท ทางด้านการศึกษาไว้ แต่ตัวหนู ยังไม่ได้เรียน วิชาชีพครู ไม่มีใบประกอบวิชาชีพ ทำงานเป็นธุรการอยู่ที่โรงเรียน 2 ปีแล้ว จึงผูกพัน และพอมีความรู้ทางด้านการศึกษาบ้าง
    หนูขอถามอาจารย์ว่า หนูควรเลือกเรียนทางสาขาไหนคะ ถ้าเรียนทางด้านการสอนสังคม จบออกมาเป็นครูแล้วต้องเรียนใบประกอบเพิ่มอีกปี ถ้าเรียนหลักสูตรและการสอน จบออกมาหนูต้องเป็นครูผู้สอนก่อน 2 ปี (เรียนใบประกอบวิชาชีพครูอีก) ก่อนสอบใบประกอบฯ ศน. อีกใช่ไหมคะ

    ขอบคุณมากค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณรุจิเรขา
      การเลือกเรียนปริญญาโท เพื่อเปลี่ยนสายงานต้องพิจารณาพื้นฐานความรู้เดิมของเราและสาขาวิชาเอกที่มีตำแหน่งว่างรองรับ จะเห็นได้ว่าตำแหน่งว่างส่วนใหญ่เป็นสาขาวิชาที่ขาดแคลน เช่นคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ภาษาอังกฤษ เพราะฉะนั้นระหว่างสาขาสังคมและหลักสูตรและการสอน ขอแนะนำสาขาหลักสูตรและการสอนค่ะ การที่เราอยู่ในตำแหน่งครูไม่ว่าเรียนปริญญาโทสาขาใดจบมาก็ต้องเป็นผู้สอนื ค่ะ การขอใบประกอบวิชาชีพครู และใบประกอบวิชาชีพ ศน. ขอให้ไปดูรายละเอียดที่ เว็ปไซด์ คุรุสภา ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  17. ขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงสำหรับวิทยาทานที่ท่านอาจารย์มีให้ค่ะ ขออนุญาตแนะนำตัวเองค่ะ หนูชื่อ ครูพจนี ศิริวรรณ ค่ะ สังกัด สพป.อด.2 ค่ะ ความใฝ่ฝันของหนูอยากเป็นศึกษานิเทศก์ที่เก่งๆ เหมือนอาจารย์ค่ะ ขอความกรุณาอาจารย์ช่วยแนะนำคุณสมบัติและการเตรียมตัวสอบศึกษานิเทศก์ด้วยจักเป็นพระคุณอย่างสูงยิ่งค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณครูพจนี
      1. คุณสมบัติของผู้สมัครสอบ ศึกษานิเเทศก์
      1.1 ต้องเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา
      1.2 วุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการศึกษา
      1.3 ดำรงตำแหน่งครูมาแล้วไม่น้อยกว่า 4 ปี(สำหรับผู้มีวุฒิปริญญาตรี) และ 2 ปี(สำหรบผู้มีวุฒิปริญญาโทขึ้นไป) ดำรงตำแหน่งอาจารย์ 1 ไม่น้อยกว่า 6 ปี หรือตำแหน่งอื่นที่ ก.ค.ศ. เทียบเท่า(ตำแหน่งอาจารย์ 1 ไม่น้อยกว่า 6 ปี (สำหรับวุฒิปริญญาตรี) ผู้มีวุฒิปริญญาโทขึ้นไป หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอาจารย์ 2 รับเงินเดือนในระดับ 6
      1.4 มีใบประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์
      2. การเตรียมตัวสอบ
      ภาค ก. สอบข้อเขียน
      1. ความรู้ความสามารถเกี่ยวกับงานในหน้าที่
      1.งานการนิเทศ
      – การส่งเสริมและพัฒนาระบบนิเทศการศึกษา
      – การใช้หลักสูตรสถานศึกษาและการจัดกระบวนการเรียนรู้
      – การส่งเสริมระบบประกันคุณภาพการศึกษา
      – การพัฒนาระบบการวัดผลประเมินผล
      – การส่งเสริมการใช้สื่อ นวัตกรรมและเทคดนดลยีทางการศึกษา
      2. การติดตามตรวจสอบ ประเมินผล
      – การพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อการวางแผนการนิเทศและการพัฒนาวิชาการ
      – การนิเทส ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล
      – การนำผลการติดตามตรวจสอบและประเมินผลไปใช้
      3. การศึกษาค้นคว้าและการให้บริการทางวิชาการ
      – การจัดทำเอกสาร คู่มือประกอบการเรียนการสอน
      – การพัมนาสื่อ นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน
      4. การวิเคราะห์วิจัย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารวิชาการ
      – การวิเคราะห์วิจัย เพื่อส่งเสริมและพัฒนาระบบบริหารวิชาการ
      – การส่งเสริมสนับสนุนการวิจัยและการประกันคุณภาพการศึกษา
      2. ความรู้ความเข้าใจด้านกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงาน
      3. ความรอบรู้ทั่วไป
      ภาค ข. การประเมินความเหมาะสมกับตำแหน่ง – ประวัติผลงาน วิสัยทัศน์ สัมภาษณ์
      อาจารย์ขิง

