รายงานการติดตามการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง

บทคัดย่อ

รายงานการติดตามการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ
สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน

นายประสิทธิ์  แสงพินิจ
ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโนนสูง

               การติดตามการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามผลการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน ศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ กลุ่มนครพิทักษ์ สังกัดศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครราชสีมา มีขอบเขตของการติดตามจากประชากร คือ ครูการศึกษานอกโรงเรียน กลุ่มนครพิทักษ์ จำนวน 110 คน ซึ่งได้ทำการศึกษาเรียนรู้จากชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง
               วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน ประกอบด้วย 5 หน่วยการเรียน พร้อมทั้งทำแบบทดสอบก่อนเรียนและหลังเรียน ทั้ง 5 หน่วย หน่วยการเรียนละ 10 ข้อ  ทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนจำนวน 30 ข้อ และตอบแบบ สอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพของชุดการเรียนรู้ ด้านคุณค่าของชุดการเรียนรู้ และด้านการนำชุดการเรียนรู้ไปใช้

              ผลของการติดตามการใช้ชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน สามารถสรุปได้ดังนี้

              1. ประสิทธิภาพของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน พบว่าชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองซึ่งประกอบด้วย 5 หน่วยการเรียน แต่ละหน่วยการเรียนมีประสิทธิภาพอยู่ระหว่าง 80.24-82.09/80.09-82.36 และมีประสิทธิภาพโดยรวม 81.15/80.78 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐาน 80/80
               2. ความก้าวหน้าทางการเรียนของครูการศึกษานอกโรงเรียน จากการทำแบบทดสอบวัดผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน จำนวน 30 ข้อ ก่อนเรียนและหลังจากเรียนรู้ครบทั้ง 5 หน่วยการเรียน พบว่าคะแนนการทำข้อสอบวัดผลสัมฤทธิ์ก่อนเรียน มีคะแนนเฉลี่ย 18.12 คิดเป็นร้อยละ 60.42 และมีคะแนนหลังเรียนเฉลี่ย 24.65 คิดเป็นร้อยละ 82.18 เมื่อพิจารณาความก้าวหน้าทางการเรียนพบว่าครูการศึกษานอกโรงเรียนมีคะแนนหลังเรียนมากกว่าก่อนเรียน คือ มีคะแนน เฉลี่ย 6.53คะแนน คิดเป็นร้อยละ 21.76
               3. ความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน ของครูการศึกษานอกโรงเรียน กลุ่มนครพิทักษ์ ที่มีต่อชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการ สำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน โดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (µ = 3.66) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านพบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกด้าน สามารถเรียงอันดับค่าเฉลี่ย ได้แก่ ด้านกายภาพของชุดการเรียนรู้ (µ = 3.64) ด้านคุณค่าของชุดการเรียนรู้ (µ = 3.74) และด้านการนำชุดการเรียนรู้ไปใช้ (µ = 3.62)  เมื่อจำแนกเป็นรายด้าน สามารถแสดงผลได้ดังนี้
                   3.1 ด้านกายภาพ  ครูการศึกษานอกโรงเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการสำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน ด้านกายภาพ พบว่าโดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (µ = 3.64) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ สามารถเรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่คุณภาพโดยรวมของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (µ = 3.75)การแบ่งเนื้อหา (µ = 3.70) ข้อมูลรายละเอียดคำชี้แจง (µ = 3.69)แบบทดสอบและกิจกรรม (µ = 3.65)ภาพประกอบสัมพันธ์กับเนื้อหา (µ = 3.60)ขนาดรูปเล่ม (µ = 3.56) และภาษาที่ใช้มีความเหมาะสม (µ = 3.54)
                   3.2 ด้านคุณค่าของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง  ครูการศึกษานอกโรงเรียนมีความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการสำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน ด้านคุณค่าของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเองโดยรวมมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (µ = 3.74) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ สามารถเรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่เนื้อหาและวิธีใช้ไม่ยุ่งยากซับซ้อน (µ = 3.87)เหมาะสมกับความรู้และประสบการณ์ของครู (µ = 3.82)น่าสนใจทันสมัยและเป็นประโยชน์ (µ = 3.74)เนื้อหามีความถูกต้องเหมาะสม (µ = 3.74)ช่วยเพิ่มพูนประสบการณ์ได้ (µ = 3.71)สามารถใช้เป็นสื่อที่ศึกษาได้ด้วยตนเอง (µ = 3.70) และเทคนิคการผลิตและการนำเสนอเนื้อหา (µ = 3.65)
                   3.3 ด้านการนำชุดการเรียนไปใช้ ครูการศึกษานอกโรงเรียน มีความคิดเห็นเกี่ยวกับความเหมาะสมของชุดการเรียนรู้ด้วยตนเอง วิชาการประเมินโครงการและเทคนิคการประเมินโครงการสำหรับครูการศึกษานอกโรงเรียน ด้านการนำชุดการเรียนไปใช้ พบว่าโดยรวม มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมาก (µ = 3.62) เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่าอยู่ในระดับมากทุกข้อ สามารถเรียงอันดับค่าเฉลี่ยจากมากไปหาน้อย ได้แก่ เนื้อหาทำให้มองเห็นกระบวนการของการประเมินโครงการ สามารถนำไปใช้ได้จริง (µ = 3.70) ด้านสามารถใช้เป็นสื่อที่ศึกษาได้ด้วยตนเอง (µ = 3.65)สามารถใช้อ้างอิงประกอบ การเรียนรู้ได้ (µ = 3.64) การลำดับเนื้อหาชัดเจนเหมาะสม (µ = 3.63) เนื้อหาสอดคล้องกับประสบการณ์และการนำไปใช้ (µ = 3.60) เนื้อหาสอดคล้องกับความต้องการและการนำไปใช้จริง (µ = 3.59) และเนื้อหาสอดคล้องกับการนำไปใช้จริงในการประเมินโครงการ (µ = 3.54)

