ห้องสมุด 3 ดี

 

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
31 มกราคม 2554

1. ความเป็นมา 

     กระทรวงศึกษาธิการได้กำหนดนโยบายการพัฒนาห้องสมุดของสถานศึกษาให้เป็นศึกษาค้นคว้าของนักเรียน ครู ผู้บริหาร ผู้ปกครองและชุมชน เพื่อพัฒนาคุณภาพ โอกาส และสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา โดยเฉพาะการเติมเต็มการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยไปสู่ การศึกษาตลอดชีวิตทั้งนี้ เนื่องจากในการปฏิรูปการศึกษาในช่วงแรก เน้นการจัดการศึกษาในระบบเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นกระทรวงศึกษาธิการจึงได้กำหนดแนวทางพัฒนา ห้องสมุด 3 ดีโดยเน้นการพัฒนาใน 3 องค์ประกอบหลัก ได้แก่ หนังสือดี บรรยากาศดี และบรรณารักษ์ดี เพื่อขับเคลื่อนการศึกษาตลอดชีวิต และนำไปสู่การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ สถานที่ และบรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้ มีหนังสือ สื่อการเรียนรู้ หลากหลายประเภทอย่างเพียงพอ และตรงกับความต้องการ

2. เป้าประสงค์ตามนโยบาย ห้องสมุด 3 ดี

    เพื่อยกระดับคุณภาพและมาตรฐานของห้องสมุดประชาชน ของ สำนักงาน กศน. ทุกแห่ง ให้เป็น ห้องสมุด 3 ดีได้กำหนดเป้าประสงค์ ดังนี้

       ดีที่ 1 หนังสือดี มีหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ มีเนื้อหาสาระถูกต้อง ไม่เป็นพิษเป็นภัย และตรงใจผู้อ่านในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่ออื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย

       ดีที่ 2 บรรยากาศดี ห้องสมุดประชาชนมีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการอ่าน การเรียนรู้ การค้นคว้า อุดมไปด้วยความรู้ ความบันเทิง สถานที่สะดวก สะอาด ร่มรื่น ปลอดโปร่ง ประหยัดพลังงาน สะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการ

      ดีที่ 3 บรรณารักษ์ดี บรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความรู้ในห้องสมุดกับผู้ใช้บริการ มีความเป็นมืออาชีพมีจิตบริการ มีความรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เป็นผู้บริหารจัดการความรู้ที่ดี และเป็นผู้ปฏิบัติงานอย่างมีความสุข

3.วิสัยทัศน์ 

           ห้องสมุดประชาชนเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพและมาตรฐาน

4. พันธกิจ

1. ให้บริการหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
2. ให้บริการในบรรยากาศที่ดี เอื้อต่อการเรียนรู้
3. ให้บริการส่งเสริมการเรียนรู้อย่างมีคุณภาพ

5. แนวทางการดำเนินงาน

1. จัดหาหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ เพียงพอต่อความต้องการ และเหมาะสมสำหรับประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
2. สร้างบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน การเรียน การค้นคว้า และสะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน
3. พัฒนาและส่งเสริมคุณภาพบรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดให้มีความเป็นมืออาชีพ มีจิตบริการ เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ และเป็นผู้บริหารจัดการความรู้ที่ดี

 6. มาตรฐาน ห้องสมุด 3 ดี

มาตรฐานที่ 1 หนังสือดี หนังสือ และสื่อการเรียนรู้มีคุณภาพ มีเนื้อหาสาระถูกต้อง ไม่เป็นพิษเป็นภัย และตรงใจผู้อ่าน ในรูปสื่อสิ่งพิมพ์ สื่ออิเล็กทรอนิกส์ และสื่ออื่น ๆ เพื่อส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้ของประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย

มาตรฐานที่ 2 บรรยากาศดี มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมเอื้อต่อการอ่าน การเรียนรู้ การค้นคว้า อุดมไปด้วยความรู้ ความบันเทิง สถานที่สะดวก สะอาด ร่มรื่น ปลอดโปร่ง ประหยัดพลังงาน สะท้อนเอกลักษณ์ของชุมชน และปลอดภัยสำหรับผู้ใช้บริการ

