กระบวนการในการจัดการนิเทศการศึกษา

Graphic from SleepAid Records อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
11 มีนาคม 2552

            สิ่งสำคัญในการจัดการนิเทศการศึกษาก็คือจะดำเนินการอย่างไร  จึงจะทำให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้   ขั้นตอนในการปฏิบัติงานทางการนิเทศการศึกษาเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า”กระบวน การนิเทศ”    เนื่องจากกระบวนการเป็นเทคนิควิธีในการทำงาน ดังนั้น กระบวนการทำงานของแต่ละบุคคลย่อมจะมีความแตกต่างกันไปบ้าง   ในที่นี้จะกล่าวถึงกระบวนการทำงานที่ใช้การดำเนินการนิเทศ 3 ลักษณะ คือ กระบวนการบริหารงานของแอลเลน (Louis A. Allen)  กระบวนการนิเทศของแฮริส  (Ben M. Harris) และกระบวนการนิเทศ PIDRE ที่ ดร.สงัด  อุทรานันท์ได้พัฒนาขึ้นสำหรับการดำเนินงานนิเทศการศึกษาในประเทศไทยโดยเฉพาะ

 1.  กระบวนการบริหารงานของแอลเลน (Louis A. Allen)

              โดยความจริงแล้วแอลเลน (Allen) ไม่ได้เสนอแนวความคิดเกี่ยวกับกระบวนการนิเทศการศึกษาโดยเฉพาะ แต่เขาเสนอแนวความคิดสำหรับกระบวนการบริหารงานการศึกษาโดยทั่ว ๆ ไป เนื่องจากยังไม่มีผู้ใดที่กล่าวถึงกระบวนการทำงานสำหรับการนิเทศโดยตรง ดังนั้นแฮริสจึงได้แนวความคิดนี้ มาเสนอให้ใช้กับการนิเทศการศึกษาโดยเขียนไว้ในหนังสือซึ่งเขาเขียนขึ้นเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ. 1963 (Harris, 1963 pp. 14-15)                

                     กระบวนการบริหารงานของแอลเลน   ประกอบด้วยกระบวนการหลัก 5 กระบวนการซึ่งนิยมเรียกกันง่าย ๆ ว่า “POLCA” โดยย่อมมาจากคำศัพท์ต่อไปนี้คือ

                     P = Planing Processes (กระบวนการวางแผน)
                     O = Organizing Processes (กระบวนการจัดสายงาน) 
                     L = Leading Processes (กระบวนการนำ)
                     C = Controlling Processes (กระบวนการควบคุม)
                     A = Assessing Processes (กระบวนการประเมินผล)

                    ดังจะอธิบายถึงขอบข่ายของงานที่ทำงานในแต่ละกระบวนการดังนี้

              1.1    กระบวนการวางแผน  (Planing Processes) กระบวนการวางแผนในทัศนะของแอลเลน  มีดังนี้

  •  
    •  (1) คิดถึงสิ่งที่จะทำว่ามีอะไรบ้าง
    • (2) กำหนดแผนงานว่าจะทำสิ่งไหน เมื่อไหร่
    • (3) กำหนดจุดประสงค์ในการทำงาน
    • (4) คาดคะเนผลที่จะเกิดจากการทำงาน
    • (5) พัฒนากระบวนการทำงาน
    • (6) วางแผนในการทำงาน

            •1.2    กระบวนการจัดสายงาน  (Organizing Processes)  กระบวนการจัดสายงานหรือจัดบุคลากรต่าง ๆ เพื่อทำงานตามแผนงานที่วางไว้มีกระบวนการดังนี้

  •  
    • (1) กำหนดเกณฑ์มาตรฐานในการทำงาน
    • (2) ประสานงานกับบุคลากรต่าง ๆ ที่จะปฏิบัติงาน
    • (3) จัดสรรทรัพยากรต่าง ๆ สำหรับการดำเนินงาน
    • (4) มอบหมายงานให้บุคลากรฝ่ายต่าง ๆ
    • (5) จัดให้มีการประสานงานสัมพันธ์กันระหว่างผู้ทำงาน
    • (6) จัดทำโครงสร้างในการปฏิบัติงาน
    • (7) จัดทำภาระหน้าที่ของบุคลากร
    • (8) พัฒนานโยบายในการทำงาน

             •1.3    กระบวนการนำ  (Leading Processes) กระบวนการนำบุคลากรต่าง ๆ ให้ทำงานนั้นประกอบด้วยการดำเนินงานต่อไปนี้คือ

  •  
    • (1) ตัดสินใจเกี่ยวกับสิ่งต่าง ๆ
    • (2) ให้คำปรึกษาแนะนำ
    • (3) สร้างนวัตกรรมในการทำงาน
    • (4) ทำการสื่อสารเพื่อความเข้าใจในคณะทำงาน
    • (5) สร้างแรงจูงใจในการทำงาน
    • (6) เร้าความสนใจในการทำงาน
    • (7) กระตุ้นให้ทำงาน
    • (8) อำนวยความสะดวกในการทำงาน
    • (9) ริเริ่มการทำงาน
    • (10) แนะนำการทำงาน
    • (11) แสดงตัวอย่างในการทำงาน
    • (12) บอกขั้นตอนการทำงาน
    • (13) สาธิตการทำงาน

              •1.4    กระบวนการควบคุม (Controlling Processes)  กระบวนการควบคุมประกอบด้วยการดำเนินงานในสิ่งต่อไปนี้

  •  
    • (1) นำให้ทำงาน
    • (2) แก้ไขการทำงานที่ไม่ถูกต้อง
    • (3) ว่ากล่าวตักเตือนในสิ่งที่ผิดพลาด
    • (4) เร่งเร้าให้ทำงาน
    • (5) ปลดคนที่ไม่มีคุณภาพให้ออกจากงาน
    • (6) สร้างกฎเกณฑ์ในการทำงาน
    • (7) ลงโทษผู้กระทำผิด

              •1.5    กระบวนการประเมินสภาพการทำงาน (Assessing Processes) กระบวนการประเมินสภาพการทำงาน ประกอบด้วยสิ่งต่อไปนี้

  •  
    • (1) การพิจารณาตัดสินเกี่ยวกับการปฏิบัติงาน
    • (2) วัดพฤติกรรมในการทำงาน
    • (3) จัดการวิจัยผลงาน

 2.  กระบวนการนิเทศงานของแฮริส(Ban M. Harris)  หนังสือพฤติกรรมทางการนิเทศการศึกษาที่แฮริสพิมพ์ขึ้นเป็นครั้งที่สอง ในปี ค.ศ. 1975 นั้น แฮริสได้เสนอกระบวนการนิเทศในทัศนะของเขาไว้ 6 ขั้นตอน (Harris, 1975, pp. 14-15)  ดังนี้คือ

  • (1) ประเมินสภาพการทำงาน (Assessing)
  • (2) จัดลำดับความสำคัญของงาน (Prioritizing)
  • (3) ออกแบบวิธีการทำงาน (Designing)
  • (4) จัดสรรทรัพยากร (Allocating Resources)
  • (5) ประสานงาน (Coordinating)
  • (6) นำการทำงาน (Directing)

 สำหรับรายละเอียดในการทำงานในแต่ละขั้นตอนมีดังนี้

                2.1 ประเมินสภาพการทำงาน (Assessing)  เป็นกระบวนการศึกษาถึงสถานภาพต่าง ๆรวม ทั้งข้อมูลที่จำเป็นเพื่อจะนำมาเป็นตัวกำหนดถึงความต้องการจำเป็นเพื่อก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งประกอบด้วยงานต่อไปนี้คือ

  • (1) วิเคราะห์ข้อมูลโดยการศึกษาหรือพิจารณาธรรมชาติ และความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ
  • (2) สังเกตสิ่งต่าง ๆ ด้วยความรอบคอบถี่ถ้วน
  • (3) ทบทวนและตรวจสอบสิ่งต่าง ๆ ด้วยความระมัดระวัง
  • (4) วัดพฤติกรรมการทำงาน
  • (5) เปรียบเทียบพฤติกรรมการทำงาน

