การนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
29 กรกฎาคม 2552

m5

 

 

แนวคิดเกี่ยวกับการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย กศน.

           การนิเทศ กศน. หมายถึง กระบวนการทำงานร่วมกับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา   ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่าย เพื่อให้สามารถจัด กศน. ได้บรรลุจุดมุ่งหมายของการจัดการศึกษา ได้อย่างมีคุณภาพ

1. แนวคิดเกี่ยวกับการนิเทศงาน กศน. ตั้งอยู่บนพื้นฐานแนวคิดต่อไปนี้

1) การนิเทศจะต้องอยู่บนพื้นฐาน ปรัชญา และหลักการของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย สอดคล้องกับนโยบายและจุดเน้นการจัด กศน. ของสำนักงาน กศน. และสถานศึกษา

2) การนิเทศ กศน. ควรเป็นกระบวนการทำงานที่เป็นระบบ เช่น แผนงานโครงการกิจกรรมและเทคนิคต่าง ๆ ในการนิเทศ ควรตั้งอยู่บนเจตคติและวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ผลของการนิเทศจะต้องถูกต้องสมบูรณ์เชื่อถือได้ สามารถสท้อนคุณภาพการจัด กศน. ของสถานศึกษาได้ตรงตามสภาพจริง

3) การนิเทศ กศน. เป็นกระบวนการทำงานร่วมกับผู้บริหาร ครู บุคลากรทางการศึกษา ผู้ปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องและเครือข่าย ที่มุ่งส่งเสริมคุณภาพชีวิต เพื่อให้เขาได้พัฒนาศักยภาพของตนได้อย่างเต็มที่ เคารพศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ อดทนต่อความแตกต่าง ความหลากหลายให้ความเท่าเทียมกัน เสมอภาค ความเป็นอิสระ สร้างบรรยากาศที่เป็นประชาธิปไตย การมีส่วนร่วมและการทำงานเป็นทีม

4) การนิเทศ กศน. ควรเป็นวิชาชีพ การนิเทศจะต้องมีการประเมินผลการนิเทศอย่างเป็นระบบ ทั้งด้านปัจจัยการนิเทศ กระบวนการนิเทศ และผลที่เกิดจากการนิเทศ และนำผลการประเมินมาใช้ประโยชน์การปรับปรุงการดำเนินการนิเทศ เพื่อพัฒนาการนิเทศการศึกษาให้มีคุณภาพ

2. ความสำคัญของการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 

             การนิเทศเป็นงานสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินควบคู่ไปกับการบริหาร เพราะการนิเทศเป็นส่วนหนึ่งของการบริหาร องค์ประกอบของการบริหารย่อมขึ้นอยู่กับคน เงิน วัสดุ และการจัดการ การที่จะบริหารคนให้มีประสิทธิภาพในการทำงาน ผู้บริหารจะต้องมีเทคนิคที่เหมาะสม เทคนิคในการบริหารอย่างหนึ่ง คือ การนิเทศเพื่อส่งเสริมให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีคุณภาพ สามารถใช้เงิน วัสดุได้อย่างคุ้มค่า มีหลักการจัดที่ดี ดังนั้น การที่จะควบคุมการปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ของหน่วยงานที่กำหนดไว้ ผู้บริหารต้องใช้เทคนิคการบริหารงานและการนิเทศควบคู่กัน การนิเทศการศึกษาเป็นความพยายามในการแนะนำ กระตุ้น ให้กำลังใจ ช่วยเหลือของผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษา เพื่อให้บุคลากรทางการศึกษาสามารถจัดกิจกรรมการเรียนการสอนให้มีคุณภาพ หรือปรับปรุงกระบวนการจัดการศึกษาให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีการสูญเปล่าทางการศึกษาน้อยที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยที่มีการจัดกิจกรรมการศึกษาที่หลากหลายให้บริการแก่กลุ่มเป้าหมายประเภทต่าง ๆ ทำให้มีอุปสรรคในการปฏิบัติงาน เพราะมีบุคลากรที่ปฏิบัติงานทั้งที่อยู่ในสังกัด สำนักงาน กศน. และไม่ได้สังกัด สำนักงาน กศน. ทำให้เห็นความจำเป็นของการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เพื่อให้บุคลากรการศึกษา สถานศึกษาทุกประเภทเข้าใจนโยบาย ปรัชญาการจัด กศน. ตลอดจนวิธีการจัดกิจกรรม กศน. ที่สามารถสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย ผู้เรียนในทิศทางที่ถูกต้อง และเหมาะสมกับสภาพพื้นที่การจัดกิจกรรม กศน.

 

3. จุดมุ่งหมายของการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 

1)  เพื่อส่งเสริมให้สถานศึกษาบริหาร  หลักสูตร  จัดกระบวนการเรียนรู้  การวัดและประเมินผลการศึกษา พัฒนาสื่อนวัตกรรมและเทคโนโลยีและการนิเทศภายในอย่างมีคุณภาพ

2)  ส่งเสริมให้สถานศึกษามีระบบประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐาน กศน.

3)  เพื่อให้คำปรึกษา เสนอแนะและเป็นที่พึ่งในการพัฒนาวิชาการของสถานศึกษาและสำนักงาน กศน. จังหวัด

4)  เพื่อประสาน สนับสนุนและเผยแพร่งานทางด้านวิชาการแก่สถานศึกษาและสำนักงาน กศน. จังหวัด

4. แนวทางการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 

             ตามพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 ที่เน้นการกระจายอำนาจในการจัดการศึกษานั้น ผู้บริหารทุกระดับจะต้องมีภารกิจสำคัญในการนิเทศ นิเทศทั้งคน ทั้งงาน และกระบวนการทำงาน จะต้องนิเทศติดตามวิเคราะห์งานของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แก้ปัญหาได้ตรงจุด เข้าใจสาเหตุของปัญหา สามารถแสวงหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ติดตามผลการแก้ปัญหาและรายงานผลความก้าวหน้าของการดำเนินงาน กระบวนการนิเทศ จึงต้องดำเนินการอย่างเป็นระบบ กล่าวคือ ศึกษานิเทศก์จะต้องทำงานร่วมกับผู้นิเทศภายในของสถานศึกษา เครือข่าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ศึกษานิเทศก์จะพยายามส่งเสริมสนับสนุนให้สถานศึกษา สามารถนิเทศงานที่ตนรับผิดชอบได้ด้วยตนเอง หรือสามารถจัดระบบนิเทศ จัดการนิเทศ กำกับ ดูแลงาน กศน.ให้ได้คุณภาพ นอกจากนี้ ศึกษานิเทศก์จะต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษา ทำงานวิจัยเฉพาะเรื่องร่วมกับฝ่ายปฏิบัติ ศึกษาวิเคราะห์เรื่องต่าง ๆ เพื่อช่วยพัฒนางาน กศน. ในการนิเทศงานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย มีแนวทางดำเนินการดังนี้