มาตรฐานที่ 3 บรรณารักษ์ดี บรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด เป็นตัวกลางในการเชื่อมโยงความรู้ในห้องสมุดกับผู้ใช้บริการ มีความเป็นมืออาชีพมีจิตบริการ มีความรู้ลึก รู้รอบ รู้กว้าง รู้ไกล ทันสมัย ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคม เป็นนักจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เป็นผู้บริหารจัดการความรู้ที่ดี และเป็นผู้ปฏิบัติงานอย่างมีความสุข

7. แนวทางการพัฒนาห้องสมุด 3 ดี

          ด้านหนังสือ

1) ดำเนินการให้มีการจัดซื้อหนังสือ และสื่อการเรียนรู้สำหรับห้องสมุดเป็นไปตามนโยบาย เพื่อให้มีหนังสือและสื่อที่มีคุณภาพและเพียงพอกับจำนวนผู้ใช้บริการ
2) แต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อคัดเลือกหนังสือและสื่อการเรียนรู้สำหรับห้องสมุด
3) ดำเนินการจัดซื้อหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ ตามงบประมาณที่ได้รับจัดสรร และตามรายชื่อที่คัดเลือกไว้ในสัดส่วนที่เหมาะสม
4) กำหนดนโยบายให้มีการใช้หนังสือ และสื่อการเรียนรู้เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน โดยส่งเสริมให้มีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ เพื่อกระตุ้นให้ผู้ใช้บริการมีนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
5) จัดนิทรรศการ/ตลาดนัดหนังสือ และสื่อการเรียนรู้ โดยเชิญชวนร้านค้า และสำนักพิมพ์ต่าง ๆ ร่วมจำหน่ายหนังสือและสื่อการเรียนรู้

          ด้านบรรยากาศ

1) พัฒนาหรือปรับปรุงห้องสมุดให้มีบรรยากาศและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการอ่าน การเรียนรู้ และการค้นคว้า
2) ปรับปรุง ออกแบบและตกแต่งอาคาร ทั้งภายใน และภายนอกห้องสมุดให้มีเอกลักษณ์สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่นและควรใช้ศิลปกรรมร่วมสมัยในการออกแบบ
3) ซ่อมแซม ปรับปรุง จัดวางครุภัณฑ์และสิ่งอำนวยความสะดวกให้ทันสมัย อุณหภูมิ สี และองค์ประกอบของครุภัณฑ์ให้มีความสอดคล้องกัน รวมทั้งการจัดมุมต่าง ๆและพื้นที่ใช้สอยภายในห้องสมุดให้เหมาะสม

ด้านบรรณารักษ์

1) พัฒนา อบรมบรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดให้มีความรู้ในการบริหารจัดการห้องสมุดสมัยใหม่ รวมทั้งสร้างมุมมองใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้น
2) บรรณารักษ์ทำงานเชิงรุก เพื่อตอบสนองความต้องการในการเรียนรู้ให้แก่ประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมาย
3) สนับสนุน ส่งเสริมให้บรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดได้รับโอกาสในการอบรม ศึกษาดูงาน หรือแลกเปลี่ยนความรู้กับบุคลากรห้องสมุดอื่น ๆ
4) ส่งเสริมบรรณารักษ์และบุคลากรผู้ปฏิบัติงานห้องสมุดในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ การใช้หนังสือและสื่อการเรียนรู้ให้กับผู้ใช้บริการ

อ้างอิงบทความนี้ อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: ห้องสมุด 3 ดี https://panchalee.wordpress.com/2011/01/31/library3d/

*********************

อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน(อสอ.)

  

                                                                        อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
                                                                        ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
                                                                              28 มกราคม 2554

 ร่วมกันสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต 

   ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา พัฒนาสังคม และช่วยเหลือชุมชนในลักษณะของการให้ที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ซึ่งเรียกว่าอาสาสมัคร  ดังนั้นอาสาสมัครจึงมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

1. ความหมายของอาสาสมัคร 

อาสาสมัคร (Volunteer) หมายถึง ผู้ที่ปฏิบัติงานที่ให้ความรับผิดชอบต่อสังคมโดยไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงินทองและการกระทำที่ไม่ใช่ภาระงานที่ต้องทำตามหน้าที่ หรือบุคคลที่มุ่งหวังทำงานเพื่อการบริการ และอุทิศตนโดยไม่ต้องการรับค่าตอบแทนเป็นเงินทองจากการทำงานนั้น ๆ แต่อย่างใด