            2.2  จัดลำดับความสำคัญของงาน  (Prioritizing) เป็นกระบวนการกำหนดเป้าหมาย  จุดประสงค์  และกิจกรรมต่าง ๆ  ตามลำดับความสำคัญจะประกอบด้วยงานต่อไปนี้คือ
                      (1)  กำหนดเป้าหมาย
                     (2)  ระบุจุดประสงค์ในการทำงาน
                     (3)  กำหนดทางเลือก
                     (4)  จัดลำดับความสำคัญ

              2.3 ออกแบบการทำงาน (Designing) เป็นกระบวนการวางแผนหรือกำหนดโครงการต่าง ๆ    เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยประกอบด้วยงานต่อไปนี้คือ

  • (1) จัดสายงานให้ส่วนประกอบต่าง ๆ มีความสัมพันธ์กัน
  • (2) หาวิธีการนำเอาทฤษฎีหรือแนวคิดไปสู่การปฏิบัติ
  • (3) เตรียมการต่าง ๆ ให้พร้อมที่จะทำงาน
  • (4) จัดระบบการทำงาน
  • (5) กำหนดแผนในการทำงาน

               2.4 จัดสรรทรัพยากร (Allocating Resources) เป็นกระบวนการกำหนดทรัพยากรต่าง ๆ  ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการทำงาน  ซึ่งประกอบด้วยงานต่อไปนี้คือ

  • (1) กำหนดทรัพยากรที่ต้องใช้ตามความต้องการของหน่วยงานต่าง ๆ
  • (2) จัดสรรทรัพยากรไปให้หน่วยงานต่าง ๆ
  • (3) กำหนดทรัพยากรที่จำเป็นจะต้องใช้สำหรับจุดมุ่งหมายบางประการ
  • (4) มอบหมายบุคลากรให้ทำงานในแต่ละโครงการหรือแต่ละเป้าหมาย

               2.5 ประสานงาน (Coordinating) เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับคน เวลา วัสดุอุปกรณ์ และสิ่งอำนวยความสะดวกทุก ๆ อย่างเพื่อจะให้การเปลี่ยนแปลงบรรลุผลสำเร็จงานในกระบวนการประสานงานได้แก่

  • (1) ประสานการปฏิบัติงานในฝ่ายต่าง ๆ ให้ดำเนินงานไปด้วยกันด้วยความราบรื่น
  • (2) สร้างความกลมกลืนและความพร้อมเพียงกัน
  • (3) ปรับการทำงานในส่วนต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพให้มากที่สุด
  • (4) กำหนดเวลาในการทำงานในแต่ละช่วง
  • (5) สร้างความสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น

                2.6 นำการทำงาน (Directing) เป็นกระบวนการทีมีอิทธิพลต่อการปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดสภาพที่เหมาะสมอันจะสามารถบรรลุผลแห่งการเปลี่ยนแปลงให้มากที่สุด ซึ่งได้แก่

  • (1) การแต่งตั้งบุคลากร
  • (2) กำหนดแนวทางหรือกฎเกณฑ์ในการทำงาน
  • (3) กำหนดระเบียบแบบแผนเกี่ยวกับเวลา ปริมาณหรืออัตราเร็วในการทำงาน
  • (4) แนะนำและปฏิบัติงาน
  • (5) ชี้แจงกระบวนการทำงาน
  • (6) ตัดสินใจเกี่ยวกับทางเลือกในการปฏิบัติงาน

 

               กระบวนการนิเทศการศึกษาที่กล่าวมานี้ แฮริสได้เขียนขึ้นโดยสังเคราะห์จากผลงานของแอลเลน (Allen, 1960) และลูมิส (Loomis,1968) และคนอื่น ๆ  อีก    กระบวนการนิเทศการศึกษาที่แฮริสกำหนดขึ้นนี้จุดเน้นจะอยู่ตรงที่ การเปลี่ยนแปลง”     อีกประการหนึ่งกระบวนการนิเทศการศึกษาที่เสนอโดยแฮริสได้ให้ความสำคัญแก่การวางแผนและการนำแผนไปปฏิบัติแต่ไม่ได้เน้นการควบคุมมากนัก นอกจากนี้แฮริสยังได้ให้ทัศนะว่ากระบวนการที่เขากำหนดขึ้นมานี้มีความเหมาะสมกับการนิเทศการสอนมากกว่าอย่างอื่น (Harris, 1975, pp. 16)

 

3.   กระบวนการนิเทศการศึกษาสำหรับสังคมไทย  จากประสบการณ์ของ ดร. สงัด อุทรานันท์ ที่ได้ควบคุมการฝึกปฏิบัติงานทางการนิเทศการศึกษาของนิสิตปริญญามหาบัณฑิตสาขานิเทศการศึกษาและพัฒนาหลักสูตรเป็นเวลาหลายปี    ได้นำเอาหลักการและแนวคิดเกี่ยวกับกระบวนการนิเทศการศึกษาของต่างประเทศมาใช้ ได้พบว่าสภาพพื้นฐานเกี่ยวกับความเข้าใจในแนวคิดทางการนิเทศสมัยใหม่ของบุคลากรในประเทศไทยยังไม่ดีพอจึงทำให้การดำเนินงานส่งเสริมการนิเทศการศึกษาให้เกิดขึ้นในโรงเรียนและสถานศึกษาต่าง ๆ   ไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร

     สาเหตุที่การส่งเสริมและสนับสนุนให้โรงเรียนและสถานศึกษาต่าง  ๆ     ให้การนิเทศการศึกษาด้วยตนเองไม่บรรลุผลสำเร็จนั้นพอสรุปได้ดังนี้

  •      (1)  คำนิยามของคำว่า “การนิเทศ” ที่ใช้กันในประเทศไทยนั้นยังไม่ชัดเจนพียงพอที่จะชี้แนะนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้ ดังนั้นจึงทำให้ขาดกรอบความคิดที่จะนำไปเป็นแนวทางในการปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง
  • (2) ผู้บริหารโรงเรียนหรือหัวหน้าสถานศึกษาไม่เข้าใจบทบาทหน้าที่เกี่ยวกับการนิเทศการศึกษา โดยคิดว่าการนิเทศการศึกษาเป็นงานของศึกษานิเทศก์โดยเฉพาะ ดังนั้นผู้บริหารจึงไม่ได้ให้ความสนใจแก่การจัดการนิเทศการศึกษาอย่างจริงจัง
  • (3) ขาดการเสริมแรงในการทำงานผู้บริหาร สาเหตุข้อนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อความคงทนถาวรของพฤติกรรมที่ได้รับการเปลี่ยนแปลงจากการนิเทศ ทั้งนี้เพราะการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใด ๆ ก็ตามผู้นิเทศและผู้ได้รับการนิเทศต่างก็ต้องใช้ความมานะพยายามเป็นอย่างมากถ้าหากไม่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารก็ย่อมจะหมดกำลังใจในที่สุด

               จากจุดอ่อนดังกล่าวมาแล้ว ดร.สงัด อุทรานันท์ จึงได้พยายามพัฒนากระบวนการนิเทศการศึกษาซึ่งสะท้อนแนวทางในการปฏิบัติ โดยการกระทำต่อไปนี้

  •  (1)  เสนอรูปแบบของการนิเทศในลักษณะของ “กระบวนการ” ซึ่งต้องทำอย่างเป็นขั้นตอนทำเป็นระบบ มีความต่อเนื่อง และไม่มีการหยุดนิ่ง หากยุติกระบวนการเมื่อใดก็ถือว่าได้หยุดการนิเทศเมื่อนั้น
  • (2) ให้ผู้บริหารการศึกษาตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อการจัดการจัดนิเทศการศึกษาว่าเป็นงานของผู้บริหารโดยตรง ซึ่งเรียกชื่อย่อของกระบวนการนิเทศการศึกษาว่า “PIDRE”
  • 3)  จากการวิจัยในต่างประเทศ เช่น ฟาวเลอร์-ฟินน์(Fowler Finn, 1980) และเฮดเลย์ (Hadley,1982)  ได้พบว่าการให้แรงเสริมกำลังใจจะมีส่วนทำให้การนิเทศประสบผลสำเร็จสูงกว่าไม่มีการเสริมแรง