             1) นิเทศทั่วไป เป็นการนิเทศโดยตรงของศึกษานิเทศก์ ร่วมกับผู้นิเทศภายใน ดำเนินการนิเทศเพื่อให้มองเห็นภาพรวมของการดำเนินกิจกรรม กศน. ในสถานศึกษานั้น ๆ ว่าเป็นไปตามเป้าหมายหรือไม่ โดยจะนิเทศทั้งด้านปริมาณและคุณภาพว่าเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานที่ สำนักงาน กศน. กำหนดหรือไม่ ซึ่งจะชี้ให้เห็นสภาพปัญหา แนวทางแก้ไขและพัฒนาคุณภาพการจัด กศน. แต่ละประเภท
            2) นิเทศเชิงวิจัย เป็นการนิเทศโดยกำหนดจุดประสงค์ตามสภาพปัญหา ความต้องการ ความจำเป็นของแต่ละสถานศึกษา แต่ละกิจกรรม กศน. ทั้งนี้ เพื่อพัฒนาคุณภาพการดำเนินงาน บุคลากร ให้มีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีของงานนั้น อันจะอำนวยประโยชน์แก่กลุ่มเป้าหมาย
            3) นิเทศเฉพาะกิจ เป็นการนิเทศโครงการนิเทศ โครงการนำร่อง ซึ่งได้รับมอบหมายให้นิเทศเป็นเรื่อง ๆ ไปตามความเหมาะสม

 

 5. ปฏิบัติการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย 

              ศึกษานิเทศก์มีบทบาทหน้าที่ และมีแนวปฏิบัติในการนิเทศ กศน. ดังต่อไปนี้

บทบาท/หน้าที่  แนวปฏิบัติ 
1. วางแผนการนิเทศ
    1.1 ข้อมูลจากเอกสารและงานวิจัย
    1.2 บุคลากรผู้รับผิดชอบ
    1.3  งบประมาณ
    1.4  นโยบายและจุดเน้น
    1.5 เกณฑ์มาตรฐาน/ตัวชี้วัด คุณภาพ กศน.
  1. ศึกษาสภาพปัญหาการนิเทศและการดำเนินงานที่ผ่านมา รวมทั้งแนวทางการดำเนินงาน
  2. วิเคราะห์นโยบาย จุดเน้นของ สำนักงาน กศน./จังหวัด มาสู่การปฏิบัติงานอย่างเหมาะสม
  3. กำหนดวิสัยทัศน์การนิเทศ
  4. กำหนดจุดเน้นและยุทธศาสตร์การทำงาน
  5. วางแผนปฏิบัติการนิเทศ
  6. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพกิจกรรม กศน. ของแต่ละสถานศึกษา
  7. แต่งตั้งคณะผู้นิเทศภายใน
  8. กำหนดปฏิทินการนิเทศ

 

2. พัฒนาบุคลากรผู้นิเทศ
      2.1 วิธีการพัฒนาบุคลากร
      2.2 หลักสูตรสื่อการพัฒนาบุคลากร
       2.3 งบประมาณ
       2.4 บุคลากรผู้รับผิดชอบ
       2.5  สื่อ 
  1. สำรวจสภาพปัญหาและความต้องการในการพัฒนาบุคลากรนิเทศ
  2. วางแผนการพัฒนาบุคลากร
  3. กำหนดวิธีการ/รูปแบบการพัฒนาบุคลากร
  4. พัฒนาบุคลากรนิเทศด้วยรูปแบบต่าง ๆ ตามความเหมาะสม
3. ปฏิบัติการนิเทศ
       3.1 แผนนิเทศ
       3.2 สื่อ/เครื่องมือนิเทศ
       3.3 งบประมาณ
       3.4 พาหนะ
       3.5 ระยะเวลา
       3.6 สถานที่ปฏิทินปฏิบัติการนิเทศ
        3.7 วิธี/รูปแบบการนิเทศ
  1. เตรียมการประสานแผนนิเทศ
  2. กำหนดวิธีการ/รูปแบบการนิเทศ
  3. ปฏิบัติการนิเทศตามแผน/ปฏิทินปฏิบัติการนิเทศ
  4. รายงานและสรุปผลการนิเทศ

 

 

 4. สร้างขวัญกำลังใจ 
  1. ประกาศเกียรติคุณ
  2. เผยแพร่ผลงานดีเด่น
  3. สนับสนุนการศึกษาดูงานและความก้าวหน้าในการปฏิบัติงานของผู้ปฏิบัติ
  4. เยี่ยมเยียนให้กำลังใจ
 5. ประเมินผลและการรายงาน
  1. สรุปและประเมินผลการนิเทศ
  2. รายงานผลการนิเทศ
  3. วิเคราะห์และสั่งการ
  4. ติดตามผลการสั่งการ
  5. ประเมินผลการดำเนินการนิเทศ และรายงานเผยแพร่
 6. ประกันคุณภาพการศึกษา
  1. วิเคราะห์นโยบายและทิศทางกาประกันคุณภาพ
  2. แต่งตั้งคณะทำงาน
  3. จัดทำคู่มือการประกันคุณภาพ
  4. พัฒนาบุคลากรเพื่อการประกันคุณภาพ
  5. ดำเนินการประกันคุณภาพ
  6. ติดตามและประเมินผล

6.  ขั้นตอนการปฏิบัติการนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย

1. วิเคราะห์สภาพการนิเทศ และการดำเนินงานที่ผ่านมา เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานนิเทศ
2. วิเคราะห์นโยบายจุดเน้นของ สำนักงาน กศน./จังหวัด มาสู่การปฏิบัติ
3. กำหนดวิสัยทัศน์การนิเทศ
4. กำหนดจุดเน้นและยุทธศาสตร์การดำเนินงาน
5. กำหนดเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพกิจกรรม กศน.
6. วางแผนปฏิบัติการนิเทศ
7. แต่งตั้งคณะผู้นิเทศภายใน
8. พัฒนาบุคลากรนิเทศ
9. กำหนดปฏิทินปฏิบัติการนิเทศ
10. ประสานแผนการนิเทศ
11. ปฏิบัติการนิเทศ
12. สรุปและประเมินผลการนิเทศ
13. รายงานผลการนิเทศ
14. วิเคราะห์และสั่งการ
15. ติดตามผลการสั่งการ
16. ประเมินผลการดำเนินงานนิเทศและรายงานเผยแพร่      

 

  

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล: การนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
https://panchalee.wordpress.com/2009/07/29/nfe-supervision/

————————————-
 

การติดตามผลและประเมินผลการนิเทศ

อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
29 กรกฎาคม 2552

 

monitoringแนวคิดเกี่ยวกับการติดตามและประเมินผล 

การติดตามและประเมินผล จะเรียกสั้น ๆ ว่า ระบบการติดตามและประเมินผล นับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยให้ผู้ดำเนินโครงการทราบว่าโครงการนั้นบรรลุวัตถุประสงค์ เป้าหมายที่ต้องการมากน้อยเพียงใด ดำเนินการประสบความสำเร็จ มีประสิทธิภาพหรือไม่ ผลจากการติดตามและประเมินผล จะให้ข้อมูลที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จ จุดแข็ง จุดอ่อน และแนวทางในการปรับปรุงแก้ไขการดำเนินงาน ช่วยให้การบริหารแผนงานและโครงการมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น ระบบการติดตามและประเมินผลจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการบริการแผนงานและโครงการ เพราะในวงจรบริหารแผนงานและโครงการ ประกอบด้วย การวางแผน (Planning) การปฏิบัติตามแผน (Implementation) การควบคุม (Control) และการประเมินผล (Evaluation) ถ้าขาดส่วนหนึ่งส่วนใด หรือส่วนหนึ่งส่วนใดขาดประสิทธิภาพก็จะส่งผลต่อประสิทธิภาพของการบริหารแผนงานและโครงการทั้งหมด

 

 

ความหมายของการติดตามและประเมินผล 

            การติดตามและประเมินผล  มีคำซึ่งมีความหมายเฉพาะตัวที่แยกจากกันได้ชัดเจน  แต่ในการดำเนินงานหรือจัดกิจกรรมแล้วมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างใกล้ชิด  จนทำให้เกิดความสับสนอยู่เสมอ คือ คำว่า  ติดตาม  (Monitoring) และคำว่า ประเมินผล (Evaluation) ทั้งสองคำดังกล่าวมีวิธีทำงานที่แตกต่างกัน คือ การติดตาม เป็นพฤติกรรมที่มีลักษณะต่างจากการประเมินผลดังนี้
              1. การติดตาม เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลปฏิบัติงานตามแผน  ซึ่งมีการกำหนดไว้แล้ว เพื่อนำข้อมูลมาใช้ในการตัดสินใจ  แก้ไข ปรับปรุงวิธีการปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผน หรือกำหนดวิธีการดำเนินงานให้เกิดผลดียิ่งขึ้น ดังนั้น จุดเน้นที่สำคัญของการติดตาม คือ การปฏิบัติการต่าง ๆ เพื่อการตรวจสอบ ควบคุม กำกับ การปฏิบัติงานของโครงการ
               2. การประเมินผล เป็นกระบวนการเก็บรวบรวมข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบ และนำผลมาใช้ในการเพิ่มคุณภาพและประสิทธิภาพของการดำเนินโครงการ
               3. การติดตาม จะเกิดขึ้นในขณะที่โครงการกำลังดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนการประเมินจะเกิดขึ้นในทุกขั้นตอนของโครงการ นับตั้งแต่ก่อนตัดสินใจจัดทำโครงการ ในขณะดำเนินงานในช่วงระยะต่าง ๆ และเมื่อโครงการดำเนินงานเสร็จแล้ว หรือประเมินผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการ
                4. การประเมินผล บางมิตินำมาใช้ในการประเมินความสำเร็จของโครงการ  การว่าบรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของโครงการที่ตั้งไว้หรือไม่ มีปัญหา อุปสรรคอะไรบ้าง
                5. ความแตกต่างและส่วนที่ซ้ำซ้อนกันของการติดตามและประเมินผล คือ การติดตาม (Monitoring) เป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลที่แสดงให้เห็นว่า ได้มีการดำเนินการในขั้นตอนต่าง ๆ ของโครงการที่กำหนดได้อย่างไร ข้อมูลที่ได้จะนำมาประกอบเป็นเครื่องมือ ควบคุม กำกับ การดำเนินงานในขณะปฏิบัติโครงการโดยตรง ทั้งในด้านปัจจัย (Input) ด้านกระบวนการดำเนินงาน (Process) และด้านผลผลิต (Output) สำหรับ การประเมินผล (Evaluation) มีขอบข่ายกว้างขวาง ขึ้นอยู่ว่าจะประเมินในขั้นตอนใดของโครงการ เช่น ก่อนเริ่มโครงการ ขณะดำเนินโครงการซึ่งอาจดำเนินการเป็นช่วง เป็นระยะต่าง ๆ เช่น ทุก 3 เดือน ทุก 6 เดือน ทุกปี ประเมินเมื่อโครงการดำเนินงานไประยะครึ่งโครงการ เป็นต้น หรือเป็นการประเมินผลเมื่อโครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว

 

สรุปความสัมพันธ์ระหว่างการติดตามและการประเมินผลการนิเทศ

 

ขั้นตอน 
การดำเนินงานโครงการ 
การติดตามและการประเมินผล  จุดมุ่งหมาย 
1. ขั้นการตัดสินใจทำโครงการ2. ขั้นวางแผนโครงการ – ใช้การประเมินก่อนการดำเนินโครงการ
  1. เพื่อตัดสินใจว่าจะทำโครงการหรือไม่
  2. เพื่อเลือกแนวทางที่เหมาะสมในการดำเนินงานโครงการ
  3. เพื่อศึกษาความพร้อมและความเป็นไปได้ของโครงการ
  4. ขั้นดำเนินโครงการ
 3. ขั้นดำเนินโครงการ – ใช้การติดตาม
– ใช้การประเมินกระบวนการ (Formation Evaluation)
  1. เพื่อตรวจสอบว่า โครงการดำเนินการเป็นไปตามแผนที่กำหนดหรือไม่
  2. เพื่อตรวจสอบว่า มีปัญหาและอุปสรรคอะไรบ้าง
  3. ขั้นโครงการดำเนินการเสร็จสิ้น
 4. ขั้นโครงการดำเนินการเสร็จสิ้น – ใช้การประเมินหลังสิ้นสุดการดำเนินงาน (Summative Evaluation)
  1. เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของโครงการ
  2. เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของโครงการ
  3. เพื่อตรวจสอบผลกระทบของโครงการ