*****************************************

ประกาศกระทรวงศึกษาธิการฉบับใหม่

      กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศใช้มาตราฐานการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยใหม่ 8 มาตราฐาน

 

Download   มาตรฐานและตัวบ่งชี้ของการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ใช้ในการดำเนินงานประกันคุณภาพภายในสถานศึกษา
          1. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยอำเภอ/เขต
          2. สถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยภาคและสถาบันพัฒนาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกรุงเทพมหานคร
           3. สถาบันการศึกษาและพัฒนาต่อเนื่องสิรินธร
           4. สถาบันส่งเสริมและพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้
           5. ศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนกาญจนาภิเษก (วิทยาลัยในวัง)
           6. ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพเกษตรกรรมวัดญาณสังวรารามวรมหาวิหารอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
           7. ศูนย์ฝึกและพัฒนาอาชีพราษฎรไทยบริเวณชายแดนและศูนย์ฝึกวิชาชีพจังหวัดกาญจนบุรี “สามสงฆ์ทรงพระคุณ”
           8. ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา
           9. สถาบันการศึกษาทางไกล
           10. ศูนย์การศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยกลุ่มเป้าหมายพิเศษ

****************************************

การวิจัยและพัฒนา “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

บทคัดย่อ 

ชื่องานวิจัย   การวิจัยและพัฒนา “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
ผู้วิจัย   นางสุภาวดี  วาทิกทินกร สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดน่าน
ปีที่ทำการวิจัย   2549 – 2552

 

               ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองในปัจจุบัน ก่อให้เกิด  ภาวะวิกฤติแก่สังคมไทยเป็นอย่างมาก   และส่งผลกระทบต่อคนไทยและประเทศชาติโดยรวม  ดังนั้น คนในสังคมซึ่งเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดของการพัฒนาประเทศ    จะต้องได้รับการส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพไปในทิศทางที่เหมาะสม   ถูกต้อง   ต่อเนื่อง   จึงจะทำให้คนในสังคมอยู่ได้อย่างมีความสุข สามารถเผชิญกับการเปลี่ยนแปลง และใช้การเปลี่ยนแปลงนั้น เป็นปัจจัยของการเรียนรู้ สร้างสรรค์ปัญญา และรู้จักการแก้ปัญหาเพื่อการดำรงอยู่ของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคมอย่างมีความสุข การส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพดังกล่าว การเรียนรู้นับว่า เป็นกระบวนการสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  เพราะการเรียนรู้จะช่วยให้คนเราสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตหรือสามารถปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับตัวเราได้อย่างเหมาะสม  ดังนั้น  คนเราจึงต้องเรียนรู้อยู่เสมอและเป็นไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต กอปรกับการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชน คือ บทบาทหน้าที่หลักขององค์กร หน่วยงาน และสถานศึกษาการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย ทุกระดับในประเทศไทย แต่จากการสรุปผลการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตใน ศรช.ตำบล ของจังหวัดน่าน พบว่า ครู กศน.ยังขาดทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ยังคงยึดติดกับรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบเก่า ที่เน้นการถ่ายทอดความรู้จากครูไปสู่ผู้เรียน  ใช้การสอบวัดผล ประเมินผลเป็นเครื่องมือในการประเมินความรู้ของผู้เรียน ใช้คะแนนจูงใจให้ผู้เรียนสนใจเรียน เนื้อหาการเรียนการสอนขาดการเรียนรู้จากการวิเคราะห์ปัญหาของชีวิตในปัจจุบัน ผู้เรียนยังขาดความสนใจใฝ่รู้ ขาดทักษะการคิดเชิงวิเคราะห์ และประเด็นสำคัญคือ ขาดกระบวนการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมต่อการทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต  จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาหรือสร้าง “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เพื่อเป็นองค์ความรู้ให้ ครู กศน.ใช้ในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตให้กับประชาชนต่อไป

 

จุดมุ่งหมายของการวิจัย

          การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อสร้าง “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยมีจุดมุ่งหมายเฉพาะ คือ
          1) เพื่อสร้างและประเมินความเหมาะสมของ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”
          2) เพื่อทดลองใช้ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” 
          3) เพื่อประเมิน “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