           หากจะพิจารณาสภาพการทำงานในสังคมไทยซึ่งเป็นสังคมเกษตรกรรม มีความผูกพันฉันท์มิตรสูงกว่าสังคมตะวันตกก็ย่อมจะมีความต้องการแรงเสริมกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างยิ่ง  ดังนั้นจึงเห็นว่าการเสริมกำลังใจของผู้บริหารจะทำให้ผู้รับการนิเทศรวมทั้งผู้ให้การนิเทศมีกำลังใจในปฏิบัติงาน    จึงได้จัดให้มีการเสริมแรงหรือการส่งเสริมกำลังใจ  (Reinforcement)     เป็นขั้นตอนหนึ่งในกระบวนการนิเทศการศึกษาสำหรับการศึกษาสังคมไทย

     สำหรับกระบวนการนิเทศการศึกษาดังที่กล่าวมาแล้ว มีขั้นตอนดังนี้

     ขั้นที่ 1 วางแผนการนิเทศ (Planning-P)
     ขั้นที่ 2 ให้ความรู้ความเข้าใจในการทำงาน (Informing-I)
     ขั้นที่ 3 ลงมือปฏิบัติงาน (Doing-D)
     ขั้นที่ 4 สร้างเสริมกำลังใจ (Reinforcing-R)
     ขั้นที่ 5 ประเมินการนิเทศ (Evaluating-E)

(สงัด อุทรานันท์, 2527)

    2551-03-11-03

                            

               จากรูปแบบกระบวนการนิเทศที่เสนอมานี้ แสดงให้เห็นว่าการนิเทศจะประสบผลสำเร็จได้จำเป็นจะต้องดำเนินการอย่างเป็นขั้นตอนและต่อเนื่องกันดังนี้คือ

              ขั้นที่ 1 วางแผนการนิเทศ (Planning-P) เป็นขั้นที่ผู้บริหารผู้นิเทศและผู้รับการนิเทศจะทำการประชุมปรึกษาหารือเพื่อให้ได้มาซึ่งปัญหาและความต้องการจำเป็นที่จะต้องมีการนิเทศ รวมทั้งวางแผนถึงขั้นตอนการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการนิเทศที่จะจัดขึ้นอีกด้วย

              ขั้นที่ 2 ให้ความรู้ในสิ่งที่จะทำ (Informing-I) เป็นขั้นตอนของการให้ความรู้ความเข้าใจถึงสิ่งที่จะดำเนินงานว่าจะต้องอาศัยความรู้ความสามารถอย่างไรบ้าง จะมีขั้นตอนในการดำเนินการอย่างไร และจะทำอย่างไรจึงจะทำให้ได้ผลงานออกมาอย่างมีคุณภาพ ขั้นนี้จำเป็นทุกครั้งสำหรับการเริ่มการนิเทศที่จัดขึ้นใหม่ไม่ว่าจะเป็นเรื่องใดก็ตาม และก็มีความจำเป็นสำหรับงานนิเทศที่ยังไม่ได้ผล หรือได้ผลไม่ถึงขั้นที่พอใจซึ่งจำเป็นจะต้องทำการทบทวนให้ความรู้ในการปฏิบัติงานที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง

              ขั้นที่ 3 การปฏิบัติงาน (Doing -D) ประกอบด้วยงานใน 3 ลักษณะคือ

              3.1 การปฏิบัติงานของผู้รับนิเทศเป็นขั้นที่ผู้รับการนิเทศลงมือปฏิบัติงานตามความรู้ความสามารถที่ได้รับมาจากดำเนินการในขั้นที่ 2
                3.2 การปฏิบัติงานของผู้ให้การนิเทศ ขั้นนี้ผู้ให้การนิเทศจะทำการนิเทศและควบคุมคุณภาพให้งานสำเร็จออกมาทันตามกำหนดเวลาและมีคุณภาพสูง
               3.3 การปฏิบัติงานของผู้สนับสนุนการนิเทศ ผู้บริหารก็จะให้บริการสนับสนุนในเรื่องวัสดุ  อุปกรณ์ ตลอดจนเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จะช่วยให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างได้ผล

               ขั้นที่ 4 การสร้างขวัญและกำลังใจ (Reinforcing-R)   ขั้นนี้เป็นขั้นของการเสริมกำลังใจของผู้บริหารเพื่อให้ผู้รับการนิเทศมีความมั่นใจและบังเกิดความพึงพอใจ   ในการปฏิบัติงานขั้นนี้อาจจะดำเนินการไปพร้อม ๆ กันกับผู้ที่รับการนิเทศกำลังปฏิบัติงานหรือการปฏิบัติงานได้เสร็จสิ้นลงไปแล้วก็ได้

               ขั้นที่ 5 ประเมินผลผลิตของการดำเนินงาน (Evaluating-E) เป็นขั้นที่ผู้นิเทศทำการประเมินผลการดำเนินการซึ่งผ่านไปแล้วว่าเป็นอย่างไร หลังจากการประเมินผลการนิเทศหากพบว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอย่างหนึ่งอย่างใดที่ทำให้การดำเนินงานไม่ได้ผลก็สมควรจะต้องทำการปรับปรุงแก้ไข    ซึ่งการปรับปรุงแก้ไขอาจจะทำได้โดยการให้ความรู้ในสิ่งที่ทำใหม่อีกครั้งหนึ่งสำหรับกรณีที่ผลงาน  ออกมายังไม่ถึงขั้นที่พอใจ หรือดำเนินการปรับปรุงการดำเนินงานทั้งหมดสำหรับกรณีการดำเนินงานเป็นไปไม่ได้ผลและ ถ้าหากการประเมินผลได้พบว่าประสบผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งไว้หากจะได้ดำเนินการนิเทศต่อไปก็สามารถทำไปได้เลยโดยไม่ต้องให้ความรู้ในเรื่องนั้นอีก

     การดำเนินการนิเทศตามวัฏจักรนี้จะเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดนิ่งจนกว่าจะบรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้หรือพัฒนาผู้รับการนิเทศให้เป็นไปตามต้องการ หากบรรลุสำเร็จตามจุดมุ่งหมายแล้วต้องการจะหยุดกระบวนการทำงานก็ถือว่าการนิเทศได้สิ้นสุดลงแล้ว ครั้นต้องการเริ่มนิเทศในสิ่งใหม่หรือตั้งเป้าหมายใหม่ก็จะต้องดำเนินการตั้งแต่เริ่มแรกอีกดังแสดงให้เห็นความต่อเนื่องของกระบวนการนิเทศการศึกษาในภาพดังต่อไปนี้

                                             

 2551-03-11-02

  

      ดังนั้น วางแผนการทำงาน ให้ความรู้ในสิ่งที่ทำ  หลังจากนั้นจึงลงมือปฏิบัติงานโดยมีการนิเทศควบคู่ไปด้วย ขณะเดียวกันผู้บริหารจะต้องสร้างขวัญและกำลังใจระหว่างการทำงานและหลังการทำงานผ่านไปแล้ว และในขั้นสุดท้ายก็ทำการประเมินผล   ทำในลักษณะเช่นนี้   จนกระทั่งบรรลุผลตามเป้าหมายที่วางไว้  หากบรรลุผลแล้วต้องการจะหยุดก็ถือว่าการนิเทศสิ้นสุดลงแล้ว ดังนี้เป็นต้น

*************************

อ้างอิงบทความนี้   
อัญชลี ธรรมะวิธีกุล:https://panchalee.wordpress.com/2009/03/30/process/

45 Replies to “กระบวนการในการจัดการนิเทศการศึกษา”

  1. ผมอยากได้ข้อมูลเกี่ยวกับการนิเทศ เพื่อทำวิจัยครับ..รบกวนช่วยแนะนำหรือบริการเกี่ยวกับข้อมูลได้ไหมครับ