 

 

 การติดตาม 

           ในการวางแผนและการบริหารงานใด ๆ ก็ตาม การจัดระบบเพื่อให้ใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารของผู้บริหาร เป็นสิ่งที่จำเป็นจะต้องจัดให้มีขึ้นรองรับการบริหารงานนั้น ๆ เพื่อให้มีการนำแผนออกปฏิบัติ ดังนั้น การจัดระบบให้เหมาะสม จึงเป็นสิ่งจำเป็น ระบบนี้เรียกว่า ระบบการวางแผน  และการบริหาร ซึ่งประกอบด้วยระบบย่อย ๆ ที่สำคัญ ๆ ดังต่อไปนี้

 

monitoring-control3

           ในส่วนที่ว่าด้วย ระบบการติดตามและประเมินผล มีความเกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหาร ดังนั้น การดำเนินการติดตาม และประเมินผล จึงเริ่มด้วยการจัดระบบและวางแผนการติดตามประเมินในรูปแผนติดตามและประเมิน แล้วดำเนินการตามที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะในด้านการติดตามและประเมินแต่ละด้าน ดังนี้

 

monitoring-control2

          จากระบบดังกล่าวจะเห็นได้ว่า ในการบริหารการติดตามและประเมินผลจะเกี่ยวข้องกับการกำหนดและการดำเนินการเกี่ยวกับ
          1)  แผนการติดตามควบคุมและกำกับงาน (Monitoring and Control Plan)
          2)  แผนหรือกระบวนการรายงาน  (Reporting Plan)
          3)   แผนการประเมิน  (Evaluation Plan)

 

 

วิธีการติดตาม 

        วิธีการดำเนินการติดตาม มีดังต่อไปนี้

monitoring-control

            จากแผนภูมินี้จะแสดงให้เห็นว่าการติดตาม มีจุดเน้นสำคัญอยู่ที่ปัจจัย  กิจกรรมการดำเนินงานและผลงานหรือผลผลิตว่า แต่ละด้านเป็นอย่างไร ได้มีการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ถ้าไม่มีการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ ผลของการปฏิบัติจริงเป็นอย่างไร แตกต่างจากที่กำหนดไว้มากน้อยเพียงใด ทั้งในด้านปริมาณ คุณภาพ เวลา และลักษณะเฉพาะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง จากนั้นจะเป็นประมวลข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาและอุปสรรคที่ทำให้ไม่อาจปฏิบัติการได้ตามที่ได้วางแผนไว้

 

การติดตามด้านปัจจัย 

        ในด้านปัจจัยจะพบว่าปัจจัยสำคัญ ๆ ในการปฏิบัติงานโครงการต่าง ๆ มักจะเป็นเรื่องดังต่อไปนี้
               1)  บุคลากร
               2)  งบประมาณ
               3)  วัสดุอุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานหรือการบริหาร
               4)  นโยบายจากหน่วยที่เกี่ยวข้องและนโยบายเฉพาะอย่างสำหรับงานหรือโครงการนั้น
               5)  การจัดการ

          การติดตามทางด้านปัจจัยจะเป็นการติดตามเพื่อตรวจสอบว่า การจัดปัจจัยในการดำเนินงานเป็นไปตามที่กำหนดไว้หรือไม่ ตรงกับประเภท จำนวน และลักษณะคุณภาพที่กำหนดไว้เพียงใด ได้รับอัตรากำลังคนเข้าร่วมปฏิบัติงานตามช่วงระยะเวลาที่กำหนดให้หรือไม่ ตรงกับประเภท จำนวน และลักษณะทางคุณภาพที่กำหนดไว้เพียงใด ได้รับงบประมาณ วัดสุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติงานตามเวลาที่ต้องการหรือไม่ มีการเตรียมการด้านการบริหารหรือการจัดการตามกำหนดหรือตามนโยบายหรือไม่อย่างไร
          โดยสรุป ในด้านการติดตาม จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานและปรับปรุงการดำเนินงานตามแผนงานที่ได้กำหนดไว้โดยตรง ข้อกำหนดด้านข้อมูลสารสนเทศและรายละเอียดในรายงานต่าง ๆ เป็นไปเพื่อช่วยให้ฝ่ายปฏิบัติทราบได้ว่า มีการดำเนินงานตามที่กำหนดไว้ในแผนงานหรือไม่ ผลการปฏิบัติเป็นอย่างไร ต้องแก้ไขปรับปรุงในเรื่องใด ด้วยวิธีการอย่างไร ช่วยให้ฝ่ายอำนวยการและฝ่ายนโยบายทราบว่า ผลการปฏิบัติงานตามเป้าหมายเป็นอย่างไร สอดคล้องกับนโยบายและจุดมุ่งหมายหรือเป้าหมายที่ต้องการเพียงใด ควรกำหนดวิธีการปรับปรุงแก้ไขอย่างใดในส่วนไหนของระบบงาน

 

การจัดระบบติดตาม 

       เพื่อให้ระบบการติดตามดำเนินงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
              1. กำหนดสายงานและภารกิจการติดตามควบคุมกำกับว่า สายงานทั้งระบบเป็นอย่างไรแต่ละระดับ เช่น ระดับนโยบาย ระดับอำนวยการ ระดับการประสานงาน และระดับปฏิบัติการ ในแต่ละส่วนจะต้องรับผิดชอบงานด้านการติดตาม ควบคุม กำกับอย่างไร ข้อมูลและรายงานใดจะต้องมาจากระดับไหน ถึงหน่วยระดับใดโดยเฉพาะ
             2. กำหนดตำแหน่งหรือตัวบุคลากรผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรับรายงาน จัดทำรายงาน และออกข้อกำหนดในการแก้ไขปรับปรุง
             3. กำหนดแบบฟอร์มการจัดทำรายงานเฉพาะจากหน่วยที่จะต้องจัดทำรายงาน และแบบฟอร์มเฉพาะสำหรับการแจ้งข้อกำหนดการเปลี่ยนแปลงแก้ไขปรับปรุง สำหรับหน่วยงานที่ต้องรับผิดชอบงานนั้น ๆ โดยตรง ซึ่งข้อกำหนดเรื่องข้อมูลรายละเอียดต่าง ๆ สารสนเทศ และเวลาในการดำเนินงานจะแปรเปลี่ยนไปตามลักษณะงานและโครงการแต่ละงานและโครงการ

