การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น

ist2_3418360-booksอัญชลี  ธรรมะวิธีกุล
ศึกษานิเทศก์เชี่ยวชาญ
10  เมษายน 2552

            หลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึงหลักสูตรที่สร้างขึ้นจากสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียน  หลักสูตรท้องถิ่นจะสอดคล้องเหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจและสังคมของท้องถิ่นนั้นๆ เป็นการเรียนรู้จากภูมิปัญญาที่มีอยู่ในท้องถิ่น  ผู้เรียนแสวงหาองค์ความรู้ที่ตอบสนองกับวิถีชีวิตของตนเอง  ปรับตนเองให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคโลกาภิวัตน์  ผู้เรียนจะเรียนรู้ตามสภาพจริงของตนเอง  สามารถนำความรู้ไปใช้การพัฒนาตนเอง  ครอบครัว และชุมชนได้  ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 3 )  จึงอาจสรุปได้ว่า  หลักสูตรท้องถิ่น  หมายถึง ประสบการณ์การเรียนรู้ที่จัดให้กับกลุ่มผู้เรียนที่เป็นกลุ่มเป้าหมายที่จัดตามสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนในท้องถิ่นนั้นๆ  เป้าหมายหลัก คือ  ต้องการให้ผู้เรียนได้นำไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้เรียนให้ดีขึ้น

            หลักการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  หลักสูตรท้องถิ่น มีหลักในการพัฒนาที่ส่งผลให้กลุ่มเป้าหมายได้เกิดปัญญา หรือเกิดการเรียนรู้ ดังนี้ ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 4) 

          1.  การเรียนรู้เพื่อสร้างองค์ความรู้  มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้สภาพปัญหา  วิธีการแก้ปัญหา และการปรับปรุงอย่างลึกซึ่ง คือ ให้รู้และเข้าใจอย่างกระจ่างว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันจนสามารถวิเคราะห์และสังเคราะห์เป็นองค์ความรู้ของตนเองได้

          2.  การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความสามารถในการปฏิบัติจริง  มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ในการวิเคราะห์สถานการณ์เพื่อการปฏิบัติจริง  จนเกิดความชำนาญและสามารถปฏิบัติได้ในทุกสถานการณ์

          3.  การเรียนรู้เพื่อการอยู่ร่วมกัน  มีเป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ เพื่อเป็นผู้มีคุณธรรม  จริยธรรมด้วยการมีความเชื่อ และตระหนักว่ามนุษย์ทุกคนต้องร่วมมือกัน  พึ่งพาอาศัยกันและอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข

          4.  การเรียนรู้เพื่อการพัฒนาศักยภาพ   เป้าหมายมุ่งที่การเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเองให้มีชีวิตที่งอกงาม  ปรับปรุงบุคลิกภาพอย่างมั่นใจ เน้นการมีเหตุผลและมีวิสัยทัศน์

            ความสำคัญของหลักสูตรท้องถิ่น  หลักสูตรท้องถิ่น  เป็นหลักสูตรบูรณาการที่ผู้เรียน ชุมชนและครูร่วมกันสร้างขึ้น  เพื่อมุ่งเน้นให้ผู้เรียน เรียนจากชีวิต  เรียนแล้วเกิดการเรียนรู้สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตอย่างมีคุณภาพและเป็นสมาชิกที่ดีของสังคมอย่างมีความสุข  การเรียนการสอนจะสอนตามความต้องการของผู้เรียน  โดยครูเป็นผู้คอยให้คำแนะนำ  ผู้เรียนเป็นผู้ค้นคว้าหาความรู้ด้วยตนเอง  ดังนั้น หลักสูตรท้องถิ่นจึงมีความสำคัญ  ดังต่อไปนี้  ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 5 )
             1.  เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองการเรียนรู้ของรู้เรียนเฉพาะเนื้อหาสาระของหลักสูตรสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนตามสภาพปัญหาที่เป็นจริง
            2.  ทำให้กิจกรรมการเรียนรู้มีความหมายต่อผู้เรียน  เพราะผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในชีวิตจริงได้
            3.  ผู้เรียนได้เรียนรู้วิธีการแสวงหาความรู้  เพื่อที่จะมาใช้เป็นข้อมูลในการแก้ปัญหาในชีวิตจริงของตนเองในวันข้างหน้า  รวมทั้งวิธีวิเคราะห์  สังเคราะห์ข้อมูล  เพื่อการตัดสินใจที่เหมาะสมกับการดำเนินชีวิตของตนเอง
            4.  ชุมชนและภูมิปัญญาในชุมชน  มีโอกาสมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาให้กับผู้เรียน  ซึ่งเป็นสมาชิกของชุมชน

          ลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่น  ลักษณะของหลักสูตรท้องถิ่น  มีลักษณะดังต่อไปนี้  ( กองพัฒนาการศึกษานอกโรงเรียน. 2543 : 5 )
            1.  เป็นหลักสูตรที่ตอบสนองความหลากหลายของปัญหามุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตให้เหมาะสมกับเพศ  วัย  มีความสมดุลทั้งด้านความรู้  ความคิด และทักษะเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ให้ผู้เรียนฝึกปฏิบัติจริงจนเกิดทักษะและสามารถนำไปใช้กับสถานการณ์อื่นได้อย่างเหมาะสม
            2. เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ท้องถิ่น  มีส่วนร่วมในการพัฒนาหลักสูตรของตนเอง  เพื่อให้ผู้เรียนได้รับประโยชน์จากการเรียนรู้ท้องถิ่นตนเอง  เป็นการเชื่อมโยงระหว่างการเรียนกับชีวิตจริงและการทำงาน  รวมทั้งปลูกฝังให้ผู้เรียนมีความรักและความผูกพันกับท้องถิ่นของตนมีการส่งเสริมให้ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการจัดการศึกษา
            3.  เป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตจริง  และมุ่งเน้นการเรียนรู้อย่างบูรณาการ  ไม่แยกส่วนของกระบวนการเรียนรู้  โดยผู้เรียนเป็นผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ด้วยตนเอง ครูจะเป็นผู้คอยให้คำแนะนำให้คำปรึกษา  และช่วยเหลืออำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ให้แก่ผู้เรียน  อันจะนำไปสู่การคิดเป็น  ทำเป็น  และสามารถแก้ไขปัญหาต่างๆ  ได้
            4.  เป็นหลักสูตรที่สามารถพัฒนาได้ตลอดเวลา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป
            5.  เป็นหลักสูตรที่ส่งเสริมให้ผู้เรียนเป็นคนที่มีคุณภาพของสังคมในด้านศีลธรรม  จริยธรรมและการธำรงไว้ซึ่งสังคมประชาธิปไตย  การรักษาสิ่งแวดล้อม  เกิดศรัทธาเชื่อมั่นในภูมิปัญญา และวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนและของประเทศชาติ

          กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  กระบวนการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  ประกอบด้วยขั้นตอนหลัก 4 ขั้นตอน  ดังนี้  ( กองพัฒนาการศึกษานอโรงเรียน. 2543 : 13 )
            ขั้นที่ 1  การสำรวจสภาพปัญหาของชุมชน
            ขั้นที่ 2  การวิเคราะห์สภาพปัญหาชุมชนและความต้องการของผู้เรียน
            ขั้นที่ 3  เขียนผังหลักสูตร
            ขั้นที่ 4  เขียนหลักสูตร