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่นับถือ
      งานวิจัยทางการศึกษาด้านการนิเทศ มี 4 ประเภท
      1. การปฏิบัติการวิจัยร่วมกับครู ผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา ได้แก่การวิจัยปฏิบัติการ เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร การวิจัยเกี่ยวกับกระบวนการเรียนรู้ การวิจัยเกี่ยวกับนวัตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา การวิจัยเกี่ยวกับระบบประกันคุณภาพ
      2. วิจัยสถาบันร่วมกับผู้บริหารการศึกษา ผู้บริหารสถานศึกษา เพื่อพัฒนาระบบข้อมูลสารสนเทศในการตัดสินใจ หรือการแก้ไขเฉพาะกิจของหน่วยงาน
      3. การวิจัยพัฒนาระบบการนิเทศการศึกษา เช่น ระบบนิเทศภายใน ระบบนิเทศทางไกล ระบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วม และการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการนิเทศ เช่น การนิเทศโดยใช้เครือข่ายอินเทอร์เน็ต
      4. การวิจัยทางการศึกษาในเชิงประเมิน ต่อยอดองค์ความรู้ทางการศึกษา
      ทั้ง 4 ประเภทดังกล่าวเป็นลักษณะของงานวิจัย ส่วนเนื้อหาขึ้นอยู่กับหน่วยงานที่จัดการศึกษา เช่น สพท. กศน. เป็นต้น ไม่ทราบที่ตอบไปนี้ ข้อมูลจะเป็นประโยชน์กับอาจารย์หรือเปล่า ถ้าข้อมูลที่ให้ไปยังไม่ชัดเจน กรุณาถามมาใหม่จะพยามหาข้อมูลมาตอบให้อาจารย์ได้นำไปใช้ประโยชน์ได้มากที่สุด
      ด้วยความเคารพ
      อาจารย์ขิง

  2. เรียนอาจารย์ขิง ที่นับถือด้วยความเคารพ

    ต้องขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพครับ..ก่อนอื่นขอสวัสดีปีใหม่ก่อนครับ..ปีใหม่นี้ขอให้ท่านมีความสุขมากๆสุขภาพแข็งแรง ร่ำรวย (อย่าเจ็บอย่าจน)เป็นที่พึ่งของผมต่อไปนะครับ
    ตอนนี้ผมทำการวิจัยเรื่อง การนิเทศเชิงสนับสนุนในโรงเรียนขนาดเล็ก แต่มีปัญหาคือ งานวิจัยต่างประเทศ ผมยังไม่มีเลย คือผมไม่รู้ว่าจะค้นคว้าหรือหาตรงไหนน่ะครับ ส่วนเอกสารหนังสืออ้างอิงหรืองานวิจัยที่เกี่ยวข้องในประเทศผมก็พอหาได้บ้าง แต่ก็ดูแล้วยังไม่กว้าง ยังไม่เยอะน่ะครับ อีกอย่างผมก็ยังพยายามค้น พยายามทำความเข้าใจว่า เราทำเรื่องนี้ เราต้องหาความหมายจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ในคำว่า การนิเทศ และ คำว่าสนับสนุนใช่ไหมครับ แล้วถามว่า การหาความหมายคำว่านิเทศ ผมควรจะหาความหมายคำว่า นิเทศการศึกษา หรือ นิเทศภายในดีครับ แต่ข้อมูลที่หาได้ ที่มีอยู่บ้าง จะมีทั้ง นิเทศการศึกษา และ นิเทศภายใน แต่ผมก็ยังไม่รู้ว่าจะใช้ข้อมูลตัวไหนดี ขออนุญาตครับว่าถ้าผมจะรบกวนท่านช่วยเป็นผู้ทรงคุณวุฒิในการตรวจสอบความถูกต้อง ความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของเนื้อหาจะพอได้ไหมครับ ผมขอเกริ่นไว้ก่อนแล้วกันนะครับ ถ้าท่านอนุญาตผมจะจัดส่งไปครับ
    ขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

    1. สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์นพรัตน์ ขออวยพรให้อาจารย์และครอบครัวมีความสุข คิดสิ่งใดขอให้สมปารถนาทุกประการ
      ก่อนอื่นต้องขอแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกบชื่องานวิจัยก่อน การที่อาจารย์ใช้ชื่อว่าการนิเทศเชิงสนันสนุนในโรงเรียนขนาดเล็ก จะทำให้การศึกษาค้นคว้าเอสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องยากมาก แต่ถ้าอาจารย์ใช้ชื่อว่าการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กจะทำให้ค้นคว้าง่ายขึ้น ส่วนรูปแบบการนิเทศเชิงสนับสนุน ให้อยู่ในขอบเขตของการวิจัยในบทที่ 1 สำหรับงานวิจัยเกี่ยวกับการนิเทศในต่างประเทศ ต้องขอเรียนว่าขณะนี้ต่างประเทศไม่ใช้ระบบการนิเทศ แต่จะใช้ระบบประกันคุณภาพการศึกษา เพราะฉะนั้นการอ้างอิง นำการพัฒนาคุณภาพการศึกษา หรือการประกันคุณภาพการศึกษา หรือการตรวจติดตามในการบริหารการศึกษามาอ้างอิงได้ สำหรับเรื่องการนิเทศการศึกษา และการนิเทศภายใน ต่างกันที่ผู้ทำหน้าที่นิเทศ วันที่ 15 มกราคม 2553 จะนำบทความเรื่องรูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วม นำเสนอใน Panchalee Blog ค่ะ ถ้าอาจารย์มีอะไรให้ดิฉันช่วยได้ก็ยินดีค่ะ
      อาจารย์ขิง

  3. ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงเลยครับ ที่ช่วยแนะนำ จริงๆแล้วผมอยากจะทำการศึกษาเรื่องนี้มากน่ะครับ พอดีผมได้พูดคุย ได้รับฟังปัญหาจากอาจารย์หลายๆท่าน ผมก็เลย อยากที่จะลองทำการศึกษาค้นคว้าดู ผมก็พยายามเขียนหัวข้อไว้หลายๆข้อความ แต่พอดีผมเห็นว่าข้อความนี้น่าจะฟังแล้วดูดี ผมก็เลยตั้งแบบนี้ แต่ผมได้รับคำแนะนำจากท่านอาจารย์แล้ว ผมก็ต้องขอขอบพระคุณเป็นอย่างสูงอีกครั้งนะครับ แต่ถ้าผมจะหาความหมายคำว่านิเทศ ผมใช้ความหมายได้ทั้ง 2 แบบมาอ้างอิงได้เลยใช่ไหมครับ ขออภัยที่ผมรบกวนท่านอาจารย์
    ขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

    1. เรียน อาจารนพรัตน์ ที่เคารพ
      ดิฉันรู้สึกยินดีมากที่ได้คุยเรื่องนิเทศเพราะเรื่องนิเทศไม่ได้มีทฤษฎีหรือหลักการอะไรมากมายเหมือนการบริหารแต่ประสบการณ์ของการนิเทศที่ทำงานอย่างเป็นระบบจะทำให้เราพบวิธีทำงานนิเทศที่จะสามารถส่งเสริมครูให้สามารถจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผูเรียนให้เกิดคุณภาพได้ การประกันคุณภาพการศึกษาและการนิเทศการศึกษามีเป้าหมายเดียวกันคือเพื่อให้การจัดการศึกษามีคุณภาพ การประกันคุณภาพการศึกษาประกอบด้วย1)การควบคุมคุณภาพ(Quality Control) 2)การตรวจสอบทบทวนคุณภาพ(Quality Audit)และประเมินคุณภาพการศึกษา(Quality Assessment)
      อาจารย์ขิง

  4. ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงอีกครั้งนะครับ รบกวนสอบถามท่านอาจารย์อีกครั้งนะครับ ถ้าผมจะใช้ชื่อว่า การศึกษาแนวทางการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก จะพอดูได้ไหมครับ แล้วจำเป็นต้องระบุไหมครับว่าจะพัฒนาคุณภาพในด้านไหนหรือเรื่องไหน แล้วอย่างนี้แล้วผมจะหาความหมายคำว่าการนิเทศการศึกษา จากงานวิจัย บทความทางวิชาการต่างๆ หรือจากแนวคิดของบุคคลหรือหนังสือต่างๆได้เลยใช่ไหมครับ อาจารย์พอจะมีความหมายของคำว่านิเทศการศึกษา รายละเอียดหรือข้อมูลอื่นๆบ้างไหมครับ รบกวนช่วยส่งมาให้ดูเป็นความรู้บ้างได้ไหมครับ ผมดีใจมากครับที่ได้รับการช่วยเหลือจากท่าน ผมได้อะไรเยอะเลยครับ

    ขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่เคารพ
      1. ชื่อ ขอเสนอชื่อ “การศึกษารูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาโรงเรียนขนาดเล็ก”
      2 Panchalee.Blog มีบทความเกี่ยวกับการนิเทศ 15 บทความ วันที่ 15 มค. จะลงบทความใหม่เรื่องการนิเทศแบบมีส่วนร่วม
      3 ถ้าต้องการค้นหา คำว่า นิเทศการศึกษา เข้าไปสืบค้นใน google ก้จะเป็นเรื่องนิเทศทั่ว ๆ ไป แต่ถ้าต้องการค้น นิเทศการศึกษาที่เฉพาะเจาะจง เช่น การนิเทศการศึกษาขั้นพื้นฐาน การนิเทศการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ถ้าอาจารย์ต้องการข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ดิฉันจะส่งไปทาง Mail หรือทางไปรษณีย์ค่ะ

      อาจารย์ขิง

  5. ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงอีกครั้งมากๆเลยครับ แล้วในเรื่องของรูปแบบการนิเทศบางส่วนเราสามารถนำหลักของการประกันคุณภาพการศึกษาประกอบด้วย1)การควบคุมคุณภาพ(Quality Control) 2)การตรวจสอบทบทวนคุณภาพ(Quality Audit)และประเมินคุณภาพการศึกษา(Quality Assessment)มาอ้างอิงประกอบได้ด้วยใช่ไหมครับ
    ผมอยู่โรงเรียนวัดฉัตรทอง(เลื่อนประชานุกูล) ต.พระยาบันลือ อ.ลาดบัวหลวง จ.พระนครศรีอยุธยา 13230 ผมขออนุญาตรบกวนท่านด้วยนะครับ

    ขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่เคารพ
      1. การนิเทศในยุคนี้จะต้องสอดคล้องกับการประกันคุณภาพการศึกษา ทั้งมาตรฐานภายใน และมาตรฐานภายนอก ซึ่งสามารถนำหลักของการประกันคุณภาพไปสร้างกรอบความคิกในการวิจัยได้
      2 ถ้าอาจารย์เป็นผู้บริหารหรือครูในโรงเรียน รูปแบบการนิเทศ คงจะต้องเป็นการนิเทศภายใน หรือการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ดิฉันได้เขียนบทความเรืองการนิเทศแบบมีส่วนร่วมนำเสนอใน Blog ขณะนี้
      3.ทราบที่อยู่ของอาจารย์แล้ว มีเอกสารหรือข้อมูลจะส่งไปให้ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  6. ขอขอบพระคุณท่านเป็นอย่างสูงอีกครั้งมากๆเลยครับ แล้วผมจะตั้งใจศึกษาเรื่องนี้ให้สำเร็จครับ ผมอาจจะต้องรบกวนเรียนสอบถามท่านเรื่อยๆหน่อยนะครับ

    ขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

  7. ขออนุญาตรบกวนสอบถามท่านอาจารย์อีกครั้งนะครับ คือตอนนี้ผมกำลังเริ่มสร้างรูปแบบของการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาน่ะครับ ท่านอาจารย์พอจะแนะนำรูปแบบของการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาให้ผมดูเป็นแนวทางในการสร้างรูปแบบได้ไหมครับ พอดีตอนนี้ผมก็พยายามศึกษา วิเคราะห์ สังเคราะห์อยู่ครับ ก็เลยรบกวนท่านอาจารย์หน่อยนะครับ

    ขอขอบพระคุณท่านล่วงหน้าด้วยความเคารพครับ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่เคารพ
      ดิฉันคิดว่าการนิเทศในยุคนี้รูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วมเป็นรูปแบบที่สามารถนำไปพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้เป็นอย่างดี เพราะคุณครูทั้งหลายที่ทำหน้าที่ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ในสถานศึกษา มีคุณวุฒิสูง มีประสบการณ์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ รู้ปัญหาที่แท้จริงของการจัดกระบวนการเรียนรู้ ถ้าผู้ทำหน้าที่นิเทศร่วมมือกับครู ในการแก้ปัญหาหรือพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนรู้ โดยใช้กระบวนการนิเทศ ก็จะเป็นแนวทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ ดิฉันได้เสนอบทความเรื่องการนิเทศแบบมีส่วนร่วม ใน Blog ซึ่งนำเสนอรูปแบบการนิเทศไว้ในบทความนี้ด้วยค่ะ
      อาจารย์ขิง

  8. ขอขอบพระคุณท่านอาจารย์เป็นอย่างสูงครับ ที่ท่านให้คำแนะนำ แล้วตรงหัวข้อคิดว่าผมต้องใส่เพิ่มลงไปหรือเปล่าครับ ว่า การศึกษารูปแบบการนิเทศเแบบมีส่วนร่วม
    เพื่อพัฒนาคุณภาพการศึกษาในโรงเรียนขนาดเล็ก
    อันนี้ใช่หรือเปล่าครับ รูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วมของอาจารย์
    มีกระบวนการ 6 ขั้นตอน ดังนี้
    ขั้นที่ 1 การเตรียมการนิเทศ
    ขั้นที่ 2 รูปแบบและแนวทางการนิเทศ
    ขั้นที่ 3 กำหนดเครื่องมือนิเทศ
    ขั้นที่ 4 ดำเนินการนิเทศ
    ขั้นที่ 5 การประชุม
    ขั้นที่ 6 การประเมินผล

    ขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพครับ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่เคารพ
      บทความที่อาจารย์บอกมาใช่ค่ะ ชื่อบทความม”แนวคิดเกี่ยวกับการนิเทศ กศน. แบบมีส่วนร่วม” ได้นำเผยแพร่ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553″
      ดิฉันคิดว่า ชื่องานวิจัยควรนำคำว่า”ใน” ออก อาจจะตั้งชื่อว่า ” cวิจัยปฏิบัติการ : การพัฒนารูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วม เพื่อพัฒนาโรงเรียนขนาดเล็ก” แบบแผนการวิจัย ควรมี 4 ขั้นตอน
      ขั้นตอนที่ 1 ศึกษาสภาพการนิเทศในโรงเรียนขนาดเล็ก
      ขั้นตอนที่ 2 ออกแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาคูณภาพโรงเรียนขนาดเล็ก(การนิเทศแบบมีส่วนร่วม)
      ขั้นตอนที่ 3 ศึกษาความเป็นไปได้(อาจใช้วิธีสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญ.จัดประชุมสนทนากลุ่ม(Focus Group) )
      ขั้นตอนที่ 4 นำรูปแบบที่ออกแบบไว้ไปทดลองใช้ ประเมินผลการใช้ ปรับปรุง พัฒนา
      – รูปแบบ จะอยู่ในรูปเอกสารคู่มือทำงาน(work Instruction) เป็นการอธิบายว่าการนิเทศแบบมีส่วนร่วมโรงเรียนขนาดเล็กแต่ละขั้นตอนทำอย่างไร(Howto) เพี่อเป็นคู่มือสำหรับกลุ่มทดลองใช้เป็นคู่มือการปฏิบัติงาน ขณะทดลองเมื่อพบข้อบกพร่องก็ปรับปรุงพัฒนารูปแบบ โดยปรับปรุงเอกสารคู่มือ
      – การประเมินรูปแบบจะต้องกำหนดตัวชี้วัด(KPI) ให้ชัดเจน
      – การตั้งคำถามการวิจัยจะช่วยให้ผู้วิจัยไม่หลงทาง ซึ่งจะพบบ่อย ๆ ว่าตั้งวัตถุประสงค็การวิจัย แต่ผลการวิจัยไม่สามารถตอบวัตถุประสงค์ของการวิจัยได้
      – คำถามวิจัย เช่น
      1.รูปแบบการนิเทศเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กควรเป็นอย่างไร
      2 รูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กส่งผลต่อคุณภาพของสถานศึกษา ใน 3 ด้าน ต่อไปนี้อย่างไร
      2.1 ด้านบริหารสถานศึกษา
      2.2 ด้านการจัดการเรียนการสอน
      2.2 ด้านคุณภาพผูเรียน
      อาจารย์ถามดิฉันนิดเดียวแต่ดิฉันให้คำแนะนำมากไป ไม่ทราบเบื่อหรือเปล่า
      อาจารย์ขิง