 

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล: การติดตามผลและประเมินผลการนิเทศ
https://panchalee.wordpress.com/2009/07/29/monitoring-evaluation/

 ————————–

การประเมินโครงการ

 อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ

29 กรกฎาคม 2552

 

 การประเมินโครงการ
        การประเมินโครงการมีลักษณะขอบข่ายที่ครอบคลุมดังต่อไปนี้

 

project-eva

 

การประเมินก่อนดำเนินการ 

             การประเมินก่อนดำเนินการมีจุดมุ่งหมายสำคัญให้เป็นการศึกษาวิเคราะห์เพื่อหาข้อสรุป สำหรับการตัดสินใจเลือกทำโครงการใดโครงการหนึ่ง เป็นการประเมินก่อนตกลงใจให้ดำเนินการนั่นเอง เป็นการตรวจสอบในขั้นต้นเพื่อความแน่ใจในการตัดสินใจทำโครงการใดโครงการหนึ่ง มักจะนิยมเรียกกันว่า “การประเมินก่อนตกลงใจในการดำเนินงาน” มีชื่อที่นิยมใช้กันหลายอย่าง เช่น การประเมินสภาพทั่วไป การศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ หรือการวิเคราะห์โครงการเพื่อการวางแผน เป็นต้น  โดยหลักการกว้าง ๆ การประเมินในขั้นนี้จะเน้นการพิจารณาในเรื่องใหญ่ ๆ ต่อไปนี้
                       1. ความเหมาะสมของโครงการ
                       2. ผลตอบแทนหรือผลได้จากการดำเนินโครงการ
                       3. ผลอื่น ๆ ที่คาดว่าจะเกิดตามมาจากการดำเนินโครงการนั้น ๆ
             ในการประเมินความเหมาะสมจากการดำเนินโครงการ มักจะเป็นการประเมินเพื่อกำหนดความเหมาะสม แสดงให้เห็นถึงปัญหาและความจำเป็นในการดำเนินโครงการนั้น ๆ ประเมินความเหมาะสมโดยการพิจารณาความเป็นไปได้ทางด้านเทคนิคการดำเนินงาน ความสามารถทางการบริหาร และการสนับสนุนเชิงนโยบายทางด้านบริหารโครงการ  ความพร้อมทางการเงินและความเป็นไปได้ด้านทรัพยากร และความเหมาะสมทางด้านการตลาด สำหรับโครงการด้านธุรกิจและอุตสาหกรรม
             ในการประเมินผลได้หรือผลตอบแทน จะเป็นการวิเคราะห์ผลตอบแทนจากการลงทุน พิจารณาผลได้ผลเสียหรืออัตราผลกำไรและต้นทุน วิเคราะห์ต้นทุนและประสิทธิผลในการดำเนินงาน การวิเคราะห์หาจุดคุ้มทุน การวิเคราะห์อัตถประโยชน์ เป็นต้น
             ต่อจากนั้น จะเป็นการวิเคราะห์เพื่อคาดคะเนถึงสิ่งที่อาจจะส่งผลกระทบหรือส่วนที่อาจจะเป็นผลมาจากการริเริ่มโครงการนั้น เช่น ผลประโยชน์พลอยได้ ปฏิกิริยาต่าง ๆ ของผู้เกี่ยวข้อง ผลที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสภาพแวดล้อม ตลอดจนเป็นการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับแนวโน้มของสิ่งที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดนโยบายสำคัญ ๆ ที่ส่งผลต่อโครงการนั้น ๆ โดยตรง
             ข้อมูลและสารสนเทศจากการประเมินก่อนตกลงใจให้มีการดำเนินงานนี้ จะช่วยให้การตัดสินใจเลือกโครงการเป็นไปได้ดียิ่งขึ้น ชี้ให้เห็นถึงคุณค่าและความเหมาะสมของโครงการ ชี้ให้เห็นความสอดคล้องของนโยบายและการตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น แสดงให้เห็นถึงข้อกำหนดด้านทรัพยากรที่จะเกิดขึ้น ชี้ให้เห็นถึงผลตอบแทนที่อาจเกิดจากโครงการนั้น ตลอดจนผลอื่น ๆ ที่อาจเกิดขึ้นหรือควรเตรียมการไว้ให้สอดคล้อง ข้อมูลที่ได้จะเป็นประโยชน์ทั้งด้านการตัดสินใจ ด้านการวางแผนและการดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ ของโครงการที่จะมีการดำเนินการในตอนต่อ ๆ ไป

 

การประเมินขณะดำเนินการ 

             การประเมินขณะดำเนินการ การประเมินในส่วนนี้มักจะดำเนินควบคู่กับการติดตาม ควบคุม และกำกับงาน เป็นการประเมินว่าการดำเนินงานของโครงการนั้น ๆ เป็นไปตามแผนต่าง ๆ ที่กำหนดไว้หรือไม่ การดำเนินงานในส่วนต่าง ๆ มีประสิทธิภาพเพียงใด เรื่องใดหรือสิ่งใดมีผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการดำเนินงานในส่วนที่กำลังประเมิน อุปสรรคและปัญหาสำคัญ ๆ ของการดำเนินงานโดยส่วนรวมในช่วงต่าง ๆ (เช่น ช่วงระยะครึ่งแรกของแผน ช่วงปีแรกหรือในช่วงระยะต่าง ๆ ที่กำหนดให้มีการประเมิน) มีลักษณะเป็นอย่างไรและส่วนประกอบที่สำคัญของรายงานการประเมิน อีกส่วนหนึ่งก็คือ ข้อเสนอแนะแนวทางการแก้ไขปรับปรุงเพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในการดำเนินงานช่วงต่อไปของโครงการหรือในการดำเนินงานครั้งใหม่ การประเมินในส่วนต่าง ๆ ว่าดี ไม่ดี มีประสิทธิภาพ ขาดประสิทธิภาพ ดำเนินการได้ผลมากน้อยแค่ไหน เพียงใด มักจะมีการใช้เกณฑ์ ใช้ดัชนีต่าง ๆ พิจารณาประกอบกับเงื่อนไขหรือสภาพแวดล้อมเป็นเครื่องช่วยประกอบในการประเมิน