ขั้นตอนการวิจัย

        การวิจัยในครั้งนี้  ดำเนินการวิจัยตามลักษณะของกระบวนการวิจัยและพัฒนา (Research and Development)  โดยได้ดำเนินการใน 3 ระยะ คือ
        ระยะที่ 1  การสร้าง “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”  มีขั้นตอนการวิจัย  4  ขั้นตอน คือ
                ขั้นที่  1  การสำรวจสภาพปัญหาและความต้องการ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ของครู กศน. ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่ 15 อำเภอของจังหวัดน่าน จำนวน 202 คน โดยใช้แบบสอบถาม วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติร้อยละ และค่าความถี่ นำเสนอผลการวิเคราะห์ในรูปแบบของสถิติบรรยาย (Descriptive Statistics)
               ขั้นที่  2  การออกแบบ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  เป็นการศึกษาเพื่อสร้าง“กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” และเนื้อหาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการตามที่ได้ศึกษาในขั้นที่ 1 โดยใช้วิธีปฏิบัติที่เป็นเลิศของนักปฏิบัติที่เป็นบุคลากรในสังกัดของสำนักงาน กศน. จังหวัดน่านจำนวน 33 คน ผู้ปฏิบัติงานในศูนย์การเรียนที่ดำเนินงานโดยภาคเอกชนในจังหวัดน่าน จำนวน 4 คน รวม 37 คน ใช้กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management) เป็นเครื่องในการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลเชิงคุณภาพ  นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการบรรยายเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) 
                ขั้นที่ 3  การประเมินความเหมาะสมของ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่ได้จากขั้นที่ 2  ว่ามีความเหมาะสมต่อการใช้งานตามจุดมุ่งหมายที่ตั้งไว้หรือไม่  โดยใช้การประเมินในสภาพจริงใน ศรช. ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน  จังหวัดน่าน ผู้เรียนจำนวน 85 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบเก็บข้อมูล บันทึกรายได้ รายจ่ายครัวเรือน   และแบบสอบถามความคิดเห็นต่อกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequencies)  ค่าเฉลี่ย (Mean)  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  นำเสนอผลการวิเคราะห์ในรูปแบบของสถิติบรรยาย (Descriptive Statistics) 
                ขั้นที่ 4  การพัฒนา “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ครั้งที่ 1  เป็นการนำผลการประเมินความเหมาะสมในขั้นที่ 3 มาปรับปรุง “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” และเนื้อหาการเรียนรู้ตลอดชีวิต  นำเสนอต่อที่ปรึกษาตรวจสอบ ปรับปรุง  แก้ไข ให้ความเห็นชอบ  วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลเชิงคุณภาพ  นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการบรรยายเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) 
            ระยะที่ 2  การทดลอง “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เป็นการศึกษาเพื่อทดลองใช้ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ภายใต้สภาพการณ์ที่เป็นจริง และศึกษาว่า “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” สามารถใช้ในการส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดความต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้จริง  มีขั้นตอนการวิจัยประกอบด้วย 2 ขั้นตอน คือ   
                 ขั้นที่  5  การทดลองใช้ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่ บ้านเสี้ยว หมู่ 6  ตำบลยม อำเภอท่าวังผา  จังหวัดน่าน ผู้เรียนจำนวน 68 คน เครื่องมือที่ใช้ คือ แบบเก็บข้อมูล บันทึกรายได้ รายจ่ายครัวเรือน   และแบบสอบถามความคิดเห็นต่อกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequencies)  ค่าเฉลี่ย (Mean)  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.)  นำเสนอผลการวิเคราะห์ในรูปแบบของสถิติบรรยาย (Descriptive Statistics) 
                ขั้นที่ 6  การพัฒนา “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ครั้งที่ 2   เป็นการนำ “กระบวนการเรียนตลอดชีวิต” มาจัดทำเป็นเอกสารนำไปแลกเปลี่ยนความคิดเห็น แบ่งปันความรู้กับบุคลากรของสำนักงาน กศน. จังหวัดน่าน จำนวน 4  คน และครู กศน. ที่ปฏิบัติงานใน ศรช. ตำบลของจังหวัดน่าน จำนวน 99 คน  รวม 103 คน วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลเชิงคุณภาพ  นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการบรรยายเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis)
          ระยะที่ 3  การประเมินผล “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” เป็นการศึกษาเพื่อประเมินในภาพรวมทั้งหมดเกี่ยวกับ“กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่ได้สร้างขึ้นเพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะยุติการวิจัยหรือจะขยายผลต่อไป และสมควรนำออกเผยแพร่หรือไม่   มีขั้นตอนการวิจัยประกอบด้วย  2 ขั้นตอน คือ
               ขั้นที่  7  การประเมินการจัดกิจกรรมการเรียนรู้  ที่ ครู กศน.ปฏิบัติงานใน ศรช. ตำบลเมืองจัง ได้นำ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับกลุ่มรวมใจ … สร้างฝัน (กลุ่มผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ได้รับผลกระทบ) ตำบลเมืองจัง  อำเภอภูเพียง จังหวัดน่าน ผู้เรียนจำนวน  25 คน  เครื่องมือที่ใช้ คือ   แบบสังเกต วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลเชิงคุณภาพ  นำเสนอผลการวิเคราะห์ข้อมูล โดยการบรรยายเชิงพรรณนา (Descriptive Analysis) และแบบสอบถามความคิดเห็นต่อกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต  วิเคราะห์ข้อมูลและแปลผลข้อมูลโดยใช้ค่าสถิติ ได้แก่ ค่าความถี่ (Frequencies)  ค่าเฉลี่ย (µ)  ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ( )  นำเสนอผลการวิเคราะห์ในรูปแบบของสถิติบรรยาย (Descriptive Statistics) 
                ขั้นที่  8  การเผยแพร่ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”   เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกระบวนการวิจัยและพัฒนา  โดยการเผยแพร่  “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่สร้างขึ้นให้สาธารณชนรับรู้ และนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไป  โดยการเผยแพร่ทางเอกสาร  การประชุม สัมมนา  ศูนย์เครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านและเผยแพร่โดยทางอินเตอร์เน็ต 

ผลการวิจัย

          ผลการวิจัยครั้งนี้ ทำให้ได้ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ซึ่งมีคุณลักษณะ ดังนี้

“กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”

        “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ที่มีความเหมาะสมกับการใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ประกอบด้วย
                1. ขั้นตอนการเรียนรู้  4 ขั้น คือ  ขั้นที่  1  ปรับวิธีคิด(เรียนรู้ชีวิต)  ขั้นที่  2  สาธิตวิธีทำ (เปิดโลกทัศน์  เรียนรู้ชุมชนอื่น)  ขั้นที่  3  นำมาปฏิบัติ (เข้าถึงตนเอง ประเมินตนเอง)  ขั้นที่ 4  พัฒนาต่อยอด (วางแผนการเรียนรู้ต่อเนื่อง)
                2. เนื้อหาการเรียนรู้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ประกอบด้วย 1) การเรียนรู้เรื่องชีวิตโดยการเรียนรู้การปรับกระบวนการคิด   2) การเปิดโลกทัศน์ โดยการเรียนรู้จากการศึกษาข้อมูลชุมชนอื่น 3) การเข้าถึงตนเอง เป็นการสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้คนรู้จักตนเอง เรียนรู้ทางเลือกเพื่อนำไปสู่การเลือกทางเลือกที่เหมาะสมกับศักยภาพและทุนของตนเอง 4) การวางแผนการเรียนรู้ต่อเนื่อง เพื่อให้เกิดความรู้ที่สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตหรือพัฒนาต่อยอดได้  
                3. วิธีการจัดการเรียนรู้  มีรูปแบบการเรียนรู้เป็นไปตามอัธยาศัย ชวนกันมาคิด ชวนกันมาคุย ชวนกันมาค้นหาความรู้เดิมและสร้างความรู้ใหม่  มีเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และมีการเรียนแบบชั้นเรียนบ้างเป็นบางครั้ง มีครู กศน.เป็นผู้อำนวยความสะดวกในการจัดกระบวนการเรียนรู้
                4. เรียนรู้บนฐานวิถีชีวิตของชุมชน  ผู้เรียน คือ คนทุกคนในชุมชน   
                5. มีเครือข่ายการเรียนรู้  พัฒนาต่อยอดความรู้ให้เกิดการเรียนรู้ต่อเนื่อง