          1.  สำรวจสภาพปัญหาของชุมชน  คือ  การศึกษาข้อมูลเป็นอยู่ของชุมชน เพื่อให้ได้ซึ่งข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น  ผู้สำรวจได้แก่  ครูการศึกษานอกโรงเรียน  ผู้เรียน  และผู้เกี่ยวข้อง  โดยสำรวจข้อมูลจากเอกสารซึ่งเป็นข้อมูลทุติยภูมิ  เช่น  ข้อมูลจากการวางแผนของศูนย์บริการการศึกษานอกโรงเรียนอำเภอ  ข้อมูลจาก จปฐ. ข้อมูลจาก  กชช.2 ค  และจากหน่วยงานอื่นๆ  ที่ได้รวบรวมไว้แล้ว  และสำรวจข้อมูลปฐมภูมิที่ผู้สำรวจไปรวบรวมข้อมูลจากชุมชน เป็นข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง  ซึ่งเป็นข้อมูลที่แท้จริง และเป็นปัจจุบันของผู้เรียนและชุมชน
                ประเด็นในการสำรวจข้อมูล  เช่น  โครงสร้างด้านกายภาพ  และประวัติชุมชนข้อมูลประชากร  เศรษฐกิจ  การศึกษา  สังคม และวัฒนธรรม  การเมือง  การปกครองและข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของชุมชน
                วิธีการสำรวจสภาพปัญหาของชุมชน  อาจใช้หลายๆ  วิธีการผสมผสานกันเพื่อให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องสมบูรณ์และเป็นรูปธรรม  เช่น  การสัมภาษณ์  การใช้แบบสอบถาม  การสังเกต หรือการจัดเวทีประชาคม เป็นต้น

          2.  การวิเคราะห์สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน  เมื่อทำการสำรวจชุมชนเสร็จแล้ว  ข้อมูลที่ได้จะมีสภาพปัญหาของชุมชนที่หลากหลาย  มีทั้งปัญหาที่เป็นระดับความต้องการ (What) และปัญหาความจำเป็น (Need)  ดังนั้น จะต้องนำปัญหานั้นมาวิเคราะห์  จัดหมวดหมู่ของปัญหา  เช่น  แบ่งตามประเภทความรุนแรงของปัญหา  ความยากง่ายในการดำเนินการแก้ไขปัญหา  ความเร่งด่วนของปัญหา  และข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน และนำทรัพยากรใช้ให้เกิดประโยชน์

            3.  การเขียนผังหลักสูตร   การจัดทำผังหลักสูตรท้องถิ่น  ผังหลักสูตร  หมายถึง  กรอบความคิดหัวข้อของหลักสูตร  ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน  ประกอบด้วยหัวข้อเรื่อง  หรือหัวข้อเนื้อหาหลัก และหัวข้อย่อยที่ได้จากความต้องการ ( เป็นผลจากการวิเคราะห์สาเหตุของปัญหา  จากการสำรวจมาจากชุมชน )  ให้นำหัวข้อความต้องการมาจัดทำผังหลักสูตรท้องถิ่น  โดยโครงสร้างของผังหลักสูตร  ประกอบด้วย

                   หัวเรื่องหลัก ( Theme )  หรือหัวข้อเนื้อหาหลักเป็นหัวข้อที่บอกถึงชื่อเรื่องใหญ่ได้จากกลุ่มความต้องการ  ( ผลการวิเคราะห์สภาพปัญหา )  ซึ่งจะคลุมความต้องการย่อยๆ ในขอบข่ายเรื่องเดียวกัน

                   หัวข้อย่อย  ( Title )  เป็นหัวข้อเรื่องที่ตั้งจากความต้องการย่อยที่อยู่ในกลุ่มความต้องการใหญ่  ซึ่งอาจมีหลายเรื่อง  ในการพิจารณาหัวข้อย่อย  ให้พิจารณาความต้องการย่อยที่วิเคราะห์แล้วก่อน  ถ้าเรื่องใดเป็นเรื่องกลุ่มเดียวกัน  โดยรวมเป็นหัวข้อเดียวกัน
                   การสร้างกรอบหัวเรื่องย่อย  จะต้องจัดลำดับเนื้อหาจากง่ายไปสู่เนื้อหาที่ยากขึ้นตามลำดับ  หรือจัดลำดับจากความเร่งด่วน  ไปสู่เนื้อหาที่เร่งด่วนน้อยกว่าการสร้างกรอบหัวเรื่องย่อยสามารถสร้างเพิ่มเติมได้  ดังนั้น  ในแต่ละหัวข้อหลักควรมีกรอบว่างไว้ด้วยเมื่อพบปัญหาใหม่ในเรื่องเดียวกันก็สามารถมาใส่กรอบเพิ่มเติมได้  ดังตัวอย่าง

 2551-04-10-01

 

 2551-04-10-022551-04-10-03  

           4.  การเขียนหลักสูตรท้องถิ่น  การเขียนหลักสูตรท้องถิ่น  ทาบา ( Taba ; อ้างถึงในกองพัฒนาการศึกษานอกโรเรียน. 2543 )  มีแนวคิดว่าการพัฒนาหลักสูตร  ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอย่างไร  ควรมีองค์ประกอบ 4 ประการด้วยกัน คือ  1) วัตถุประสงค์ทั่วไปและวัตถุประสงค์เฉพาะวิชา  2) เนื้อหาวิชาและจำนวนชั่วโมงสอนแต่ละวิชา  3)  กระบวนการเรียนการสอนและ  4)  โครงการประเมินผลตามหลักสูตร
                ดังนั้น  การเขียนหลักสูตรท้องถิ่น ได้กำหนดโครงสร้างการเขียนหลักสูตรไว้ดังนี้ คือ
                        1.  ชื่อหลักสูตร
                        2.  ความสำคัญ
                        3.  จุดมุ่งหมาย
                        4.  วัตถุประสงค์
                        5.  เนื้อหาหลักสูตร
                        6.  เวลาเรียน
                        7.  แหล่งเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียน
                        8.  การวัดและประเมินผลการเรียน
                        9.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
                      10.  โครงสร้างเนื้อหาของหลักสูตร

            หลักในการเขียนหลักสูตร  หลักในการเขียนหลักสูตร มีดังนี้                     

                   1.  ความสำคัญ  หลักสูตรท้องถิ่น  เป็นหลักสูตรที่สถานศึกษาสามารถสร้างขึ้น  เพื่อแก้ปัญหาของผู้เรียนในด้านต่างๆ  รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นขึ้นมา  เพื่อสนองตอบต่อความต้องการเรียนรู้เรื่องใดเรื่องหนึ่งของชุมชน  โดยพัฒนาเนื้อหาสาระแบบมีส่วนร่วมของบุคคลหลายๆ  ฝ่ายอย่างเป็นระบบ  มีขั้นตอน และเนื้อหาเฉพาะเจาะจง  เพื่อให้ผู้เรียนบรรลุผลตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตร  ซึ่งสามารถตอบสนองความต้องการของตนเอง  ชุมชน และสังคมในภาพรวมได้
                   2.  จุดมุ่งหมาย ( Aims )   หมายถึง  ข้อกำหนดทั่วไปที่แสดงให้เห็นถึงลักษณะและทิศทางเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติที่ชัดเจน  ที่ออกแบบไว้ให้บรรจุ ซึ่งผลผลิต หรือพฤติกรรมในอนาคต

                 ตัวอย่างจุดมุ่งหมายของอาชีพโฮมสเตย์

                  1.  เพื่อให้ชุมชนท้องถิ่นได้พัฒนาคุณภาพชีวิต
                  2.  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนในท้องถิ่นมีความรู้และทักษะความสามารถจัดการท่องเที่ยวในชุมชนได้

                   3.  วัตถุประสงค์ ( Objective )   เป็นคำที่มีความเฉพาะเจาะจงเป็นเครื่องบ่งชี้ผลลัพธ์กับหลักสูตร เป็นลักษณะจุดประสงค์ปลายทาง

                    ตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์

                     วัตถุประสงค์  เพื่อให้ผู้เรียน

                     1.  มีความรู้  ความเข้าใจ  ในเรื่องการจัดการโฮมสเตย์  ( Home  Stay )
                     2.  สามารถบริหารจัดการโฮมสเตย์  และจัดกิจกรรมนำเที่ยวได้
                     3.  มีความตระหนัก และมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม การอนุรักษ์วัฒนธรรมของท้องถิ่น