องค์ประกอบของอาสาสมัคร มีดังนี้

1. การเลือก (Choose) หมายถึงมีอิสระที่จะกระทำหรือไม่กระทำในงานนั้น เป็นการกระทำโดยสมัครใจ
2. มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) หมายถึงการกระทำที่เป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น หรือสังคมส่วนร่วม
3. ไม่หวังผลตอบแทนเป็นเงิน (Without Monetary Profit) หมายถึงการกระทำที่ไม่มุ่งหวังผลตอบแทนในรูปของสินจ้างรางวัล และต้องถือหลักว่าไม่เป็นการจ้าง งานอาสาสมัครไม่ได้หวังผลรายได้ทางเศรษฐกิจ แต่อาจรับเป็นรางวัลหรือค่าใช้จ่ายทดแทนที่ตนเองได้ใช้จ่ายไปแต่ไม่อาจเทียบได้กับสิ่งที่ได้กระทำไป
4. เป็นการอุทิศกำลังกาย กำลังใจและเวลาให้แก่ส่วนรวม (Altruism) ไม่ใช่การอุทิศกำลังทรัพย์
5. งานที่ทำไม่ใช่ภาระงานที่ต้องทำตามหน้าที่ (Beyond Basic Obligations) 

 

2. ปัจจัยที่นำไปสู่อาสาสมัคร

  จิตวิญญาณอาสาสมัคร(Spinrit of Voluntarism) คือการมีจิตใจที่เสียสละ ทำงานด้วยความสมัครใจ เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ของผู้อื่นและสังคม โดยไม่หวังผลตอบแทน ซึ่งตรงกับแนวคิด จิตอาสา หมายถึงจิตที่พร้อมจะสละเวลา แรงกาย สติปัญญาเพื่อปฏิบัติงานที่เป็นสาธารณประโยชน์เพื่อร่วมแก้ไขปัญหา ความทุกข์ยากที่เกิดขึ้นในสังคม ชุมชน เป็นจิตแห่งการให้ ดังนั้น อาสาสมัคร และจิตอาสา เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นควบคู่กันไป ผู้ที่เป็นอาสาสมัครจึงเป็นผู้ที่มีจิตอาสา

3. ประโยชน์ที่ อาสาสมัครได้รับจากการปฏิบัติงานอาสาสมัคร

1. พัฒนาสภาวะจิตใจให้ดีขึ้น
2. ทำให้รู้สึกว่าชีวิตมีคุณค่า มีประโยชน์ต่อสังคม
3. ได้เรียนรู้ทักษะการทำงานใหม่
4. ได้พบเพื่อนใหม่ ๆ
5. ได้รับความสนุกสนานท้าทาย
6. พัฒนาภาวะความเป็นผู้นำให้กับตนเอง
7. พัฒนาตนเองให้เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพ

4. อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน (อสอ.)

      

  โครงการอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน เกิดขึ้นจากความร่วมมือของสำนักงาน กศน. และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมสร้างสุขภาพ(สสส.) โดยมุ่งหวังที่จะพัฒนาให้อาสาสมัครส่งเสริมการอ่านซึ่งเป็นคนในชุมชนเป็นต้นแบบที่ดีของบุคคลที่มีนิสัยรักการอ่านเป็นผู้นำและทำงานร่วมกับชุมชนเพื่อพัฒนาวิธีการส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดความตระหนัก เห็นความสำคัญของการอ่านและเกิดการบ่มเพราะนิสัยรักการอ่านขึ้นต่อประชาชนในชุมชน ทั้งนี้ การดำเนินงานอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านนี้เป็นการดำเนินงานในลักษณะเจาะลึกพื้นที่โดยทำงานประสานกับ กศน. ตำบล ห้องสมุดประชาชนและแหล่งเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน

          4.1 คุณสมบัติของอาสาสมัคร

1) อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี บริบูรณ์
2) เป็นผู้มีจิตอาสาช่วยเหลืองานส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
3) เป็นผู้มีภูมิลำเนาหรือมีถิ่นที่อยู่ประจำในหมู่บ้านหรือชุมชน
4) เป็นผู้รักหนังสือ รักการอ่าน สามารถสร้างสรรค์กิจกรรมส่งเสริมการอ่านให้กับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลายวัย
5) เป็นผู้ที่ได้รับความไว้วางใจจากคนในชุนชน

          4.2 ภารกิจของอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน

1) สร้างสรรค์ระบบ วิธีการ นำหนังสือหมุนเวียนเพื่อให้เข้าถึงประชาชนในชุมชนอย่างทั่วถึงทุกครัวเรือน
2) พัฒนาและดำเนินการจัดกิจกรรมเพื่อกระตุ้นให้ชุมชนเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของการอ่าน เพื่อสร้างนิสัยรักการอ่าน
3) สร้าง จัดกระบวนการและสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการอ่านให้มีความเหมาะสมกับบริบทของชุมชนนั้น ๆ
4) ประสานความร่วมมือกับสื่อทุกแขนงในชุมชน เพื่อรณรงค์ประชาสัมพันธ์ส่งเสริมการอ่าน

          4.3 แนวทางการดำเนินงานของอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน

1) แกนนำอาสาสมัครส่งเสริมการอ่านจะต้องดำเนินการขยายผลการสร้างเครือข่ายอาสาสมัครในเขตพื้นที่ชุมชนของตนเอง เพื่อดำเนินการจัดกิจกรรม กระบวนการส่งเสริมการอ่าน
2) ใช้ กศน. ตำบล เป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติงาน การจัดประชุมเครือข่ายอาสาสมัคร การวางแผน การบริหารจัดการด้านต่าง ๆ
3) ทำงานโดยประสานกับ อบต. ครู กศน. ครู ศรช. ในการจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน พร้อมทั้งร่วมกันดำเนินการพัฒนาแนวทางการทำงานส่งเสริมการอ่านในชุมชน
4) ใช้ห้องสมุดประชาชน เป็นแหล่งทรัพยากรด้านข้อมูล รวมทั้งหนังสือเพื่อการส่งเสริมการอ่าน หรือการทำกิจกรรม

         4.4 ความคาดหวัง ในการทำงานของอาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน(อสอ.)

1) อสอ. ทำงานอาสาสมัครด้วยใจและมีความศัทธาในการทำงานอาสาสมัคร
2) อสอ. ทำงานเพื่อประโยชน์ของผู้อื่น
3) อสอ. ทำงานโดยไม่หวังผลตอบแทนทางวัตถุ
4) การทำงานเป็นการพัฒนาให้เกิดเครือข่าย คือมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเครือข่าย อสอ.
5) อสอ. สามารถทำงานร่วมกับหน่วยงาน และบุคคลอื่นในพื้นที่ได้
6) อสอ. เข้ารับการอบรม และพัฒนาตนเองให้เกิดทักษะการปฏิบัติงาน
7) สามารถจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อสร้างสรรค์งานจิตอาสาในงานส่งเสริมการอ่าน
8) สร้างเครือข่ายความร่วมมือการพัฒนางานจิตอาสาในการส่งเสริมการอ่าน
9) เผยแพร่การดำเนินงานส่งเสริมการอ่านทางสื่อต่าง ๆ

 

เอกสารอ้างอิง:สำนักงานโครงการส่งเสริมการอ่าน,สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย.อาสาสมัครส่งเสริมการอ่าน.

อ้างอิงบทความนี้   อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: อาสาสมัครส่งเสริมการอ่านhttps://panchalee.wordpress.com/2011/01/28/readingvolunteer/

*****************************

ทศวรรษแห่งการอ่าน 2552-2561

  

 

                                                          อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
                                                           ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
25 มกราคม 2553

“เริ่มต้นอ่านวันนี้ ให้เป็นนิสัยประจำชาติ”

 