      1. ผม ( ศึกษานิเทศก์ ประถมศึกษา ) ครับ …อ่านแล้วซาบซึ้งมากครับ ผมจะนอบนำไปใช้ในสถานการณ์จริง …ขอบคุณครับ…

      2. เรียน อาจารย์สุรพล ที่เคารพ
        ขอบคุณที่เข้ามาาเยียมและให้กำลังใจ
        อาจารย์ขิง

  9. ต้องขอกราบขอบพระคุณท่านอีกครั้งหนึ่ง อย่างมากๆเลยครับ ไม่เบื่อหรอกครับ มีแต่จะทำให้ผมได้อะไรใหม่ๆที่ดีมากๆเลยครับ ตอนนี้ผมก็กำลังพยายามขับเคี่ยวกับวิจัยเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่งเลยครับ รู้สึกว่ายิ่งทำ ยิ่งได้รับคำแนะนำจากท่าน ก็ยิ่งอยากที่จะทำต่อไปเลย ผมก็คงจะพยายามปรับ พยายามหาข้อมูลต่อไปเรื่อยๆแหล่ะครับ

    ขอขอบพระคุณท่านด้วยความเคารพครับ

    อาจารย์นพรัตน์ ศรศิลป์

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่เคารพ
      ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม Blog อย่างต่อเนื่อ ทุกคำถาม มีประโยชน์ต่อดิฉันมาก ทำให้ได้มีโอกาสทบททวนเรื่องการนิเทศไปด้วย
      อาจารย์ขิง

  10. สวัสดีครับอาจารย์ขิงที่เคารพ..ช่วงนี้งานยุ่งไหมครับ..อย่าลืมดูแลสุขภาพด้วยนะครับ..เดี๋ยวผมไม่มีใครคอยให้คำปรึกษา..อาจารย์ครับตอนนี้ผมกำลังศึกษา สังเคราะห์กรอบความคิดน่ะครับ..ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะมีแนว..หรือแนะนำได้ไหมครับ..รบกวนท่านหน่อยนะครับ

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่เคารพ
      ดีใจมากค่ะที่อาจารย์เข้ามาทักทาย กำลังคิดถึงอยู่พอดี ตอนนี้งานหลัก ๆ ที่ต้องทำคือ จัดทำแผนงบประมาณด้านการนิเทศ ปี 2554 ทำ PMQA ของ หน่วย ศน. ของสำนัก กศน. ของ สป.ศธ ของ ศธ. กลั่นกรองผลงานเชี่ยวชาญ งานประกันคุณภาพ งานหลักสูตรสถานศึกษา ให้คำปรึกษาการทำผลงาน ให้คำปรึกษาเยียวยา ต้องจัดระบบให้ดี เพื่อให้งานเสร็จทันเวลาที่กำหนด สำหรับกรอบความคิดที่อาจารย์พัฒนาขึ้นมา ส่งมาที่ anchalee.@nfe.go.th ก็ได้ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  11. สวัสดีท่านอาจารย์ที่เคารพครับ ท่านอาจารย์ประสบปัญหาน้ำท่วมไหมครับ..ผมประสบปัญหามากๆเลยครับ
    ผมได้สังเคราะห์กรอบความคิดจากเอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง คือ กระทรวงศึกษาธิการ ( 2546:36);นิพนธ์ กินาวงศ์ (2526:135);กิติมา ปรีดีดิลก (2532:277-278);สงัด อุทรานันท์ (2533:84-85)และวไลรัตน์ บุญสวัสดิ์ (2538:9-84) งานวิจัยศึกษารูปแบบนิเทศการสอนของ ประสิทธิ์ จันทร์สน (2540:บทคัดย่อ);สุดเนตร ตรึกหากิจ (2544:บทคัดย่อ);เดชา กลิ่นเพ็ง (2545:บทคัดย่อ);บุญ คำใจหนัก(2545:บทคัดย่อ) และบดินทร์ ธัญน้อม ( 2541:บทคัดย่อ) นำมาร่วมกับการวิเคราะห์และบูรณาการสรุปเป็นรูปแบบการนิเทศเชิงสนับสนุนในสถานศึกษา
    ภาพประกอบ 1
    รูปแบบการนิเทศเชิงสนับสนุนในสถานศึกษา
    ประกอบด้วย 4 ขั้น คือ
    ขั้นที่ 1 กำหนดผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ นิเทศเชิงสนับสนุน
    ขั้นที่ 2 การวางแผนพัฒนาการนิเทศเชิงสนับสนุน
    ขั้นที่ 3 ปฏิบัติการนิเทศเชิงสนับสนุน
    ขั้นที่ 4 ประเมินผลการนิเทศเชิงสนับสนุน
    รบกวนท่านอาจารย์ช่วยตรวจดู แนะนำผมด้วยนะครับ เขียนเพิ่มให้ผมก็จะดีมากเลยครับ ส่วนการสนับสนุน ท่านอาจารย์คิดว่าควาจะสนับสนุนด้านใดดีครับ
    ผมนพรัตน์ ขอขอบพระคุณท่านอาจารยืเป็นอย่างสูงนะครับ

    1. เรียน อาจารย์นพรัตน์ ที่เคารพ
      ขอเป็นกำลังใจให้เรื่องน้ำท่วมนะคะ บ้านดิฉันที่อยุธยาก็ท่วมเหมือนกันแต่ก็ทำใจได้เพราะท่วมมาหลายครั้งแล้ว สำหรับรูปแบบการนิเทศเชิงสนับสนุน 4 ขั้นตอน นั้นให้เขียนรายละเอียดวิธีปฏิบัติในแต่ละขั้นตอน แล้วจัดทำคู่มือเพื่อนำไปทดลองใช้ ควรมีการประเมินผลการใช้เชิงคุณภาพและเมื่อพบปัญหาหรือข้อบกพร่องในขั้นตอนใดก็นำมาปรับปรุงคู่มือแล้วนำไปทดลองซ้ำอีกและประเมินผล จนไม่พบปัญหา ก็สรุปผลค่ะ
      ต้องขอโทษด้วยที่ตอบคำถามช้า เพราะช่วงนี้ลงพื้นที่ที่จังหวัดเชียงรายค่ะ
      อาจารย์ขิง

  12. สวัสดีครับ อาจารย์
    ดีใจที่ได้ค้นพบแหล่งความรู้มากมาย ผมเป็นครูเก่าที่ผันตัวเองมาเป็นศึกษานิเทศก์ครับ เลยพยายามหาแหล่งความรู้เพื่อประกอบการทำงาน หลายๆเรื่องที่ค้นผ่านSearch Engine ของ Google พบจาก Blog ของอาจารย์ครับ ขออนุญาตอ้างอิงด้วยนะครับ หากว่าผมจะต้องมีรายงานทางวิชาการ
    ขอขอบพระคุณมากครับ

    ประสาน บุญนอก

    1. เรียน อาจารย์ประสาน ที่เคารพ
      ดีใจค่ะที่อาจารย์เข้ามาเยี่ยม Panchalee blog และยินดีมากที่บทความต่าง ๆใน blog จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานนิเทศ และต้องขอคำแนะนำเรื่องการนิเทศจากอาจารย์ด้วยค่ะ
      อาจารย์ขิง

  13. สวัสดีครับท่าน ศน.ที่เคารพรัก วันนี้ประชุมสัญจรที่กศน.บ้านโคก มีความสุขมากๆ ครับเมื่อไหร่ท่านไปนิเทศอุตรดิตถ์นะครับ ผมได้ทำเอกสารกระบวนการพัฒนาหลักสูตรสถานศึกษาได้90%แล้วครับ ท่าน ผมตั้งใจจะส่งไปให้ท่านได้ตรวจ พิจารณาครับ