                   4.  เนื้อหาหลักสูตร  เป็นการนำหัวข้อหลัก ( Theme )  ที่กำหนดไว้มาเขียน ซึ่งเนื้อหาสาระของหลักสูตร  จะต้องตอบสนองต่อการบรรลุตามวัตถุประสงค์ของหลักสูตรบาทา  ( Taba. 1973 : อ้างถึงใน หรรษา  นิลวิเชียร. 2544 : 126 )  เสนอแนะเกณฑ์ในการเลือกเนื้อหาของหลักสูตร  ซึ่งเนื้อหาของหลักสูตรจะต้องถูกต้องและมีความสำคัญ  ซึ่งสะท้อนให้เห็นความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่ทันสมัยและเป็นความรู้พื้นฐานที่สำคัญ  เนื้อหาจะต้องสอดคล้องกับสภาพสังคมและวัฒนธรรมในปัจจุบัน  มีความสมดุลทั้งความกว้างและความลึก  สนองวัตถุประสงค์หลากหลายอันได้แก่การหาความรู้ใหม่  การคิดอย่างประสิทธิภาพ  เจตคติ  ความสนใจ  นิสัยที่เหมาะสมและทักษะสอดคล้องกับประสบการณ์ของผู้เรียน  และผู้เรียนสามารถเรียนได้  และสอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของผู้เรียน

                   5.  เวลาเรียน  ให้ระบุเวลาเรียนตลอดหลักสูตร  ใช้เวลากี่ชั่วโมง  และแยกเป็นภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ  ใช้เวลาทั้งหมดกี่ชั่วโมง  การกำหนดเวลาเรียนต้องมีความเหมาะสมกับเนื้อหาและวิธีการสอน

                   6.  แหล่งการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียน  บอกแหล่งการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียน  เช่น  ศึกษาจากเอกสารวิชาการ  ศึกษาจาก VCD  ศึกษา Website ศึกษาจากผู้รู้ และภูมิปัญญาท้องถิ่น  เป็นต้น

                   7.  การวัดและประเมินผล  ระบุว่ามีการวัด และประเมินผลด้วยวิธีใด  เช่น  การสังเกต  การทดสอบ  การวัดจากชิ้นงาน  เป็นต้น

                   8.  ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ   บอกความคาดหวังของผลลัพธ์ทางการศึกษา  ทั้งในระดับกว้างและระดับเฉพาะ  เช่น
                         1.  ผู้เรียนสามารถบริหารจัดการโฮมสเตย์ได้
                         2.  ผู้เรียนและชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น  เกิดความเข้มแข็งของเศรษฐกิจของชุมชน
                         3.  ชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา  เพื่อพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์

                   9. โครงสร้างเนื้อหาของหลักสูตร        ให้นำหัวข้อหลักและหัวข้อย่อย เนื้อหาของหลักสูตรในแต่ละเรื่องทั้งหมดมาเขียนไว้พร้อมระบุจำนวนชั่วโมง  ในแต่ละหัวข้อหลัก

                        ตัวอย่างการเขียนหลักสูตรท้องถิ่น  มีดังต่อไปนี้

  ตัวอย่างแบบการเขียนหลักสูตรท้องถิ่น 

ชื่อหลักสูตร …………………

ความสำคัญ

            ……………………………………………………………………
……………………………………………………………………………
……………………………………………………………………………
………………………………………………..

จุดมุ่งหมาย

            1. ……………………………………………………………………….
…………………………………………………….

            2. ………………………………………………………………………………….
………………………………………….

วัตถุประสงค์

            1. ………………………………………………………………………………
……………………………………………..

            2. ………………………………………………………………………………..
……………………………………………

            3. …………………………………………………………………………..
…………………………………………………

เนื้อหาของหลักสูตร

            ประกอบด้วยเนื้อหา ……….. เรื่อง  ดังนี้

            1. …………………………………………………………………………..
…………………………………………………

            2. ……………………………………………………………………..
………………………………………………………

            3. ……………………………………………………………………..
………………………………………………………

            4. ……………………………………………………………………..
………………………………………………………

เวลาเรียน

            หลักสูตรวิชาชีพ   …………………………. ใช้เวลาเรียนทั้งหมด ……… ชั่วโมง

            ภาคทฤษฎี …………….. ชั่วโมง

            ภาคปฏิบัติ …………….. ชั่วโมง

แหล่งการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียน

            1. ……………………………………………………………………..
………………………………………………………

            2. ……………………………………………………………………..
………………………………………………………

            3. ……………………………………………………………………..
………………………………………………………

            4. …………………………………………………………………….
……………………………………………………….

 การวัดผลประเมินผลการเรียน

            วิธีการวัดและประเมินผลการเรียน  ประกอบด้วย

            1. …………………………………………………………………….
……………………………………………………….

            2. ……………………………………………………………………
………………………………………………………..

            3. ……………………………………………………………………
………………………………………………………..

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

            1. …………………………………………………………………….
……………………………………………………….

            2. ………………………………………………………………….
………………………………………………………….

            3. ………………………………………………………………….
………………………………………………………….

            4. ………………………………………………………………….
………………………………………………………….

โครงสร้างเนื้อหาของหลักสูตร  ประกอบด้วยเนื้อหา ………. เรื่อง  ดังนี้

            เรื่องที่ 1 …………………………………………………… จำนวน ………………. ชั่วโมง

            1.1 ………………………………………………………………
…………………………………………………………….

            1.2 ………………………………………………………………
…………………………………………………………….

            1.3 ……………………………………………………………..
……………………………………………………………..

            เรื่องที่ 2 …………………………………………………… จำนวน ………………. ชั่วโมง

            2.1 …………………………………………………………….
………………………………………………………………

            2.2 ……………………………………………………………
……………………………………………………………….

            2.3 ……………………………………………………………
……………………………………………………………….

 

   ( ตัวอย่าง )  หลักสูตรท้องถิ่น

ชื่อหลักสูตร      หลักสูตรการพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์

ความสำคัญ     

            การพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์  เป็นรูปแบบของการประกอบอาชีพของประชาชน  โดยได้นำต้นทุนทางสังคม คือ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาบริหารจัดการและเพิ่มมูลค่าจูงใจให้นักท่องเที่ยวเข้ามาสัมผัสกับการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในรูปแบบโฮมสเตย์  ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาโฮมสเตย์  ยึดหลักการของการศึกษาตลอดชีวิต  โดยให้สังคมเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษา  เน้นการพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน  ควบคู่กับสร้างองค์ความรู้ให้กับผู้ประกอบการโฮมสเตย์  ภายใต้ยุทธศาสตร์การใช้ต้นทุนทางธรรมชาติ  ทุนทรัพยากรบุคคล  ทุนภูมิปัญญาและแหล่งเรียนรู้  ทุนทางวัฒนธรรม  ทุนงบประมาณของรัฐ และทุนทางความรู้มาใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้
            การศึกษาเพื่อพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์  เป็นการจัดการกิจกรรมการเรียนรู้ที่เสริมสร้างศักยภาพให้ผู้ประกอบอาชีพโฮมสเตย์มีความรู้  และสามารถพัฒนาตนเองและกลุ่มไปสู่การบริหารจัดการที่มีมาตรฐาน เป็นไปตามหลักการของโฮมสเตย์ ซึ่งเกี่ยวข้องกับตนเอง  บุคคลภายนอก  ได้แก่  นักท่องเที่ยวและเครือข่าย  นำไปสู่การเชื่อมโยงองค์ความรู้ที่หลากหลาย ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ตรงของการจัดกิจกรรมการท่องเที่ยวของชุมชน  โดยชุมชน

จุดมุ่งหมาย

            1.  เพื่อให้ชุมชนในท้องถิ่น ได้พัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น โดยนำหลักของการจัดโฮมสเตย์มาพัฒนา
            2.  เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชน ท้องถิ่นมีความรู้  เกิดทักษะการจัดการท่องเที่ยวของชุมชนเพื่อชุมชน

วัตถุประสงค์  เพื่อให้ผู้เรียน
            1.  เพื่อให้ผู้เรียนมีความรู้และความเข้าใจแนวทางการพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์
            2.  เพื่อให้ผู้เรียนมีการพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์ได้อย่างเหมาะสมกับสภาพพื้นที่
            3.  เพื่อให้ผู้เรียนความสามารถในการบริหารจัดการอาชีพโฮมสเตย์ได้
            4.  เพื่อให้ผู้เรียนมีทักษะในการจัดกิจกรรมโฮมสเตย์ได้อย่างมีมาตรฐาน