  18. สวัสดีค่ะ ศน.อัญชลี ที่เคารพ
    หนูขอบคุณมากเลยค่ะ สำหรับคำแนะนำ ตอนนี้หนูรู้สึกเคว้งคว้างมากเลย กับชีวิต รอบที่แล้วที่หนูถามว่า ระหว่างสาขา “การสอนสังคมศึกษา” กับสาขา “หลักสูตรและการสอน” หนูจำสับสนค่ะ
    ที่จริงหนูอยากถามว่า ระหว่าง สาขา “การสอนสังคมศึกษา” กับสาขา “หลักสูตรและการนิเทศ” ที่ ม.ศิลปากรค่ะ
    แต่ตามที่ ศน.บอกไว้ในกระทู้ถัดมาถึง คุณสมบัติของผู้สอบใบประกอบวิชาชีพ ศน. คุณสมบัติข้อแรกเลย คือ ต้องเป็นข้าราชการครูมาก่อน ทำให้หนู
    กลับมาคิดใหม่ว่า หนูต้องเรียนใบประกอบวิชาชีพครูก่อน แต่ตอนนี้คุรุสภาได้ปิดหลักสูตรวิชาชีพครูที่เรียนเพิ่มหนึ่งปี ไปแล้ว
    ศน.ช่วยแนะนำหนูได้ไหมคะ สำหรับสาขาของปริญญาโท
    คณะศึกษาศาสตร์ ดังนี้ค่ะ
    – การบริหารการศึกษา
    – หลักสูตรและการนิเทศ
    – การสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ
    – การสอนภาษาไทย
    – การสอนสังคมศึกษา
    – จิตวิทยาชุมชน
    – จิตวิทยาการศึกษาพิเศษ
    – เทคโนโลยีการศึกษา
    – พัฒนศึกษา

    1. สวัสดีค่ะคุณรุจิเลขา
      ดิฉันขอแนะนำสาขาการสอนภาษาอังกฤษในฐานะภาษาต่างประเทศ ค่ะ เพราะในอนาคตประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมอาเซี่ยน การเรียนการสอนภาษาอังกฤษยิ่งมีความจำเป็นมากขึ้น ความต้องการครูสอนภาษาอังกฤษก็มีมากขึ้นค่ะ
      อาจารย์ขิง

  19. สวัสดีค่ะ อาจารย์
    ดิฉันกำลังทำthesis เรื่องการนิเทศงาน สนใจกระบวนการนิเทศงานของแฮริส ไม่สามารถหาต้นขั้วที่เป็นภาษาอังกฤษ เพื่อมาอ้างอิงได้เลยค่ะ อาจารย์พอจะมีคำแนะนำไหมคะ

    1. สวัสดีค่ะอาจารย์ธนันพัชร์
      หนังสือของ Harris ดิฉัน มีข้อมูลอยู่ 3 เล่ม ค่ะ

      1. Harris,Ben M. Supervisory in Behavior in Education. Englewood Cliffs,New Jersey:Prentice – Hall,1963.
      2._____________. Supervisory Behavior in Education.2d ed.; Englewood Cliffs,New Jersey: Prentic – Hall,1975.
      3._____________. Wailand Bessent and Kenneth E. McIntyre.Inservice Education:A Guide to Better Practice.Englewood Cliffs New Jersey:Prentice – Hall.1969.
      อาจารย์ขิง

