เรื่อง รายงานการติดตามผลการใช้คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ
ชื่อผู้ศึกษา นายพิสิทธิ์ มิตรศิริ
สถานศึกษา ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา รังสิต
ปีการศึกษา 2552
บทคัดย่อ
การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 1) เพื่อศึกษาความคิดเห็นของครูการศึกษานอกโรงเรียน เกี่ยวกับคุณภาพของคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่อง ดาราศาสตร์และอวกาศ 2) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนระหว่างก่อนเรียน และหลังเรียนของครูการศึกษานอกโรงเรียนที่ศึกษาคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือครูการศึกษานอกโรงเรียน จากศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาจำนวน 36 คนและ ครูการศึกษานอกโรงเรียนจากศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย. เขตสายไหม กรุงเทพมหานคร จำนวน 6 คน รวม 42 คนการเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มแบบเจาะจง (Purposive sampling) เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาประกอบด้วย1) คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ระบบสุริยะ การเกิดปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ ดาราจักร กลุ่มดาว กล้องโทรทัศน์ และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศ2) แบบสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ การวิเคราะห์ข้อมูล แบบสอบถามความคิดเห็น โดยใช้ค่าเฉลี่ยและค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน และ 3)แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน เป็นแบบทดสอบปรนัยชนิดเลือกตอบ 4 ตัวเลือกจำนวน 30 ข้อ การวิเคราะห์ข้อมูล แบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยการหา ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที (t-test for dependent sample) เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของกลุ่มตัวอย่าง จากคะแนนการทดสอบก่อนเรียน และคะแนนการทดสอบ หลังเรียน
ผลการศึกษาความคิดเห็นของครูการศึกษานอกโรงเรียน เกี่ยวกับคุณภาพของคู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ พบว่า ครูการศึกษานอกโรงเรียนส่วนใหญ่มีความเห็นว่าคุณภาพของคู่มือมีคุณภาพอยู่ในระดับดีทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านลักษณะ รูปเล่ม ด้านเนื้อหา ด้านการจัดกิจกรรมและด้านการนำไปใช้
ด้านลักษณะรูปเล่ม มีความเหมาะสมเกี่ยวกับตัวอักษรอ่านง่ายชัดเจน รูปภาพประกอบเหมาะสมกับเนื้อหาและขนาดรูปเล่มมีความเหมาะสม
ด้านเนื้อหา เนื้อหาสาระเหมาะสมกับระดับของผู้เรียน อ่านแล้วเข้าใจง่าย เนื้อหามีปริมาณเหมาะสมกับระยะเวลาเรียน และเนื้อหาถูกต้องชัดเจน
ด้านกิจกรรม กิจกรรมช่วยให้ผู้เรียนสนุกสนานกับการเรียน กิจกรรมช่วยให้ผู้เรียนมีความรู้ ความเข้าใจ ช่วยให้ผู้เรียนบรรลุผลการเรียนรู้ และกิจกรรม สามารถ บูรณาการ กับวิชาอื่น ๆ ได้
ด้านการนำไปใช้ สามารถนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้บรรลุผลการเรียนรู้ที่คาดหวังได้
ผลการเปรียบเทียบคะแนนทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ก่อนและหลังการเรียน โดยใช้คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์ เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ ของครูการศึกษานอกโรงเรียน พบว่าจากคะแนนเต็ม 30 คะแนน คะแนนทดสอบก่อนเรียนมีค่าเฉลี่ย เท่ากับ17.79 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่าเท่ากับ 2.67 และเมื่อศึกษา คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศแล้ว มีคะแนนทดสอบหลังเรียนค่าเฉลี่ย เท่ากับ 25.14 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐานมีค่าเท่ากับ 2.02 เมื่อนำไปทดสอบความแตกต่าง (t-dependent) พบว่าคะแนนทดสอบก่อนเรียนกับหลังเรียนมีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยคะแนนหลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียน จึงอาจสรุปได้ว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของครูการศึกษานอกโรงเรียนที่ศึกษา คู่มือการจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิชาวิทยาศาสตร์เรื่องดาราศาสตร์และอวกาศ หลังเรียนสูงกว่าก่อนเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .01
*******************************