เนื้อหาของหลักสูตร   ประกอบด้วยเนื้อหา 12  เรื่อง  ดังนี้
            1.  สถานการณ์การท่องเที่ยวอดีต  ปัจจุบัน และอนาคต
            2.  นโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2546 – 2549
            3.  ความรู้พื้นฐานในการจัดโฮมสเตย์
            4.  แนวทางการจัดกิจกรรมนำเที่ยว
            5. เทคนิคการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์
            6.  เทคนิคการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์
            7.  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเป็นมัคคุเทศก์
            8.  แนวทางการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวโฮมสเตย์
            9.  การศึกษาดูงานในแหล่งประกอบการโฮมสเตย์
          10.  เทคนิคการประกอบอาหารสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์
          11.  การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
          12.  ภาษาอังกฤษ เพื่อการท่องเที่ยวสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์

เวลาเรียน        

            หลักสูตรการพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์  ใช้เวลาเรียนทั้งหมด 48 ชั่วโมง
            ภาคทฤษฎี         27  ชั่วโมง
            ภาคปฏิบัติ         21  ชั่วโมง

แหล่งการเรียนรู้และสื่อประกอบการเรียน
            1.  เนื้อหาวิชาการพัฒนาอาชีพโฮมสเตย์  ประกอบด้วยเนื้อหา  12  เรื่อง
            2.  ศึกษาดูงานสถานประกอบการภายใน  ภายนอก
            3.  ใบความรู้
            4.  การพบกลุ่มเรียนรู้

การวัดผลประเมินผลการเรียน  วิธีการวัดและประเมินผลการเรียน  ประกอบด้วย
            1.  การสังเกตพฤติกรรมการเรียนรู้ / การรับรู้ / การมีส่วนร่วม
            2.  การสังเกตการปฏิบัติจริงในการรับนักท่องเที่ยว
            3.  สมุดเยี่ยมแสดงความคิดเห็นของนักท่องเที่ยว
            4.  กิจกรรมของกลุ่ม

ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ

            1.  ผู้เรียนมีความรู้ และความเข้าใจ การบริหารจัดการโฮมสเตย์
            2.  ผู้เรียนมีแนวทางการพัฒนาโฮมสเตย์ได้อย่างยั่งยืน
            3.  ผู้เรียนมีทักษะการบริหารจัดการโฮมสเตย์
            4.  ผู้เรียนสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการบริหารจัดการโฮมสเตย์ได้

โครงสร้างเนื้อหาของหลักสูตร  ประกอบด้วยเนื้อหา 12  เรื่อง ดังนี้

            เรื่องที่ 1  สถานการณ์การท่องเที่ยวอดีต  ปัจจุบันและอนาคต  จำนวน 3  ชั่วโมง   
                          1.  สถานการณ์การท่องเที่ยวอดีต  ปัจจุบัน  และอนาคต
                          2.  บทบาทการท่องเที่ยวของไทย

             เรื่องที่ 2  นโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2546 – 2549  จำนวน 3  ชั่วโมง        
                          1.  นโยบายการท่องเที่ยวของประเทศไทย ปี พ.ศ. 2546 – 2549
                          2.  นโยบายด้านการบริการและการท่องเที่ยว
                          3.  นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

            เรื่องที่ 3  ความรู้พื้นฐาน และมาตรฐานการจัดการโฮมสเตย์  จำนวน 4  ชั่วโมง  
                          1.  ความรู้พื้นฐานในการจัดโฮมสเตย์
                          2.  มาตรฐานการจัดโฮมสเตย์

            เรื่องที่ 4  แนวทางการจัดกิจกรรมนำเที่ยว  จำนวน 4  ชั่วโมง
                          1.  รายการนำเที่ยว
                          2.  การจัดทำรายการนำเที่ยว
                          3.  การเสนอรายการนำเที่ยวแก่นักท่องเที่ยว

            เรื่องที่ 5  เทคนิคการต้อนรับนักท่องเที่ยว จำนวน 4  ชั่วโมง  
                          1.  การต้อนรับนักท่องเที่ยว
                               1.1  หลักในการให้การต้อนรับ
                               1.2  ลักษณะการต้อนรับที่ดี
                               1.3  คุณสมบัติของผู้ทำงานต้อนรับ
                               1.4  ข้อควรระวังในการต้อนรับ

                          2.  การบริการนักท่องเที่ยว
                               2.1  วิธีปฏิบัติในการให้บริการที่เป็นเลิศ
                               2.2  เทคนิคการบริการสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์
                               2.3  ความหมายและความสำคัญของการต้อนรับและการให้บริการ

            เรื่องที่ 6  เทคนิคการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์  จำนวน 4  ชั่วโมง 
                          1.  เทคนิคการบริการสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์
                          2.  ความหมาย  ลักษณะ  คุณสมบัติของผู้ให้บริการ
                          3.  วิธีปฏิบัติการให้บริการที่เป็นเลิศ

            เรื่องที่ 7  ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับการเป็นมัคคุเทศก์  จำนวน 4  ชั่วโมง   
                          1.  ความหมายนของมัคคุเทศก์
                          2.  ประโยชน์ของมัคคุเทศก์
                          3.  บทบาทและหน้าที่ของมัคคุเทศก์
                          4.  ความรู้ทั่วไปสำหรับมัคคุเทศก์
                          5.  มนุษย์สัมพันธ์ของมัคคุเทศก์
                          6.  บุคลิกภาพของมัคคุเทศก์
                          7.  การให้บริการที่ดีของมัคคุเทศก์
                           8. ปัจจัยและหลักการสำคัญของมัคคุเทศก์

            เรื่องที่ 8  แนวทางการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวโฮมสเตย์  จำนวน 3  ชั่วโมง
                          1.  ความหมายของการมีส่วนร่วมของชุมชนและการสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว
                          2.  องค์ประกอบการท่องเที่ยว
                          3.  การสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยว

            เรื่องที่ 9  การศึกษาดูงานในแหล่งประกอบการโฮมสเตย์  จำนวน 7  ชั่วโมง 
                          1.  องค์ประกอบสำคัญของการศึกษาดูงานในแหล่งประกอบการ
                          2.  ขั้นตอนการเรียนรู้ในระหว่างการศึกษาดูงาน
                          3.  ข้อเสนอแนะข้อดีและข้อจำกัดของการศึกษาดูงาน

            เรื่องที่ 10  เทคนิคการประกอบอาหารสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์  จำนวน 3  ชั่วโมง           
                          1.  ความหมายของอาหารสารอาหารการโภชนาการ
                          2.  อาหารหลัก 5 หมู่
                          3.  เคล็ดลับในการปรุงอาหารประเภทต่างๆ

            เรื่องที่ 11  การปฐมพยาบาลเบื้องต้น  จำนวน 3  ชั่วโมง   
                          1.  การปฐมพยาบาลเบื้องต้น
                          2.  หลักทั่วไปในการปฐมพยาบาล
                          3.  การปฐมพยาบาลในลักษณะต่างๆ

            เรื่องที่ 12  ภาษาอังกฤษเพื่อการท่องเที่ยวสำหรับผู้ประกอบการโฮมสเตย์  จำนวน 6  ชั่วโมง     
                          1.  คำศัพท์การทักทายทั่วไป
                          2.  คำศัพท์จำนวนนับ
                          3.  คำศัพท์เกี่ยวกับอาหาร

 

*************************

 

อ้างอิงบทความนี้
อัญชลี  ธรรมะวิธีกุล: https://panchalee.wordpress.com/2009/04/10/local_curriculum/

93 Replies to “การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น”

  1. อ่านแล้วได้ความรู้มากๆ เลยครับ
    เป็น Best Practice ที่เยี่ยมมากครับ
    เป็นกำลังใจให้ครับ

    ขอบคุณครับ
    วิทยา ส.
    นศ.ป.โท ม.อีสาน ศูนย์สมุทรปราการ

  2. สวัสดีค่ะ สน.ขิง
    ขอบคุณท่านมากที่มาเป็นแรงใจและมาแนะนำจนทำให้การงานทำงานของ กศน.ตรอน เป๊นที่เข้าใจมากขึ้น ดิฉันตั้งใจว่าจะทำให้เต็มที่ สมกับที่ท่านสละเวลามาให้ความรู้กับพวกเรา สู้ๆๆๆๆๆๆค่ะ