  20. สวัสดีค่ะ อาจารย์

    อาจารย์พอดีดิฉันต้องการทำรายงาน และอยากได้ บทความเกี่ยวกับ “ขอบเขตของการพัฒนาบุคลิกภาพเพื่องานนิเทศศาสตร์” ค่ะ รบกวนอาจารย์ด้วยค่ะ

    ขอบคุณค่ะ

  21. สวัสดีค่ะ ท่านอาจารย์
    ขอบพระคุณอาจารย์มากๆ นะค่ะ ที่นำความรู้เรื่องการนิเทศ มาให้ศึกษา
    สถานศึกษาสามารถ ใช้ประกอบการจัดทำคู่นิเทศของสถานศึกษาได้ดีมากๆ
    “เหมือนฟ้ามาโปรดค่ะ” ปล.รักษาสุขภาพด้วยนะค่ะ ….คิดถึงค่ะ…

      1. สวัสดีค่ะอาจารย์สุภาวรรณ
        กลุ่มการเจ้าหน้าที่กำลังจัดทำรายละเอียด มีความก้าวหน้าอย่างไรจะแจ้งให้ทราบค่ะ
        อาจารย์ขิง

    1. สวัสดีค่ะ ผอ.หลิงฟ้า
      ท่าน ผอ.ไฟแรงแบบนี้ไม่เสียชื่อที่เป็นลูกศิษย์อาจารย์ขิง ตอนนี้พี่นำเครื่องจักสานที่อาจารย์ให้มาจัดรวมกัน วันหลังจะถ่ายรูปส่งไปให้ดูค่ะ คงไม่ต้องบอกว่าพี่คิดถึงอาจารย์เสมอ
      อาจารย์ขิง

  22. อาจารย์ หนููต้องทำข้อสอบเรื่องการนิเทศการศึกษา มีโจทย์อยู่ว่า
    ครูคนหนึ่งนุ่งกระโปรงสั้นมาสอน ผอ.เรียกไปพบแล้วแจ้งว่ากระโปรงที่ครูใส่นะสั้นเกินไป ขออย่านุ่งมาอีก ครูรับคำว่าจะปฏิบัติตาม แต่รุ่งขึ้นครูก้อนุ่งสั้นมาอีกและสั้นกว่าเดิม และได้เล่าเรื่องที่ผอ.เรียกไปตำหนิ ให้เพื่อนครูฟังว่า “ผอ.จงเกลียดจงชังเทอ ครูอีกคนใส่สั้นกว่าเธอยังไม่ถูกตำหนิเลย”

    อาจารย์ให้ตอบว่า จะใช้องค์ความรู้เรื่องการนิเทศการศึกษาแก้ปัญหาอย่างไร
    รบกวนอาจารย์ช่วยอธิบายด้วยนะคะ
    กราบขอบพระคุณคะ

    1. สวัสดีค่ะคุณมิก
      กรณีนี้ควรใชิเทคนิคการเสนอแนะ หรือการแนะนำเป็นรายบุคคล โดยอ้างอิงพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ. 2547 แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 หมวด 6 วินัยและการรักษาวินัย ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  23. สวัสดีท่านอาจารย์อีกครั้งค่ะ ขอขอบคุณท่านอาจารย์ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการสอบเป็นศึกษานิเทศก์ค่ะ หนูอ่านและได้ข้อมูลอย่างชัดเจนเลยค่ะ อาจารย์ค่ะหนูมีข่าวสำคัญของหนูและจะขอนุญาตแจ้งให้ท่านทราบค่ะว่า หนูผ่านการประเมินวิทยฐานะ (ได้เป็นครู คศ.3 แล้วนะคะ) เพิ่งทราบข่าวจากทางเขตเมื่อวันที่ 10 เมษา เป็นของขวัญวันเกิดเลยค่ะ และขณะนี้หนูมีความคิดใหม่ว่าอยากพัฒนาตัวเองในตำแหน่งครูให้ได้ในระดับเชี่ยวชาญ ซึ่งหนูยังขาดความรู้และประสบการณ์อยู่เป็นอย่างมาก แต่อย่างไรก็ตามหนูจะพยายามพัฒนาตัวเองในรูปแบบต่างๆ
    ช่วยเหลือตนเองให้มีความรู้ความชำนาญให้มากที่สุดเพื่อไปสู่จุดนั้น และก็ต้อง ขอความกรุณาท่านอาจารย์ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และที่สำคัญคือมีเมตตา ได้โปรดเป็นผู้ให้คำปรึกษาแนะนำ เป็นผู้เชี่ยวชาญในโอกาสนี้ด้วย อาจารย์เห็นว่าเป็นอย่างไรบ้างคะ หวังว่าคงได้รับความเมตตาจากท่านด้วยดีเช่นเคยนะคะ ด้วยความเคารพค่ะ