    1. เรียน ผอ.อำนาจ ทีเคารพ
      ดีใจค่ะที่เข้ามาทักทาย และทำให้คิดถึงชาวอุตรดิตถ์ น่าเสียดายที่พี่ไม่ได้ไปประชุมที่บ้านโคกด้วย ช่วงนี้กำลังเร่งกลั่นกรองผลงานเชี่ยวชาญให้เสร็จก่อน จึงจะลงทำงานในพื้นที่ ถ้าเอกสารเสร็จแล้วยังไม่ต้องเข้าเล่มส่งมาให้อ่านได้เลยนะคะ
      พี่ขิง

  14. สวัสดีครับ ตอนนี้อุตรดิตถ์อากาศกำลังอุ่นๆ สบายดี ผมย้ายมาที่อ.ทองแสนขัน แล้วครับ พรุ่งนี้รับเสด็จองค์ฟ้าหญิงจุฬาภรณ์ฯ เยี่ยมหน่วยแพทย์ พอ.ศว.ที่บ้านวังเบน ทองแสนขันครับ 15-20 พ.ย.นี้ไปอบรมที่ม.มหิดล ผู้บริหารรุ่นใหม่ครับ ต้องได้พบท่านศน.ขิงที่แสนดีแน่นอนครับ เอกสารจะส่งไปให้ท่านอ่าน ที่ใหนได้ครับ

    1. เรียน ผอ.อำนาจ ที่เคารพ
      เอกสาร ส่งมาที่หน่วยศึกษานิเทศก์ค่ะ เพราะช่วงนี้ยังไม่ได้ลงพื้นที่เนื่องจากตั้งใจจะกลั่นกรองผลงานวิชาการ ผอ. เชี่ยวชาญที่ส่งเกณฑ์เดิมให้เสร็จ ภายในเดือนพฤศจิกายน ขณะนี้เหลืออีก 2 ราย สัปดาห์หน้าคงอ่านเสร็จ วันนี้โครงการนิเทศ ปี 2554ของหน่วยศึกษานิเทศก์กรมได้อนุมัติแล้ว คาดว่าอย่างช้าเดือนธันวาคม ศึกษานิเทศก์คงได้ปฏิบัติงานนิเทศในพื้นที่ที่รับผิดชอบ แล้วพี่จะประสานกับ กศน.อุตรดิตถ์อีกครั้งค่ะ
      อาจารย์ขิง

  15. ทองแสนขันมีงานให้ผมได้ทำมากทีเดียวครับ ทั้งพัฒนาคน อาคารสถานที่ งานวิชาการ และกิจกรรมกศน.ครับ ครูน้องใหม่ยังไม่ชัดเรื่องหลักสูตรระยะสั้น ต้องขอคำแนะนำจากท่านศน.ขิง ด้วยครับ

  16. เรียนอาจารย์นพรัตน์ที่เคารพ
    1.อยากทราบว่าการนิเทศการเรียนการสอนกับการนิเทศการสึกษาต่างกันไหม
    2.ตอนนี้มีการสนับสนุนการศึกษาระบบทวิภาคี ที่นักศึกษาต้องฝึกอาชีพในสถานประกอบการ และต้องมีอาจารย์ออกไปนิเทศ การนิเทศนักศึกษาควรมีกระบวนการ
    อย่างไร จะประยุกต์ทฤษฎีหรือกระบวนการของใครได้บ้างอะไรได้บ้าง
    ขอเรียนถามเพื่อความกระจ่างค่ะ
    ขอบคุณค่ะ
    เยาวรักษ์

    1. เรียน อาจารย์เยาวรักษ์ ที่เคารพ
      1. การนิเทศการศึกษากับการนิเทศการสอน มีความหมาย ดังนี้
      1.1 การนิเทศการศึกษา(Education Supervision) หมายถึงการนิเทศทั่ว ๆ ไป (general supervision)ซึ่งเป็นการนิเทศที่มีขอบข่ายกว้างขวาง เป็นการนิเทศเกี่ยวกับงาน(tasks)และพันธกิจ(functions) ของสถานศึกษา ผู้รับการนิเทศอาจจะเป็น ผู้บริหารสถานศึกษา ครู บุคลากรทางการศึกษา หรือผู้เกี่ยวข้อง ในสถานศึกษา จุดมุ่งหมายของการนิเทศเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิ์ภาพยิ่งขึ้น เรื่องที่นิเทศเช่น การบริหารหลักสูตรสถานศึกษา การจัดกระบวนการเรียนรู้ การประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา การพัฒนาสื่อ นวตกรรมและเทคโนโลยีทางการศึกษา
      1.2 การนิเทศการสอน (instructional supervision) มีสองประเภท คือการนิเทศการสอนในห้องเรียน และการนิเทศการสอนนอกห้องเรียน การนิเทศการสอนมีจุดมุ่งหมายเพื่อปรับปรุงการสอนของครูเพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีคุณภาพ และบรรลุตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรที่กำหนดไว้
      2. การนิเทศเพื่อสนับสนุนการศึกษาระบบทวิภาคี เป็นลักษณะการนิเทศการสอนนอกห้องเรียน การจะใช้การนิเทศรูปแบบใดนั้นขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการนิเทศ แต่ปัจจุบันการนิเทศในเชิงพัฒนาจะนิยมใช้รูปแบบการนิเทศแบบมีส่วนร่วม หรืออาจารย์อาจจะลองนำรูปแบบการนิเทศแบบคลีนิคของโกลด์แฮมเมอร์ ไปประยุกต์ใช้ก็ได้ ซึ่งรูปแบบการนิเทศที่กล่าว มีบทความอยู่ใน Panchalee blog ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  17. อยากทราบว่า
    การวางโครงการจัดการนิเทศของสถานศึกษาคือะไร
    และ
    การควบคุมคุณภาพการจัดการนิเทศของสถานศึกษาคืออะไร

    ขอบคุณค่ะ

    1. เรียน อาจารย์รุจิกาญน์ ที่เคารพ
      ขอโทษด้วยนะคะที่ตอบคำถามถามช้า เพราะช่วงวันที่ 20 -21 มกราคม 54 เป็นวิทยากรฝึกอบรมให้ กศน.อำเภอ ของนครสวรรค์ 15 แห่ง ต้องตรวจหลักสูตรรายวิชาเลือกและคู่มือครูให้กับทุกอำเภอ ค่ะ
      1.โครงการนิเทศสถานศึกษา หมายถึงโครงการนิเทศที่ กศน.จังหวัดพทำขึ้น เพื่อนิเทศ กศน.อำเภอที่อยู่ในพื้น้ที่รับผิดชอบ อาจตั้งชื่อว่า
      “โครงการนิเทศการจัดการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยของ กศน.อำเภอ จังหวัดนครสวรรค์ ปีงบประมาณ 2554”
      การเขียนโครงการเขียนในรูปแบบโครงการทั่วไป เช่น
      1.หลักการและเหตผล
      2. วัตถุประสงค์
      3. เป้าหมาย เชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ
      4. วิธีดำเนินการ
      5. งบประมาณ
      6.แผนการเบิกจ่ายงบประมาณ(รายไตรมาศ)
      7. ผู้รับผิดชอบ
      8.ผลลัพธ์
      9.ตัวชี้วัดความสำเร็จของโครงการ(ตัวชี้วัดผลผลิตและตัวชี้วัดผลลัพธ์)
      10.การติดตามและประเมินผลการดำเนินโครงการ
      2.การควบคุมคุณภาพการจัดการนิเทศ คือ การติดตามและประเมินผลโครงการนิเทศเพื่อให้โครงการนิเทศเป็นไปตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายที่กำหนดไว้ เช่น
      1. การประเมินก่อนดำเนินการ เพื่อประเมินความเป็นไปได้ของโครงการ อาจจะใช้วิธีการประชุมร่วมกันระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้องกับโครงการ
      2. การประเมินระหว่างดำเนินโครงการ เพื่อประเมินความก้าวหน้าและปัญหาอุปสรรค์ต่าง ๆที่อาจเกิดขึ้นระหว่างดำเนินโครงการ
      3.การประเมินสิ้นสุดโครงการ เป็นการประเมินผลผลิตและผลลัพธ์ โครงการว่าเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือเป้าหมายของโครงการหรือไม่
      ประมาณสัปดาห์หน้าดิฉันจะนำตัวอย่างโครงการนิเทศและเครื่องมือนิเทศ งาน กศน.ให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติการนิเทศของ กศน.จังหวัด ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  18. อาจารย์ ค่ะ อ่านบทความอาจารย์แล้วได้รับความรู้ และมีความเข้าใจเพิ่มขึ้น
    แต่ตอนนี้ ดิฉันยังขาดในเรื่องกระบวนการนำไปใช้ ขอบคุณนะค่ะ