ข้อเสนอแนะ

        1. ข้อเสนอแนะสำหรับการนำ “กระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต”ไปใช้
                 1.1 ครู กศน. ควรพัฒนาทักษะการศึกษาชุมชนทุกด้าน ให้เข้าใจ เข้าถึง และวางแผนพัฒนาได้ เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ตลอดชีวิตบรรลุเป้าหมาย เพราะวิถีชีวิตของชุมชนเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการศึกษาเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                 1.2 เนื้อหาการเรียนรู้ที่เสนอไว้ในเอกสารนี้เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่สอดคล้องกับสภาพชุมชนในขณะดำเนินการวิจัย  ดังนั้น ครู กศน.จึงควรพัฒนาตนเองให้รู้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของสังคมชุมชน แสวงหาข้อมูลใหม่ ๆ เพื่อใช้สร้างความสนใจใฝ่รู้ให้กับผู้เรียนในกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิตต่อไป
                 1.3 ครู กศน. เป็นกลไกสำคัญของการขับเคลื่อนกระบวนการเรียนรู้ ทำหน้าที่อำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ จึงควรพัฒนาศักยภาพการจัดการเรียนรู้ของตนเอง  ในด้านทักษะการสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้  ทักษะการประเมินผลการเรียนรู้ระหว่างเรียน เพื่อสร้างความสนใจใฝ่รู้ต่อเนื่องให้กับผู้เรียน   
                 1.4 ควรมีแหล่งการเรียนรู้ที่หลากหลายในแต่ละพื้นที่ เชื่อมโยงเป็นเครือข่ายการเรียนรู้เพื่อการพัฒนาต่อยอดให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ตามความต้องการอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต 

         2.  ข้อเสนอแนะสำหรับการวิจัยครั้งต่อไป
                 2.1  ควรมีการวิจัยคุณลักษณะของผู้เรียนที่มีการเรียนรู้ตลอดชีวิต เพื่อหารูปแบบการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีประสิทธิภาพกับแต่ละกลุ่มเป้าหมาย
                 2.2  ควรมีการวิจัยถึงความสัมพันธ์เชิงสาเหตุที่ส่งผลต่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการศึกษาตลอดชีวิต
                 2.3  ควรมีการวิจัยหารูปแบบการขับเคลื่อนศูนย์การเรียนตำบล (กศน.ตำบล) ให้มีองค์ความรู้ และสร้างหลักสูตรที่หลากหลายให้บริการแก่ชุมชนเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต
                 2.4  ควรมีการวิจัยพัฒนาสื่อการเรียนรู้ด้วยตนเองเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต  ที่ผู้รับบริการสามารถใช้เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง และมีการกระจายสื่อนั้นไปสู่ชุมชนได้อย่างทั่วถึง

             

………………………………………

 

การพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน

รายงานการวิจัย วิจัยปฏิบัติการ : การพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

ผู้วิจัย ประสิทธิ์  แสงพินิจ ผู้อำนวยการศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโนนสูง

ปีที่ศึกษาวิจัย 2550

บทคัดย่อ 

               การวิจัยปฏิบัติการ : การพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ในอำเภอโนนสูงจังหวัดนครราชสีมา ครั้งนี้  มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา  ประชากรและกลุ่มตัวอย่างในการวิจัย แบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ     1) ผู้ปฏิบัติงาน ได้แก่ครูการศึกษานอกโรงเรียน ของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 21 คน  2) ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการนำเอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชนไปใช้ ได้แก่ ครูการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ ในกลุ่มนครพิทักษ์ จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 110 คน 3) ประชาชนตำบลเมืองปราสาท และตำบลคอหงษ์ ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ที่รวมกลุ่มกันประกอบอาชีพ จำนวน 26 กลุ่มอาชีพ 449 คน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ได้แก่  1) แบบสำรวจภาคสนาม เพื่อศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน กลุ่มพัฒนาอาชีพ  2) แบบสัมภาษณ์เพื่อการสนทนากลุ่ม  3) แบบสังเกตแบบไม่มีส่วนร่วมในการจัดกระบวนการเรียนรู้ของครูการศึกษานอกโรงเรียน ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา  4) แบบบันทึกการทดลอง จากการสังเกตและการสัมภาษณ์  5) แบบสอบถามความคิดเห็นของครูการศึกษานอกโรงเรียน เกี่ยวกับความเหมาะสมของการใช้เอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้  เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา และ  6) แบบสอบถามความคิดเห็นของผู้เรียนที่เป็นสมาชิกกลุ่มพัฒนาอาชีพ เกี่ยวกับผลที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา

               การดำเนินการวิจัย มี 5 ขั้นตอน ดังนี้ 1) การศึกษาสภาพปัญหาการดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยการศึกษาภาคสนาม (Field Study)  2) การออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน  3) การศึกษาความเป็นไปได้ในการนำรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ไปใช้ 4) ปฏิบัติการทดลองใช้ และพัฒนารูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน 5) ประเมินคุณภาพ รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน

ผลการวิจัย สรุปได้ดังนี้

               1. สภาพปัญหาการดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษาการศึกษานอกโรงเรียนกลุ่มพัฒนาอาชีพ