  24. เรียน อ.อัญชลี
    บทความของท่านมีประโยชน์ต่อดิฉันมากเพราะช่วงนี้กำลังเรียน ป.เอก สนใจจะทำวิจัยเพื่อศึกษาสมรรถนะของศึกษานิเทศก์ในยุคของการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วขออาจารย์ช่วยแสดงความคิดเห็นต่อสมรรถนะศึกษานิเทศก์ในศตวรรษนี้ด้วยค่ะขอบคุณมากค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณdaranee
      ดิฉันมีความคิดเห็นว่าศึกษานิเทศก์ศตวรรษนี้ ต้องมีสมรรถนะที่เป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงเดินไปพร้อม ๆ กับผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษา ก่อนที่จะเป็นผู้นำแห่งการเปลี่ยนแปลงต้องพัฒนาตนเองให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ ตามให้ทันโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่ารวดเร็วรอบด้าน ต้องพัฒนาอาวุธประจำกายที่สำคัญคือความสามารถในการใช้ IT จนมีสมรรถนะของความเป็นผู้นำทางวิชาการ ซึ่งจะต้องมีสมรรถระหลักคือออกแบบได้ สอนได้ ส่งเสริมได้ แค่นี้ดิฉันว่าศึกษานิเทศก์จะสามารถเป็นที่พึ่งของครู และสามารถพัฒนาวิชาชีพได้เป็นอย่างดีค่ะ ดังนั้นการศึกษาเรื่องการนิเทศอย่าติดตำรานิเทศดั้งเดิม ตำราเป็นเพียงหลักการที่นำมาใช้เป็นพื้นฐานในการสร้างกรอบความคิดเกี่ยวกับระบบคุณภาพ ซึ่งต้องมอง 360 องศา ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  25. สวัสดีค่ะ
    หนูขอความช่วยเหลือหน่อยนะคะ
    หนูอยากได้ข้อมูลวัตถุประสงค์ เกี่ยวกับการนิเทศภายนอกค่ะว่ามีลักษณะแบบใด มีขั้นตอนการดำเนินงานแบบใด เพราะอาจารย์ให้ทำรายงานค่ะ
    ช่วยรบกวนอาจารย์อนุเคราะหนูหน่อยนะคะ
    Water_aom@hotmail.com
    ขอบพระคุณมากค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณสุภาภรณ์
      1. วัตถุประสงค์ของการนิเทศ มีใน Panchalee blog บทความเรื่องความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการนิเทศก์การศึกษา(1) หัวข้อความมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษา
      2. ขั้นตอนการนิเทศ มีในบทความ กระบวนการนิเทศการศึกษา
      อาจารย์ขิง

  26. กราบเรียนท่านอาจารย์ที่เคารพ
    ผมกำลังทำหลักสูตรครุศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชานิเทศการศึกษาและการพัฒนาหลักสูตร อยากเรียนเชิญท่านอาจารย์เป็นผู้วิพากษ์หลักสูตรด้วยครับ ผมจะติดต่อท่านอีกครั้งครับ
    กราบขอบพระคุณล่วงหน้าครับ
    อาจารย์ดร.วิชิต กำมันตะคุณ
    มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด

    1. เรียน ท่านอาจารย์ ดร.วิชิต ที่เครารพ
      ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ให้เกียรติดิฉันในการทำงานวิชาการที่สำตัญของมหาวิทยาลัย ครั้งนี้ ค่ะ
      อัญชลี ธรรมะวิธีกุล

  27. ครูภูไทกาฬสินธุ์
    เรียนอาจาารย์ที่เคารพ
    Panchalee blog ท่านให้ความรู้หลายอย่างทั้งด้านการบริหารและการนิเทศ อยากเรียนถามอาจารย์ เกี่ยวกับการขอใบประกอบวิชาชีพศึกษานิเทศก์ จบ ป. โท การบริหารการศึกษาแล้ว อยากเปลี่ยนสายงานเป็น ศน.