            การประเมินนั้นอาจดำเนินการได้ในสองรูปแบบใหญ่ ๆ ด้วยกัน คือ การประเมินแบบประเมินรวม  และการประเมินเฉพาะเรื่อง
                      การประเมินระบบรวม หรือการรวบยอดมักจะทำเป็นโครงการใหญ่ ประเมินครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจงประเด็นให้เห็นว่าแต่ละด้านเหล่านั้นส่งผลต่อความสำเร็จตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพอย่างไร เช่น เรื่องสภาพแวดล้อมของการดำเนินงานบุคคล งานและบทบาทต่อการดำเนินงาน โครงสร้างระบบงาน การกำหนดแผนงานและกระบวนการทางการบริหารมาตรฐานงานที่ใช้ในการกำกับงาน เรื่องการเงินและทรัพยากรสนับสนุน และความสำเร็จของการดำเนินงานตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ในแต่ละระยะ แต่ละขั้น แต่ละตอน ปัญหาและอุปสรรคสำคัญ ๆ ในด้านต่าง ๆ เป็นต้น
                       กาประเมินในลักษณะนี้ เป็นการประเมินครอบคลุมทุกด้านที่เกี่ยวข้อง ซึ่งโดยปกติจึงมักจะต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีประสบการณ์กว้างขวางในการประเมิน หรืออาจจะต้องใช้ทีมงานซึ่งประกอบด้วย ผู้รู้ ผู้เชี่ยวชาญหลายฝ่ายร่วมกัน ลักษณะการดำเนินงานค่อนข้างสลับซับซ้อน มากกว่าการติดตามควบคุมและกำกับงาน ต้องอาศัยความรอบรู้ทางด้านการวัดและประเมินผลเชิงวิจัยค่อนข้างมาก จึงสามารถจัดทำ “รายงานที่มีคุณค่าต่อการบริการและการตัดสินใจ” ได้ทันที
                        ด้านการประเมินเฉพาะเรื่อง เป็นการติดตามรวบรวมข้อมูลตอบสนองความต้องการของฝ่ายบริหารเฉพาะด้าน เช่น ด้านการเงิน ด้านบุคลากร ด้านผลสำเร็จของการดำเนินงานในแต่ละระยะ ด้านผลกระทบเชิงนโยบาย ด้านประสิทธิภาพการปฏิบัติงานตามแผน เป็นต้น การประเมินส่วนนี้เป็นลักษณะเฉพาะทาง ครอบคลุมเฉพาะงาน เฉพาะพื้นที่ หรือเฉพาะสิ่งที่ฝ่ายบริหารกำหนด ผลที่ได้มักจะเป็นรายงานทางเทคนิค ซึ่งมักจะต้องอาศัยผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์เฉพาะทางเป็นหลักสำคัญในการตัดสินว่า เรื่องนั้น ๆ เป็นอย่างไร มีปัญหาและอุปสรรคสำคัญใดบ้าง ควรแก้ไขปรับปรุงอย่างไรต่อไป
                       การประเมินในลักษณะนี้ นักประเมินผลโดยทั่วไปมักนิยมเรียกกันว่า การประเมินเพื่อปรับปรุงการดำเนินงาน เป็นการประเมินเพื่อช่วยให้การดำเนินงานได้รับการแก้ไขได้ทันท่วงที และช่วยให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพสูงยิ่งขึ้น เป็นการช่วยหาทางแก้ไขขณะดำเนินงาน ข้อมูลและสารสนเทศที่ได้จะเป็นข้อมูลป้อนกลับเพื่อประโยชน์ในการทบทวนแผน และแผนปฏิบัติการในช่วงระยะต่าง ๆ ซึ่งแผนเหล่านั้นเมื่อนำมาเข้าสู่การปฏิบัติ จะต้องดำเนินการภายในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอยู่ตลอดเวลา การเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นอาจส่งผลต่อการปฏิบัติตามแผนได้ทุกรูปแบบ เช่น ในเชิงที่ส่งเสริมประสิทธิภาพ ช่วยให้ดำเนินการได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น หรืออาจส่งผลในทางลบต่อการดำเนินงานตามแผนที่กำหนดไว้

               รูปแบบหรือตัวแบบที่อาจเลือกใช้มีหลายแบบด้วยกัน ต้องเลือกให้เหมาะสมกับลักษณะของการประเมิน ตัวแบบทั่วไปที่อาจเลือกนำมาใช้ได้ เช่น CIPP Model ของ Phi Delta Kappa   ตัวแบบ Discrepancy Evaluation ของ Malcolm Provus  เป็นต้น

 

การประเมินเมื่อโครงการเสร็จสิ้น 

              การประเมินเมื่อโครงการเสร็จสิ้น ส่วนใหญ่มักนิยมเรียกกันว่า “การประเมินผลการดำเนินงานโครงการ” หรือ “การประเมินผลโครงการ” การประเมินผลส่วนใหญ่จะมีจุดเน้นอยู่ที่
                            1. ผลผลิตหรือผลงานของโครงการ
                            2. การประเมินแบบสรุปรวบยอดของโครงการทั้งหมด

               การประเมินผลส่วนนี้ ในวงการประเมินผลโดยทั่ว ๆ ไปมักจะเรียกกันว่า การประเมินผลรวม ส่วนนี้จะเป็นการประเมินเพื่อตรวจสอบดูว่าหลังจากที่ได้อนุมัติให้ดำเนินโครงการใด โครงการหนึ่ง อนุมัติทรัพยากรและมีการดำเนินงานตามแผนงานเสร็จสิ้นแล้ว โครงการนั้นจะเป็นจุดตั้งหลักของการดำเนินงานการประเมินแล้วขยายครอบคลุมไปยังกระบวนการบริหาร กระบวนการดำเนินงาน และสิ่งแวดล้อมที่สัมพันธ์กับการบริหารโครงการนั้น ๆ ผู้ที่ทำหน้าที่ในการประเมินจึงควรเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ มีความรู้เกี่ยวกับการบริหารงานโครงการอยู่ด้วย จึงจะทำให้รายงาน  การประเมินนั้นมีโอกาสเป็นประโยชน์ต่อการบริหารโครงการนั้น ๆ สูงยิ่งขึ้น