                      1.1 การจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน ให้กับกลุ่มพัฒนาอาชีพมีหลายกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมส่งเสริมกระบวนการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ในรูปแบบของหมู่บ้านพออยู่พอกิน โดยจัดให้มีการประกวดคุ้มหมู่บ้านดีเด่น 5 ประเภท คือ คุ้มพออยู่พอกิน คุ้มสะอาด น่าอยู่ คุ้มสามัคคี คุ้มสุขภาพอนามัยดี คุ้มรักเรียน และมีการจัดนิทรรศการผลงานกลุ่มพัฒนาอาชีพของศูนย์การเรียนชุมชน ในอำเภอโนนสูง 16 แห่ง จัดอบรมการเรียนรู้หมู่บ้านพออยู่พอกิน กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ ให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านและโครงการคาราวานแก้จน นอกจากนั้นยังได้จัดกิจกรรมศึกษาดูงาน เพื่อเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
                        1.2 ปัญหาของกลุ่มพัฒนาอาชีพ หลังจากได้เข้าร่วมกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนและกลับไปประกอบอาชีพ มีปัญหาในการประกอบอาชีพ ดังนี้ คือ สมาชิกกลุ่มอาชีพยังมีความรู้ ทักษะ และเทคนิค ในการประกอบอาชีพน้อย ขาดการรวมกลุ่มอาชีพ เนื่องจากขาดผู้นำกลุ่มอาชีพที่เข้มแข็ง สมาชิกกลุ่มอาชีพไม่เห็นความสำคัญ และประโยชน์ของการรวมกลุ่มอาชีพ ขาดความสามัคคีในกลุ่มและขาดการประสานงานที่ดีของกลุ่ม นอกจากนั้นยังขาดพื้นที่ในการประกอบอาชีพ หรือมีพื้นที่หรือสถานที่ไม่เหมาะสม  ขาดเงินทุนในการประกอบอาชีพ  วัตถุดิบในการประกอบอาชีพไม่เพียงพอ  มีวัสดุอุปกรณ์ เครื่องมือ ในการประกอบอาชีพ ไม่เพียงพอ ไม่ทันสมัย มีปัญหาเกี่ยวกับราคาผลผลิตตกต่ำ ไม่มีตลาดรองรับ และไม่มีหน่วยงานมาสนับสนุนส่งเสริม ในการประกอบอาชีพ 

               2. การออกแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ได้จัดทำเป็นเอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชนในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเอกสารประกอบด้วย เนื้อหาสาระ 6 บท ดังนี้

                           บทที่ 1 การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ
                           บทที่ 2 กระบวนการศึกษาวิเคราะห์ชุมชน
                           บทที่ 3 เทคนิคเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน
                           บทที่ 4 แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน
                           บทที่ 5 แนวทางการพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด
                           บทที่ 6 แนวทางการควบคุมสินค้าและการบัญชีสำหรับธุรกิจชุมชน

                 3. การศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ไปใช้
                  ผลจากการศึกษาความเป็นไปได้ ในการนำรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชนไปใช้ สรุปได้ดังนี้ 
                      3.1 มีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับประชาชน เนื่องจากรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้สามารถส่งเสริมให้ประชาชนมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาอาชีพของตนเองของกลุ่มพัฒนาอาชีพและของชุมชน เป็นรูปแบบที่ให้โอกาสประชาชนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้ เช่น ประชาชน ได้มีโอกาสในการวิเคราะห์ระบบงานและมาตรฐานในการทำงานของกลุ่มพัฒนาอาชีพ เพื่อที่จะพัฒนาอาชีพของกลุ่มอาชีพและได้เข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ต่าง ๆ ในชุมชน เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับประชาชนในชุมชน ประชาชนสามารถพึ่งพาตนเอง เช่น การร่วมกันคิดวิเคราะห์ในการวางแผนการตัดสินใจ การดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ การแก้ปัญหาร่วมกัน และเป็นการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ประชาชนได้มีโอกาสในการฝึกอบรมและการพัฒนาความรู้เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจของชุมชน ทำให้ประชาชนมองเห็นช่องทางในการประกอบอาชีพของตนและของกลุ่มพัฒนาอาชีพ เกิดการระดมทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และมีระบบบริหารจัดการเกี่ยวกับกลุ่มพัฒนาอาชีพ ของชุมชนได้อย่างเหมาะสม
                    3.2 ความเป็นไปได้เกี่ยวกับแนวคิดและหลักการในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ มีความเป็นไปได้ดังนี้ คือ ความเป็นไปได้ตามหลักความเสมอภาคทางการศึกษา เนื่องจากรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เปิดโอกาสให้ประชาชนที่รวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพของตนเอง ของกลุ่มพัฒนาอาชีพ มีการจัดกระบวนการเรียนรู้ ที่สนองตอบความต้องการของผู้เรียน มีความเป็นไปได้ ตามหลักการพัฒนาตนเองและการพึ่งพาตนเอง เนื่องจากรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เข้ารับการอบรม ได้แลกเปลี่ยนความรู้และลงมือปฏิบัติจริงและเกิดการเรียนรู้จากกระบวนการเรียนรู้จากกลุ่ม ทำให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาตนเองและพัฒนากลุ่มพัฒนาอาชีพของตนเองได้ และสอดคล้องกับหลักบูรณาการการเรียนรู้และวิถีชีวิตจริงเนื่องจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นการส่งเสริมให้ประชาชนกลุ่มพัฒนาอาชีพสามารถเรียนรู้พร้อมกับการประกอบอาชีพของตนเอง และของกลุ่มพัฒนาอาชีพเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการดำรงชีวิตของผู้เรียน ที่จะสามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตจริงได้ และรูปแบบของการจัดกระบวนการเรียนรู้ยังสอดคล้องกับหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน ประชาชนในชุมชน มีส่วนร่วมในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารการพัฒนาการของกลุ่มอาชีพอย่างต่อเนื่อง เพราะประชาชนเป็นสมาชิกของกลุ่มพัฒนาอาชีพกลุ่มต่างๆ มีบทบาททั้งเป็นผู้นำชุมชนและสมาชิกของชุมชน 
                3.3 ความเป็นไปได้ของวิธีการที่นำมาใช้ในการจัดการความรู้ โดยใช้รูปแบบกระบวนการจัดการความรู้ในชุมชน 5 ขั้นตอน คือ การกำหนดความรู้ การเสาะแสวงหาความรู้ภายในชุมชนที่ต้องการใช้ การสร้างองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนความรู้ และการประยุกต์ใช้ความรู้ ซึ่งกระบวนการจัดการความรู้ดังกล่าว มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้ในการนำไปใช้ในการจัดการความรู้ให้กับผู้เรียน ดังนี้