    1. ขอบคุณ ชาว กศน. ตรอนทุกท่านค่ะ ที่ให้การต้อนรับ และดูแลดิฉัน เป็นอย่างดี และฝากขนมสาลี่กรอบที่มีชื่อของเมืองตรอนมาให้ ขอบคุณมากค่ะ
      อาจารย์ขิง

      1. เรียนอาจารย์ขิง ดิฉันสนใจจะทำหลักสูตรท้องถิ่น ปั้้นดินให้เป็นดาว เนื่องจากในชุมชน มีการปั้นดินเป็นกระถาง ฯลฯ จึงอยากทำหลักสูตรท้องถิ่นสอน ป1-ป6 อยากให้อาจารย์เขยนแนวมาให้ดู ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงคะ่

      2. สวัสดีค่ะอาจารย์ศรีสุภาพ
        ต้องศึกษามูลเกี่ยวกับหลักสูตรนี้ 1.ความสำคัญ เช่น ในท้องถิ่นมีดินที่มีคุณสมบัติสามารถนำไปทำเครื่องปั้นดินเผาได้ มีภูมิปัญญาท้องถิ่นมีองค์ความรู้เรื่่องเครื่่องปั้นดินเผา เครื่องปั้นดินเผาเป็นอาชีพที่ทำในท้องถิ่นสืบทอดกันมานาน ฯลฯ 2. จุดมุ่งหมายของการจัดทำหลักสูตรนี้มีจุดมุ่งหมายอะไร 3.มีจุดประสงค์การเรียนรู้อะไรบ้าง 4. กรอบเนื้อหา เช่น 1) ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเครื่องปั้นดินเผา 2. วัสดุ/อุปกรณ์ในการทำเครื่องปั้นดินเผา 3.รูปแบบของเครื่องปั้นดินเผาที่จะสอน(กระถาง/ตุ๊กตา/ถ้วย/จาน/ชาม/หม้อ) 3.ขั้นตอนในการทำแต่ละรูปแบบ 4. การจัดการ เช่นการบรรจุภัณฑ์ การขาย การทำบัญชี
        จากนั้นอาจารย์ไปดูตัวอย่างหลักสูตรมีหลายหลักสูตร ใน Panchalee blog ลองเขียนดู แล้วส่งมาให้อ่านทาง Mail anchalee@nfe.go.th ค่ะ
        อาจารย์ขิง

  3. อาจารย์ขิงคะขอบคุณมากค่ะท่ให้ความรู้เรื่องหลักสุตรท้องถิ่นทำให้ตาสว่างขึ้นมากเลย ขอบคุณจริง ๆ

    1. อาจารย์น้อย ที่รัก
      ขอบคุณที่เข้ามาทักทาย และขออวยพรให้ผลงานทางวิชาการผ่านฉลุย นะคะ
      อาจารย์ขิง

  4. สวัดีคะ หนูกำลังเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตรและการสอน ซึงในเนื้อหาจะมีหัวข้อ กระบวนการพัฒนาหลักสุตรท้องถิ่น (สาระการเรียนรู้ท้องถิ่น ) หนูอยากขอคำแนะนำจากอาจารย์ด้วยคะ่ ขอบคุณค่ะ

    1. เรียน คุณปัณณวิช ที่เคารพ
      ขอบคุณที่เข้ามาทักทาย และดีใจมากที่บทความเรื่องการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น เป็นประโยชน์ต่อศึกษา ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  5. ขอบคุณมากครับ ที่ให้ความรู้เพิ่มเติม ผม ไม่ใช่นักวิชาการมาก่อน แต่บังเอิญมาเรียนต่อ สาขาหลักสูตรและการสอน ก็เลยต้องค้นคว้าให้หนักหน่อย ขอบคุณมากนะครับ
    นักศึกษา ป.เอก

    1. คุณสมพร ที่เคารพ
      ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม Panchalee Blog ถ้ามีอะไรที่ดิฉันพอจะให้ข้อมูลได้ ก็ยินดีค่ะ
      อาจารย์ขิง

  6. ขอบคุณค่ะ ได้ความรู้เรื่องการทำหลักสูตรท้องถิ่นมากขึ้น
    และกำลังจะทำหลักสูตรท้องถิ่น ส่งอาจารย์ด้วย
    ทำให้มีแนวทางในการทำ โดยเฉพาะตัวอย่าง
    ขออนุญาตไปใช้ประโยชน์ต่อนะค่ะ

  7. สวัสดีค่ะ คุณครูอัญชลี
    ขอขอบคุณสำหรับความรู้ที่คุณครูได้มอบให้ค่ะ พอดีดิฉันช่วยนศ.ชาวต่างชาติศึกษาเกี่ยวกับการเขียนและพัฒนาหลักสูตรภูมิปัญญาท้องถิ่น ซึ่งบล็อกของคุณครูได้ให้ความรู้กับพวกเรามากมายเลยค่ะ

    ขอขอบพระคุณอีกครั้งค่ะ
    อาจารย์ปอย

    1. เรียน คุณอนุสรา ที่เคารพ
      ขอบคุณที่เข้ามาเยี่ยม Panchalee blog รู้สึกประทับใจ และเป็นเกียรติมากสำหรับดิฉันกับคำว่า “คุณครู”
      อาจารย์ขิง

  8. ^^ ขอบพระคุณสำหรับความรู้ที่มีประโยชน์น่ะค่ะ
    กำลังค้นข้อมูลการทำหลักสูตรท้องถิ่นอยู่เลย มีประโยชนืมากจริงๆ ค่ะ
    ขอบพระคุณค่ะ

  9. เรียน อ.ขิงที่เคารพ อาจารย์ช่วยสร้างตัวอย่างหลักสูตรท้องถิ่นที่เป็นหลักสูตรบูรณาการระดับมัธยมศึกษาตอนต้นให้ดูได้ไหมคะ เรื่องการประกอบอาชีพ ไร่อ้อยค่ะ และต้องบูรณาการกับทุกสาระการเรียนรู้ครบทุกกลุ่มสาระ ๘ กลุ่ม ด้วยนะคะแล้วแต่ละสาระก็ต้องมีเวลาที่เท่า ๆ กัน ไม่เว้นแม้แต่วิชาสุขศึกษาค่ะ อย่าลืมวิชาประวัติศาสตร์และแนะแนวด้วยค่ะ มีกรอบของแต่ละชั้นดังนี้ค่ะ ม.๑ เรื่องการทำปุ๋ย ม.๒เรื่องการปรับปรุงดิน ม.๓ เรื่องการตลาด ใช้เวลาเรียน๓ชั่วโมง/สัปดาห์ค่ะ ( เรียนภาคบ่ายทุกวันจันทร์ ) เป็นเวลา ๔๐ สัปดาห์ ดิฉันนึกภาพไม่ออกว่าจะทำอย่างไรเพราะถูกสั่งให้มาทำโดยคนสั่งกำหนดมาตามที่บอกอาจารย์ขิงนั่นหละค่ะ เขาให้มาจัดตารางเฉพาะวันที่เรียน(ภาคบ่ายทุกวันจันทร์)ส่วนวันเวลาอื่น ๆ ก็เรียนกันตามปกติค่ะ ขอบคุณมากหากอ.ขิง มีอะไรจะชี้แนะก็จะดีใจมาก ๆ และขอบคุณมาก ๆ นะคะ เพราะลึก ๆ แล้วมีครูหลายคนที่ไม่เห็นด้วยเนื่องจากสภาพรายวิชาบางวิชานั้นไม่เอื้ออำนวยให้สอนได้จริง ด้วยเวลาที่กำหนดมาแบบนี้ค่ะ