 1. สถานการณ์การอ่านในประเทศไทย

  • ปี 2551 คนไทยอ่านหนังสือลดลงเฉลี่ย 66.3% จากปี2548 ซึ่งคนไทยอ่านหนังสือ 69.1%
  • ปี 2551 คนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ยคนละ 39 นาทีต่อวัน  ลดลงจากปี 2548 ซึ่งคนไทยอ่านหนังสือเฉลี่ย คนละ 46 นาทีต่อวัน
  • อัตราการซื้อหนังสือของคนไทย 2 เล่ม/คน/ปี หรือร้อยละ0.22 ของรายได้ต่อหัว(ปี2550)
  • อัตราการอ่านหนังสือของคนไทยเฉลี่ย 5 เล่ม/คน/ปี
  • หนังสือที่ขายดีที่สุดในตลาด ได้แก่ หนังสือดารา นิยาย เรื่องย่อละคร TV  กีฬา สุขภาพ คู่มือต่าง ๆ

2. แนวทางส่งเสริมการอ่าน

คณะรัฐมนตรี มีมติในคราวประชุมเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2552 ดังนี้

1. กำหนดให้การอ่านเป็นวาระแห่งชาติ
2. กำหนดให้วันที่ 2 เมษายน ของทุกปีเป็น วันรักการอ่าน
3. กำหนดให้ปี 2552-2561 เป็นทศวรรษแห่งการอ่าน
4. กำหนดให้มีคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนการส่งเสริมการอ่านให้เป็นรูปธรรม

3. เป้าหมาย

1. ประชากรวัยแรงงานที่เป็นผู้รู้หนังสือในระดับใช้งานได้ในชีวิตประจำวันเพิ่มขึ้นจากร้อยละ97.21 เป็น 99.2
2. ประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปที่สามารถอ่านออกเขียนได้ เพิ่มขึ้นจากร้อยละ92.64 เป็น 95.3
3. ค่าเฉลี่ยการอ่านหนังสือเพิ่มขึ้นจากปีละ 5 เล่ม/คน เป็นปีละ 10 เล่ม/คน
4. แหล่งการอ่านได้รับการพัฒนาและเพิ่มจำนวนให้สามารถจัดบริการได้ครอบคลุมทุกตำบล/ชุมชน อย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ
5. การสร้างภาคีเครือข่ายการอ่านเพื่อปลูกฝังนิสัยรักการอ่านและการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืน

4. คณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน ประกอบด้วย

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานคณะกรรมการ
2. กรรมการ ประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์เกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน การจัดทำและผลิตหนังสือ นักเขียน ราชบัณฑิตผู้แทนหน่วยงานสังกัด ศธ. หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จำนวนทั้งสิ้น 67 ราย
3. ฝ่ายเลขานุการ สำนักงาน กศน. โดย รมว.ศธ.ได้ลงนามแต่งตั้ง สำนักงานโครงการส่งเสริมการอ่าน สังกัดสำนักงาน กศน.จัดตั้งขึ้นตามประกาศกระทรวงศึกษาธิการ ลงวันที่ 20 พฤศจิกายน 2552 โดยมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้

1. เสนอนโยบายและแนวทางการบริหารจัดการส่งเสริมการอ่านต่อคณะกรรมการส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต
2. เสนอแนะแนวทางวิจัย พัฒนาองค์ความรู้ และนวัตกรรมส่งเสริมการอ่าน และการเรียนรู้เชิงสร้างสรรค์
3. ประสานงานกับหน่วยงานต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนนโยบายและแผนงานส่งเสริมการอ่าน
4. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับการส่งเสริมการอ่าน
5. ติดตามและประเมินผลการดำเนินการตามแผนงานส่งเสริมการอ่าน
6. เป็นฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการส่งเสริมการอ่าน เพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

         

5. ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการอ่าน

การส่งเสริมการอ่านได้กำหนดยุทธศาสตร์การดำเนินงานไว้ดังนี้

1. พัฒนาให้คนไทยให้มีความสามารถในด้านการอ่าน โดยรณรงค์การอ่านเขียนภาษาไทย ปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนภาษาไทย และสร้างภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาความสามารถในด้านการอ่าน
2. พัฒนาคนไทยให้มีนิสัยรักการอ่านโดยสร้างทัศนคติให้เห็นคุณค่าและประโยชน์ของการอ่านหนังสือและสื่อทุกรูปแบบ กำหนดมาตรการจูงใจให้ภาคีเครือข่ายร่วมส่งเสริมการอ่านในสังคมไทย
3. สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในการส่งเสริมการอ่าน  โดยแสวงหาภาคีเครือข่าย รวมถึงพัฒนาและเพิ่มจำนวนแหล่งการเรียนรู้ให้สามารถครอบคลุมทุกชุมชน อย่างทั่วถึง มีคุณภาพเพื่อทำให้การอ่านเป็นที่สนใจมากขึ้น