    1. สวัสดีค่ะครูไท
      การขอใบประกอบวิชาชีพ ศน.
      1. Transcip ปริญญาโท ตัวจริงพร้อมสำเนา
      2. สำเนา กพ. 7
      3. มีประสบการณ์ด้านการสอนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี
      4. ใบประกอบวิชาชีพครู สำเนาพร้อมตัวจริง
      5. รูปถ่ายขนาด 1นิ้วครึ่ง 2 รูป
      นำเอกสารดังกล่าวไปขอใบประกอบวิชาชีพ ศน. ที่คุรุสภาค่ะ
      อาจารย์ขิง

      1. กราบเรียน ศน.อัญชลี ที่เคารพ

        ตอนนี้หนูเป็นครูผู้ช่วยอยู่ สนใจทางด้านศึกษานิเทศน์ หนูมีเรื่องรบกวนอยากปรึกษาว่า ควรเรียนโทสาขาไหนดีค่ะ ถึงจะเหมาะที่สุดที่จะไปเป็นศึกษานิเทศน์ ตอนนี้หนูสับสนมากเลยค่ะ

        กราบขอบพระคุณมากๆ ค่ะ

      2. สวัสดีค่ะอาจารย์ปิยะนุช
        มีผู้กล่าวว่า “ศึกษานิเทศก์คือครูของครู” เพราะฉะนั้นศึกษานิเทศก์จะต้องมีประสบการณืในการสอนเป็นอย่างดี จึงจะสามารถนิเทศ ครู คือการให้คำแนะนำ คำปรึกษา วิทยากรในการฝึกอบรม การติดตามและประเมินผฃการจัดการเรียนการสอนของครู เพื่อให้ครูพัฒนาตนเอง พัฒนาวิธีสอน ซึ่งจะส่งผลถึงประสิทธิผลของการสอน คือสามารถพัฒนาผู้ให้เป็นไปตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ดังนั้นการเรียนต่อในระดับปริญญาโท เรียนสาขาใดก็ได้ที่เราถนัด แฃะสนใจ ส่วนการเป็นศึกษานิเทศก์ เมื่อสอบเข้าสู้ตำแหน่งศึกษานิเทศก์แล้ว หน่วยงานต้นสังกัดจะมีหลักสูตรฝึกอบรม ความรู้ด้านการนิเทศ และเทคนิคการนิเทศ ทั้งทฤษฎี และการฝึกปฏิบัติในภาคสนามให้ค่ะ
        อาจารย์ขิง

  28. ขอชื่นชมในความเป็นนักวิชาการและความเป็นผู้นำที่ช้วยจรรโลงความรู้แก่ครูของชาติให้ ตื่นรู้ ตื่นพัฒนา ตื่นทำ(ตื่นธรรม) ตื่นถาม ตื่นวิเคราะห์ประเมินผล อันนำไปสู่ความเจริญงอกงามของคุณครูในระดับปัจเจต ขอขอบคุณท่านศึกษานิเทศฯเป็นอย่างสูงมา ณโอกาศนี้ ดร.ไชยสิทธิ์ กิจค้า

  29. พี่ขิงคะ…
    ขอบพระคุณมากค่ะ สำหรับความรู้เรื่องการนิเทศ การให้ความรู้เป็นวิทยาทานเป็นการให้ที่สูงค่ามาก เป็นบุญกุศลที่จะติดตัวพี่ไปทั้งชาตินี้และชาติหน้า ทั้งยังก่อให้เกิดความอิ่มเอมทั้งผู้ให้และผู้รับ พอดีกำลังหาข้อมูลคุณสมบัติที่สำคัญของการนิเทศ ก็เลยมีโอกาสได้อ่านบทความดี ๆ ซึ่งก็ได้อ่านอยู่หลายเรื่องแล้วที่พี่เขียน แต่ก็ยังเลือกไม่ได้ว่า คุณสมบัติที่สำคัญของการนิเทศ คือความเป็นธรรมหรือความมีส่วนร่วม พี่ช่วยกรุณาชี้แนะด้วยนะคะ
    นฤมล