    1. เรียน อาจารย์ประไพพิศ ที่เคารพ
      การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น ต้องเป็นหลักสูตรที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนและชุมชน การพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นถ้านำมาใช้ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต้องมีความสัมพันธ์กับสาระการเรียนรู้และมาตรฐานการเรียนรู้ ดังนั้นการกำหนดว่า เป็นวิชาประกอบอาชีพไร่อ้อย บูรณาการกับ 8 สาระ และแต่ละสาระต้องมีเวลาเท่า ๆ กัน ม1 ทำปุ๋ย ม.2 ปรับปรุงดิน และ ม.3 ตลาด
      สอน 3 ชม./สัปดาห์ รวมแล้ว 120 ชั่วโมง เท่ากับ 3 หน่วยกิต เรื่องเวลาเรียนและจำนวนชั่วโมง และจำนวนหน่วยกิต ไม่มีปัญหา แต่การ 8 สาระมาบูรณาการให้มีเวลาเท่า ๆ กัน ไม่น่าจะมีความเป็นไปได้ แต่ถ้านำ 8 สาระมาบูรณาการ ให้เป็นไปตามความเหมาะสม คิดว่า คงพัฒนาได้ การจัดการเรียนการสอน ของ กศน. เราจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา ซึ่งมีทั้งวิชาบังคับและวิชาเลือก
      ในแต่ละภาคเรียนถ้าต้องการจัดการเรียนการสอนแบบบูรณาการ เราจะนำรายวิชาที่สามารถบูรณาการกันได้มาจัดทำแผนการเรียนรู้แบบบูรณาการ จัดทำเป็นหน่วยการเรียนรู้แล้วจัดการเรียนการสอน และวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ จะทำให้ไม่เป็นปัญหากับโครงสร้างหลักสูตร และการวัดผลประเมินผล ดิฉันจะลองนำแนวคิดของสถานศึกษาของอาจารย์ไปเป็นการบ้าน นะคะ ถ้าสมาชิก Panclee Blog ท่านใดมีข้อแนะนำดี ๆ ช่วยบอกด้วย นะคะ
      อาจารย์ขิง

  10. ได้ความรู้มากมายเลยครับอาจารย์

    ตอนนี้ผมเรียนการจัดทำหลักสูตรอยู่ครับ

    ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ให้ความรู้เป็นแนวทางในการศึกษาของผมด้วยนะครับ

    ขอบคุณครับ

  11. นาย ชูเชิด เสริฐฉาย นศ.คณะศึกษาศสตร์ ภาควิชาหลักสูตรและการสอน มหาวิทยาลัยรามคำแหง. พูดว่า:

    เรียน อัญชลี ธรรมะวิธีกุล ที่เคารพและนับถืออย่างสูง

    กระผม นาย ชูเชิด เสริฐฉาย นศ.คณะศึกษาศาสตร์ ภาควิชาหลักสูตร
    และการสอน มหาวิทยาลัยรามคำแหง. กำลังหาข้อมูลทำรายงานเรื่องนี้อยู่ครับ
    ข้อมูลที่ได้มาเป็นประโยชน์มากครับ ขอบพระคุณมากนะครับอาจารย์

    ด้วยความเคารพและนับถือสูง

    นาย ชูเชิด เสริฐฉาย

      1. ครับผม…ขนลุกเลยครับผมไม่คิดเลยว่าท่านอาจารย์คนสวยจะตอบกลับครับอาจารย์คงได้ร่วมสร้างบุญกับผมมาคือว่าผมกำลังเขียนวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาเอก สาขาวัฒนธรรมศาสตร์ของม.มหาสารคามประเด็นที่ผมเขียนไม่ออกคือ…ภายหลังจากการประชุมเชิงปฏิบัติการนั้นลืมบอกไปว่าผมทำงานวิจัยเชิงคุณภาพ…ประมาณว่าหัวข้อวิจัยมีเนื้อหาเกี่ยวกับภูมิปัญญาหมอพื้นบ้านประมาณนั้นครับ โจทย์วิจัยข้อที่ 3 เกี่ยวกับการนำเสนอรูปแบบการประยุกต์ภูมิปัญญาพื้นบ้าน…เข้าสู่ประเด็นที่ว่ามีอยู่ข้อหนึ่งที่ผู้ร่วมประชุมบอกว่าควรประยุกต์โดยการจัดให้มีหลักสูตรท้องถิ่นครับ…แต่ในที่ประชุมไม่ได้บอกรายละเอียดขั้นตอนมากครับผมจึงบังเอิญเข้ามาหาข้อมูลในเวบจนมาพบท่านอาจารย์คนสวยครับที่เขียนเนิ้อหาขั้นตอนกระบวนการการทำหลักสูตรท้องถิ่นได้ดีมาก…ผมกราบขอบคุณอีกครั้งครับและขออนุญาตท่านอาจารย์คนสวยที่เคารพนำข้อมูลไปอ้างอิงตามหลักเกณฑ์ฯนะครับอนุโมทนาอีกครั้ง…ถ้าไม่รังเกียจกระผมขอเบอรฺติดต่อด้วยนะครับ

  12. รักษาสุขภาพด้วยนะครับบังเอิญพิมพ์เร็วไปหน่อยเพราะต้องไปรับพี่สาวฯ
    ถ้าท่านอาจารย์ขิงคนสวยมาเที่ยวแถวจันท์บุรีก็ติดต่อผมได้นะครับขอบคุณครับ

  13. ขอบคุณข้อมูลของอาจารย์ขิงนะคะ ดิฉันรับผิดชอบงานวิชาการโรงเรียนเลยเข้ามาค้นข้อมูลเกี่ยวกับหลักสูตรท้องถิ่นพบข้อมูลของอาจารย์ ขอนำไปประยุกต์ใช้นะคะเพราะข้อมูลของอาจารย์อ่านแล้วเข้าใจง่าย คิดว่าสามารถนำไปทำได้จริง ขอบคุณอีกครั้งค่ะ ครูไหม ประจวบคีรีขันธ์

    1. สวัสดีค่ะครูไหม

      บทความเรื่องการพัฒนาหลักสูตรท้องเกิดจากความรู้ทางทฤษฎีเป็นพื้นฐานและนำไปปฏิบัติ คือพา ครู กศน.พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น แล้วนำมาเขัยนเป็นบทความ ทำให้ดิฉันพบว่าเมืองไทยเรามีของดีอยู่เยอะมากเก็บมาทำเป็นหลักสูตรท้องถิ่นไม่มีวันหมด เพียงแค่คำขวัญจังหวัดหรือคำขวัญอำเภอนำมาพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น ให้เด็ก ๆได้เรียนเป็นการบ่มเพาะความเป็นไทยตั้งแต่เด็ก ๆ รับรองว่าเขาโตขึ้นจะเป็นเด็กดี ดิฉันมีความสุขมากที่ไปพาครู กศน.พัฒนาหลักสูตรท้องถิ่น ขอบคุณครูไหมที่มาเยี่ยม Panchalee blog ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  14. สวัสดีค่่ะ อาจารย์ขิง ดิฉันรับผิดชอบงานวิชาการ เหมือน ครูไหมเลยค่ะ แต่ว่าอยู่เกาะสมุยค่ะและกำลังศึกษาต่อปริญญาโทสาขาการบริหารการศึกษา ซึ่งต้องค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นแล้วมาเจอบทความของอาจารย์ทำให้เข้าใจการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นมากเลยค่ะ เพราะเนื้อหาละเอียดและเข้าใจง่าย จึงขออนุญาตนำข้อมูลของอาจารย์ไปประกอบและอ้างอิงในการทำรายงานนะคะ ขอบคุณค่ะ

  15. สวัสดีค่ะ มีเรื่องเกี่ยวกับการทำหลักสูตรท้องถิ่นมาถามค่ะ คือว่า หนูทำหลักสูตรเรื่อง การปลูกต้นแก้วมังกร เท่าที่ได้ดูตัวอย่างของอาจารย์ Panchalee แล้ว ทำให้หนูเข้าใจมากขึ้นว่าต้องทำอย่างไร แต่หนูก็ยังสงสัยค่ะว่า เนื้อหาของหลักสูตร เราบอกแค่หัวข้อใช่ไหมค่ะ แล้วส่วนที่เป็นรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการปลูก หรืออุปกรณ์ในการปลูกหรือที่เป็นเนื้อหาต่างๆ เราต้องใส่ด้วยไหมค่ะ ถ้าใส่ควรจะใส่ในส่วนค่ะ
    รบกวนช่วยตอบคำถามด้วยนะค่ะ ขอบคุณมากค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณ Brow
      เนื้อหาของหลักสูตร เราจะเขียนเพียงกรอบเนื้อหา ซึ่งจะมีหัวเรื่องหลัก(Theme) และหัวเรื่องย่อย(Title) เพื่องให้มองเห็นขอบข่ายเนื้อหา หัวเรื่องย่อยอาจจะมีเพิ่มได้แต่ไม่ควรเยอะมาก ส่วนรายละเอียดจะไปปรากฎในแผนการสอน และเอกสารประกอบการสอน ค่ะ
      อาจารย์ขิง