                    การกำหนดความรู้ เป็นขั้นตอนที่เหมาะสมและมีความเป็นไปได้เพราะประชาชนซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางในการพัฒนาชุมชนของตนเองเกี่ยวกับวิสัยทัศน์ พันธกิจ กลยุทธ์ เป้าหมายของการพัฒนาชุมชนของตน ดังนั้น การกำหนดความรู้เพื่อจัดกระบวนการเรียนรู้จะต้องสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของชุมชน และความต้องการของประชาชน จึงจะสามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ประชาชนได้พัฒนาอาชีพและกลุ่มพัฒนาอาชีพได้

                    การแสวงหาความรู้ภายในชุมชนที่ต้องการใช้ มีความเหมาะสมในการนำมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เนื่องจากในชุมชนมีความรู้ ภูมิปัญญาที่เกิดจากประสบการณ์การเรียนรู้ของคนในชุมชน เมื่อนำมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้โดยเชื่อมโยงความรู้ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่าง ๆ ที่มีอยู่ในชุมชน นำมาผสมผสานกับภูมิปัญญาสากล ก็จะสามารถสร้างองค์ความรู้ใหม่เพื่อนำมาใช้ในการพัฒนาประชาชน และกลุ่มพัฒนาอาชีพ ในชุมชนได้

                   การสร้างความรู้ มีความเหมาะสมและมีความเป็นไปได้กับการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน เนื่องจากการพัฒนาอาชีพโดยใช้เศรษฐกิจกับชุมชน ประชาชนจะต้องมีความรู้ความเข้าใจ เกี่ยวกับแนวคิดหลักการต่าง ๆ ในการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชน ซึ่งจะต้องศึกษาความรู้ใหม่ ๆ เช่น เรื่องธุรกิจชุมชน การแสวงหาช่องทางในการเข้าสู่อาชีพ การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด เทคนิคและการวางแผนการตลาด การควบคุมสินค้าและบริการ และการจัดทำบัญชีสำหรับธุรกิจเป็นต้น ซึ่งผู้เรียนจะต้องนำความรู้ดังกล่าวไปสู่การปฏิบัติ ก็จะสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเองได้จากการปฏิบัติจริง

                    การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เป็นวิธีการที่เหมาะสมในการนำมาใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ เนื่องจากการเรียนรู้เกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ผู้เรียนเป็นผู้มีประสบการณ์หลากหลาย การจัดกระบวนการเรียนรู้จะเป็นลักษณะกระบวนการกลุ่ม ผู้เรียนจะอาศัยกลุ่มเป็นเครื่องมือตรวจสอบความรู้ความเข้าใจของตนได้กว้างขวางยิ่งขึ้น และยังช่วยให้ผู้เรียนแบ่งปันความรู้ ความเข้าใจของตนเอง แก่ผู้อื่น และได้รับประโยชน์จากแนวคิด ความรู้และประสบการณ์ของผู้อื่นพร้อม ๆ กัน

                     การประยุกต์ใช้ความรู้ การประยุกต์ใช้ความรู้เป็นขั้นตอนที่เหมาะสมและสำคัญต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพราะเป็นการส่งเสริมให้ผู้เรียนได้นำความรู้จากเนื้อหาสาระต่าง ๆ ที่เรียนมาแล้ว นำไปประยุกต์ ใช้ในการพัฒนาอาชีพของตนเองและกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชนในด้านต่าง ๆ เช่น การระดมทุน การผลิต การตลาด การบริหารจัดการ รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือ จากแหล่งอาชีพอื่น ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน เป็นต้น

                4. การทดลองใช้ และ พัฒนารูปแบบการวัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้ เศรษฐกิจชุมชน    การทดลองใช้ และพัฒนารูปแบบ ได้ปฏิบัติการทดลอง กับกลุ่มพัฒนาอาชีพ 26 กลุ่ม ในพื้นที่ตำบลเมืองปราสาท และตำบลคอหงษ์ อำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ได้ดำเนินการทดลอง 3 ครั้งผลจากการทดลอง สรุปได้ ดังนี้
                     4.1 ผลจากการทดลองครั้งที่ 1 พบว่าผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน และมีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ เนื่องจากพื้นที่ที่ใช้ในการทดลองเคยเป็นพื้นที่ในตำบลนำร่องการดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน ตามยุทธศาสตร์การดำเนินการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อแก้ปัญหาความยากจน และกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียนเพื่อส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชน ปี พ.ศ. 2549 ซึ่งมีการจัดกิจกรรมการศึกษานอกโรงเรียน ในการพัฒนากลุ่มพัฒนาอาชีพ ทำให้ผู้เรียนมีพื้นฐานเกี่ยวกับ การพัฒนาอาชีพ นอกจากนั้น ยังพบว่า ครูการศึกษานอกโรงเรียนที่รับผิดชอบในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน เป็นผู้มีความเสียสละ มีความมุ่งมั่นเอาใจใส่ต่อผู้เรียน และข้อดีอีกประการหนึ่ง คือ ครูการศึกษานอกโรงเรียนเป็นผู้มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตอำเภอโนนสูง มีความเข้าใจขนบธรรมเนียม ประเพณี วัฒนธรรม และวิถีชีวิตของประชาชนเป็นอย่างดี และครูเป็นผู้มีทักษะ ในการทำงานกับชุมชน จึงเป็นที่ยอมรับนับถือศรัทธา ของประชาชนที่อยู่ในชุมชน