                รูปแบบหรือตัวแบบการประเมินที่อาจเลือกนำมาใช้ประกอบในการออกแบบการประเมินขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในแต่ละเรื่อง แต่ละโครงการ และวัตถุประสงค์ของการประเมิน เช่น CIPP Model, Discrepancy Evaluation Model, C.S.E. Model, Congruence Contingency Model เป็นต้น นอกจากนั้น ผู้ประเมินยังอาจออกแบบการประเมินที่เหมาะสมโดยเฉพาะของตนเองขึ้นใช้เองก็เป็นได้

               โดยสรุป การประเมินผลเมื่อโครงการดำเนินเสร็จสิ้นนี้ จะเป็นการประเมินเพื่อสรุปรวมว่าผลการปฏิบัติตามโครงการนั้น บรรลุวัตถุประสงค์และจุดมุ่งหมายอย่างไร ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น สิ่งที่มักจะปรากฏควบคู่อยู่ด้วยเสมอก็คือ ประมวลปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินโครงการ แจงให้เห็นว่าอุปสรรคและปัญหาโดยส่วนรวมเป็นอย่างไร จากนั้น จะเป็นข้อมูลเพิ่มเติมและข้อเสนอแนะ เพื่อใช้เป็นประโยชน์ประกอบการพิจารณาในการตัดสินใจและการดำเนินงานในโอกาสต่อไป ในบางกรณีอาจมีข้อสรุปในลักษณะที่เป็นบทเรียนหรือความรู้ใดเกิดขึ้นบ้าง จากการทำโครงการนั้น ๆ

 

การประเมินหลังโครงการเสร็จสิ้นแล้ว 

               การประเมินผลที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โครงการดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว มักจะดำเนินเมื่อโครงการเสร็จสิ้นแล้วระยะเวลาหนึ่ง อาจจะเป็นการประเมินเพื่อติดตามผลจากโครงการโดยตรง ก็มัก จะเรียกว่าการประเมินติดตามผล คือ การประเมินเพื่อติดตามดูว่าเมื่อโครงการดำเนินงานเสร็จแล้ว และคาดว่าผลผลิตจากโครงการจะไปดำเนินงานอย่างใด อย่างหนึ่ง หรือส่งผลอย่างใด อย่างหนึ่ง  โดยเฉพาะในหน่วยงาน หรือในสังคมที่เกี่ยวข้อง ก็จะมีการศึกษาวิจัยเพื่อดูผลที่เกิดขึ้นว่า เป็นไปตามที่คาดหวังหรือไม่ และเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการตัดสินในการจัดทำโครงการในโอกาสต่อ ๆ ไป

                ส่วนการประเมินผลกระทบหลังจากโครงการเสร็จสิ้นแล้วเป็นอีกแบบหนึ่ง เป็นการศึกษาวิจัยเพื่อค้นหาดูว่า การดำเนินงานและความสำเร็จของโครงการนั้นได้ก่อให้เกิดผลพิเศษอื่นใดตามมา นอกเหนือไปจากที่ได้คาดหวังไว้จากโครงการ เป็นการค้นหาดูว่าโครงการนั้นเมื่อเสร็จสิ้นไปแล้ว ปรากฏผลกระทบต่อสิ่งอื่นอย่างไรบ้าง ก่อให้เกิดผลพลอยได้ ผลพลอยเสีย หรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสิ่งอื่น ๆ ในสังคมอย่างใดบ้าง เช่น ในเรื่องค่านิยม มติมหาชน วิธีปฏิบัติใหม่ ๆ การเปลี่ยนแปลงในสภาพแวดล้อม เป็นต้น การศึกษาในลักษณะนี้มักจะเป็นการศึกษาเชิงวิจัยที่เรียกกันว่า Impact Study หรือ Impact Analysis พวกนักวิจัยอาจเรียกว่าการวิจัยผลกระทบก็ได้ ซึ่งวิธีการและการออกแบบ ขึ้นอยู่กับงานเฉพาะ และความรู้ความสามารถทางการวิจัยของผู้วิจัยเป็นส่วนใหญ่

 

 

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล: การประเมินโครงการ

https://panchalee.wordpress.com/2009/07/29/project-evaluation/

 

——————————-

รายงานผลการจัดการศึกษา

อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
29 กรกฎาคม 2552

FormIconการรายงานผลการจัดการศึกษา 

การรายงายผลการติดตามและประเมินผล เป็นขั้นตอนสุดท้ายของระบบการติดตามและประเมินผล ซึ่งผู้ประเมินจะต้องเรียบเรียบและนำเสนอผลการประเมินให้ผู้เกี่ยวข้อง รายงานผลเป็นสารสนเทศที่มีประโยชน์ต่อผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ที่จะต้องนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในการตัดสินใจปรับปรุง หรือยุติการดำเนินโครงการ  การเขียนรายงานการติดตามผลประเมินผลการจัดการศึกษา มีหลักการในการเขียนดังต่อไปนี้

 

            1. ความถูกต้อง รายงานการประเมินผลที่ดี ควรนำเสนอข้อมูลที่ถูกต้อง จะต้องไม่มีข้อผิดพลาดในเรื่องข้อเท็จจริง ไม่มีอคติ ไม่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ
            2. ความรัดกุม เขียนให้สั้น ตรงประเด็น ไม่เยิ่นเย้อ คือ การเขียนสั้นและได้ใจความ
            3. ความชัดเจน ไม่ใช้ถ้อยคำคลุมเครือ ไม่ใช้ภาษาชาวบ้านหรือภาษาพูด
            4. ความง่าย อ่านแล้วเข้าใจง่าย ใช้ประโยคง่าย ๆ ไม่สับสน
            5. ความต่อเนื่อง เรียบเรียงความคิดให้เป็นระเบียบ เขียนอย่างมีเหตุผล และมีลำดับอย่างต่อเนื่อง
            6. ความหลากลาย การนำเสนอผลการวิเคราะห์จะต้องใช้วิธีการหลากหลาย ไม่ใช่อย่างใดอย่างหนึ่ง
            7. ความสำคัญ จะต้องเน้นประเด็นสำคัญที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน

 

 