      1. ขอบคุณมากค่ะอาจารย์ขิง คืออาจารย์ผู้สอนของหนูบอกว่าให้ทำเป็นรูปเล่ม ต้องมี คำนำ สารบัญ บรรณานุกรมไหมค่ะ แล้วหน้าปกเป็นแบบไหน มีอะไรบ้างค่ะ หนูเรียนวิชาหลักสูตร อาจารย์ไม่สอนวิธีการทำค่ะ มีแต่สั่งให้มาทำ

  16. สวัสดีครับอาจารย์ ได้เข้ามาอ่านข้อความรู้ที่ละเีอียด การช่วยเหลือตอบปัญหา ความต้องการของผู้เข้ามาศึกษาแล้ว ชื่นชมความรู้ ความสามารถ และ ความมีนำ้ใจของอาจารย์จริงๆครับ ขอบพระุคุณในความรู้ที่เผยแพร่เป็นสาธารณะครับ

    1. สวัสดีค่ะคุณประสาน
      ขอบคุณที่ให้กำลังใจ กำลังใจเป็นต้นทุนที่สำคัญที่ทำให้ดิฉัน พัฒนา Panchalee blog ได้มาถึงทุกวันนี้ค่ะ
      อาจารย์ขิง

      1. อยากทราบว่าหลักสูตรท้องถิ่นจัดอยู่ในหลักสูตรของการศึกษาเลยไหมค่ะ
        แบบว่าทุกโรงเรียนต้องมีหรือไม่มีก็ได้ค่ะ

      2. สวัสดีค่ะคุณโบว์
        หลักสูตรท้องถิ่นการอธิบายขออธิบายเป็นสองคาวมหมาย
        1 ในความหมายของการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ไม่ว่าจะเป็นการจัดการศึกษาในระบบหรือการจัดการศึกษานอกระบบ จะมีหลักสูตร 3 ระดับ คื
        1)หลักสูตรระดับชาติ(curriculum) ซึ่งประมวลความรู้ความรู้และประสบการณ์ เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะ และคุณลักษะตามที่กำหนดไว้ เป็นการกำหนดทิศทางในการพัฒนาผู้เรียนผู้เรียนไปสู่มาตรฐานการเรียนรู้ ซึ่งเป็นเป้าหมายของการจัดการศึกษา และการกำหนดการวัดผลและประเมินผลการเรียนรู้ เพื่อให้ทราบความก้าวหน้าของผู้เรียนในการพัฒนาไปสู่มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการเป็นผู้อนุมัติหลักสูตร
        2)หลักสูตรสูตรสถานศึกษา( School – Based Curriculum) คือการนำโครงสร้างหลักสูตรระดับชาติ มาจัดทำแนวทางในการจัดการเรียนรู้ ซึ่งจัดทำโดยคณะบุคคลของสถานศึกษา และผู้เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนาผู้เรียนและชุมชน สังคม ให้มีคุณภาพตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนด โดนนำรายวิชาบังคับ และวิชาเลือกมาจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา สำหรับวิชาบังคับต้องใช้ตามที่หลักสูตรชาติที่กำหนด ส่วนวิเลือกสถานศึกษาสามารถพัฒนาขึ้นเองโดยพัฒนาวิชาเลือกให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของผู้เรียนและท้องถิ้น เดิมเราเรียกว่าหลักสูตรท้องถิ่น ต่อมาเรียกว่าหลักสูตรสถานศึกษา สรุปคือสถานศึกษาทุกแห่งต้องจัดทำหลักสูตรสถานศึกษา และหลักสูตรสถานศึกษาต้องได้รับความเห็นชอบจากกรรมการสถานศึกษา ค่ะ
        3) หลักสูตรระดับห้องเรียน คือแผนการสอนหรือแผนการจัดการเรียนรู้ที่ครูนำรายวิชาในหลักสูตรสถานศึกษามาจัดทำเพื่อนำไปใช้ในการจัดการเรียนการสอน
        2. การจัดการศึกษาต่อเนื่องด้านต่างๆ เช่นด้านอาชีพ ด้านสังคมวัฒนธรรม ด้านทักษะชีวิต เรานำองความรู้และภูมิปัญญาที่มีในท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นหลักสูตรเพื่อนำไปใช้ในการจัดการศึกษาให้กับกลุ่มเป้าหมาย
        อาจารย์ขิง

  17. ขอถามท่านอาจารย์คะ คือว่า ปร้บหลักสตูรปฐมวัยเพื่อสู่ประชาคมอาเชี่ยนโดยเปรียบเทียบของเดิมและใหม่มีข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง
    ขอบคูณคะ

    1. สวัสดีค่ะอาจารย์เอมอร
      ต้องขอดูหลักสูตรเดิมกับหลักสูตรใหม่ ก่อนค่ะถึงจะเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียได้ค่ะ
      อาจารย์ขิง

  18. สวัสดีค่ะ เข้ามาอ่านบล็อกเนื่องจากต้องเขียนหลักสูตรท้องถิ่นหนึ่งหลักสูตรค่ะ เป็นการบ้าน ปโท อ่านแล้วเข้าใจมากขึ้น ขอบคุณค่ะ

  19. สวัสดีครับอาจารย์ ถ้าจะจัดทำหลุกสูตรท้องถิ่นเกี่ยวกับการอนุรักษ์ภาษาในท้องถิ่น เพื่อนำไปสู่การใช้บันทึกข้อมูลทางภาษา จะต้องทำอย่างไรบ้างครับ

    1. สวัสดีค่ะ ครูคมเพชร
      ขั้นตอนดำเนินการ
      1. การวางแผนหรือการร่างหลักสูตร โดยกำหนดเป้าหมายว่าหลักสูตรที่จะจัดทำนั้น ทำเพื่อใคร (ผู้เรียนระดับใด)
      จะพัฒนาผู้เรียนไปในทิศทางใด ใช้เวลาเท่าใด(จำนวนชั่วโมง/จำนวนหน่วยกิต) ใช้วิธีจัดการเรียนการสอนอย่างไร
      2.การจัดทำหลักสูตร กำหนดรูปแบบของหลักสูตร เช่น จัดทำเป็นหลักสตรรายวิชาเลือก
      1) เขียนคำอธิบายรายวิชา
      2) เขียนรายละเอียดคำอธิบายรายวิชา
      3)เขียนหลักสูตร ซึ่งมีตัวอย่างใน Panchalee blog เรื่องหลักสูตรรายวิชาเลือก วิชาตักบาตรเทโว ซึ่งเป็นรูปแบบหลักสูตของ. กศน
      3. จัดทำเอกสารประกอบการเรียน ซึ่งประกอบด้วยใบความรู้ แบบฝึกหัด ใบงานแบบทดสอบ เป็น
      การใช้รูปแบบใดขึ้นอยู่กับแนวปฏิบัติของสถานศึกษา นั้น ๆ ค่ะ
      อาจารย์ขิง