6.แผนงานส่งเสริมการอ่านเพื่อสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

แผนงานที่ 1 รณรงค์ส่งเสริมการอ่าน

เพื่อประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ประชาชน เห็นความสำคัญของการอ่าน เกิดนิสัยรักการอ่านมากขึ้น รวมทั้งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนของประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการส่งเสริมการอ่าน

แผนงานที่ 2 เพิ่มสมรรถนะการอ่าน

เพื่อที่จะพัฒนาทักษะการอ่านของเยาวชนไทย ให้อ่านออกเขียนได้เพื่อการเรียนภาษาไทยให้สัมฤทธิ์ผล รวมถึงการพัฒนาการอ่านของพ่อแม่ ซึ่งจะส่งผลต่อลูก นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดภูมิปัญญาท้องถิ่นออกมาเป็นสื่อประเภทต่าง ๆ ด้วย

แผนงานที่ 3 สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการอ่าน

เพื่อพัฒนาปัจจัยต่าง ๆ ที่สนับสนุนและส่งเสริมการอ่านของประชาชนไทย ได้แก่ แหล่งเรียนรู้การอ่านสื่อประเภทต่าง ๆ ทั้งที่เป็นสิ่งพิมพ์และอิเล็กทรอนิคส์ หลักสูตรการเรียนการสอนด้านการอ่าน รวมไปถึงการพัฒนาครูและบรรณารักษ์ ให้เป็นนักส่งเสริมการอ่าน

แผนงานที่ 4 เครือข่ายความร่วมมือการอ่าน

เพื่อสร้างและพัฒนาศักยภาพ และขยายภาคีเครือข่ายการทำงานด้านการส่งเสริมการอ่าน เพื่อนำไปสู่การสร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมการอ่านที่ดีขึ้น

แผนงานที่ 5 แผนงานวิจัยและพัฒนาการอ่าน

เพื่อศึกษา วิจัยข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการอ่านของประเทศไทย และนานาชาติ โดยผลที่ได้จากการศึกษาวิจัยนี้จะนำมาเป็นข้อมูลในการพัฒนาเทคนิควิธีการส่งเสริมการอ่าน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการอ่านของประชากรไทยต่อไป

 

เอกสารอ้างอิง : สำนักงานโครงการส่งเสริมการอ่าน, สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. 2552 – 2561 ทศวรรษแห่งการอ่าน. 2552.

 อ้างอิงบทความนี้  อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: ทศวรรษแห่งการอ่าน https://panchalee.wordpress.com/2011/01/25/decadeofreading/

นโยบายสถานศึกษา 3D

 

อัญชลี ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
14 มกราคม 2554

แนวคิด

         กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศ นโยบายสถานศึกษา 3 D เมือเดือนมิถุนายน 2552 โดยมีแนวคิดว่าการจัดการศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนาคุณภาพผู้เรียน กระบวนการจัดการศึกษาที่สมบูรณ์จะต้องพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้คู่คุณธรรมคือ
          1. การจัดการเรียนการสอนและจัดกิจกรรมพัฒนาผู้เรียนตามหลักสูตรการศึกษา เพื่อสร้างองค์ความรู้ กระบวนการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้ความสามารถ และประสบการณ์ มีทักษะการดำรงชีวิต สามารถใช้ความรู้ให้เกิดประโยชน์ในการพัฒนาตนเองและประกอบอาชีพ
          2. การบ่มเพาะ กล่อมเกลา ปลูกฝัง และปลุกจิตสำนึก เพื่อให้ผู้เรียนมีคุณธรรมจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อตนเอง สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม เกิดความตระหนักในบทบาทหน้าที่ของตน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถดำรงตนอยู่ในสังคมร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีความสุข
          ดังนั้นสถานศึกษาทุกแห่งและหน่วยงานต่าง ๆที่มีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุน และร่วมจัดการศึกษา จึงมีส่วนสำคัญในการจัดการเรียนการสอน และจัดกิจกรรมที่จะส่งเสริม สนับสนุนและพัฒนาผู้เรียนอย่างเหมาะสมโดยประสานความร่วมมือกับทุกภาคส่วนจัดกิจกรรมมุ่งเน้น 3 ด้าน (3D) คือ