ส่วนประกอบของรายงานการประเมินผล 

            การเขียนรายงานการติดตามและประเมินผล มีสาระสำคัญ 3 ส่วน คือ ส่วนนำ ส่วนเนื้อเรื่อง และส่วนท้าย  ดังต่อไปนี้
           1. ส่วนนำ ประกอบด้วย  ปก  คำนำ  สารบัญ
           2. ส่วนเนื้อเรื่อง ประกอบด้วย หัวข้อหลักดังนี้
                   1. บทนำ เป็นบทแรกของเนื้อหาของการรายงานการประเมินผล ประกอบด้วย
                          1.1 หลักการ เหตุผล และความสำคัญ ของการประเมินผล โดยเขียนให้เห็นความสำคัญของการประเมิน เขียนถึงรายละเอียดของกิจกรรมการศึกษาที่จะประเมินโดยสรุป อธิบายสาเหตุว่าทำไมจึงต้องประเมิน การจัดการศึกษาประเภทนี้มีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร มีเป้าหมายมากน้อยเพียงใด และอธิบายถึงผลดีที่จะเกิดจากการประเมิน
                          1.2 ว้ตถุประสงค์ของการติดตามประเมินผล ต้องระบุวัตถุประสงค์ของการประเมิน เพื่อให้ผู้อ่านทราบว่าการติดตามประเมินครั้งนี้มีวัตถุประสงค์อะไร มุ่งติดตาม ประเมิน ในเรื่องใด
                          1.3 ขอบเขตของการประเมิน ต้องเขียนให้เห็นภาพว่าการประเมินครั้งนี้ มีขอบข่ายกว้างขวาง ครอบคลุม ในเรื่องใดบ้าง ในด้านของประชากร กลุ่มตัวอย่าง เนื้อหา และช่วงเวลาของการประเมิน

                   2. วิธีการประเมิน เป็นการเขียนรายละเอียด เพื่อให้ผู้อ่านทราบและเข้าใจ โดยทั่วไปจะประกอบด้วยสาระสำคัญดังต่อไปนี้
                            2.1 แนวทางการประเมิน ภาพรวม เป็นการเขียนให้ทราบว่าใช้รูปแบบใดออกแบบการประเมิน
                            2.2 แหล่งข้อมูล/ประชากร และกลุ่มตัวอย่าง เขียนให้เห็นว่า ผู้ประเมินใช้ข้อมูลจากแหล่งข้อมูลใด และประชากรที่ให้ข้อมูลเป็นใคร ใช้วิธีสุ่มกลุ่มตัวอย่างแบบใด จำนวนมากน้อยเพียงใด
                             2.3 เครื่องมือที่ใช้ในการประเมิน เครื่องมือจะต้องพัฒนาหรือสร้างให้คลอบคลุมวัตถุประสงค์ของการประเมิน ประกอบด้วย เครื่องมืออะไรบ้าง มีวิธีการสร้างอย่างไร ข้อคำถามครอบคลุมเกี่ยวกับเรื่องอะไร มีการตรวจสอบคุณภาพเครื่องมืออย่างไร
                             2.4 การเก็บรวบรวมข้อมูล เขียนให้เห็นว่า มีขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลอย่างไร ด้วยวิธีใด เช่น การสังเกต การสอบถาม การสัมภาษณ์ การอภิปรายกลุ่มย่อย การคัดลอก การทดสอบ การรวบรวมเอกสารที่มีอยู่เดิม เป็นต้น
                             2.5 การวิเคราะห์ข้อมูล เป็นการเขียนถึงวิธีวิเคราะห์ข้อมูลว่าใช้วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลแบบใด ทั้งข้อมูลเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
                             2.6 เกณฑ์ในการประเมิน ต้องระบุว่า อะไรเป็นเกณฑ์ในการตัดสินใจ และเกณฑ์ได้มาอย่างไร

                       3. ผลการประเมิน เป็นการนำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยผู้ประเมินจะต้องนำเสนอวัตถุประสงค์ของการประเมิน อาจนำเสนอโดยวิธีการบรรยายกึ่งตาราง รูปแบบ กราฟ    เป็นต้น ทั้งนี้การเขียนต้องเขียนโดยใช้ภาษาที่สื่อความหมายชัดเจน เข้าใจง่าย

                       4. สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
                                 4.1 สรุปผลการประเมิน เป็นการเขียนผลการประเมินโดยสรุป ที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวัตถุประสงค์ของการประเมิน วิธีการประเมิน และสรุปผลกาประเมินตามวัตถุประสงค์ของการประเมิน
                                 4.2 อภิปรายผล เป็นการเขียนเพื่อแปลผลในระดับบรรยายความ โดยการนำเสนอแนวคิด ทฤษฎี จากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการอภิปรายผลตามประเด็นที่โดดเด่น หรือเป็นที่น่าสังเกต หรือข้อสรุปผลการประเมินไม่เป็นไปตามเป้าหมาย
                                 4.3 ข้อเสนอแนะ การเขียนข้อเสนอแนะ ควรเขียน 2 ลักษณะคือ ข้อเสนอแนะในการนำผลการประเมินไปใช้ปรับปรุงและพัฒนาการจัดการศึกษา และข้อเสนอแนะเพื่อการประเมินครั้งต่อไป ทั้ง 2  ลักษณะดังกล่าว จะต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลหรือข้อค้นพบที่ได้จากผลการประเมิน

        3.  ส่วนท้าย ส่วนท้ายของรายงานการประเมิน ประกอบด้วย
                       1. บรรณานุกรม เป็นรายชื่อสิ่งพิมพ์ และหลักฐานต่าง ๆ ที่ผู้ประเมินได้นำมาใช้ในการศึกษา ค้นคว้า และอ้างอิง โดยในการเขียนนั้นจะต้องให้ถูกต้องตามหลักการอย่างเป็นระบบ
                      2. ภาคผนวก เป็นส่วนประกอบที่นำเสนอเพื่อต้องการให้ผู้อ่านได้ทราบ อาจอยู่ในลักษณะเอกสาร ตาราง กราฟ แผ่นภาพ โดยอาจเสนอไว้หลายตอน จึงควรจัดลำดับ เช่น ภาคผนวก ก.  ภาคผนวก ข.  ภาคผนวก ค. เป็นต้น

 

 

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล: การรายงานผลการจัดการศึกษา 
https://panchalee.wordpress.com/2009/07/29/reporting/

—————————————