    1. สวัสดีค่ะคุณน้ำหวาน
      ต้องขอโทษด้วยที่ตอบคำถามช้า เพราะมีปัญหาเรื่อง เข้า email ไม่ได้ ตอนนี้ได้แก้ไขเรียบร้อยแล้วค่ะ
      หลักสูตรท้องถิ่น
      คือหลักสูตรที่มีรายละเอียดเนื้อหาสาระที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาและวิถีชีวิตของผู้เรียนและชุมชนเฉพาะท้องถิ่นนั้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เรื่องใกล้ตัวที่เกี่ยวข้องกับ อาชีพในชุมชน วัฒนธรรมประเพณี ศาสนา ประวัติศาสตร์ชุมชน ทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนได้นำความรู้ไปใช้ในการพัฒนาตนเอง ครอบครัว ชุมชน
      หลักสูตรท้องถิ่นสามารถพัฒนาไปใช้ในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน(รายวิชาเลือก) และหลักสูตรการศึกษาต่อเนื่อง (ในด้านหลักสูตรอาชีพ ทักษะชีวิต และพัฒนาสังคมและชุมชน)ข้อสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นจะต้องให้ผู้เรียนและชุมชนมีส่วนร่วม การมีส่วนร่วมอาจทำในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การมีส่วนร่วมในการสำรวจ การวิเคราะห์ สภาพปัญหาและความต้องการของชุมชน,การทำเวทีประชาคม เป็นต้น และเมื่อได้หลักสูตรแล้วก่อนนำไปใช้จะต้องให้คณะกรรมการสถานศึกษาเห็นชอบด้วยค่ะ
      อาจารย์ขิง

    2. สวีสดีค่ะอาจารย์ขิงอีกคร้้งค่ะหนูขอคำปรึกษาด้านการเขียนหลักสรูตท้องถิ่นยากให้ร.ร.มีการพัฒนาหลักสรูตให้สอดคล้องกับชุมชนให้มากขึ้นด้านความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านมอญบางกระดี่วัฒธรรมมอญที่เป็นเอกลักษณ์ประเพณีการแต่งการกายแบบมอญอาหารมอญฯลฯยังสับสนการเขียนขั้นตอนทำหลักสรูตที่ถูกต้องว่ามันแต่ต่างกันอย่างไรหลักสรูตท้องถิ่นแบบรายวิชาเช่นวัฒธรรมมอญ กับการเขียนโครงสร้างภาพรวมเช่นหลักสรูตมีองค์ประกอบ3อบ่าง1.วิสัยทัศน์ 2.โครงส้าง 3.คุณลักษณะพึ่งประสงค์ที่กล่าวมาทั้งสิ้นนี้ว่านั้นไหนคือข้อมูลที่ถูกต้องค่ะยากได้หนังสือเอาศึกษาเป็นแนวทางพัฒนาหลักสรูตสถานศึกษาค่ะคำพูดบางคำไม่ถูกต้องขออภัย ณที่นีัด้วย

      1. สวัสดีค่ะอาจารย์ศศินา
        1หลักสูตรสถานศึกษาเดิมเรียกว่าหลักสูตรท้องถิ่น เพราะการจัดการเรียนการสอนในแต่ละสถานศึกษา คือการนำหลักสูตรรายวิชาบังคับซึ่งหลักสูตรแกนกลางซึ่งเป็นหลักสูตรระดับชาติซึ่งประกาศใช้โดยกระทรวงศึกษาธิการ ทุกสถานศึกษาต้องจัดหลักสูตรรายวิชาบังคับให้ผู้เรียน ทุกระดับเรียนเหมือนกัน แต่หลักสูตรรายวิชาเลือกสถานศึกษาสามารถพัฒนาขึ้นเอง หรือใช้ของเขตพื้นที่การศึกษา หรือสถานศึกษาอื่นได้พัฒนาขึ้นมา นำมาใช้ในการจัดการศึกษาให้ผู้เรียนได้(ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของต้นสังกัด)
        หลักของจัดรายวิชาเลือกจะต้องสอดคล้องกับความต้องการ และสภาพปัญหาของผู้เรียนและชุมชน สังคม ประเทศ โครงสร้างของหลักสูตรสถานศึกษาโดยทั่วไป จะมีองค์ประกอบตามที่อาจารย์ได้กล่าวมาคือ วิสัยทัศน์ โครงสร้าง คุณลักษณะพึงประสงค์ ดังนั้นการจัดรายวิชาเลือกก็จะต้องมีความสอดคล้องกับวิสัยทัศน์และคุณลักษณะพึงประสงค์ ที่สถานศึกษากำหนดไว้
        2. ถ้าเราต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าเรื่องเกี่ยวกับวัฒนธรรมประเพณีในชุมชน เพื่อให้ผู้เรียนรักและภูมิใจในชุมชนของตนเพื่อการอนุรักษ์และสืบทอดวัฒนธรรมประเพณีดังกล่าวอย่างเช่น ความรู้เกี่ยวกับหมู่บ้านมอญบางกระดี่ก็สามารถนำมาพัฒนาเป็นรายวิชาเลือกและบรรจุไว้ในหลักสูตรสถานศึกษาได้ค่ะ
        ใน Panchalee blog มีตัวอย่างหลักสูตรรายวิชาเลือก เช่นตักบาตรเทโวจังหวัดอุทัยธานี ลอยกระทงสายจังหวัดตาก ขนมจีนหล่มเก่าเป็นต้น
        ถ้าอาจารย์ต้องการทราบรายละเอียดมากกว่านี้ โทร มาได้ที่0899855759 ไม่ต้องเกรงใจนะคะ
        อาจารย์ขิง

  20. อาจารย์ครับ เราเรียนวิชาการพัฒนาหลักสูตรนี้แล้วได้อะไรบ้างครับ แล้วเราจะประยุกต์ใช้ได้อย่างไรบ้างครับ

  21. สวัสดีค่ะอาจารย์ อยากสอบถามว่า ถ้าเราทำหลักสูตรท้องถิ่น เรื่องการแปรรูปผ้าทอกะเหรี่ยง เราต้องทำแผนการสอนด้วยใช่มั้ยค่ะ ขอบคุณค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณวันดี
      การทำหลักสูตรท้องถิ่น เพื่อจะนำไปจัดการเรียนการสอน สิ่งที่ควรทำไปพร้อม ๆ กับหลักสูตร คือ เอกสารประกอบการสอน อาจเป็น หนังสือเรียน ใบความรู้ เป็นต้น เมื่อต้องการจะนำไปสอนจริง ๆ จำเป็นจะต้องทำแผนการสอน เพื่อครูจะสามารถนำไปใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ให้บรรลุจุดมุ่งหมายของหลักสูตร ค่ะ
      อัญชลี ธรรมะวิธีกุล

  22. อาจารย์ ผู้ที่มีอำนาจลงนามอนุมัติใช้หลักสูตรท้องถิ่น คือ ประธาน คณะกรรมการสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน คนเดียว หรือต้องให้ คณะกรรมการ ฯ ทุกท่าน ลงนามเห็นชอบค่ะ

    1. สวัสดีค่ะคุณ Sudarut
      ในประกาศคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      เรื่อง จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของประธานและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษา ในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2551
      กำหนดอำนาจหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษา ไว้ใน” ข้อ 8 (1) ให้คำปรึกษา และพิจารณาให้ข้อเสนอแนะแผนพัฒนา แผนปฏิบัติการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และให้ความเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษา”
      สรุปคือคณะกรรมการศึกษาทุกท่าน ลงนามให้ความเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษา ค่ะ
      อัญชลี ธรรมะวิธีกุล

    2. สวัสดีคุณ Sudarut
      ประกาศคณะกรรมการส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      เรื่อง จำนวนกรรมการ คุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการได้มาของประธานและกรรมการ วาระการดำรงตำแหน่ง การพ้นจากตำแหน่งและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย
      ลงวันที่ 24 ตุลาคม 2551
      กำหนดไว้ใน “ข้อ 8 อำนาจหน้าที่คณะกรรมการสถานศึกษา (1) ให้คำปรึกษา และพิจารณาให้ข้อเสนอแนะแผนพัฒนาแผนปฏิบัติการการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย และให้ความเห็นชอบหลักสูตรของสถานศึกษา
      สรุป ให้คณะกรรมการสถานศึกษาทุกท่านลงนามเห็นชอบหลักสูตรสถานศึกษา ค่ะ
      อัญชลี ธรรมะวิธีกุล

  23. อาจารย์ค่ะ รบกวนหน่อยค่ะ
    หลักสูตรท้องถิ่นระดับปฐมวัย คุณครูพอจะมีตัวอย่างให้ดูบ้างมั้ยคะ
    ไม่ค่อยเข้าใจจริงๆ ค่ะ

ส่งความเห็นที่ อาจารย์ขิง ยกเลิกการตอบ