    1. สวัสดีค่ะอาจารย์นฤมล หลักการทำงานนิเทศมีมากมาย สำหรับพี่การทำงานนิทศ กศน.มา 30 ปี เป็นการทำงานที่มีความสุข มีหลักการทำงานคือ
      – เชื่อมั่นและศรัทธาในความเป็นมนุษย์ ของคน ทุกคนมีความรู้และประสบการณ์ในการทำงานแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรรู้กันได้ การนิเทศของพี่จึงเป็นการทำงานเพื่อพัฒาคุณภาพการจัดการศึกษา ร่วมกับครู
      – คนทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ ถ้ามีการสร้างบรรยากาศของการเรียนรู้ที่เหมาะสม และมีการสร้างขวัญและกำลังใจ
      – ผู้ทำหน้าท่นิเทศต้องเรียนรู้ตลอดเวลา จนสามารถเปนผู้นำทางวิชาการ เป็นครูของครูได้
      – เหนือสิ่งอื่นใด ต้องมีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณ
      – การทำงานของพี่ทุกครั้ง จะกำหนดเป้าหมาย กำหนดตัวชี้วัดความสำเร็จ กำหนดผลผลิตและผลลัพธ์ ประเมินตนเอง และประปรุงการทำงานตลอดเวลา ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  30. ขอบคุณอาจารย์อัญชลีมากครับ ผมได้ความรู้จากบทความการนิเทศ ก็เป็นการทบทวนความรู้ที่ได้เคยเล่าเรียนมาบ้าง ขอบื่นชมอาจารย์จริงๆครับ

  31. ขอขอบคุณท่านอาจารย์อัีญชลีมากครับสำหรับข้อมูลในงานนิเทศการศึกษา

  32. สวัสดีค่ะอาจารย์อัญชลี คือหนูไม่ทราบว่าคำถามที่หนูจะถามอาจารย์จะเกี่ยว
    เนื่องกับหัวข้อบล๊อคไหม แต่หนูอ่านแล้วหนูรู้สึกว่าข้อมูลแน่นและเป็นความรู้ อย่างมาก
    คือหนูอยากถามว่าหนูเรียน จบ ป.ตรีนิเทศฯ วิทยุ-โทรทัศน์มา
    และอยากเรียนต่อ ป.โท คณะบริหารการศึกษา พอจะชี้แนะได้ไหมค่ะ ขอบคุณค่ะ

    1. สวัสดีปีใหม่ค่ะ คุณพิม
      จบป ตรี นิเทศ สามารถศึกษาต่อ ป โท บริหารการศึกษา ได้ค่ะ มีเปิดสอนทั่วไป ทั้งมหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน เช่น ม รามคำแหง มสธ มศว ราชภัฏ
      อาจารย์ขิง

    1. เรียนอาจารย์ชาญชัย อาจินสมาจาร ที่เคารพ
      ดิฉันได้อ่านหนังสือของท่าน “การนิเทศการศึกษา” ตั้งแต่เรียนปริญญาตรี ค่ะ ตอนนี้หนังสือเล่มนี้ดิฉันได้เก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี เป็นหนังสือที่มีคุณค่ามาก ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงที่ใด้ให้ความรู้ แนวคิดเรื่องการนิเทศการศึกษาแก่ดิฉัน ซึ่งได้นำมาใช้ในการทำงานจนทุกวันนี้
      อัญชลี ธรรมะวิธีกุล

  33. สวัสดีค่ะท่านอาจารย์อัญชลี คือหนูอยากจะทราบรายละเอียดของคำว่า Collaborative และ Cooperative .ใช้ต่างกันอย่างไรคะ ถ้าเราจะนำมาตั้งชื่อเรื่องงานวิจัยจะเลือกตัวไหนมาใช้คะ

ส่งความเห็นที่ Kittiphot ยกเลิกการตอบ