    1. เรียน อาจารย์สุภาพร ที่เคารพ
      ขอบคุณที่มาเยี่ยม Panchalee blog ถ้าอาจารย์มีเรื่องใดสงสัยถามมาได้นะคะ ดิฉันจะพยายามตอบคำถาม และหาตัวอย่างมาประกอบเพื่อให้เข้าใจได้มากที่สุด ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  19. ขอบคุณนะคะอาจารย์ขิง
    อีกเรื่องสุดท้ายนะที่อยากสอบถาม
    “การนิเทศการศึกษาในปัจจุบันและแนวโน้มในอนาคต”
    – ภูมิหลังการนิเทศการศึกษาของสถานศึกษาในประเทศไทย
    – สภาพและปัญหาการจัดการนิเทศของสถานศึกษา
    – แนวโน้มการนิเทศการศึกษาของสถานศึกษาในอนาคต
    – แนวทางการพัฒนาการนิเทศการศึกษาของสถานศึกษา

    ขอบคุณมากค่ะ

  20. เรียนอ.ขิงที่เคารพ ดิฉันได้อ่านการโต้ตอบระหว่างผู้เยี่ยมชมblogของท่านกับท่าน ทำให้รู้สึกได้ทันทีว่าอาจารย์ใส่ใจและจริงใจอย่างมากในการให้คำแนะนำ ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ เป็นครั้งแรกที่ดิฉันรู้สึกเช่นนี้กับการท่องเว็บเพื่อสืบค้นข้อมูล ขอชื่นชมและขอบคุณอย่างจริงใจค่ะและหวังว่าในโอกาสหน้าจะได้ขอคำแนะนำและชี้แนะจากอาจารย์นะคะ เพราะตอนนี้เรียน ป.โทบริหาร ต้องทำภาคนิพนธ์ ดิฉันทำเรื่องความพึงพอใจต่อการบริหารงานของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัดสพป.น่ะค่ะ ในกรอบแนวคิดใช้ตัวแปลตาม คือ การบริหาร๔ด้าน แต่อาจารย์บอกว่า ตัวแปรตามที่ว่านี้เก่าเกินไปไม่ให้ใช้ ดิฉันจึงเปลี่ยนเป็นการบริหารด้วยกิจกรรม POSDCOrBแต่พอจะทำบทที่๓ เป็นปัญหาทันทีเนื่องจากไม่มีเครื่องมือเพราะไม่มีตัวอย่างวิทยานิพนธ์ของคนอื่นซึ่งนำมาเป็นแม่แบบได้ ไม่ทราบว่าอาจารย์พอจะแนะนำดิฉันได้ไหมคะ ว่าพอจะมีวิทยานิพนธ์เล่มใดบ้างที่ดิฉันจะยึดเป็นแม่แบบได้บ้าง ขอขอบคุณอาจารย์อย่างสูงล่วงหน้า อาจารย์คือความหวังของดิฉันนะคะ สุดท้ายนี้ขออวยพรให้อาจารย์มีความสุข สุขภาพดีอยู่เป็นที่พึ่งของพวกเราไปอีกนานเท่านานนะคะ

    1. เรียน อาจารย์ประไพพิศ ที่เคารพ
      การศึกษาความพึงพอใจในการบริหารของผู้บริหารสถานศึกษาสังกัด สพป. ถ้าตัวแปรตาม ใช้ POSDCOrB ดิฉันคิดว่า ก็เก่าพอ ๆ กับ 4 M ขอเสนอความคิดว่าน่าจะศึกษาเกี่ยวกับการบริหารโดยใช้หลักธรรมาภิบาล(Good Governance) ซึ่งเป็นหลักที่นำมาใช้ในการบริหารงานในปัจจุบันทั้งภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะสถานศึกษาในปัจจุบันก็นำมาใช้ เดิมหลักธรรมาภิบาล มีองค์ประกอบ 6 ข้อ ปัจจุบันนำมาใช้ใน PMQA ของปี 2554 มี 10 ข้อ อาจารย์อาจนำบางข้อมาเป็นตัวแปรก็ได้ เช่น หลักนิติธรรม หลักคุณธรรม หลักความโปร่งใส หลักการมีส่วนร่วม หลักความรับผิดชอบ หลักความคุ้มค่า ซึ่งเมื่อนำมาศึกษาแล้วผลงานวิจัยจะเป็นรูปธรรมและทันสมัย ซึ่งสามาถสืบค้นข้อมูล จาก Internet หรือจะศึกษาตัวแปรการบริหารจากวงจรเด็มมิ่ง(PDCA) ก็น่าสนใจนะคะ
      อาจารย์ลองค้นใน Panchalee Blog จะมีฐานข้อมูลงานวิจัยอยู่ค่ะ ถ้ามีอะไรถามมาใหม่ได้นะคะ
      อาจารย์ขิง

  21. เรียนอาจารย์
    ผมได้รับหัวข้อในการทำรายงานเรื่อง เทคนิคของผู้นิเทศการศึกษา โดยมีหัวข้อดังนี้ครับ
    1 เทคนิคการนิเทศแบบสอนแนะ
    2 เทคนิคการนิเทศแบบพาคิดพาทำ
    3 เทคนิคการนิเทศแบบประสานใจนิเทศ
    4 เทคนิคการนิเทศแบบผ่านศูนย์การเรียนรู้
    5 เทคนิคการนิเทศระหว่างปฏิบัติงาน
    ผมค้นหาข้อมูลเท่าไรไม่เจอเลยครับ อยากให้อาจารย์ช่วยหน่อยครับผม

    1. สวัสดีค่ะคุณพสิกา
      หัวข้อรายงานของอาจารย์ เป็นหัวข้อที่ดีน่าสนใจมาก ถ้าไปสืบค้นใช้ข้อความดังกล่าวอาจจะไม่พบหัวข้อที่จะศึกษา อาจารย์อาจอ่านบทความหัวข้ออื่นแล้วลองนิยามหรือเทียบเคียงดู เช่น แบบสอนแนะ ให้อ่านเรื่อง Coaching แบบพาคิดพาทำ อ่าน Mentoring ประสานใจนิเทศ อ่านเรื่องการประสานงาน/ประสานสัมพันธ์ ผ่านศูนย์การเรียนก็เช่นเดียวกับการจัดการเรียนให้กับนักเรียนโดยใช้รูปแบบศูนย์การเรียน การนิเทศระหว่างปฏิบัติงาน ลองไปศึกษาเรื่อง In Training หรือ On the Job Training ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  22. เรียนอาจารย์ขิงที่เคารพ ดิฉันได้อ่านบทความเกี่ยวกับการนิเทศและมีข้อสังสัยอยากเรียนถามค่ะ กระบวนการนิเทศทั้ง 3 รูปแบบคือ POLCA ,APDACD,PIDRE มีความเหมือน และแตกต่างกันอย่างไรบ้าง ขอบพระคุณมากค่ะ

  23. เรียน ท่านอัญชลีที่เคารพ
    ติดตามงานอาจารย์ตั้งแต่ครั้งเมื่อเตรียมสอบเป็นศึกษานิเทศก์เมื่อปี 2553 มาตอนนี้กลับมาศึกษางานของท่านอีกครั้งเพื่อพัฒนาตนเอง ขอบคุณที่ท่านให้วิทยทานอย่างต่อเนื่อง นับถือค่ะ เพิ่งมีโอกาสจะแสดงความขอบคุณและของติดตามตลอดไปค่ะ

  24. เรียน ท่านอาจารย์อัญชลี ศน สพป.นครพนม 2 ค่ะ ได้ติดตามผลงานของอาจารย์มาโดยตลอด ของชื่นชมอาจารย์มากค่ะ

ใส่ความเห็น