ด้านประชาธิปไตย (Democracy)
ด้านคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย (Decency)
ด้านภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด (Drug-Free)

 

คุณลักษณะที่พึงประสงค์ของผู้เรียน
          การจัดกิจกรรมตามนโยบายสถานศึกษา 3D ได้กำหนดคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียนไว้ดังนี้
1. ด้านประชาธิปไตย(Democracy) มีความตระหนัก เห็นความสำคัญ ศรัทธา และเชื่อมั่นการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รวมทั้งรังเกียจการทุจริต และต่อต้านการซื้อสิทธิขายเสียง
2. ด้านคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย (Decency) มีคุณธรรม จริยธรรม ความดีงาม รู้ผิดชอบชั่วดี มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย และยึดถือปฏิบัติในวิถีชีวิต
3. ด้านภูมิคุ้มกันภัยจากยาเสพติด(Drug-Free) รู้จักหลีกเลี่ยงห่างไกลยาเสพติด
 

 

แนวทางในการจัดกิจกรรม 3D

 1. กิจกรรมส่งเสริมประชาธิปไตย

1.1 กิจกรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษาและชุมชน เช่น เวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้
1.2 ดำเนินงานสภานักศึกษา/กรรมการนักศึกษา
1.3 จัดค่ายประชาธิปไตย/กิจกรรมประชาธิปไตยสู่ชุมชน
1.4 ส่งเสริมกิจกรรมสร้างสำนึกความรักชาติ
1.5 นำหลักธรรมาภิบาลมาใช้ในการบริหารจัดการสถานศึกษา

2. กิจกรรมส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และความเป็นไทย

2.1 จัดกิจกรรมพัฒนาคุณธรรมที่สอดคล้องกับบริบทของสถานศึกษา วัด ศาสนา และชุมชน เช่นส่งเสริมครูพระสอนศีลธรรมในสถานศึกษา จัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ กิจกรรมจิตอาสา ค่ายพุทธบุตร พุทธธรรม ค่ายคุณธรรมจริยธรรม จัดให้สถานศึกษาเป็นแหล่งเรียนรู้ทางศาสนา
2.2 จัดกิจกรรมการส่งเสริมนิยมไทย ประวัติศาสตร์ชาติไทยหรือความภูมิใจในความเป็นไทย
2.3 มีการบริหารจัดการตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

3 กิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด

3.1 มีระบบดูแลช่วยเหลือผู้เรียน เช่นการคัดกรองผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง การช่วยเหลือแบบเพื่อนช่วยเพื่อน การทำให้จำนวนนักศึกษาที่มีพฤติกรรมเสี่ยงลดลง
3.2 ส่งเสริมกิจกรรมที่เหมาะสม เช่นกิจกรรมนักศึกษาแกนนำ ครูแกนนำ กิจกรรมรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่(สถานศึกษาปลอดบุหรี่) กิจกรรม/ชมรม TO BE NUMBER ONE การประกวดดนตรี การแข่งขันกีฬา การจัดนิทรรศการความรู้
3.3 การบริหารจัดการสวัสดิศึกษา(Safety Education) เช่น การขจัดมุมอับลับตา
3.4 จัดหาแหล่งเรียนรู้ด้านยาเสพติด
3.5 ประสานความร่วมมือการดำเนินงานกิจกรรมป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดร่วมกับชุมชน/ท้องถิ่น

เอกสารอ้างอิง   กระทรวงศึกษาธิการ. (2552).แผนยุทธศาสตร์ตามนโยบายสถานศึกษา 3 ดี (3D). กรุงเทพฯ:อักษรไทย.

อ้างอิงบทความนี้  อัญชลี ธรรมะวิธีกุล: นโยบายสถานศึกษา 3D https://panchalee.wordpress.com/2011/01/14/school-3-d/

******************************