                      ผู้เรียนและชุมชนมีความเข้าใจและเห็นความสำคัญของการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพโดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ทำให้ผู้เรียนมีความรู้ทักษะและสามารถพัฒนาอาชีพของตนเองและของกลุ่มพัฒนาอาชีพ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มอาชีพ สร้างงาน สร้างอาชีพ มีรายได้
                       ปัญหาที่พบในการทดลองครั้งที่ 1 คือ 1) ครูการศึกษานอกโรงเรียนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่จะนำไปใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน คือ การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพ กระบวนการศึกษาวิเคราะห์ชุมชน การสร้างความเข้มแข็งของชุมชน การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การพัฒนากลยุทธ์ทางการตลาด และการควบคุมสินค้า และการบัญชีสำหรับธุรกิจชุมชน 2) รูปแบบการพัฒนาครูการศึกษานอกโรงเรียนยังไม่เหมาะสม ไม่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานให้กับครูได้ทุกคน เนื่องจากพื้นฐานความรู้ของครูแต่ละคนไม่เท่ากัน ระยะเวลาในการฝึกอบรมครูน้อย ครูการศึกษานอกโรงเรียนมีวุฒิการศึกษาไม่ตรงกับเนื้อหาวิชาที่จัดกิจกรรม การเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ทำให้ครูต้องใช้เวลาในการศึกษาเนื้อหาสาระมาก 3) สื่อเอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนสำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน มีเนื้อหาบางส่วน ยังไม่เหมาะสม เช่น เนื้อหายังไม่สมบูรณ์ การลำดับความยากง่ายของเนื้อหายังไม่ถูกต้อง มีทฤษฎีและหลักการมากเกินไป ขาดเนื้อหาที่สำคัญ เช่น เศรษฐกิจชุมชน และขนาดรูปเล่มและตัวอักษรไม่เหมาะสม จึงนำปัญหาและข้อบกพร่องต่าง ๆ มาปรับปรุง รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพโดยใช้เศรษฐกิจชุมชน โดยพัฒนาเอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพโดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ให้มีความสมบูรณ์และมีแนวปฏิบัติที่ชัดเจน เพื่อให้ครูการศึกษานอกโรงเรียนสามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และพัฒนารูปแบบในการพัฒนาครูการศึกษานอกโรงเรียนใหม่ โดยให้ครูการศึกษานอกโรงเรียนมีส่วนร่วมในการกำหนดเนื้อหาสาระ วิธีการพัฒนา และระยะเวลาในการพัฒนาครู
                     4.2 ผลจาการทดลองครั้งที่ 2 พบว่า เอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน เป็นเอกสารที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย คือ ครูการศึกษานอกโรงเรียนสามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนได้เรียนรู้ เกิดความรู้ ความเข้าใจ มีทักษะ ในการพัฒนาอาชีพของตนเอง ของกลุ่มพัฒนาอาชีพ กระบวนการฝึกอบรมครูการศึกษานอกโรงเรียน ทำให้ครูการศึกษานอกโรงเรียนมีทักษะในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับผู้เรียน ให้ผู้เรียนได้มีส่วนร่วมในการเรียนรู้ และการปฏิบัติจริง ปัญหาที่พบในการทดลองครั้งที่ 2 คือ ครูยังขาดความเข้าใจเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ คือ ความเข้าใจเกี่ยวกับกระบวนการเสริมสร้างความเข้มแข็งกับชุมชน และขาดทักษะเกี่ยวกับการกำหนดกลยุทธ์การตลาด และการวิเคราะห์ชุมชน
                    จากปัญหาและข้อบกพร่องที่พบจากการทดลองครั้งที่ 2 ได้นำมาปรับปรุงรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนสำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน คือ ได้ดำเนินการปรับปรุงเอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน โดยปรับปรุงเนื้อหาเรื่องการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เทคนิคการศึกษาและวิเคราะห์ชุมชน เกี่ยวกับการสังเกต การสัมภาษณ์ การสนทนากลุ่ม การใช้ข้อมูลเอกสาร การเข้าภาคสนาม การศึกษาแบบผสมผสาน นอกจากนั้น ยังได้ปรับปรุงเนื้อหาเกี่ยวกับการวางแผนการตลาด และการกำหนด กลยุทธ์การตลาด ยุทธศาสตร์เสริมการเรียนรู้ และเทคนิคการประเมินสภาวะชนบทอย่างเร่งด่วน (Rapid Rural Appraisal) และได้ฝึกอบรมครูการศึกษานอกโรงเรียนเพิ่มเติม ให้มีความรู้ความเข้าใจ และมีทักษะในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนกลุ่มพัฒนาอาชีพ ให้มีความรู้ความเข้าใจ มีทักษะในการพัฒนาอาชีพของตนเองและของกลุ่มพัฒนาอาชีพได้
                      4.3 ผลการทดลองครั้งที่ 3 พบว่า 1) เอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน มีคุณภาพทั้งด้านกายภาพของเอกสาร ด้านเนื้อหาของเอกสาร และด้านการนำเอกสารไปใช้ 2) รูปแบบการฝึกอบรมให้ความรู้แก่ครูการศึกษานอกโรงเรียนมีประสิทธิภาพทำให้ครูการศึกษานอกโรงเรียน มีความรู้ความเข้าใจและมีทักษะ สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเกิดการพัฒนาตนเอง พัฒนากลุ่มพัฒนาอาชีพ และพัฒนาชุมชนของตนสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของการพัฒนาอาชีพทีกำลังดำเนินอยู่ในชุมชน 3) รูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนสำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน สามารถพัฒนาผู้เรียนให้มีทักษะในการเรียนรู้ด้านพัฒนาอาชีพของตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ มีการรวมกลุ่มอาชีพกับผู้มีอาชีพเดียวกัน และผู้เรียนสามารถดำรงชีวิตตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

              5. การประเมินคุณภาพรูปแบบการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา
                    5.1 ผลการประเมินคุณภาพของเอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชนการประเมินระดับความคิดเห็น ของการใช้เอกสารแนวทางการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ โดยใช้เศรษฐกิจชุมชน พบว่า ครูมีความคิดเห็นว่า โดยรวมมีความเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งสามารถแจกแจงระดับความเหมาะสมเป็นรายด้าน ได้ดังนี้ 1) ด้านการนำเอกสารแนวทางไปใช้มีความคิดเห็นว่า เหมาะสมมากที่สุด ซึ่งเห็นว่า เนื้อหาสามารถนำไปปฏิบัติได้ สามารถนำไปใช้เป็นแนวทางการพัฒนาอาชีพได้ ทำให้เกิดความเข้าใจและมองเห็นแนวทางในการพัฒนากลุ่มมีแนวทางที่เหมาะสมให้เลือกปฏิบัติ และเอกสารสามารถเพิ่มทักษะการพัฒนาอาชีพได้ 2) ด้านเนื้อหาของเอกสารแนวทาง มีความคิดเห็นว่าเหมาะสมมากที่สุด ซึ่งเห็นว่า เนื้อหาทำให้มองเห็นแนวทางการพัฒนาอาชีพของกลุ่ม เนื้อหาสอดคล้องกับการพัฒนาอาชีพ เนื้อหาอ่านแล้วทำให้เกิดความเข้าใจยิ่งขึ้น เนื้อหาครอบคลุมการจัดกระบวนการเรียนรู้ เนื้อหาเรียบเรียงเหมาะสม และเนื้อหาสอดคล้องกับวัตถุประสงค์การเรียนรู้ 3) ด้านกายภาพของเอกสาร มีความคิดเห็นว่าเหมาะสมมาก ซึ่งเห็นว่าเนื้อหาในเอกสารครอบคลุมครบถ้วน การเรียงลำดับเนื้อหา ภาษาที่ใช้เรียบเรียง มีแนวปฏิบัติชัดเจน ทั้งรูปเล่มและขนาดตัวอักษร
                  5.2 ผลการสำรวจความคิดเห็นผู้เรียนที่เป็นสมาชิกกลุ่มพัฒนาอาชีพ 26 กลุ่ม จำนวน 449 คน ที่มีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา 1) ผู้เรียนที่เป็นสมาชิกกลุ่มพัฒนาอาชีพมีความคิดเห็นเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ความคิดเห็นของผู้เรียนส่วนใหญ่ในภาพรวมเห็นด้วยในระดับมาก 2) ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ เป็นรายด้านพบว่าผู้เรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับมากทุกด้าน เรียงลำดับดังนี้ คือ ด้านผลที่เกิดต่อเศรษฐกิจชุมชน ด้านผลที่เกิดต่อกลุ่มพัฒนาอาชีพ ด้านผลที่เกิดต่อผู้เรียน และด้านเกิดความเข้มแข็งของชุมชน 3) ความคิดเห็นเกี่ยวกับผลที่เกิดจากการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน สำหรับกลุ่มพัฒนาอาชีพ ในอำเภอโนนสูง จังหวัดนครราชสีมา ผู้เรียนส่วนใหญ่เห็นด้วยในระดับมากทุกข้อทั้ง 4 ด้าน สรุปได้ดังนี้
                            (1) ด้านผลที่เกิดต่อผู้เรียน คือ ผู้เรียนมีการรวมกลุ่มอาชีพกับผู้ที่มีอาชีพเดียวกัน สามารถพัฒนาอาชีพของตนเอง มีอาชีพ มีรายได้ ดำรงชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง และพึ่งตนเองได้ และมีทักษะในการเรียนรู้ด้านพัฒนาอาชีพเกี่ยวกับการกำหนดความรู้ และการเสาะแสวงหาความรู้ การสร้างองค์ความรู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการประยุกต์ใช้ความรู้ (2) ด้านผลที่เกิดต่อกลุ่มพัฒนาอาชีพ คือ กลุ่มพัฒนาอาชีพมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการ มีกองทุนหมุนเวียนในการประกอบการและการพัฒนาอาชีพ มีการรวมกลุ่มพัฒนาอาชีพ กลุ่มต่าง ๆ ในชุมชน สมาชิกในกลุ่มมีการเรียนรู้ร่วมกันเกี่ยวกับการพัฒนาอาชีพอย่างต่อเนื่อง สมาชิกในกลุ่มมีความสามัคคี ผู้นำกลุ่มอาชีพมีความเข้มแข็ง มีความสามารถในการบริหารจัดการกลุ่ม สามารถยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการได้สูงขึ้น มีระบบการบริหารจัดการด้านการผลิต การบริการ และการตลาด และมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริหารจัดการ การผลิต และการตลาด (3) ด้านผลที่เกิดต่อเศรษฐกิจชุมชน คือ ประชาชนในชุมชนมีอาชีพ มีรายได้ ได้รับการพัฒนากระบวนการเรียนรู้เรื่องธุรกิจชุมชน มีทักษะในเชิงธุรกิจ รวมตัวกันประกอบอาชีพในรูปแบบกลุ่มพัฒนาอาชีพและมีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจของกลุ่มพัฒนาอาชีพ (4) ด้านเกิดความเข้มแข็งกับชุมชน คือ สมาชิกของชุมชนมีวิถีชีวิตตามแนวทางของเศรษฐกิจพอเพียง มีความสามัคคี เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน ร่วมกันคิดตัดสินใจดำเนินกิจกรรมและแก้ปัญหาต่าง ๆ ของชุมชน มีกิจกรรมพัฒนาชุมชน โดยใช้ทุนที่มีอยู่ในชุมชน คือ ทรัพยากร ภูมิปัญญา วิถีชีวิต วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม และมีกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชนอย่างต่อเนื่อง

 *************************